โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๙. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑๒)

 

 

เดโช

 

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๙ (๑๑ กันยายน ๒๔๖๓)

นาม

นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัย (แย้ม ณ นคร) [] ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม

อธิบาย

“เดโช” มาจากราชทินนาม พระยาสีหราชเดโชชัย หรือที่มักจะเรียกกันโดยย่อว่า “พระยาเดโช”

 

          ภาพนี้ทรงวาดไว้เมื่อคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อคราวที่จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) กราบถวายบังคมลาพักราชการ เพื่อรักษาอาการป่วยเจ็บ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นผู้รั้งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสืบแทนจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตที่ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงทรงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม

 

          ในภาพ นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัย แต่งเครื่องแบบปกติขาวนายพลเอกทหารบก สวมหมวกแก๊ปทรงหม้อตาลสีขาว กระบังหน้าหนังดำ ติดตราปทุมอุณาโลมที่หน้าหมวก ผ้าพันหมวกสีบานเย็นมีริ้วดำเหมือนแถบขากางเกงนายทหารชั้นจอมพลและนายพล สวมเสื้อผ้าขาวแบบราชการ (ราชปะแตน) ติดดุมทองเกลี้ยง ๕ ดุม ติดเครื่องหมายนายทหารพลรบประจำการรูปพระมหามงกุฎรัศมีเงินที่คอเสื้อ อินทรธนูไหมทองถักติดตามยาวบ่าทั้งสองข้าง ติดจักรเงินหมายยศที่ปลายอินทรธนูข้างละ ๒ จักร กับที่ต้นอินทรธนูด้านที่ติดกับคอเสื้ออีก ๑ จักร หมายเป็นนายทหารพลรบยศนายพลเอก ที่กึ่งกลางอินทรธนูเบื้องขวาประดับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร.พระเกี้ยวยอด กับที่ประดับสายราชองครักษ์ไหมเหลืองที่อกเสื้อข้างขวา หมายเป็นราชองครักษ์มาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กึ่งกลางอินทรธนู เบื้องซ้ายประดับเครื่องหมายรูปพระคชสีห์เงิน หมายเป็นนายทหารสังกัดกรมบัญชาการกระทรวงกลาโหม สอดสายสะพายประถมาภรณ์ช้างเผือก อกซ้ายเหนือกระเป๋าเสื้อประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กับที่เหนือแพรแถบประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีชั้นที่ ๔ อัศวิน หมายเป็น “มหาโยธิน” และเลขาธิการแห่งคณะที่ปฤกษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัยตั้งขึ้นไว้ ดังมีความในมาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ว่า

 

          “มาตรา ๑๐ ให้มีคณะที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ คือมี

               คณาธิบดี ๑

               เลขาธิการ ๑

               ที่ปฤกษา ๕

 

          มาตรา ๑๑ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้บุคคลซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤไทยเปนคณาธิบดี เลขาธิการ และที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ในชั้นต้นแล้วแต่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรให้ผู้ใดเปน ต่อไปเมื่อได้มีผู้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้พอแก่จำนวนแล้ว จักทรงเลือกสรรฉะเพาะในหมู่ผู้ที่รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้แล้ว

 

          มาตรา ๑๒ คณะที่ปฤกษามีสิทธิ์และน่าที่ดังจะกล่าวต่อไปนี้

               ก. รับความเห็นของผู้ที่มีอำนาจและน่าที่เสนอความชอบว่าผู้ใดควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แล้วประชุมกันพิจารณาปฤกษาว่าเปนการสมควรแท้จริงหรือไม่ ดังจะได้กล่าวความลเอียดต่อไปในหมวดที่ ๔

               ข. คณาธิบดี เลขาธิการ ที่ปฤกษาไม่ว่าคนใดก็ดี มีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็นขึ้นเองว่าผู้นั้นผู้นี้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ความเห็นนี้ต้องเสนอต่คณาธิบดี เพื่อเรียกประชุมปฤกษาหารือกันตามระเบียบ

               ค. ทำและรักษาฐเบียรรายนามของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้

               ฆ. คณาธิบดีมีสิทธิ์ที่จะนำความต่างๆ ซึ่งเกี่ยวด้วยเรื่องเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้ขึ้นกราบบังคมทูลโดยตรงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”  []

 

          ภาพ “แดโช” นี้ ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วพระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวง วังพญาไท

 

          ม.ล.ป่น มาลากุล ม.ล.ปิ่น มาลากุล เลขานุการและเหรัญญิกการประกวดภาพได้บันทึกไว้ในสมุดบัญชีการจำหน่ายภาพว่า นายพลเอก พระยาสีหราชเดโชชัยขอพระราชทานซื้อภาพนี้ไปในราคา ๒๐๐ บาท

 

 

พระบรมรูป

 

    

 

ดุสิตสมิต

เล่ม ๙ ฉบับที่ ๙๔ (๒๓ ตุลาคม ๒๔๖๓)

อธิบาย

พระบรมรูป คือ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์องค์นี้ทรงวาดไว้เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วพระราชทานไปจัดแสดงในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ครั้งที่ ๓ ณ โรงละครหลวง วังพญาไท เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

          พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ซึ่งมีนามว่า “พระบรมรูป” เป็นภาพลำดับที่ ๖ ใน “บาญชีภาพฝีพระหัตถ์” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่ในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน ครั้งที่ ๓ นี้ เมื่อพระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตไม่มีชื่อภาพระบุไว้ แต่มีบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงกล่าวถึงภาพฝีพระหัตถ์นี้ว่า

 

          “เราเห็นว่ารูปอะไรก็เขียนไม่ยากเท่ารูปตัวเอง, เพราะหน้าเราเองเราจะเห็นได้อย่างไรนอกจากส่องกระจก, และการส่องกระจกเขียนถ้าเขียนไม่เก่งจริงแล้วจะเขียนได้ดีฤา? รูปที่อยู่ตรงน่านี้พอเราเห็นเข้าก็จำได้ทีเดียวว่าเปนพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา.”  []

 

          ในภาพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องปกตินายพลเสือป่า พรานหลวงรักษาพระองค์ ทรงพระมาลาแก๊ปแบบอังกฤษสีเขียว กระบังหน้าหนังดำปักลายสร้อยไชยพฤกษ์ด้วยดิ้นทองที่ขอบนอกและขอบในของกระบังหมวก มีสายรัดคางหนังเหลือง ติดตราพระมหามงกุฎแตรงอนทำด้วยโลหะรมดำที่หน้าหมวก ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเสื้อเชิ้ตสืเขียวผูกผ้าผูกคอสีเขียวเงื่อนกลาสี ฉลองพระองค์ชั้นนอกนอกแบบคอแบะสีเขียว กลัดดุมโลหะรมดำตราพระมหามงกุฎแตรงอน ๔ ดุม มีกระเป๋าใบปก ๔ ใบ พร้อมดุมพระมหามงกุฎแตรงอนรมดำที่ปากกระเป๋า ติดเครื่องหมายรูปพระมหามงกุฎแตรงอนโลหะรมดำที่ใบปกคอเสื้อ หมายสังกัดกรมเสือรักษาป่าพรานหลวงพระองค์ กึ่งกลางอินทรธนูด้านขวาทรงติดเข็มเอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. พระเกี้ยวยอดเงิน กับประดับสายราชองครักษ์ไหมขาวที่ฉลองพระองค์ด้านขวา หมายว่า ทรงเป็นราชองครักษ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กึ่งหลางอินทรธนูข้างซ้ายประดับเข็มพระวชิราวุธเงิน หมายว่าทรงสังกัดกองร้อยหลวง (กองร้อยที่ ๑) กรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ทรงคาดเข็มขัดหนังเหลืองพร้อมสายสะพายซองกระบี่เฉียงพระอังสาขวา ทรงขัดกระบี่ทองขาวแบบทหารบกที่ใช้ในราชการกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ ทรงพระสนับเพลาแบบขี่ม้าสีเขียว ฉลองพระบาททรงสูง (บู๊ท) หนังเหลืองติดเดือยแทงม้าทองขาว

 

          ภาพนี้มีหมายเหตุใน “บาญชีภาพ ในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ณ วังพญาไท” ว่า “ไม่ขาย. พระราชทานพระยาอนิรุทธเทวา. มีจำลองขายภาพละ ๓๐ บาท” [] แต่สุดท้ายแล้วหลวงวิจิตรพัสตราภรณ์ (เพี้ยน แสงรุจิ) เจ้าของร้านวิวิธิภูษาคาร ได้ขอพระราชทานซื้อไปในราคา ๘๐๐ บาท

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต

[ ]  “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๑), หน้า ๑๖๙ - ๑๘๒.

[ ]  “การประกวดภาพ ณ วังพญาไท”, ดุสิตสมิต เล่ม ๙ ฉบับที่ ๙๔ (๒๓ ตุลาคม ๒๔๖๓), หน้า ๓๔ - ๓๕.

[ ]  บาญชีภาพ ในการประกวดภาพสำหรับผู้ชอบเขียน (Amateur) ณ วังพญาไท, หน้า ๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |