โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๐. ภาพล้อฝีพระหัตถ์ (๑๓)

 

 

          นอกภาพล้อฝีพระหัตถ์ทั้ง ๕ ประเภทที่ได้พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงวาดภาพประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่อง ศกุนตลา ไว้อีก ๘ ภาพ โดยภาพประกอบทั้ง ๘ ภาพนี้มีบทพระราชนิพนธ์คำบรรยายภาพกำกับไว้ ดังนี้

 

 

๑. ท้าวทุษยันต์ตื่นกลางป่า

“แลดูอรุณไขแสง แสงแดงเรื่อเรืองเวหา”

 

 

๒. ท้าวทุษยันต์ล่าเนื้อ

“เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ งามสรรพสะพรั่งดังเลขา”

 

 

๓. ท้าวทุษยันต์เห็นนางศกุนตลาเป็นครั้งแรก

“นี่ฤาบุตรีพระดาบส งามหมดหาใครจะเปรียบได้”

 

 

๔. ท้าวทุษยันต์โลมนางศกุนตลา

“คลึงเคล้าเล้าโลมโฉมยง อิงองค์กรกอดยอดสงสาร”

 

 

๕. พระกัณวะดาบสสอนศกุนตลา เมื่อจะส่งไปถวายท้าวทุษยันต์

“อนึ่งพึงจำคำสอน บังอรผู้ยอดเสนหา”

 

 

๖. ท้าวทุษยันต์ไม่รับนางศกุนตลา

“ตัวเราเปนเผ่าพงษ์กษัตริย์ จะรับนางเซซัดไม่ควรที่”

 

 

๗. ท้าวทุษยันต์คลั่งถึงศกุนตลา

“ยิ่งแลดูแหวนที่แทนรัก ทรงศักดิ์ยิ่งคะนึงถึงโฉมฉาย”

 

 

๘. ท้าวทุษยันต์พบกับศกุนตลาและโอรสที่สำนักพระเทพบิดร

 

 

          อนึ่ง จากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มวาดภาพพระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิตนี้เอง ทำให้เกิดความนิยมวาดภาพกันขึ้นในหมู่ข้าราชบริพารในพระองค์และญาติมิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการประกวดภาพขึ้นที่พระราชวังบางปะอินถึง ๒ ครั้งๆ แรกโปรดให้จัดขึ้นที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร ในระหว่างวันที่ ๕ - ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และครั้งที่สองในระหว่างวันที่ ๘ - ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ ศาลาวรนาฎเวทีสถาน

 

          ในการประกวดภาพครั้งที่ ๒ นี้ นอกจากจะพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์จำนวน ๔๓ ภาพเข้าร่วม “จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่เข้าประกวดเพื่อรับพระราชทานรางวัล” [] แล้ว ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “การประกวดภาพที่บางปะอิน” พระราชทานไปลงพิมพ์ในดุสิตสมิต เล่ม ๘ ฉบับที่ ๘๒ วันเสาร์ที่ ๑๗ กรกฎคม พ.ศ. ๒๔๖๓ มีความตอนหนึ่งว่า

 

          “ที่จริงใครๆ ก็ย่อมทราบอยู่แล้วว่า “ดุสิตสมิต” ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ข่าวธรรมดา, เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ลงเรื่องประกวดภาพที่พระราชวังบางปะอินก็คงจะไม่มีใครติโทษเลย. แต่เราเห็นว่าเปนเรื่องที่น่านำมาลงอยู่บ้าง, จึ่งได้นำมาลงไว้ในที่นี้.

 

          ประการที่ ๑ การประกวดครั้งนี้เปนการประกวดฝีมือของผู้ชอบเขียน (ที่เรียกตามภาษาฝรั่งว่า “อะเมเตอร์”), ซึ่งเปิดโอกาศให้ผู้ชอบเขียนได้สำแดงฝีมือของตนโดยไม่ต้องรู้สึกกระดากกระเดื่อง, เพราะเปนการประกวดกันในระหว่างผู้ที่ไม่ชำนาญด้วยกัน, ไม่ต้องไปขันสู้กับผู้ที่เปนช่างเปนเชียวจริงๆ. ประการที่ ๒ ทั้งผู้ที่เขียนรูปและผู้ที่เข้าไปดูได้รับความบันเทิงใจในการที่รู้สึกว่าได้มีโอกาศช่วยอุดหนุนทุนทรัพย์สำหรับซื้อปืนให้แก่คณเสือป่า. ในการประกวดภาพคราวที่แล้วมานี้ คณเสือป่ามณฑลอยุธยาได้เงินซื้อปืนหลายพันบาท, และบรรดาผู้ที่ได้ส่งภาพเข้าประกวดและผู้ไปดูได้รับความบรรเทิงสนุกสนานเปนอันมาก, จนรู้สึกเสียดายในการที่ได้มีประกวดเพียงสี่วันเท่านั้น. การหาทรัพย์สำหรับคณเสือป่าโดยวิธีประกวดภาพเช่นนี้ เราเห็นว่าออกจะเปนแบบดีมากอยู่, เพราะไม่ต้องลงทุนรอนมากมายปานใดนัก, แต่ได้ผลดีมากทีเดียว, เพราะฉะนั้นหวังใจว่าจะได้เห็นประกวดเช่นนี้อีกในที่แห่งอื่น. การเอาอย่างในของดีเช่นนี้ไม่ควรเห็นเปนของเสียไปเลย.

 

          ภาพที่ได้มีผู้ส่งเข้าประกวดคราวที่แล้วมานี้ นับว่ามีที่น่าชมอยู่หลายภาพ. ขอให้เข้าใจว่า ในที่นี้เรากล่าวถึงภาพซึ่งผู้ไม่ใช่ช่างเปนผู้เขียน, เพราะฉนั้นจะหวังหาภาพอันแสดงฝีมือล้ำเลิดอะไรย่อมจะไม่ได้อยู่เอง, แต่เรานึกชมความคิดของผู้เขียนนั้นแหละเปนอันมาก. มีอยู่หลายภาพที่เราทราบได้ว่าผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะแสดงความรู้สึกอันมีอยู่ในใจของตน, แต่เพราะเหตุที่ปราศจากความรู้หรือความชำนาญในการวาดเขียนจึ่งไม่สามารถที่จะเขียนแสดงความคิดออกมาในภาพให้แจ่มแจ้งพอแก่ใจของตนได้. คนใบ้มีความคิดดีแต่พูดแสดงความคิดของตนออกมาไม่ได้จะรู้สึกอัดใจฉันใด, เราเชื่อว่าผู้ที่มีความคิดแต่เขียนภาพแสดงความคิดของตนออกมาไม่ได้ก็คงอัดใจฉันนั้น.

 

 

 


[ ]   ประติสมิต (ม.ล.ปิ่น มาลากุล). มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน), หน้า ๙๖.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |