โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๙. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ ()

 

 

          ในส่วนหน้าที่ราชการของกรมพระตำรวจนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “กฎข้อบังคับจัดการปกครองกรมพระตำรวจ ศก ๑๓๑” ให้พระตำรวจมีหน้าที่ “เป็นผู้ระวังป้องกันรักษาพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคล้ายกับน่าที่ราชองครักษ์ แลคอยตรวจตรามิให้ผู้ใดแปลกปลอมเข้าไปในพระราชฐานที่ประทับ”  [] ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับแรมในพระบรมมหาราชวัง

 

          พระตำรวจหลวงต้องไปอยู่เวร ณ ตึกที่ทำการที่ศาลาว่าการกรมพระอาลักษณ์ ริมประตูพิมานชัยศรีด้านทิศตะวันตก (ปัจจุบันเป็นที่ทำการสำนักราชเลขาธิการ) โดยแบ่งพื้นที่ครึ่งด้านตะวันออกเป็นส่วนของราชองครักษ์ และครึ่งทางด้านตะวันตกเป็นที่ทำการกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องพระภูษาขาว

ในการพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ มีพระตำรวจหลวงแห่นำ

จากเกยลาหน้าพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน) ไปประทับเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

 

 

          “เวลา ๑๖ น. ตั้งแถวหมวดรักษาการณ์ที่หน้าที่ทำการของกรม ถ้าไม่เสด็จออกนอกเขตพระราชฐาน เวลา ๒๑ น. เลิกแถว ถ้าเสด็จออกนอกเขตพระราชฐานเสด็จผ่านผู้บังคับหมวดต้องบอกแถวทำวันทยาวุธ ขลุ่ยกลองทำพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อจบแล้วผู้บังคับ

 

          หมวดบอกเรียบวุธ นายตำรวจหรือพลตำรวจที่เข้าแถวหมวดรักษาการณ์ใช้หอกทุกคน เว้นแต่ผู้บังคับหมวดคนเดียวสะพายดาบ ถ้าเสด็จประทับที่พระที่นั่งบรมพิมาน ต้องวางยามที่ท้องพระโรงอัฒจันทร์หน้าเป็นยามคู่หนึ่ง หน้าที่ยามเดี่ยวอยู่ทางด้านใต้ที่น้ำพุอีกแห่ง ๑ หน้าที่ยามตรวจชั้นนายตำรวจสำหรับตรวจรอบบริเวณอีกหน้าที่หนึ่ง ยามหน้าหมวดอีก

 

          หนึ่งหน้าที่ ยามประจำที่ใช้หอกทุกหน้าที่ ยามตรวจสะพายดาบ ยามอยู่ผลัดละ ๓ ชั่วโมง

 

          หมวดรักษาการณ์อยู่ ๒๔ ชั่วโมง เปลี่ยนหมวดรักษาการณ์ เวลา ๑๐ น. หมวดที่ออกเวรไป

 

          พักได้หนึ่งวัน พอรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง เวลา ๑๐ น. ต้องไปอยู่เวรสมทบที่กรมเพื่อปฏิบัติงานจนวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเป็นวันว่าง รุ่งขึ้นอีกวันต้องมาเข้าเวรอยู่หมวดรักษาการณ์ เมื่อเวลา

 

          จะออกเวรผู้บังคับหมวดต้องบันทึกหน้าที่ยามไว้ในสมุดว่า ใครอยู่ผลัด ๑ ผลัด ๒ ผลัด ๓ ผลัด ๔ และเข้ายามเวลาไหน ออกยามเวลาไหน ทุกๆ หน้าที่ ยามท้องพระโรงมีหน้าที่จดคนภายนอกผ่านขึ้นเวลาไหน ผ่านลงเวลาไหน ตลอดจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านขึ้นผ่านลง ก็ต้องจดเหมือนกัน มีหน้าที่ตีมโหระทึกตามโมงยาม ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ต้องบันทึกไว้ในสมุด กับคัดเรื่องที่บันทึกไว้ในสมุดส่งไปรายงานกรมอีกฉบับหนึ่ง

 

          ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับแรมพระราชวังดุสิต พระที่นั่งอัมพรสถาน ตำรวจหลวง ร.อ. ที่จะไปอยู่หมวดรักษษการณ์ต้องไปพร้อมที่กรมมโหรสพ (วังจันทร์) [] เพราะพลตำรวจหลวง ร.อ. เป็นพวกมโหรสพ อยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น นายตำรวจหลวง ร.อ. จึงไปพร้อมกันที่นั้น แล้วจึงเดินแถวจากกรมมโหรสพ มัขลุ่ย กลอง นำเข้าในพระราชวังดุสิต ถึงพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ ตั้งหมวดรักษาการณ์ ณ ที่นั้น เวลาออกเวรก็ต้องเดินแถวจากพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ ไปเลิกแถวที่กรมมโหรสพ การวางยามพระที่นั่งอัมพรสถาน ยามคู่ที่อัฒจันทร์หน้าท้องพระโรง ๑ หน้าที่ใช้หอก ยามตรวจรอบบริเวณ ๑ หน้าที่สะพายดาบ ยามหน้าหมวด ๑ หน้าที่ใช้หอก ยามท้องพระโรงมีหน้าที่ตีมโหรทึกตามโมงยาม เวลากลางคืนมีประโคมย่ำยาม คือเวลายาม ๑ ต้องย่ำมโหรทึก และคนขลุ่ยกลอง เป่าแตรงอนประสานเสียงไปพร้อมกันกับย่ำมโหรทึกนานประมาณ ๓ นาทีแล้วหยุด เมื่อหยุดประโคมย่ำแล้ว ตีมโหรทึก ๓ ที ยาม ๒ ก็ประโคมเหมือนกับยาม ๑ เมื่อหยุดประโคมแล้วตีมฌหรทึก ๖ ที ยาม ๓ ก็ประโคมเหมือนกับยาม ๒ เมื่อหยุดประโคมแล้วตีมโหรทึก ๙ ที ยาม ๔ ก็ประโคมเหมือนกับยาม ๓ เมื่อหยุดประโคมแล้วตีมโหรทึก ๑๒ ที (คือ ๖ น. หรือย่ำรุ่ง)

 

          ในระหว่างอยู่เวรรักษาการณ์ ถ้าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในเขตพระนคร ผู้บังคับหมวดรักษาการณ์ต้องสั่งให้เตรียมพร้อมสั่งจำเพาะนายตำรวจ ๔ นาย ให้เตรียมตัวที่จะขึ้นรถยนต์หลวงตามเสด็จ เพื่อเสด็จทอดพระเนตรไฟ ส่วนผู้บังคับหมวดให้ตามเสด็จไปกับรถยนต์ราชองครักษ์ตามเคย ส่วนนายตำรวจ ๔ นายนั้น เมื่อตามเสด็จไปถึงรถยนต์พระที่นั่งให้ยืนรักษาพระองค์ข้างละ ๒ คน คอยกันคนไม่ให้เข้าไปใกล้รถพระที่นั่ง ถ้าเสด็จลงจากรถพระที่นั่ง ให้ตำรวจ ๔ นาย นำเสด็จและกันคน รักษาพระองค์จนเสด็จกลับ”  []

 

          ในกรณีเสด็จประพาสหัวเมืองหรือประทับแรมนอกพระนคร เป็นหน้าที่สมุหพระตำรวจจัดพระตำรวจประจำการหมวดหนึ่งออกไปคอยรับเสด็จ ณ ตำบลหรือเมืองที่จะเสด็จไปประทับ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินวัน ๑ หรือ ๒ วัน โดยให้นายตำรวจในหมวดนั้น ๔ นายโดยเสด็จพระราชดำเนินไปในกระบวนจนส่งเสด็จถึงที่ประทับ ส่วนผู้บังคับหมวดนั้นต้องล่วงหน้าไปตรวจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจภูธรวางยามรักษาราชการ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงที่หรือค่ายประทับแรมแล้ว ผู้บังคับหมวดต้องรายงานเจ้าหน้าที่ประจำซองให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และรายงานให้เสนาบดีหรือข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงที่โดยเสด็จพระราชดำเนินทราบ กับมีหน้าที่จัดวางยามในหมวดของตน ณ ที่ใดที่หนึ่งซึ่งใกล้กับที่ประทับ ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ที่ตามเสด็จไปจากกรุงเทพฯ เป็นเวรยามประจำจุดชั้นนอกโดยรอบที่ประทับ และที่ชั้นนอกรอบกำแพงพระราชฐานหรือค่ายประทับแรมเป็นหน้าที่ของทหารและตำรวจในพื้นที่ที่มาสมทบจัดวางเวรยามถวายความปลอดภัย

 

          หน้าที่ของพระตำรวจอีกอย่างหนึ่ง คือ การนำเสด็จและถวายความปลอดภัยในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปแห่งหนใดไม่ว่าจะโดยสถลมารคหรือชลมารค นายตำรวจต้องโดยเสด็จด้วย ๑ นายสำหรับรักษาราชการ ถ้าที่ใดคนพลุกพล่านสมควรที่ตำรวจจะต้องนำเสด็จไล่ผู้กันคน

 

          “ผู้อยู่ทางขวาต้องรับผิดชอบทางขวา ผู้อยู่ทางซ้ายต้องรับผิดชอบทางซ้าย ให้สังเกตดูสองข้างทางว่า จะมีคนเมาคนวิกลจริต หรือผู้ที่จะคิดประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพบเห็นให้ลงมือจับกุมได้ทันที ถ้าผู้นั้นไม่ยอมให้จับโดยดี ทั้งมีอาวุธต่อสู้ เราก็ต้องใช้อาวุธตามควรแก่การ ส่วนระยะทางใกล้ไกลหรือจำนวนข้าราชการที่จะนำเสด็จนั้นแล้วแต่ภิมิประเทศและเหตุการณ์ เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาจะสั่ง เช่น ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ระยะทางใกล้ ใช้นายตำรวจ ๔ นาย นำเสด็จออกจากรถพระที่นั่งถึงอัฒจันทร์

 

          จากอัฒจันทร์ถึงรถพระที่นั่งส่วนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามระยะทางไกลต้องนายและพลตำรวจทั้งหมวดนำเสด็จจากรถพระที่นั่งถึงกำแพงแก้ว ให้คู่หน้าเลี้ยวขวาไปตามกำแพงแก้ว คงเหลือนายตำรวจ ๔ นาย นำขึ้นพระอุโบสถทางอัฒจันทร์กลาง เข้าไปหยุดยืนในพระอุโบสถยืนต่อจากบานประตูข้างละ ๒ นาย เมื่อเสด็จถึงให้ถวายความเคารพ เมื่อเสด็จผ่านไปแล้วลงทางเดิมจะไปลงทางอื่นไม่ได้... เมื่อเสด็จประทับในพระอุโบสถ ผู้บังคับหมวดต้องตำรวจคู่หนึ่งยืนยามเกียรติยศที่อัฒจันทร์กลาง ตำว่ายามเกียรติยศนั้นต้องยืนระวังตรงจริงๆ จะกระดุกกระดิกไม่ได้ ใช้หอก... ส่วนผู้บังคับหมวดกับนายตำรวจ ๔ นายที่นำเสด็จ ต้องนั่งรักษาการณ์อยู่แถวหน้าพระอุโบสถ ให้คอยนำเสด็จกลับที่อัฒจันทร์กลาง ตำรวจนอกนั้นต้องเข้าแถวอยู่ข้างที่ช่องทางกำแพงแก้ว นำส่งถึงรถพระที่นั่งเป็นเสร็จพิธี”  []

 

          ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคซึ่งจัดกระบวนเป็น ๔ สาย พระตำรวจหลวงอยู่สายนอกขวาและซ้ายคู่กับมหาดเล็ก ในกรณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เมื่อเทียบพระราชยานที่เกยหน้าพระอารามแล้ว ในระหว่างเสด็จประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องก่อนเสด็จเข้าสู่พระอาราม พระตำรวจหลวงที่ไปในกระบวนแยกออกจากกระบวน ๘ นายไปนำเสด็จจากเกยเข้าในพระอุโบสถ แล้วนำเสด็จจากพระอุโบสถถึงเกยทุกๆ วัดจนเสร็จพิธี

 

          ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค กรณีเป็นกระบวนเรือพายที่จัดกระบวนเรือเป็น ๓ สาย พระตำรวจหลวงอยู่สายกลาง ลงเรือกันยานำเสด็จ ๒ ลำๆ ละ ๑ นาย อยู่หน้าเรือกลองนอก ๑ ลำ อยู่หน้าเรือกลองใน ๑ ลำ กับมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ๔ นาย ลงเรือตามเสด็จลำละ ๑ นาย ไม่ต้องขึ้นบก ส่วนกรณีเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือยนต์พระที่นั่ง พระตำรวจหลวงลงเรือยนต์ของกรมเรือยนต์ ๒ ลำๆ ละ ๒ นาย ไม่ต้องขึ้นบก กับมีพระตำรวจหลวง ๑ หมวดไปคอยนำเสด็จที่วัดทั้งสองกรณี

 

 

พระพุทธรูปประจำพระชนม์พรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ในการเสด็จออกขุนนาง คือ เสด็จออกท้องพระโรงให้ข้าราชการทุกกระทรวงเฝ้าฯ ซึ่งตามปกติจะมีทุกสัปดาห์ในตอนเย็นวันพฤหัสบดี เว้นแต่มีพระราชกิจอื่นก็เป็นอันงด ในการนี้เจ้าหน้าพนักงานวรอาสน์จัดเตรียมเก้าอี้ไว้ในท้องพระโรงเป็นสองพวก ทางขวาพวกหนึ่ง ทางซ้ายพวกหนึ่ง เว้นช่องกลางไว้เป็นทางเดินกว้างประมาณ ๑ เมตร ราว ๑๗ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ทรงปิดทองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ในระหว่างที่ทรงปิดทองพระนั้น พระตำรวจหลวงเดินแถวเรียงหนึ่งเข้าไปยืนช่องกลางแล้วถวายคำนับ เมื่อทรงปิดทองพระเสร็จแล้วเสด็จไปประทับยืนบนพระแท่น พระตำรวจหลวงถวายคำนับ เจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก แตรฝรั่ง (แตรยาว) เพลงฮ่อแห่ เมื่อจบเพลงแล้ว ประทับพระราชอาสน์ พระตำรวจหลวงถวายคำนับแล้วนั่งทางขวา กรมวังเชิญข้าราชการเข้านั่งในท้องพระโรง ทหารนั่งตามตำแหน่งทางขวาที่ประทับ พลเรือนนั่งทางซ้ายที่ประทับ พระตำรวจหลวงจัดวางยามเกียรติยศคู่หนึ่งที่พระทวารหน้า เมื่อข้าราชการเข้านั่งเรียบร้อยแล้ว ปลัดทูลฉลองกราบบังคมทูลเบิกข้าราชการในกระทรวงของตนเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาไปต่างประเทศหรือกลับจากต่างประเทศ หรือกราบถวายบังคมลาไปหัวเมืองหรือกลับจากหัวเมือง เสร็จแล้วพระราชทานสัญญาบัตร เหรียญตรา แล้วเสด็จขึ้น เจ้าพนักงานประโคมมโหระทึก แตรฝรั่ง (แตรยาว) เพลงแมลงวันทอง จบเสียงประโคมแล้ว ข้าราชการจึงออกจากท้องพระโรง เป็นเสร็จพิธีออกขุนนางสำหรับวันนั้น

 

 

 


[ ]  “กฎข้อบังคับจัดการปกครองกรมพระตำรวจ ศก ๑๓๑”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๒๘ เมษายน ๑๓๑), หน้า ๑๓ - ๑๙.

[ ]  วังจันทรเกษม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกระทรวงศึกษาธิการ

[ ]  “ประวัติและหน้าที่ตำรวจหลวงรักษาพระองค์ สมัยรัชกาลที่ ๕, ๖, ๗, ๘, ๙”, ขุนตำรวจโท พระสุริยะภักดี, หน้า ๒๒ - ๒๔.

[ ]  ขุนตำรวจโท พระสุริยะภักดี, หน้า ๒๕ - ๒๖.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |