โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๘. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑๑)

 

 

สมุหพระตำรวจ

 

   

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๕ (๑๔ สิงหาคม ๒๔๖๓)

นาม

พระตำรวจเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) [] สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

อธิบาย

สมุหพระตำรวจ หรือ สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์นั้น เป็นตำแหน่งบังคับบัญชาราชการกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ มีเกียรติยศเสมอด้วยสมุหราชองรักษ์ แต่เดิมมาก่อนที่จะมีการจัดระเบียบราชการฝ่ายทหารในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น การถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหน้าที่ของกรมพระตำรวจ โดยมีพระยาอภิชิตชาญยุทธ และพระยาอนุชิตชาญชัย เป็นจางวางกำกับราชการกรมพระตำรวจ

 

          กรมพระตำรวจนั้นเดิมเป็นส่วนราชการอิสระขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์มาแต่โบราณ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพระตำรวจไปสังกัดเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงวัง กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ นายพลตรี พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์ ซึ่งได้ออกไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์มาแต่ครั้งทรงรับสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อเสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว ก็ได้สนองพระเดชพระคุณเป็นเจ้ากรมวังในพระองค์สืบมา เมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายมาเป็นสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ พระราชทานสัญญาบัตรยศให้เป็นพระตำรวจโท แล้วเลื่อนเป็นพระตำรวจเอก ได้ประจำรับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตลอดมา ทั้งในเวลาที่ประทับในพระนครและแปรพระราชฐานไปยังหัวเมือง ตราบจนสิ้นรัชกาล

 

           ในภาพ พระตำรวจเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ แต่งเครื่องแบบเต็มยศพระตำรวจเอก สวมหมวกทรงประพาสพื้นกำมะหยี่สีดำขลิบแถบทองประดับพู่ขนนกขาวสลับแดง คิดตราโลหะสีทองรูปพระครุฑพาหมีพระมหามงกุฎอยู่เหนือที่หน้าหมวก สวมเสื้อทูนิคคอตั้งสีน้ำเงินอ่อน คอและข้อมือเป็นสักหลาดสีบานเย็น ปักดิ้นทองเป็นลายไชยพฤกษ์ที่ริมขอบเสื้อและที่ต้นแขนกับที่ริมขอบข้อมือเสื้อ ติดเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ ติดดาราเงินหมายยศเรียงกันที่ข้อมือเสื้อข้างละ ๓ ดวง หมายยศเป็นพระตำรวจเอก สอดสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือก พร้อมสะพายสายกระบี่แถบไหมทองเฉียงบ่าขวา คาดรัดประคนไหมแดง นุ่งผ้านุ่งไหมสีน้ำเงินแก่เชิงทอง สวมถุงเท้าขาว รองเท้าหนังดำมันรูปราชการ (Court Shoes) มีเข็มทอง ในอิริยาบถนั่งเก้าอี้สูบบุหรี่พ่นควันโขมง ด้านขวามีเครื่องยศเป็นโต๊ะวางถ้วยและกาน้ำร้อนมีควันพวยพุ่ง เพราะเมื่อครั้งออกไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์อยู่ที่ยุโรปเป็นเวลาเกือบ ๘ ปีนั้น ท่านผู้นี้ติดความเป็น “เย็นแมน” []  แบบอังกฤษ จนตามเสด็จกลับมาถึงเมืองไทยแล้วก็ยังติด “น้ำร้อน” ตลอดมา ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์ล้อ “ใต้เท้ากรุณา” [] ไว้ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ว่า

 

“ตั้งแต่ท่านกลับจากยุโรปเคยอาบแต่น้ำที่เจือน้ำร้อน ท่านว่ายิ่งเป็นลำธารเช่นนี้ท่านอาบไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจะเย็นเฉียบเหลือทน ผมสังเกตดูเมื่อเวลาลงไปอาบกัน ท่านนั่งดูอยู่ดูเหมือนท่านจะออกหนาวแทน ส่วนตัวท่านเองนั้นท่านว่าถึงแม้จะให้สินจ้างท่านสักหมื่นเหรียญก็ไม่อาบ ท่านพูดดูเหมือนผู้ที่อาบนั้นตัวเป็นเหล็ก เป็นหลาย จึงลงไปแช่อยู่ในน้ำแข็งได้ ผมเชื่อว่าถ้าให้ท่านอาบจริงๆ ก็คงจะเจ็บ เพราะใจท่านตั้งมั่นไว้เสียแล้วว่า “หนาว! หนาว!” ต่อให้น้ำนั้นร้อนเป็นน้ำต้มท่านก็คงรู้สึกว่าเย็นริมๆ น้ำแข็ง”  []

 

          ภาพ “สมุหพระตำรวจ” นี้ ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วพระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวง วังพญาไท ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงร่วมกับภาพฝีพระหัตถ์อื่นๆ บนเวที

 

          ม.ล.ปิ่น มาลากุล เหรัญญิกการประกวดภาพได้บันทึกไว้ในสมุดบัญชีการจำหน่ายภาพว่า พระยาราชวัลภานุสิษฐขอพระราชทานซื้อภาพนี้ไปในราคา ๒๐๐ บาท

 

 

เลขาธิการ

 

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๗ (๒๘ สิงหาคม ๒๔๖๓)

นาม

มหาเสวกเอก พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์) [] ราชเลขาธิการ

อธิบาย

“เลขาธิการ” พจนานุกรมฉลับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้ความหมายไว้ว่า

 

“ผู้เป็นหัวหน้าทำงานเกี่ยวกับหนังสือได้สิทธิ์ขาด. (ส. เลขาธิการี : เสมียนของพระเจ้าแผ่นดิน). .

 

          ในแผ่นดินสยามนับแต่เริ่มมีตำแหน่งเสมียนหรือผู้เป็นหัวหน้าทำงานเกี่ยวกับหนังสือของพระเจ้าแผ่นดินโดยสิทธ์ขาดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมานั้น แม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนี้มีเกียรติยศเสมอด้วยเสนาบดี แต่ก็คงออกนามตำแหน่งนี้ว่า “ราชเลขานุการ” มาโดยตลอด ครั้นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี [] สิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ อธิบดีศาลฎีกาย้ายไปดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการ โดยมีความตอนหนึ่งใน “ประกาศกระแสพระบรมราชโองการตั้งราชเลขาธิการและตั้งอธิบดีศาลฎีกา” ว่า

 

          “ทรงพระราชดำริห์ว่า ราชการในกรมราชเลขานุการมีมากซึ่งนับว่าเปนงานสำคัญและเปนความลับ อีกทั้งมีกิจการจุกจิกต่างๆ เปนอันมาก ผู้ที่จะเปนราชเลขานุการต้องเปนผู้ที่คุ้นแก่งานในกรมนี้เปนผู้อำนวย จึงจะเปนระเบียบเรียบร้อยไปได้ ทรงพระราชดำริห์ว่า มหาเสวกเอก พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ เคยรับราชการในกรมราชเลขานุการมาแต่ก่อน และได้มีน่าที่ราชการติดต่อกับกรมนี้เรื่อยมา สมควรจะรับราชการในน่าที่นี้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกเอก พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ อธิบดีศาลฎีกา เปนราชเลขาธิการซึ่งเปนนามตำแหน่งที่โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนใช้แทนราชเลขานุการตั้งแต่นี้ไป” []

 

          ในภาพ พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ แต่งเครื่องแบบปกติข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนัก สวมเสื้อผ้าขาวแบบราชการ (ราชปะแตน) ดุมทองตราพระมหามงกุฎ ๕ ดุม ที่คอติดแผ่นคอทาบแผ่นไหมทองเต็มทั้งแผ่น ที่กึ่งกลางแผ่นคอทั้งสองข้างติดเครื่องหมายประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงิน กับมีดาราเงินหมายยศประดับที่ต้นแผ่นคอในแนวตั้งข้างละ ๒ ดวง กับที่มุมแหลมปลายแผ่นคอข้างละ ๑ ดวง หมายเป็นมหาเสวกเอก กระทรวงวัง นุ่งผ้านุ่งไหมสีน้ำเงิน สวมถุงเท้าขาว รองเท้าหนังดำแบบผูกเชือก แขนขวาหนีบแฟ้มเอกสารสำหรับทูลเกล้าฯ ถวาย มือขวาถือปากกา

 

          ภาพ “เลขาธิการ” นี้ ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วพระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวง วังพญาไท

 

          ม.ล.ปิ่น มาลากุล เลขานุการและเหรัญญิกการประกวดภาพได้บันทึกไว้ในสมุดบัญชีการจำหน่ายภาพว่า พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ขอพระราชทานซื้อภาพนี้ไปในราคา ๒๐๐ บาท

 

 

ตุลาการนายก

(รูปเปนยักษ์ ใจเปนสัตปุรุษ)

 

   

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๘ (๔ กันยายน ๒๔๖๓)

นาม

มหาอำมาตย์โท พระยากฤติกานุกรณ์กิจ (ดั่น บุนนาค) อธิบดีศาลฎีกา []

อธิบาย

“ตุลาการนายก” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ประธานในราชการฝ่ายตุลาการ” ซึ่งในทางราชการเรียกผู้ดำรงตำแหน่งนี้ว่า อธิบดีศาลฎีกา

 

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกเอก พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ อธิบดีศาลฎีกาย้ายไปดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยากฤติกานุกรณ์กิจ เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีศาลฎีกา คนที่ ๓ เนื่องจากพระยากฤติกานุกรณ์กิจ อธิบดีศาลฎีกา เป็นผู้มีรูปกายสูงใหญ่คล้ายยักษ์ แต่เป็นผู้มีจิตใจเปี่ยมด้วยสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นที่ชอบที่ควร จึงทรงพระราชนิพนธ์คำอธิบายประกอบภาพไว้ว่า “รูปเปนยักษ์ ใจเปนสัตปุรุษ”

 

          ในภาพ พระยากฤติกานุกรณ์กิจ แต่งเครื่องแบบปกติข้าราชการพลเรือน สวมเสื้อผ้าขาวแบบราชการ ติดดุมทองเกลี้ยงที่อกเสื้อ ๕ ดุม มีอินทรธนูพื้นดำปักดิ้นทองแบบข้าราชการพลเรือนติดขวางที่ปลายบ่า มีดาราเงินหมายยศประดับเรียงกันบนอินทรธนูข้างละ ๒ ดวง หมายยศเป็นมหาอำมาตย์โท นุ่งผ้านุ่งไหมสีน้ำเงิน สวมถุงเท้าขาว รองเท้าขาวแบบผูกเชือก สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ คราวเสด็จพระราชดำเนิน เหยียบศาลสนามสถิตยุติธรรม หมายเป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกคนแรกแห่งสภาดังกล่าว มือขวาถือม้วนกระดาษซึ่งหมายเป็นความฎีกา

 

          ภาพ “ตุลาการนายก” นี้ ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วพระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน ในคราวประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวง วังพญาไท

 

          ม.ล.ปิ่น มาลากุล เลขานุการและเหรัญญิกการประกวดภาพได้บันทึกไว้ในสมุดบัญชีการจำหน่ายภาพว่า พระยากฤติกานุกรณ์กิจขอพระราชทานซื้อภาพนี้ไปในราคา ๒๐๐ บาท

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาราชศุภมิตร

[ ]  มาจากคำว่า Gentleman ซึ่งแปลว่า สุภาพบุรุษ

[ ]  เป็นนามแฝงที่ทรงใช้เรียก เจ้าพระยาราชศุภมิตร ในจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘, หน้า ๑๐๒ - ๑๐๓.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิธร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี

[ ]  “ประกาศกระแสพระบรมราชโองการตั้งราชเลขาธิการและตั้งอธิบดีศาลฎีกา”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๖ (๑๒ ธันวาคม ๒๔๖๒), หน้า ๑๘๘ - ๑๘๙.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |