โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑. คณะดุสิต

 

 

          เนื่องจากเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ ได้มีการทำบุญคณะดุสิตที่รื้อสร้างใหม่กันไปแล้ว จึงขอนำเรื่องราวของคณะดุสิตมาเล่าสู่กัน


          ตัวอาคารคณะดุสิตนี้ได้เริ่มก่อสร้างมาพร้อมกับตึกคณะอื่นๆ อีก ๓ คณะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๗ หรือถ้านับอย่างปัจจุบันก็เป็นกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๘ เพราะเวลานั้นเรายีงเปลี่ยน พ.ศ. กันในวันที่ ๑ เมษายน การก่อสร้างนี้เริ่มมาพร้อมๆ กับการก่อสร้างตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ตึกคณะดุสิตนี้พร้อมกับตึกคณะอีก ๓ คณะ และหอประชุม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ และถัดมาอีก ๒ สัปดาห์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ มีข้อที่น่าสังเกตว่าพระฤกษ์วางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนทั้งสองนั้น พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เจ้ากรมโหรหลวงได้คำนวณถวายตกในวันจันทร์ทั้งสองงาน จะมีความในทางโหราศาสตร์ประการใดหรือไม่อย่างไร คงต้องรอให้ท่านผู้รู้มาช่วยขยายความอีกที

 

 

แบบพิมพ์เขียวโรงเรียนหลังที่ ๒

 

          ตึกคณะดุสิตหรือที่ในเอกสารจดหมายเหตุระบุว่า “โรงเรียนหลังที่ ๒” นั้น มีโครงสร้างอาคารและผังพื้นที่เหมือนกันกับ “โรงเรียนหลังที่ ๑” หรือคณะผู้บังคับการในปัจจุบัน ต่างกันที่ลวดลายปูนปั้นประดับอาคาร จึงทำให้ราคาค่าก่อสร้างโรงเรียนหลังที่ ๒ สูงถึง ๑๓๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่โรงเรียนหลังที่ ๑ ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นประดับอาคารน้อยกว่ามีราคาค่าก่อสร้างเพียง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ถัดไปคือโรเรียนหลังที่ ๔ หรือคณะพญาไทในปัจจุบัน ราคาค่าก่อสร้างอยู่ที่ ๑๒๕,๐๐๐ บาท ส่วนโรงเรียนหลังที่ ๓ หรือคณะจิตรลดาในปัจจุบัน ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินผ่านเข้าสูโรงเรียนมาแต่แรกตั้งโรงเรียนที่สวนกระจังนั้น ตัวอาคารจึงถูกกำหนดให้มีลวดลายปูนปั้นวิจิตรตระการตายิ่งกว่าทุกคณะ เป็นการเฉลิมพระราชศรัทธา ราคาค่าก่อสร้างตึกคณะนี้จึงสูงถึง
๑๔๕,๐๐๐ บาท

 

 

คณะอภิรักษ์ราชฤทธิ์ เมื่อครั้งยังเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          การก่อสร้างหอประชุมซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า “หอสวด” กับตึกคณะทั้ง ๔ นั้นแล้วเสร็จในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๔๕๙ แต่ยังขาดกระเบื้องมุงหลังคาที่สั่งทำมาจากประเทศจีนที่ยังทำไม่แล้วเสร็จ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นแม่กองหรือผู้อำนวยการก่อสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานเผากระเบื้องเคลือบขึ้นเพื่อมุงหลังคาหอประชุมและตึกคณะเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ทันการฉลองในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๓ รอบ ที่เรียกกันว่า “๓ รอบ มโรงนักษัตร” ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ และเมื่อกระเบื้องที่สั่งมาเมืองจีนเข้ามาถึงในราวต้น พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รื้อกระเบื้องดินเผาที่ทำขั้นในเมืองไทยแล้วเปลี่ยนมุงด้วยกระเบื้องจากเมืองจีน แม้กระนั้นก็มีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า ประเทศไทยได้เริ่มเผากระเบื้องเคลือบสีอย่างที่ใช้มุงหลังคาวัดเป็นครั้งแรก ในการทดลองทำกระเบื้องมุงหลังคาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นการเผากระเบื้องเคลือบสีก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเลิกสั่งทำกระเบื้องจากเมืองจีนไปในที่สุด

 

 

นักเรียนคณะอภิรักษ์ราชฤทธิ์
(นั่งเก้าอี้จากซ้าย) ๑. พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง รจนานนท์) ครูกำกับเรือน ๒. พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อการก่อสร้างตึกคณะแล้วเสร็จก็ได้จัดให้นักเรียนเข้าอยู่ในตึกคณะใหม่ทั้งสี่ โดยแต่ละคณะมีนักเรียนอยู่ราว ๓๐ – ๔๐ คน ในเวลานั้นคณะบรมบาทบำรุงหรือคณะผู้บังคับการในปัจจุบันจัดเป็นคณะเด็กเล็กสำหรับนักเรียนชั้นประถม ๑ – ๓ แต่ก็มีเด็กโตไปประจำเป็นหัวหน้าคณะอยู่บ้าง ส่วนอีก ๓ คณะนั้นจัดเป็นคณะเด็กโตสำหรับนักเรียนมัธยม
ตึกคณะทั้ง ๔ ที่จัดเป็นหมู่ตึก ๓ หลังนั้น ในยุคแรกเริ่มก่อสร้างได้กำหนดการใช้ประโยชน์เป็น ๓ ส่วนด้วยกันคือ ตึกใหญ่เป็นตึกที่พักของนักเรียน ส่วนตึกเล็กที่เป็นปีกออกไป ๒ ข้างนั้น ปีกหนึ่งที่พักของครูกำกับคณะและครอบครัว ส่วนอีกปีกเป็นที่พักของอนุสาวนาจารย์ซึ่งเป็นครูชาวต่างประเทศ


          ตึกคณะทั้ง ๔ นั้นคงเป็นที่พักของนักเรียนต่อเนื่องกันมาจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ลุกลามเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และเมื่อกรุงเทพฯ เริ่มประสบภัยทางอากาศใน พ.ศ. ๒๔๘๕ โรเรียนจำต้องย้ายไปเปิดการเรียนการสอนที่พระราชวังบางปะอินเป็นการชั่วคราว ส่วนตัวโรงเรียนที่กรุงเทพฯ นั้นส่วนราชการหลายหน่วยได้ขอย้ายมาใช้อาคารต่างๆ ของโรงเรียนเป็นที่ทำการ ทั้งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กองตำรวจสันติบาล ฯลฯ ที่สำคัญคือมีการย้ายโรงไฟฟ้าหลวงสามเสนซึ่งถูกระเบิดทำลายจนไม่สามารถเปิดทำการต่อไปได้ มาขอใช้พื้นที่สนามหลังเป็นที่ตั้งโรงจักรชั่วคราว แล้วมีการขุดสนามฝังถังน้ำมันซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใต้ดินด้วย


          การที่โรงไฟฟ้าหลวงสามเสนย้ายมาเปิดทำการที่สนามหลังนี้เอง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกามาทิ้งบอมบ์โรงไฟฟ้านี้ แต่จะเป็นเพราะเหตุไรไม่ปรากฏแน่ชัด แต่เมื่อผู้เขียนเป็นนักเรียนตัวเล็กๆ เมื่อเกือบ ๕๐ ปีที่แล้ว ได้ยินพี่ๆ รุ่นโตท่านเล่าว่า เมื่อเครื่องบินอเมริกันบินมาจะทิ้งระเบิดลงหอประชุม พระมนูแถลงสารที่ประดิษฐานอยู่ที่ตึกวชิรมงกุฎท่านได้แสดงปาฏิหาริย์ปัดให้ลูกระเบิดพลาดไปตกที่คณะดุสิตแทน ที่ว่าเป็นพระมนูปัดลูกระเบิดไปนั้นเพราะเวลานั้นยังไม่มีพระบรมรูปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานที่หน้าหอประชุม ในเวลานั้นก็เชื่อคำบอกเล่าของพี่ๆ โดยสนิทใจ


          เมื่อเติบโตขึ้นได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่า เรื่องที่เคยฟังจากพี่ๆ นั้นคงจะเป็นจริงไปไม่ได้ และเมื่อวิเคราะห์เหตุผลประกอบกับที่ได้ฟังคำบอกเล่าจากอดีตท่านผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา และคุณครูจิต พึ่งประดิษฐ์ ซึ่งท่านทั้งสองได้รู้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว จึงพอจะเชื่อได้ว่า การที่คณะดุสิตถูกระเบิดจนตึกใหญ่และปีกด้านทิศเหนือพังไปเมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ นั้น น่าจะเป็นผลมาจากการที่เครื่องบินอเมริกันตั้งใจจะมาทิ้งบอมบ์โรงไฟฟ้าหลวงที่สนามหลัง หากแต่เกิดการผิดพลาดลูกระเบิดมาตกที่ตึกคณะดุสิต และสะเก็ดระเบิดส่วนหนึ่งได้ปลิวไปตกที่โรงรถยนต์หลวงที่อยู่ติดกัน แต่โรงรถยนต์หลวงเสียหายไม่มาก


          การที่ตึกคณะดุสิตถูกระเบิดเสียหายคราวนั้น เดชะบุญเป็นช่วงที่โรงเรียนย้ายไปเปิดสอนอยู่ที่พราชวังบางปะอิน จึงไม่มีครูและนักเรียนได้รับอันตราย แต่ก็ทำให้โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนไปจนถึงปีการศึกษา ๒๔๘๘ และกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๘๙


          ในระหว่างที่โรงเรียนต้องปิดเรียนไปนั้น ภายในโรงเรียนได้มีการสร้างไม้หลังคาจาก ยาวตลอดจากถนนหน้าหอประชุมขนานไปกับหอประชุมไปจนถึงสระน้ำหน้าโรงสควอช และมีอีกส่วนหนึ่งยื่นลงไปทางอินดอร์สเตเดียมในปัจจุบัน เรือนไม้หลังคาจากนี้ ทางราชการได้จัดเป็นค่ายกกกันเชลยศึกและชนชาติศัตรู มีการนำชาวอังกฤษและชาติพันธมิตรมากักขังไว้ที่นี่ ซึ่งในจำนวนนั้นมีมิสเตอร์สจ๊วต มาร์ ผู้จัดการสายการเดินเรือของบริษัท บอเนียว จำกัดรวมอยู่ด้วย
          ท่านอดีตผู้บังคับการ ดร.กัลย์ อิศรเสนา อยุธยา ท่านเล่าให้ฟังว่า ชนชาติศัตรูที่ถูกนำมาคุมขังที่โรงเรียนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีกับท่านอดีตผู้บังคับการ พระยาภะรตราชา รวมทั้งตัวท่านผู้เล่า ตลอดจนคุณครูในโรงเรียนอีกหลายท่านที่เป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ และโดยที่ทราบกันดีว่า ม้างราชการจะได้ขอใช้โรงสควอชเป็นที่หุงหาอาหารเลี้ยงดูชนชาติศัตรูเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่ความขาดแคลนในยามสงครามจึงทำให้ชาวต่างชาติที่ตกเป็นเชลยสงครามนี้ได้รับการเลี้ยงดูแบบอดๆ อยากๆ ท่านอดีตผู้บังคับการและคุณครูทั้งหลายจึงมักจะนำอาหารใส่หอแล้วปาข้ามรั้วลวดหนามเข้าไปให้ผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ในค่ายกักกันนั้นอยู่เสมอๆ


          ด้วยน้ำใจของอดีตท่านผู้บังคับการตลอดจนคุณครูที่ช่วยให้ท่านเหล่านั้นรอดจากการอดอาหารมาได้ เมื่อสงครามสงบลงมิสเตอร์สจ๊วต มาร์ ได้มาขอบพระคุณท่านอดีตผู้บังคับการพระยาภะรตราชา พร้อมกับปวารณาตัวที่จะช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการตอบแทน ท่านอดีตผู้บังคับการพระยาภะรตราชาจึงได้แจ้งให้มิสเตอร์ทาร์ทราบว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เคยมีพระราชดำริที่จะจัดให้มีวงปี่สก๊อตสำหรับนำแถวเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งเวลาสวนสนามนั้นเสือป่ากรมนี้มิได้เดินสวนสนามเหมือนเสือป่าเหล่าอื่นๆ หากแต่วิ่งเหยาะๆ แทน แต่เนื่องจากไม่มีครูสอนเทคนิคและวิธีการเป่าปี่สก๊อตที่ถูกต้อง จึงปรากฏว่ามีข้าราชการกรมมหรสพเพียงรายเดียวชื่อนายบุญส่ง (จำนามสกุลไม่ได้) เป่าปี่สก๊อตได้เพียงคนเดียว และจะเป่าเป็นเพลงหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะนักเรียนเก่าพรานหลวงชุบ ยุวนวณิช ผู้เล่าเรื่องนี้ก็มิได้บอกไว้ และในเวลานี้ก็ไม่เหลือตัวนักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ให้สอบถามได้อีกเลย

 

 

มิสเตอร์สจ๊วต มาร์ พร้อมวงปี่สก๊อตซึ่งไปร่วมบรรเลงในงานวันเซนต์แอนดรูว์ (วันชาติสก๊อตแลนด์)

 

 

          เมื่อมิสเตอร์มาทราบถึงแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นแล้ว จึงได้มอบปี่สก๊อตของตัวท่านเองให้โรงเรียน ๑ คัน และสั่งซื้อมาให้อีก ๓ คัน รวมกับที่โรงเรียนสั่งซื้อมาอีก ๔ คัน จึงได้เริ่มจัดวงปี่สก๊อตขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมิสเตอร์มาร์ได้อุทิศเวลามาสอนด้วยตนเอง จนสามารถฝึกนักเรียนให้เป่าปี่สก๊อตได้มากขึ้น โรงเรียนจึงได้สั่งซื้อปี่พร้อมกลองมาเพิ่มจนจัดเป็นวงปี่สก๊อตที่ได้นำแถวนักเรียนไปในการพิธีต่างๆ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน


          ว่าจะเล่าเรื่องคณะดุสิตถูกระเบิด แต่ไฉนเลี้ยวออกนอกเรื่องไปจนถึงเรื่องวงปี่สก๊อตได้อย่างไรหนอ ครั้นจะวกกลับมาเรื่องคณะดุสิตก็ยังอีกยาว จึงต้องขออนุญาตยกยอดไปตอนต่อไป

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |