โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |
| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๔. เสวยต้น (๑)

 

 

          เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๑๒ พรรษา และต้องประทับอยู่ท่ามกลางชาวอังกฤษเป็นเวลาถึง ๙ ปีเศษ จึงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่คุณมหาดเล็กผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทว่า ล้นเกล้าฯ นั้นโปรดที่จะดำเนินพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์อย่างสุภาพบุรุษอังกฤษ และโปรดอะไรๆ ที่เป็น “อังกฤษ” ไปเสียทุกอย่าง

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และนักเรียนสยาม

ที่ร่วมประชุมฟังประกาศสถาปนาพระอิสริยศักดิ์

ณ สถานอัครราชทูตสยาม กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๗

 

 

          แต่เมื่อครั้งที่ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระยุพราชใน พ.ศ. ๒๔๓๗ นั้น ได้มีกระแสพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษในท่านมกลางที่ชุมนุมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และนักเรียนไทย ณ สถานอัครราชทูตสยามกรุงลอนดอน ซึ่งต่อมาหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้แปลกระแสพระราชดำรัสนั้นเป็นบทร้อยกรองภาษาไทยว่า

 

          พระมหาธีรราชประกาศไว้ ที่อังกฤษสมัยทรงศึกษา
ว่าเมื่อไรเสด็จกลับพารา จะเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเรียนฯ.

 

          ฉะนั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครแล้ว นอกจากจะทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยที่เริ่มจะเสื่อมสูญลงเพราะการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ในส่วนพระองค์ก็โปรดที่จะดำเนินพระราชกิจประจำวันคล้ายกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ายู่หัว คือ ปกติประทับอยู่ท่ามกลางมหาดเล็กทางฝ่ายหน้า แม้เวลาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ก็ประทับเสวยกับพื้นอย่างแบบไทยโบราณที่เรียกกันว่า “เสวยต้น”

 

          การเสวยต้นในช่วงก่อนที่จะทรงมีฝ่ายในนั้น มักจะมีพระราชดำรัสสั่งให้จัดถวายในเวลาที่แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ [] ในพระบรมมหาราชวัง เพราะที่พระที่นั่งองค์นี้มีพระเฉลียงที่กว้างขวางโปร่งสบายอยู่ที่ส่วนหน้าพระที่นั่ง ในบริเวณนั้นไม่มีโต๊ะเก้าอี้ แต่ลาดพรมอย่างดีนิ่มไปหมดทั้งบริเวณ ตรงที่ซึ่งจัดเป็นที่ประทับนั้นปูผ้าตาดพื้นทองขลิบขอบด้วยแถบทองมีรองพื้นเป็นผ้าสีแดงขนาดกว้างยาวประมาณ ๑ เมตรสี่เหลี่ยม ทอดพระที่นั่งสีเหลืองเป็นพระยี่ภู่ (เบาะสำหรับใช้เป็นที่ประทับ) พร้อมพระเขนยอิง (ที่เรียกว่า “หมอนขวาง”) เย็บตรึงติดกับพระยี่ภู่ไว้ข้างบน

 

          เครื่องราชูปโภคที่สำคัญในการเสวยต้นนี้ คือ พระสุพรรณภาชน์หรือพานปากแบนที่มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า “โต๊ะ” ชุดหนึ่งมี ๓ องค์ คือ ๓ โต๊ะ เป็นโต๊ะทำด้วยทองคำบ้างเงินบ้าง ปากโต๊ะเป็นกุดั่น คือ ฝังพลอยสีต่างๆ เป็นเครื่องคาว ๒ องค์ คือ เครื่องใหญ่องค์หนึ่ง เครื่องเคียงองค์หนึ่ง กับอีกองค์หนึ่งสำหรับวางชามพระกระยาเสวย

 

          ครั้นใกล้เวลาเสวยกลางวัน มหาดเล็กห้องพระบรรทมจะออกมารับเหล้า "ค็อกเทล" ขึ้นไปทอดถวาย เหล้าค็อกเทลนี้เป็นเหล้าที่ปรุงผสมจากเหล้าฝรั่งหลายอย่างตามตำหรับสากล ซึ่งหัวหน้ากองคลังวรภาชน์เป็นผู้ปรุงถวาย เปลี่ยนไปวันละตำหรับ ขณะที่มหาดเล็กห้องบรรทมเชิญถ้วยค็อกเทลขึ้นไปทอดถวายที่โต๊ะทรงพระอักษรนั้น เจ้าพนักงานคลังวรภาชน์จะหยิบฆ้องใบเล็กขึ้นมาตีเป็นสัญญาณหนึ่งจบ คล้ายประกาศให้ผู้มีหน้าที่ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม เรียกกันตามภาษาในวังว่า "ฆ้องหนึ่ง" เมื่อทอดถวายถ้วยค็อกเทลเรียบร้อยแล้ว จะทรงจิบทีละน้อยๆ เหมือนเป็นการเรียกน้ำย่อย จะเร็วหรือช้าไม่แน่นัก สุดแท้แต่จะมีพระอักษรที่ทรงค้างอยู่มากน้อยเป็นสำคัญ เมื่อทรงจิบค็อกเทลที่เหลืออยู่เป็นครั้งสุดท้ายเป็นสัญญาณว่า จะทรงหยุดทรงพระอักษรแล้ว มหาดเล็กห้องพระบรรทมซึ่งหมอบเฝ้าอยู่ในที่ใกล้ๆนั้น ก็คลานเข้าไปถอนถ้วยค็อกเทลนั้นออกมา แล้วนำไปส่งคืนเจ้าหน้าพนักงานคลังวรภาชน์ ในขณะนั้นเองพนักงานคลังวรภาชน์จะลั่นฆ้องสัญญาณเป็น ๒ ลา ซึ่งเรียกกันว่า "ฆ้องสอง" อันเป็นสัญญาณที่รู้กันดีในหมู่มหาดเล็กทั่วไป ให้เตรียมพร้อมรอรับเสด็จเพื่อสนองพระยุคลบาทตามตำแหน่งหน้าที่

 

          การแต่งกายของมหาดเล็กตั้งเครื่องนั้น ทุกคนจะนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน ไม่สวมรองเท้าและถุงเท้า สวมเสื้อนอกขาวแบบราชปะแตนดุมพระมหามงกุฎเงิน พร้อมแผ่นคอสีน้ำเงินขลิบแถบเงินประดับดาราตามชั้นยศ เข้าไปนั่งพับเพียบเรียงลำดับอาวุโส โดยทางเบื้องขวาของพระหัตถ์ เป็นมหาดเล็กชั้นหัวหมื่นที่เรียกกันว่า "พระนาย" [] ต่อลงไปเป็นรองหัวหมื่นเรียกกันว่า "หลวงนาย" [] และจ่า [] แล้วจึงถึงหุ้มแพร และรองหุ้มแพรตามลำดับ ส่วนทางเบื้องซ้ายพระหัตถ์ก็เป็นชั้นรองหัวหมื่น จ่า หุ้มแพร รองหุ้มแพรตามลำดับเช่นเดียวกัน

 

          เมื่อคุณพนักงานครัวพระเข้าต้นจัดเตรียมเครื่องเสวยไว้พร้อมสรรพ หัวหน้าเวรมหาดเล็กกองตั้งเครื่องจะทำหน้าที่ตรวจความเรียบร้อยของดวงตราที่หุ้มห่อพระกระยาเสวยที่เชิญมาจากห้องเครื่อง แล้วเทียบเครื่อง (คือ ตักขึ้นชิมให้แน่ใจว่า ไม่มียาพิษเจือปนอยู่ ตลอดจนน้ำดื่ม น้ำชา เหล้า อาหารกระป๋อง ฯลฯ) ต่อมาเมื่อทรงตั้งตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ขึ้นแล้ว หน้าที่การเทียบและเชิญค็อกเทลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและตีฆ้องสัญญาณนั้นตกเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กรับใช้สืบมาจนสิ้นรัชสมัย

 

          ครั้นเสด็จเข้ามาในห้องเสวยหลังสัญญาณฆ้อง ๒ ปกติจะทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน อบร่ำด้วยเครื่องหอมอย่างไทย มีผ้าแพรสีแดงรัดบั้นพระองค์ ทรงเหน็บผ้าซับพระพักตร์สีขาวสะอาดไว้กับผ้ารัดบั้นพระองค์ ทรงฉลองพระบาททำด้วยผ้าหรือหนังชนิดเนื้อนุ่ม แม้จะทรงพระดำเนินเข้ามาเงียบๆ แต่พลันที่ได้กลิ่นพระสุคนธ์โชยมาเป็นสัญญาณว่าเสด็จพระราชดำเนินมาถึงแล้ว มหาดเล็กที่รอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้นต่างก็พากันหมอบกราบถวายบังคมลงกับพื้น และรอเฝ้าถวายงานตามหน้าที่

 

 

(จากซ้าย) เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)

 

 

          ครั้นเสด็จประทับเหนือพระราชอาสน์เรียบร้อยแล้ว หัวหมื่นมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ประจำอยู่เบื้องขวาที่ประทับเปิดกรวยครอบพระสุพรรณภาชน์ทั้งหมดออก ในเวลาเดียวกันนั้นมหาดเล็กผู้ใหญ่ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ร่วมโต๊ะเสวย อาทิ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) และพระยาอุดมราชภักดี (โถ สจริตกุล) ที่รออยู่ภายนอกก็ทยอยกันเข้ามานั่งตามที่นั่งของตน

 

          พร้อมกันแล้วคุณพระนายผู้เป็นหัวหมื่นมหาดเล็กตักพระกระยาเสวย จากหม้อเคลือบสีขาวทรงกระบอกที่บรรจุอยู่ในถังทองเหลืองใส่น้ำร้อนถวายลงในชามพระกระยาเสวยประมาณ ๒ ช้อน ครั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ขวาออกมาเหนือพระสุพรรณราช คุณพระนายจะค่อยๆ รินน้ำจากคนโทเงินถวายชำระให้สะอาด แล้วจึงเริ่มเสวยด้วยพระหัตถ์ (เว้นแต่วันใดมีพระราชกิจที่จะต้องทรงปฏิบัติภายหลังเสวยจึงมักจะทรงจะใช้ช้อนส้อม) ในระหว่างเสวยนั้นคุณพระนายและคุณหลวงนายที่นั่งประจำทั้งเบื้องขวาซ้ายของพระที่นั่งก็จะคอยเลื่อนเครื่องที่ทรงโปรดเสวยในเวลานั้นให้ใกล้เข้าไป ถ้าพระกระยาเสวยพร่องมาก คุณพระนายจะคอยตักถวายจนกว่าจะทรงห้าม พระจริยาวัตรในเวลาเสวยต้นนี้ทรงใช้พระหัตถ์ได้อย่างละมุนละม่อมชนิดที่ไม่มีข้าวหล่นลงมาเลย

 

          เครื่องพระกระยาหารคาวหวานที่ห้องพระเครื่องต้นจัดขึ้นมาถวายเป็นประจำเวลาสวยต้นนั้น จะเป็นอาหารไทยล้วน และเป็นอาหารพื้นๆ ที่ปรุงขึ้นจากเนื้อสัตว์ ผักสด ไขมัน แป้งและเครื่องปรุงรสนานาชนิดบรรดาที่คนไทยเรานิยมรับประทานกันทั่วไป แต่การประกอบพระกระยาหารเหล่านี้ ชาวพนักงานห้องเครื่องทั้งคาวหวานต่างก็ปรุงแต่งและประดิษฐ์ขึ้นด้วยฝีมืออันประณีต ผักหรือผลไม้ล้วนแกะสลัก ปอก คว้าน ให้ดูสวยงามและเสวยง่าย อีกทั้งจัดวางให้เข้าชุดกับสิ่งที่จะต้องประกอบกัน เช่นผักสดกับเครื่องจิ้มก็จัดวางไว้ใกล้ๆ กันกับปลา สำหรับแนม เป็นต้น

 

          พระกระยาหารคาวซึ่งจัดถวายในแต่ละวันนั้นจัดเป็นชุด มีพร้อมทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ปลาสำหรับแนม เครื่องจิ้ม ผักสดหรือผักชนิดอื่นๆ (เช่น ผักดองและผักต้ม) เครื่องเคียงต่างๆ ประมาณไม่ต่ำกว่า ๑๐ อย่าง ผลัดเปลี่ยนเวียนกันไปเพื่อมิให้ทรงเบื่อ ดังตัวอย่างชุดพระกระยาหารที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกไว้ มีดังนี้

 

          ชุดที่ ๑ ประกอบด้วย

                    ๑.๑ แกงเผ็ดเนื้อ

                    ๑.๒ ปลาเค็ม (ตัดเป็นชิ้นย่อมๆ ชุบไข่ทอด)

                    ๑.๓ หมูหวาน

                    ๑.๔ แกงจืดเกาเหลา

                    ๑.๕ ปลาช่อน(แล่เอาแต่เนื้อทอดเหลือง)

                    ๑.๖ น้ำพริก ผักต้มกะทิ

                    ๑.๗ ผักสดชนิดต่างๆ

                    ๑.๘ ยำไข่ปลาดุก

                    ๑.๙ ไข่ฟูทรงเครื่อง

                    ๑.๑๐ กระเพาะปลาทอดกรอบ จิ้มน้ำพริกเผา (ปรุงรส)

 

          ชุดที่ ๒ ประกอบด้วย

                    ๒.๑ แกงเผ็ดปลาดุก

                    ๒.๒ เนื้อเค็ม(ฉีกฝอยผัดหวาน)

                    ๒.๓ ปลาจาระเม็ดขาว(เจี๋ยน)

                    ๒.๔ แกงจืดลูกรอก

                    ๒.๕ ปลาทูนึ่งทอดเหลือง

                    ๒.๖ น้ำพริกมะขามสด ผักทอดต่างๆ

                    ๒.๗ ผักสดชนิดต่างๆ

                    ๒.๘ ยำไข่ปลาดุก

                    ๒.๙ ผัดเนื้อหมูกับยอดผัก

                    ๒.๑๐ ด้วงโสนทอดกรอบ

 

          ชุดที่ ๓ ประกอบด้วย

                    ๓.๑ แกงเขียวหวานไก่

                    ๓.๒ ปลายี่สกฝอย (ผัดหวาน)

                    ๓.๓ ไข่เค็ม (ทอด)

                    ๓.๔ แกงจืดวุ้นเส้น

                    ๓.๕ ปลาดุกย่างยีเนื้อ ทอดฟู

                    ๓.๖ เต้าเจี้ยวหล่น หรือกะปิคั่ว

                    ๓.๗ ผักสดชนิดต่างๆ

                    ๓.๘ ยำไข่ปลาดุก หรือยำใหญ่

                    ๓.๙ ปูจ๋า

                    ๓.๑๐ หมูกระจก จิ้มน้ำพริกเผา(ปรุงรส)

 

          แต่สิ่งที่โปรดเสวยมากจนเป็นที่รู้กันว่า ชาวพนักงานพระเครื่องต้นจะพยายามจัดหาไม่ค่อยขาดนั้นมีอยู่ ๒ - ๓ อย่าง คือ

 

          ๑. ยำไข่ปลาดุก ซึ่งเป็นเครื่องเคียงของประจำที่มีอยู่เกือบตลอดฤดูกาล

          ๒. ด้วงโสนทอดกรอบ (จัดอยู่ในประเภทอาหารพิเศษตามพระราชบุพการีที่โปรดเสวยมาในอดีต) ซึ่งมีวิธีทำที่พิสดาร เป็นของหายาก นานๆ ครั้ง

          ๓. ผักสดชนิดต่างๆ จะต้องจัดไว้จานหนึ่งด้วย จานที่เป็นผักสดจะต้องพยายามเก็บรักษาไว้ให้สดกรอบที่สุด ชาวพนักงานวรภาชน์จะเตรียมน้ำแข็งขูดเป็นฝอยด้วยเครื่องมือสำหรับขูดเอาไว้เสมอ พอจวนเวลาเสวยจึงจะนำมาโรยคลุมลงบนจานผักสดที่จัดประดับเตรียมไว้ เพื่อทอดถวายในพระสุพรรณภาชน์เป็นจานหลังสุด แต่ไม่โปะลงไปจนปิดผัก จะโรยพอให้น่าดูและเย็นพอเท่านั้น ผักแช่น้ำแข็งนี้เป็นเครื่องเสวยอีกชนิดหนึ่งที่โปรดมากเป็นพิเศษจนขาดไม่ได้ทีเดียว ไม่ว่าเครื่องจิ้มจะเป็นชนิดใดก็ตาม ผักสดจะต้องมีพร้อมเครื่องเสวยทุกครั้ง

          ๔. น้ำพริก เป็นเครื่องเสวยประเภทเครื่องจิ้มที่โปรดมาก เป็นเครื่องประกอบกับผักสดที่จะต้องจัดถวายเป็นประจำ แต่ในการเสวยต้นที่จะต้องใช้พระหัตถ์หยิบบ้างคลุกบ้างกับพระกระยาหารเสวย พระหัตถ์ก็จำเป็นที่จะต้องเปื้อนน้ำพริก ซึ่งล้างให้หมดกลิ่นน้ำพริกยากนักยากหนา ด้วยเหตุนี้ถ้าวันใดเป็นวันที่จะต้องเสด็จออกขุนนางที่มีประจำทุกสัปดาห์ วันนั้นก็จะต้องเตรียมจัดช้อนส้อมไว้ถวายเป็นพิเศษ

 

 

 


[ ]  ต่อมาในตอนปลายรัชสมัยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระที่นั่งนี้เป็น “พระที่นั่งบรมพิมาน”

[ ]  มีอยู่ ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี, เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์, เจ้าหมื่นไวยวรนาถ และเจ้าหมื่นเสมอใจราช

[ ]  มีอยู่ ๔ ตำแหน่ง หลวงศักดิ์ นายเวร, หลวงสิทธิ์ นายเวร, หลวงฤทธิ์ นายเวร, หลวงเดช นายเวร

[ ]  มีอยู่ ๔ ตำแหน่ง คือ นายจ่าเรศ, นายจ่ารง, นายจ่ายง, นายจ่ายวด

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |