โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๖. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ()

 

 

มหายุติธรรมธร

 

  

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๓ ฉบับที่ ๒๖ (๗ มิถุนายน ๒๔๖๒)

นาม

จางวางเอก เจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

อธิบาย

“มหายุติธรรมธร” มาจากราชทินนามเจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร อันเป็นราชทินนามสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

 

          เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เป็นสามัญชนคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และได้เป็นผู้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม เพื่อเรี่ยไรเงินจัดซื้อเรือรบไว้ป้องกันพระราชอาณาเขตทางทะเล

 

          ในภาพเจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร แต่งเครื่องแบบเต็มยศข้าราชการกรมมหาดเล็กชั้นยศจางวางเอก สวมเสื้อสักหลาดสีน้ำเงินรูปเสื้อแต่งเวลาเย็น (Evening Dress) คอและข้อมือเสื้อปักดิ้นเงินรอบ อกเสื้อปักดิ้นเงินเป็นลายกนกนาคเต็มทั้งอก ติดเข็มเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ สอดสายสะพายมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่าขวา [] อกเสื้อเบื้องซ้ายประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์พร้อมแพรแถบ และดวงดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวม ๓ ดวง สวมครุยเนติบัณฑิต ในตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ มือขวาจับตราดุลย์หรือตราชั่ง หมายถึงเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม มือซ้ายถือสมอเรือ หมายว่า ท่านผู้นี้เป็นสภานายกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรารูป “ช้างชูงวงยกหม้อน้ำ” เป็นสัญลักษณ์

 

 

คมนาคม

 

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๓ ฉบับที่ ๒๙ (๒๘ มิถุนายน ๒๔๖๒)

นาม

นายพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) เสนาบดีกระทรวงคมนาคม

อธิบาย

คมนาคม หมายถึง การสื่อสารและการเดินทาง

 

          ในภาพ นายพลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม แต่งเครื่องแบบเต็มยศนายพลเอกแห่งกองทัพบกสยาม สวมเสื้อทูนิคคอตั้งสีขาวแบบนายพลทหารบก คอและข้อมือสักหลาดดำปักดิ้นทองรอบ ติดดุมทองเกลี้ยง ๗ ดุม ติดเครื่องหมายนายทหารพลรบประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ สอดสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือกเฉียงบ่าขวา ประดับอินทรธนูไหมทองถักตามทางยาวบ่า ปลายอินทรธนูทั้งสองข้างประดับจักรหมายยศเงินข้างละ ๒ จักร กับที่ต้นอินทรธนูข้างคอเสื้ออีกข้างละ ๑ จักร กลางอินทรธนูด้านขวาประดับเข็มอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร.พระเกี้ยวยอด หมายเป็นราชองครักษ์มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลางอินทรธนูเบื้องซ้ายประดับเครื่องหมายรูปคชสีห์เงิน หมายเป็นนายทหารสังกัดกรมบัญชาการกระทรวงกลาโหม อกเสื้อเบื้องขวาประดับสายราชองครักษ์ไหมทอง อกเสื้อเบื้องซ้ายประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์พร้อมแพรแถบในแนวดุมเม็ดต้น ถัดลงมาประดับดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์รวม ๒
ดวง ที่เอวคาดรัดประคตไหมทองถักพร้อมพู่ไหมทอง ขัดกระบี่ฝักทองขาวแบบทหารบก สวมกางเกงสักหลาดดำที่ตะเข็บขากางเกงด้านนอกติดแถบคู่สีบานเย็น กว้างแถบละ ๓ ซนติเมตร วาง เคียงห่างกัน ๑.๕ เซนติเมตรโดยมีลวดสีบานเย็นคั่นกลางรองเท้าหนังดำ มือขวาถือหมวกขนดำใบพับประดับพู่ขนนกขาวสลับแดง สำหรับนายทหารพลรบชั้นยศจอมพลและนายพล สวมเสื้อครุยเสนามาตย์ชั้นเอกคลุมไหล่พร้อมสังวาลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ด้านซ้ายของภาพเป็นรูปนกยูงเกาะอยู่บนเสาโทรเลข หมายว่า กระทรวงคมนาคมมีส่วนราชการสำคัญในบังคับบัญชา คือ กรมไปรษณีย์โทรเลขที่มีพระยาอจิรการประสิทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล) [] เป็นอธิบดีกับด้านซ้ายเป็นรูปหัวรถจักรไอน้ำของกรมรถไฟหลวง (ร.ฟ.ล.) ที่พ่นไอเป็นรูปฉัตร ๕ ชั้น หมายว่า กรมรถไฟหลวงมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งมี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทรงเป็นผู้บัญชาการ

 

 

ร.ฟ.ล.

 

   

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๓ ฉบับที่ ๓๐ (๕ กรกฎาคม ๒๔๖๒)

นาม

นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน [] ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง

อธิบาย

ร.ฟ.ล. เป็นอักษรย่อนามกรมรถไฟหลวง แต่เดิมมากรมรถไฟของสยามนั้นแยกการบริหารจัดการเป็นกรมรถไฟสายเหนือมีวิศวกรชาวเยอรมันเป็นผู้บริหาร และกรมรถไฟสายใต้มีผู้บริหารเป็นวิศวกรชาวอังกฤษ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะนำประเทศสยามเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน พระราชทานนามกรมนี้ว่า “กรมรถไฟหลวง” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงมาตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ และเมื่อทรงประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย - ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้ว ก็ได้ปรดเกล้าฯ ให้นายทหารช่างในบังคับบัญชาของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตานและวางรางรถไฟสายเหนือจนแล้วเสร็จ สามารถเปิดเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔

 

          ภาพนี้ทรงวาดลงในดุสิตสมิตเพื่อแสดงความยินดีในการที่นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงอำนวยการให้นายทหารช่างของกองทัพบกสยามดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาน ต่อจากวิศวกรชาวเยอรมันที่ถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่อินเดียเพราะเป็นชนชาติศัตรูและถูกเนรเทศ เมื่อคราวสยามเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนการขุดเจาะอุโมงค์บรรลุผลสำเร็จสมบูรณ์ในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๖๑

 

          ในภาพ นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ทรงเครื่องแบบปกตินายพลโททหารบก ทรงพระมาลาแก๊ปสีกากีแกมเขียว กระบังหน้าหุ้มผ้าสีกากีแกมเขียว ติดตราปทุมอุณาโลมที่หน้าหมวก สายรัดคางหนังเหลือง ทรงฉลองพระองค์แบบราชการสีกากีแกมเขียวคอปิด ติดดุมทองเกลี้ยงที่อกเสื้อ ๕ ดุม มีกระเป๋าใบปกพร้อมดุมทองเกลี้ยงที่ปากกระเป๋า ๔ กระเป๋า ติดเครื่องหมายนายทหารพลรบประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ พระสนับเพลาสีกากีแกมเขียว ฉลองพระบาททรงสูงหนังเหลือง ที่อกเสื้อเบื้องซ้ายเหนือกระเป๋าประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่ ๔ “อัศวิน” หมายว่าทรงเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยมีความชอบตามประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ว่า

 

“นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชร์อรรคโยธิน ได้ทรงรับราชการทหารบกมาในตำแหน่งสำคัญต่างๆ หลายตำแหน่ง ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์และตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยทหารบกที่ ๑ ได้ทรงจัดรเบียบการในกองพลและกองทัพน้อยให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเปนอันมาก มีพยานเห็นชัดที่กองพลนั้นและกองทัพน้อยนั้นพึ่งได้เริ่มออกทำการในสนามได้จริงในขณะที่ทรงบัญชาการอยู่ ในตำแหน่งจะเรการช่างทหารบกได้ทรงวางรเบียบการช่างทหารให้เปนหลักฐาน เปนรากเง่าของการนี้ นับว่าทรงมีความชอบอย่างใหญ่หลวง เข้าหลักตามความในพระราชบัญญัติมาตรา ๑๖ ตอนท้าย ซึ่งว่าถึงผู้ซึ่งได้ปฏิบัติราชการเปนผลดียิ่งสำหรับความเจริญรุ่งเรืองแห่งกำลังทหารนั้น

 

          อีกประการ ๑ เมื่อก่อนที่กรุงสยามจะประกาศสงครามแก่ประเทศเยร์มเนียเอ๊าสเตรียฮุงการีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชร์อรรคโยธิน ไปรับราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง รวมกรมรถไฟซึ่งมีอยู่เดิม ๒ กรมเข้าเปนกรมเดียว ปลดบุคคลชาติราชศัตรูซึ่งมีจำนวนมากอยู่ออกจากราชการในกรมรถไฟได้ฉับพลัน มิต้องหาชาวต่างประเทศอื่นเข้าแทนก่อน ช่วยให้การประกาศสงครามนั้นกระทำไปได้โดยรวดเร็วทันพระราชประสงค์ และปลอดโปร่งปราศจากความเสียหายแก่ราชการแผ่นดิน”  []

 

          ภาพนี้นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ประทับนั่งมาเหนือหัวรถจักรไอน้ำของกรมรถไฟหลวงซึ่งกำลังดุนหลังนายทหารช่างให้เดินไปข้างหน้า หมายว่า ทรงบัญชาการให้ทหารช่างเป็นผู้จัดวางรางรถไฟสายเหนือและสายใต้ให้เป็นไปตามแผนงาน

 

 

 


[ ]   ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาสะพายเฉียงบ่าซ้าย

[ ]  ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

[ ]  “ประกาศพระราชทานถานันดรเครื่องราชอิศริยาภณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๒๑๗๗ - ๒๑๙๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |