โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๒. คณะดุสิต (๒)

 

 

          ฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการวางศิลาพระฤกษ์ตึกคณะดุสิตนี้พร้อมกับหอประชุมและตึกคณะอีก ๓ คณะ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ถัดมาอีก ๒ สัปดาห์ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘”

 

          เมื่อบทความดังกล่าวได้เผยแพร่ผ่านหน้าเวบของโรงเรียนแล้ว ได้มีท่านผู้อ่านส่งคำทักท้วงมาว่า ผู้เขียนระบุวันที่เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาพระฤกษ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผิดปีไปหรือเปล่า เพราะถ้าห่างกัน ๒ สัปดาห์ดังที่ว่า วันที่เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ก็น่าจะเป็นวันจันทร์ที่ ๓ มกราคม ๒๔๕๙
 

          ข้อทักท้วงของท่านผู้อ่านนั้นเป็นกำลังใจสำหรับผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง แม้ข้อผิดพลาดเล็กๆ ท่านยังกรุณาแจ้งมาให้ทราบ ซึ่งทำให้ระลึกขึ้นมาได้ว่า ตอนที่เขียนบทความนั้นอยู่ ก็นึกอยู่เหมือนกันว่า น่าจะต้องอธิบาไว้ด้วยว่า สมัยก่อนนั้นสยามประเทศเราเคยใช้ปฏิทินจันทรคติกันมาแต่โบราณ เพิ่งจะเปลี่ยนมาใช้ปฏิทินสุริยคติที่แบ่งเป็น ๑๒ เดือนๆ หนึ่งมี ๓๐ หรือ ๓๑ วันเช่นทุกวันนี้ ก็เมื่อกว่าร้อยปีมานี้เอง


          เนื่องจากการคำนวณหาวันทางจันทรคตินั้นเป็นเรื่องซับซ้อน บางปีมีเดือนแปดสองครั้ง การอ้างอิงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่ผิดพลาดได้ง่าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ โปรดให้เปลี่ยนมาใช้วิธีนับวันแบบสุริยคติดังเช่นสากลนิยม โดยโปรดให้เริ่มนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี จากนั้นมาไทยเราจึงได้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันเริ่มต้นปี และไปสิ้นสุดปีในวันที่ ๓๑ มีนาคม และในคราวเดียวกันนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้จุลศักราชหรือ จ.ศ. ซึ่งใช้กันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก หรือ ร.ศ. ซึ่งเริ่มนับ ร.ศ. ๑ ตั้งแต่ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นพระมหานครแทนกรุงธนบุรีแทน


          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า

 

“...ศักราชรัตนโกสินทร ซึ่งใช้อยู่ในราชการเดี๋ยวนี้ มีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือเปนศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณใดๆ ในอดีตภาคก็ขีดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึงเรื่องราวที่ก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้วก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง และในฃ้างวัดใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยใหม่ที่อยากจะกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มักหันไปใช้คฤสตศักราช ซึ่งดูเปนการเสียรัศมีอยู่ จึ่งเห็นว่าควรใช้พุทธศักราช จะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวง เปนศักราชที่คนไทยเรารู้จักซึมทราบดีอยู่แล้ว ทั้งในประกาศใช้พุทธศักราชอยู่แล้ว และอีกประการ ๑ ในเวลานี้ก็มีแต่เมืองไทยเมืองเดียวที่มีพระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนา ดูเปนการชอบมาพากลอยู่มาก ...ในส่วนทางพุทธจักรเสด็จ [] ก็ทรงยอมรับแล้วว่าให้เริ่มปีวันที่ ๑ เมษายน เพราะกรมเทววงษ์  []ได้ทรงคำนวณดูตามทางปักขคณ ได้ความว่า วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น อันที่จริงตกในกลางเดือนเมษายน ที่คลาศเคลื่อนเลื่อนเลยไปนั้น เปนโทษแห่งประดิทินที่เทียบผิดคลาศมาทีละน้อยๆ เท่านั้น...”  []

 

          จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มใช้พุทธศักราชเป็นศักราชในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งการใช้พุทธศักราชในทางราชการของไทยเราก็จะครบ ๑๐๐ ปีในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้แล้ว


          ไทยเราได้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้พร้อมกันลงมติเห็นชอบให้เปลี่ยนปีปฏิทินให้เหมาะสมแก่กาลสมัย และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓” ขึ้นไว้เมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติให้

 

          ปีประดิทินนั้นให้มีกำหนดระยะเวลาสิบสองเดือน เริ่มแต่วันที่ ๑ มกราคม และสิ้นสุดในวันที่ ๓๑ ธันวาคม

          ปีซึ่งเรียกว่า ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ให้สิ้นสุดลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ที่จะถึงนี้ และปีซึ่งเรียกว่า ปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ให้เริ่มแต่วันที่ ๑ มกราคม ต่อไป”  []

 

          นับแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนมาใช้ปีปฏิทินเช่นเดียวกับนานาประเทศ ฉะนั้นการนับปีสำหรับเหตุการณ์ในระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงยังต้องนับปีปฏิทินแบบเก่า ที่เริ่มปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายน


-----------------------------------

 

         

          ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ พระราชทานไปยังไปยังนายเมนาร์ด วิลโลบี คอลเชสเตอร์-วีมซ (Maynard Willoughby Colchester-Wemyess) พระสหายชาวอังกฤษ มีความตอนหนึ่งว่า

 

          “ที่คุณถามมาในจดหมายฉบับที่ ๓๑๓ เกี่ยวกับฐานทัพเรือที่สิงคโปร์นั้น ฉันเกรงว่าจะไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก คงได้แต่ให้ความเห็นส่วนตัวของฉัน ถ้าจะมีค่าอะไรบ้าง
         
ฉันคิดว่าทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าฐานทัพนี้จำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบริเทนใหญ่ตั้งใจจะเสนอความช่วยเหลือที่ได้ผลจริงๆ ต่อออสเตรเลีย หากว่าทวีปนั้นถูกคุกคามด้วยกองกำลังต่างชาติ โดยไม่ต้องพูดอ้อมค้อมทุกคนรู้ (แม้ว่าน้อยคนจะยอมรับ) ว่า กองกำลังซึ่งอาจคุกคามออสเตรเลียก็คือญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นก็รู้ข้อเท็จจริงดีว่าฐานทัพเรือสิงคโปร์นั้นจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสมือนเครื่องสกัดกั้นความทะเยอทะยานของตน ในสำนวนไทยของเรา ฐานทัพที่สิงคโปร์ในสายตาของญี่ปุ่นคือ “ก้างขวางคอ” เพราะฐานทัพนี้จะหยุดยั้งการใช้กำลังโจมตีออสเตรเลียโดยฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ถ้าหากญี่ปุ่นเกิดมุ่งหมายจะทำอะไรแบบนั้น แน่นอนที่ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นไม่อยู่ในสภาพที่จะขยายจักรวรรดิออกไปและจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้อีกเป็นเวลานานหลายปีทีเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นได้ล้มเลิกความความทะเยอทะยานทั้งหมด ญี่ปุ่นไม่เคยทำเช่นนั้นเลย คนญี่ปุ่นมีความอดทนที่น่าอัศจรรย์อย่างที่สุด และเขาอาจต้องรอคอยเป็นปีๆ หรือแม้กระทั่งหลายชั่วอายุคน ก่อนที่จะสมารถหวังที่จะทำให้เป็นความจริงขึ้นมา...”  []
 

 

แผนที่แสดงการยกกำลังเข้ารุกรานประเทศไทยของกองทัพญี่ปุ่น
เมื่อเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

 

 

          ต่อมาในตอนเช้ามืดของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นก็ได้ส่งกำลังรุกรานประเทศไทย แล้วได้บังคับให้รัฐบาลไทยต้องเข้าร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นในมหาสงครามเอเชียบูรพา โดยประกาศสงครามกับชาติสัมพันธมิตร จากนั้นกองทัพอากาศสหรัฐในฐานะชาติสัมพันธมิตรก็ได้ส่งเครื่องบินเข้ามาโจมตีทิ้งระเบิดทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

 

          เมื่อกรุงเทพฯ ต้องประสบภัยสงครามทางอากาศ โรงเรียนจึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ย้ายไปเปิดสอนที่พระราชวังบางปะอินเป็นการชั่วคราว

 

          ในระหว่างที่โรงเรียนย้ายไปเปิดสอนที่พระราชวังบางปะอินนั้นเอง คืนวันหนึ่งในตอนกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เครื่องบินข้าศึกได้มาทิ้งระเบิดถูกตึกคณะดุสิตพังทลายลง ๒ หลัง คือตึกใหญ่หลังกลาง กับตึกเล็กทางด้านทิศเหนือ คาดกันว่าเป้าหมายของการทิ้งระเบิดความนั้นคือ โรงไฟฟ้าหลวงที่ย้ายมาเปิดทำการที่สนามหลัง แต่เดชะบุญที่ระเบิดพลาดเป้าหมายไปตกที่คณะดุสิตแทน หากระเบิดลงตรงเป้าหมายที่สนามหลังความเสียหายคงจะมากกว่านี้จนยากที่จะคาดคะเน เพราะในพื้นที่สนามหลังนั้นนอกจากจะเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าหลวงแล้ว ที่ใต้พื้นดินยังมีถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่สำรองไว้ใช้ในการเดินเครื่องจักรปั่นกระแสไฟฟ้าด้วย และเมื่อโรงไฟฟ้าท่านย้ายกลับไปที่ตั้งเดิมภายหลังสงครามนั้น ทางโรงไฟฟ้ามิได้ปรับสภาพสนามหลังให้กลับสู่สภาพที่ดีดังเดิม นักเรียนวชิราวุธในยุคหลังสงครามเรื่อยมาจนถึงรุ่นผู้เขียนและรุ่นต่อๆ มาอีกหลายปี จึงได้ใช้สนามหลังในสภาพที่อุดมไปด้วยหลุมบ่อเต็มไปหมดทั้งสนาม ยิ่งเวลาที่ฝนตกลงมาด้วยแล้วสนามหลังก็จะแปรสภาพไปเป็นปลักควายในทันที

 

          การก่อสร้างหอประชุมซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า “หอสวด” กับตึกคณะทั้ง ๔ นั้นแล้วเสร็จในตอนกลางปี พ.ศ. ๒๔๕๙ แต่ยังขาดกระเบื้องมุงหลังคาที่สั่งทำมาจากประเทศจีนที่ยังทำไม่แล้วเสร็จ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นแม่กองหรือผู้อำนวยการก่อสร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานเผากระเบื้องเคลือบขึ้นเพื่อมุงหลังคาหอประชุมและตึกคณะเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ทันการฉลองในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ ๓ รอบ ที่เรียกกันว่า “๓ รอบ มโรงนักษัตร” ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ และเมื่อกระเบื้องที่สั่งมาเมืองจีนเข้ามาถึงในราวต้น พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้รื้อกระเบื้องดินเผาที่ทำขั้นในเมืองไทยแล้วเปลี่ยนมุงด้วยกระเบื้องจากเมืองจีน แม้กระนั้นก็มีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า ประเทศไทยได้เริ่มเผากระเบื้องเคลือบสีอย่างที่ใช้มุงหลังคาวัดเป็นครั้งแรก ในการทดลองทำกระเบื้องมุงหลังคาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ต่อจากนั้นการเผากระเบื้องเคลือบสีก็ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเลิกสั่งทำกระเบื้องจากเมืองจีนไปในที่สุด

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๙
แสดงให้เห็นตึกคณะดุสิตที่ถูกระเบิดทำลาย จนเหลือเพียงตึกเล็กด้านทิศใต้เพียงหลังเดียว กับ เรือนไม้หลังคาจาก
ที่ต่อมาได้ใช้เป็นคณะดุสิตชั่วคราวระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๕

 

 

          ท่ามกลางภัยสงครามซึ่งทำให้โรงเรียนต้องย้ายไปเปิดการเล่าเรียนที่พระราชวังบางปะอินอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่เมื่อภัยสงครามทางอากาศตามไปถึงบางปะอินอีก โรงเรียนจึงต้องปิดตัวลงและส่งนักเรียนทั้งหมดกลับบ้าน ในขณะที่ภายในโรงเรียนก็เต็มไปด้วยหน่วยราชการที่มาขอใช้สถานที่ของโรงเรียนเป็นสถานที่ทำการ รวมทั้งยังมีการมาสร้างเรือนไม้หลังคาจากเป็นค่ายกักกันเชลยศึกและชนชาติศัตรูแล้ว แม้กระนั้นทางราชการตำรวจสันติบาลก็ยังเห็นประโยชน์จากตึกคณะดุสิตที่ถูกระเบิดทลายลงจนเหลือเพียงตึกเล็กด้านทิศใต้เพียงหลังเดียวนั้น โดยได้ใช้ตึกคณะดุสิตที่เหลืออยู่นั้นเป็นที่หลยซ่อนของเสรีไทยที่ลักลอบเข้าเมืองมา ทั้งยังใช้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุที่ส่งข่าวสารออกไปยังกองบัญชาการพันธมิตรที่เมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา สมดังคำกล่าวที่ว่า สถานที่ที่ล่อแหลมที่สุดคือสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด


          เมื่อสงครามโลกยุติลงและโรงเรียนได้กลับมาเปิดการเล่าเรียนอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อีกครั้ง ปัญหาสำคัญในเวลานั้นคือตึกคณะที่เคยมีอยู่ ๔ คณะ กลับเหลืออยู่เพียง ๓ คณะ แล้วนักเรียนคณะดุสิตจะไปอยู่กันที่ใด ในที่สุดโรงเรียนจึงได้ตัดสินใจใช้เรือนไม้หลังคาจากที่เคยเป็นค่ายกักกันเชลยศึกนั้นเป็นอาคารคณะดุสิตเป็นการชั่วคราว แต่กว่าจะหาเงินมาสร้างตึกใหม่แทนอาคารเดิมที่ถูกระเบิดพังไปในระหว่างสงครามโลกก็ล่วงไปเกือบ ๒๐ ปี

 

          อุปสรรคสำคัญคือเงินที่รัฐบาลจัดสรรมาให้เป็นค่าก่อสร้างตึกคณะดุสิตทดแทนนั้นน้อยมาก จนแทบจะไม่พอสร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่ท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาก็ได้กะเบียดกระเสียนรายจ่ายของโรงเรียน รวมกับรายได้จากการจำหน่ายหนังสือและอุปกรณ์การเรียนอีกจำนวนหนึ่งจึงมีเงินพอที่จะสร้างตึกคณะดุสิตขึ้นใหม่ แต่การก่อสร้างนั้นก็มีอุปสรรคอีกประการคือสถาปนิกผู้ออกแบบก่อสร้างแจ้งให้ทราบว่า จำนวนเงินที่โรงเรียนมีอยู่นั้นหาเพียงพอที่จะสร้างตึกคณะดุสิตให้เหมือนอาคารเดิมได้ จำจะต้องสร้างเป็นอาคารสมัยใหม่ และได้เสนอให้ทุบปีกด้านทิศใต้ที่ยังเหลือนั้นทิ้งไปเสีย เพื่อสร้างอาคารใหม่ขึ้นแทน

 

          แต่แนวความคิดที่จะทุบปีกด้านทิศใต้นั้นกลับถูกคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนในเวลานั้นทัดทานไว้ และคงจะด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ ที่จู่ๆ ก็ทำให้สถาปนิกที่เสนอให้ทุบปีกด้านทิศใต้นั้นเกิดขอถอนตัวจากการออกแบบก่อสร้างตึกคณะดุสิตใหม่นั้นไปเสียเฉยๆ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ส่งสถาปนิกท่านใหม่มาออกแบบก่อสร้าง ซึ่งสถาปนิกท่านใหม่นี้กลับมีความเห็นให้รักษาปีกด้านทิศใต้ไว้และสร้างตึกใหญ่ต่อออกมาจากปีกด้านทิศใต้แทน


          จากนั้นการก่อสร้างตึกคณะดุสิตใหม่จึงได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๖ และก่อสร้างมาเรื่อยตามกำลังเงินที่มีอยู่จนแล้วเสร็จในตอนต้น พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงได้ย้ายนักเรียนคณะดุสิตจากเริอนไม้หลังคาจากเข้าอยู่ในตึกคณะใหม่มาตั้งแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวิสาขะปีการศึกษา ๒๕๐๕ ส่วนเรือนไม้หลังคาจากซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวนั้นก็ได้รื้อย้ายไปปลูกสร้างเป็นโรงยาวที่ริมสนามหลังด้านหลังคณะผู้บังคับการขนานกันไปกับแนวรั้วโรงเรียนด้านถนนสุโขทัย และได้ใช้เป็นที่พักของนักเรียนคณะเด็กเล็ก ๒ (นันทอุทยาน) ในระหว่างรื้อถอนเรือนไม้และก่อสร้างตึกคณะเด็กเล็ก ๒ ใหม่ในระหว่างปีการศึกษา ๒๕๐๕ - ๐๖

 

 

เรือนไม้หลังคาจากซึ่งเคยใช้เป็นคณะดุสิตชั่วคราวในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๕

 

 

          นักเรียนเก่าคณะดุสิตหลายท่านที่ได้เคยอาศัยเรือนไม้หลังคาจากในระหว่างที่โรงเรียนยังไม่สามารถจัดสร้างตึกคณะดุสิตขึ้นมาใหม่ ได้เล่าถึงบรรยากาศในยุคเรือนจากไว้ว่า ยามที่ฝนตกหากเป็นเวลารับประทานอาหารก็จะต้องรับประทานอาหารไปพร้อมน้ำฝน หรือเวลาเข้าเพรบก็ต้องยกโต๊ะเก้าอี้หลบฝน ยามกำลังหลับหากฝนตกก็ต้องลูกขึ้นเก็บมุ้งและย้ายที่นอนเพราะฝนรั่วใส่ที่หนอนดังนี้ ยามปกติเวลาเดินไปมาบนเรือนก็ต้องระวังมิให้ตกร่อง ห้องน้ำห้องส้วมก็ลำบากแสนสาหัส

 

          อนึ่งเนื่องจากตึกคณะดุสิตนั้นเป็นเพียงคณะเดียวที่มีภาพลักษณ์แตกต่างไปจากคณะอื่นๆ อีกสามคณะ ฉะนั้นในระหว่างเตรียมการจัดงาน ๑๐๐ ปี ผู้เขียนจึงได้นำเสนอความฝันของผู้เขียนผ่านทางหน้าเวบของสมาคมนักเรียนเก่าฯ โดยในฝันนั้นผู้เขียนบรรยายไว้ว่า ในโอกาสที่จะฉลอง ๑๐๐ ปีโรงเรียนนั้น น่าจะมีการสร้างอาคารคณะดุสิตกลับขึ้นมาใหม่ให้มีรูปลักษณ์เหมือนอาคารเดิมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างไว้ หากทำได้จริงคงจะเป็นการเฉลิมพระราชศรัทธายิ่งกว่าการสร้างอนุสรณ์ใดๆ ในรอบ ๑๐๐ ปีของโรงเรียน

 

          ภายหลังจากที่ได้เล่าความฝันนั้นผ่านหนเกระดานสนทนาในเวบสมาคมนักเรียนเก่าฯ ไปแล้ว ก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนกลับมาทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็ว่าไม่จำเป็นต้องรื้ออาคารเดิม แต่ให้ทำลวดลายแบบของเดิมแล้วไปติดทับที่ผนังอาคารที่มีอยู่ แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการทำลวดลายไปปิดทับอาคารเดิมแล้ว งบประมาณค่าใช้จ่ายคงจะไม่แตกต่างกันมากนัก ในที่สุดพลเรือตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรจึงได้เสนอแนะให้รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมใหม่ออก แล้วสร้างกลับไปให้สมบูรณ์เหมือนอาคารเดิมเมื่อแรกสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนจึงได้อนุมัติงบประมาณให้รื้อถอนตึกคณะดุสิตส่วนที่สร้างขึ้นใหม่นั้นออก และมอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแชฟ้า เป็นผู้รับจ้างเหมาปลูกสร้างตึกใหญ่หลังกลางและตึกเล็กด้านทิศเหนือจนสำเร็จสวยงามเหมือนตึกคณะอื่นๆ อีก ๓ คณะเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้มีการทำบุญคณะใหม่ไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๖ ส่วนตอนเย็นก็เป็นการเลี้ยงสังสรรค์ฉลองคณะใหม่ โดยมี “พี่เหม” อดิศักดิ์ เหมอยู่ นักเรียนเก่าคณะดุสิตเป็นแม่งาน และเมื่อเปิดภาคเรียนวิสาขะปีการศึกษา ๒๕๕๖ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ น้องๆ คณะดุสิตคงจะได้ย้ายจากอินดอร์สเตเดียมที่เป็นสถานที่อยู่ชั่วคราวเข้าอยู่ในคณะใหม่ด้วยความสุขสบายและภาคภูมิใจกับศิลปสถาปัตยกรรมที่งดงามต่อไป.

 

 

 


 

[ ]  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก

[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์

[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๐๖.

[ ]  “พระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓”, ราชกิจจานุเบกษา ๕๗ (๑๗ กันยายน ๒๔๘๓), หน้า ๔๑๙ - ๔๒๒.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (มาลิทัต พรหมทัตตเวที - แปล). พระราชากับคหบดีแห่งชนบท, หน้า ๑๔๘ - ๑๔๙.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |