โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๖. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ (๑)

 

 

          เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วชิราวุธวิทยาลัยจัดนักเรียนเข้าร่วมในกระบวนพระราชอิสริยยศในฐานะมหาดเล็กและพระตำรวจหลวงคู่แห่ ในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ แต่เนื่องจากเรื่องราวของกรมพระตำรวจห พระบรมราช)ภัมภหวชิราวุธวิทยาลัย ในโอกาสนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวของกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ซึ่งเตยมีบทบาทสำคัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ๒ นาย คือ ขุนตำรวจเอก พระมหามนตรีศรีองครักษ์สมุห (ฉัตร โชติกเสถียร) และขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห เนื่อง สาคริก) ได้สนองพระเดชพระคุณเป็นเจ้ากรมพระตำรวจใน ขวา และ ซ้าย เป็นสองท่านสุดท้าย

 

          กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ หรือเดิมชื่อว่า กรมพระตำรวจ หรือกรมตำรวจ จัดเป็นกรมใหญ่ฝ่ายทหาร แต่ “มิได้เกี่ยวข้องกับกรมพระกระลาโหมเลย แต่เดิมมามีข้อห้ามมิให้เสนาบดีผู้ใดผู้หนึ่งขอให้ตั้งผู้ใดเปนเจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจ ต้องแล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งได้พระองค์เดียว บันดาพระราชอาญาทั้งปวงซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะลงโทษแก่ผู้หนึ่งผู้ใดย่อมใช้กรมพระตำรวจทั้งสิ้น จึ่งมิได้ให้กรมพระตำรวจอยู่ในบังคับผู้ใด ฟังคำสั่งจากพระเจ้าแผ่นดินตรงแห่งเดียว” []

 

          กรมพระตำรวจที่ทำหน้าที่เป็นกรมรักษาพระองค์นั้น เรียกกันเป็นสามัญว่า กรมพระตำรวจหน้าแปดกรม ประกอบไปด้วย

 

กรมพระตำรวจใน ขวา กรมพระตำรวจใน ซ้าย
กรมพระตำรวจใหญ่ ขวา กรมพระตำรวจใหญ่ ซ้าย
กรมพระตำรวจนอก ขวา  กรมพระตำรวจนอก ซ้าย
กรมสนมทหาร

ขวา

กรมสนมทหาร ซ้าย

 

          ในเวลาปกติกรมพระตำรวจในขวา ซ้าย และกรมพระตำรวจใหญ่ขวา ซ้าย มีหน้าที่ประจำรักษาพระองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีตำแหน่งเฝ้าทางขวาและซ้ายของที่ประทับ ส่วนกรมพระตำรวจนอกขวา ซ้าย มีหน้าที่ประจำรักษาพระองค์พระราชโอรส และกรมสนมทหารขวา ซ้าย มีหน้าที่ประจำรักษาพระองค์พระมเหสีและพระราชธิดา ในตำแหน่งขวาซ้ายเช่นเดียวกัน

 

          นอกจากกรมพระตำรวจหน้าทั้งแปดกรมแล้ว จางวางกรมพระตำรวจยังได้กำกับราชการ กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก และกรมทหารใน “กรมรักษาพระองค์เหล่านี้เปนทหารรักษาพระองค์ ค้องนอนประจำเวรในพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีที่เสด็จพระราชดำเนินทางบกทางเรือ ในการสงครามหรือในการประพาศก็เปนพนักงานที่จะแห่ห้อมประจำการในที่ใกล้เคียงพระองค์ จนที่สุดเวลาเสด็จออกท้องพระโรง กรมเหล่านี้ต้องเข้าเฝ้าก่อนขุนนางกรมอื่นๆ เปนผู้ซึ่งจะมีอาวุธเข้ามาในท้องพระโรงได้พวกเดียว”  []

 

          นอกจากหน้าที่แห่ห้อมในกระบวนเสด็จแล้ว พระตำรวจหน้าทั้งแปดกรมยังมีหน้าที่สำคัญ คือ

 

“เป็นศาลรับสั่งชำระความซึ่งเหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินทรงเปนผู้พิพากษาเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ลูกขุน [] เปนพนักงานซึ่งจะทำที่ประทับพลับพลา หรือทำการที่เปนการใหญ่จะให้แล้วโดยเร็ว เช่นทำพระที่นั่งทำพระเมรุเปนต้น กรมพระตำรวจใหญ่ขวาได้บังคับบัญชากรมฝีพายมาแต่เดิมด้วย เมื่อมีราชการอันใดซึ่งเปนทางใกล้ก็ดีหรือไปในหัวเมืองไกลก็ดี เมื่อจะต้องมีข้าหลวงออกไปด้วยข้อราชการนั้นๆ ก็ใช้กรมพระตำรวจโดยมาก”  []

 

          นอกจากกรมพระตำรวจหน้าทั้งแปดแล้ว กรมพระตำรวจที่มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นต่างก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

 

“กรมรักษาพระองค์นั้นประจำรักษาพระเจ้าแผ่นดินในเวลาเมื่อมีที่เสด็จไปแห่งใดคล้ายกันกับตำรวจ แต่เมื่อถึงที่ประทับหรือเมื่อประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เปนผู้รักษาชั้นในใกล้เคียงชิดพระเจ้าแผ่นดินกว่ากรมพระตำรวจอีก เปนผู้ซึ่งใช้ราชการได้ตลอดถึงพระบรมมหาราชวังเช่นในการบางสิ่ง นับว่าเปนผู้ใกล้ชิดชั้นที่สองรองชาวที่ซึ่งอยู่ในฝ่ายพลเรือนลงมา แต่ไม่ได้เปนผู้พิจารณาความศาลรับสั่ง เปนพนักงานการซึ่งจะเปนที่สำราญพระราชหฤไทยต่างๆ มีพนักงานรักษาต้นไม้เลี้ยงสัตว์เปนต้น เปนนายด้านทำการในพระบรม-มหาราชวังปนกันไปกับกรมวัง กรมทหารในก็ไม่ได้เปนกรมชำระความศาลรับสั่ง เปน กรมช่างไม้ทำการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง แลเปนนายช่างที่สำหรับจะตรวจการงานที่มีนายด้านไปทำ กรมทหารในเปนพนักงานสำหรับจะรักษาการในที่ใกล้ชิดข้างใน เช่นกับ

 

เปนเจ้าพนักงานลงรักษาการในเรือบัลลังก์เวลาเสด็จลงลอยพระประทีปเปนต้น กรมเรือคู่ชักนั้นเปนหมู่คนซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยสนิทของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินทางบกเจ้ากรมปลัดกรมสมทบแห่กับกรมพระตำรวจ แต่เมื่อเสด็จโดยทางเรือ กรมเรือคู่ชักลงเรือสองลำซึ่งไปน่าเรือพระที่นั่งป้องกันอันตรายทั้งปวง ตั้งแต่เรือพระที่นั่งจะล่มเปนต้นไป แต่ไม่ได้ว่าความศาลรับสั่งเหมือนกันแลไม่ต้องประจำเวรอยู่ในพระบรมมหา-ราชวังด้วย กรมพลพันก็เปนตำรวจที่สนิทภายในคล้ายรักษาพระองค์ แต่ต้องประจำเวรอยู่ชั้นนอกออกไปเสมอกับกรมพระตำรวจหน้า กรมทนายเลือกเปนกรมที่เลือกคัดเอาแต่คนที่ล่ำสันมั่นคง มีฝืมือชกมวยดี ให้เดินแห่ตามเสด็จไปในที่ใกล้ๆ ได้ป้องกันอันตรายอันไม่พอที่จะต้องถึงใช้อาวุธเช่นกับจับบ้าเปนต้น ซึ่งเกิดกรมทนายเลือกขึ้นนี้ด้วยพระเจ้าแผ่นดินโปรดทรงมวย เลือกหาคนที่มีฝีมือดีไว้เปนเพื่อนพระองค์ สำหรับจะเสด็จปลอมแปลงไปในที่แห่งใดที่ไม่ควรจะใช้ป้องกันด้วยอาวุธ แต่เมื่อแห่เสด็จโดยปรกติก็ให้ถือหอกเหมือนกรมพระตำรวจ มีเวรประจำการเหมือนกรมพลพัน แลไม่มีหน้าที่ชำระความรับสั่งทั้งสองกรม เพราะฉนั้นกรมเหล่านี้เปนกรมที่ใกล้เคียง เปนกำลังของพระเจ้าแผ่นดินจึงมิให้มีผู้ใดบังคับบัญชาได้”  []

 

 

เจ้ากรม ๔ ตำรวจและสนมตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรสะพายกระบี่

นำ กระบวนแห่นาคหลวงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ไปทรงผนวชที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗

 

 

          นอกจากกรมพระตำรวจฝ่ายพระบรมมหาราชวังดังได้กล่าวแล้ว ในส่วนของพระบวรราชวังหรือวังหน้าก็มีพระตำรวจฝ่ายพระบวรราชวังบวร หรือพระตำรวจวังหน้าประจำรับราชการอยู่ตลอดเวลาที่พระมหาอุปราชหรือวังหน้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าเสด็จทิวงคตแล้ว พระตำรวจวังหน้าก็จะยกไปสมทบกับปบัติราชการร่วมกับพระตำรวจหลวงฝ่ายพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับมหาดเล็กและกรมวัง ต่อเมื่อมีวังหน้ากลับขึ้นมาอีกครั้ง บรรดามหาดเล็ก กรมวังและพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรนี้ ก็จะยกกลับไปประจำรับราชการตามหน้าที่ที่พระบวรราชวังเช่นเดิม ย้ายกันไปมาเช่นนี้จนยุบเลิกตำแหน่งวังหน้าไปภายหลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระมหาอุปราชพระองค์สุดท้ายเสด็จทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๒๘ แล้ว บรรดามหาดเล็ก กรมวัง และพระตำรวจฝ่ายพระราชวังบวรจึงย้ายไปประจำรับราชการในพระบรมมหาราชวังมาจนยุบเลิกกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

          อนึ่ง เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๔๘ เพื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์เข้าประจำการเป็นทหารแทนการเกณฑ์เลกไพร่ตามแบบเดิมแล้ว กรมพระตำรวจซึ่งเคยเป็นกรมใหญ่มีไพร่พลในสังกัดเป็นจำนวนมากจึงถูกลดบทบาทลงในตอนปลายรัชสมัยพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะไร้ไพร่พลในสังกัดเช่นกาลก่อน ในขณะที่บทบาทการถวายความปลอดภัยกลับไปตกอยู่กับกรมทหารรักษาพระองค์ที่ตั้งขึ้นใหม่

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสิริราชสมบัตืสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้กราบบังคมทูลขอ “ให้แยกกิจการส่วนตัวกับกิจการแผ่นดินเปนคนละแพนก” [] ต่อมาวันที่ ๒๗ ธันวาคมปีเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพระตำรวจไปสังกัดกระทรวงวัง ด้วยมีพระราชดำริว่า

 

“ข้าราชการในกรมพระตำรวจ อันเปนข้าราชการประจำในพระราชสำนักอยู่กรมหนึ่งนั้น ในเวลานี้ยังแยกอยู่แพนกหนึ่งลอยๆ มิได้ขึ้นต่อกรมกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คงถือกันอยู่ว่า เปนกรมที่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินเสมอมา ทรงพระราชดำริห์ว่า ในสมัยนี้พระราชกรณียกิจใหญ่น้อย อันเปนน่าที่พระเจ้าแผ่นดินจะพึงทรงพระราชดำริห์มีทวียิ่งขึ้นเปนอันมาก จะทรงบังคับบัญชาการในกรมพระตำรวจ ให้เรียบร้อยตลอดไปไม่สดวก เพื่อจะทรงหย่อนพระราชกังวลอันนี้ให้เบาบางลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพระตำรวจรวมเข้าอยู่ในกระทรวงวัง”  []

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, หน้า ๕๐.

[ ]  พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, หน้า ๔๙.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า

“ตามระเบียบราชการแต่ก่อนนี้ฎีกาทั้งปวงที่ทูลเกล้าฯ ถวายตกเปนน่าทีศาลรับสั่ง, ซึ่งขึ้นอยู่ในกรมพระตำรวจ, เปนผู้พิจารณาทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อเริ่มจัดตั้งศาลฎีกาขึ้นในกระทรวงยุติธรรม, กรมขุนสิริธัชกับกรมราชบุรีต้องการให้ศาลฎีกาคงติดต่อกับอยู่กับพระราชสำนัก. จึ่งคงให้มีข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมพระตำรวจเปนกรรมการอยู่คน ๑. แต่กรรมการที่เปนตำรวจนั้น เมื่อตกเข้าไปอยู่ในหมู่ผู้ชำนาญในวิชากฎหมายก็ทำการไม่ได้ทันเขา, จึงได้มีธุระน้อยลงทุกที, ในที่สุดฉันจึ่งได้ตกลงถอนเอากรมพระตำรวจออกเสีย ให้คงมีแต่กรรมการที่เปนผู้ชำนาญในทางกฎหมายล้วน”.

[ ]  พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, หน้า ๔๙.

[ ]  พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, หน้า ๕๐ - ๕๑.

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๘๐.

[ ]  “ประกาศยกกรมพระตำรวจรวมเข้าอยู่ในกระทรวงวัง”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ (๑ มกราคม ๑๓๙), หน้า ๙๔ - ๙๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |