โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๓. งานกรีฑา

 

 

          เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้รับบัตรเชิญ "งานกรีฑา" จากฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงเรียน พลันให้หวนนึกถึง  "งานกรีฑา" ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญของโรงเรียนที่ว่างเว้นการจัดไปหลายสิบปี เพิ่งจะมารื้อฟื้นขึ้นใหม่อีกครั้งในปีนี้


          แนวคิดในการจัดงานกรีฑาขึ้นมาใหม่นี้ ท่านผู้บังคับการ ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ เคยปรารภให้ฟังอยู่เหมือนกันว่า หากไม่คิดรื้อฟื้นขึ้นมาตอนนี้เห็นที่จะหาคนที่ทันรู้เห็นกิจกรรมนี้ไม่ได้อีกแล้ว เท่าที่ลองนึกทบทวนดูก็เห็นจริงตามที่ท่านผู้บังคับการกล่าวไว้ เพราะเท่าที่นับดูบุคลากรในโรงเรียนในปัจจุบันที่ทัน "งานกรีฑา" ครั้งพระยาภะรตราชาก็มีแต่เพียง ท่านผู้บังคับการ ผู้กับคณะดุสิต จิตรลดา และพญาไท กับ อ.ป้อม พัชโรดม์ รักตประจิต เพียงเท่านี้ ส่วนน้องๆ โอวีที่ทำหน้าที่ผู้กำกับและผู้ช่วยผู้กำกับคณะอยู่ในเวลานี้ไม่มีใครทันเลยสักคน

 

          งานกรีฑานี้มีต้นกำเนิดมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มูลเหตุของการเริ่มจัดงานกรีฑานี้ เห็นจะเป็นเพราะเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมได้นำความกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติว่า เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแบบพับลิคสกูลของอังกฤษขึ้น ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงจัดตั้งโรเรียนกฎหมายขึ้นในกระทรวงยุติธรรมและทรงพระดำริว่านักเรียนราชวิทยาลัยเป็นผู้มีภูมิรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เพราะได้เล่าเรียนวิชาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษกันมาโดยตลอด เมื่อจบการศึกษาวิชาสามัญแล้วหากได้ศึกษาวิชากฎหมายต่อไปจะเป็นประโยชน์แก่ราชการ จึงทรงขอโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงธรรมการไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม

 

 

จางวางเอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์)
เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

 

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) ย้ายมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมสืบแทนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีสเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้ว เจ้าพระยาอภัยราชาฯ กลับมีความเห็นว่า ราชการของกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา การที่โรงเรียนราชวิทยาลัยมาสังกัดอยู่ในกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่เหมาะแก่ราชการ จึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อให้เป็นคู่แข่งขันของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในทำนองเดียวกับที่ประเทศอังกฤษมีโรงเรียนอีตัน และแฮร์โรว์ เป็นคู่แข่งขันกันมาหลายร้อยปี

 

 

โรงเรียนราชวิทยาลัยที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี
เมื่อยุบรวมโรงเรียนใน พ.ศ.๒๔๖๙ แล้ว กระทรวงมหาดไทยได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี

 

 

          แต่ในช่วงก่อนที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนย้ายโรงเรียนราชวิทยาลัยมาสังกัดกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยขึ้นการบังคับบัญชาตรงต่อสภาจางวางมหาดเล็ก ซึ่งมีฐานะเป็นสภากรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงโดยตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือยนต์พระที่นั่งจากท่าวาสุกรีไปทรงเยี่ยมราชวิทยาลัยที่ตำบลขางขวาง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (อาคารโรงเรียนราชวิทยาลัยนี้ต่อมาทางราชการได้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดนนทบุรี และปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี) เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

 

          รุ่งขึ้นวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดให้มี  "งานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง" ขึ้นเป็นครั้งแรก ดังมีความปรากฏใน "ข่าวในพระราชสำนัก" ประจำวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า

 

 

“พระราชวังสวนดุสิต วันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม


          เวลาบ่ายวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรโดยรถยนต์พระที่นั่งยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในการพระราชทานรางวัลนักเรียนแลการกรีฑาในระหว่างนักเรียนมหาดเล็กหลวง แลนักเรียนราชวิทยาลัย

 

          เมื่อเสด็จพระราชดำเนิรถึงโรงเรียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาที่สนามของโรงเรียน ทอดพระเนตร์การกรีฑา

 

          เมื่อเสร็จการกรีฑาแล้ว พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์  [] อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง นำนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแลนักเรียนราชวิทยาลัยมาตั้งแถวน่าพลับพลาที่ประทับ พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์อาจารย์ใหญ่อ่านคำกราบบังคมทูลพระกรุณา ในนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์อาจารย์  [] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับฉลองพระองค์อาจารย์แล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้ออาจารย์แลเสื้อครู  [] แก่กรรมการ อาจารย์ แลครูที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วจึงมีพระราชดำรัสตอบแสดงความพอพระราชหฤทัยในการที่ทรงรับฉลองพระองค์อาจารย์ แลที่ได้ทอดพระเนตร์เห็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงแลนักเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งทรงนับว่าเปนนักเรียนในโรงเยนของพระองค์มาประชุมกัน เพื่อความคุ้นเคยสามัคคีเช่นนี้ แล้วได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่อาจารย์แลนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แลโรงเรียนราชวิทยาลัยตามสมควรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนผู้ที่สอบไล่วิชาได้ แลพระราชทานรางวัลแก่ผู้ที่ชะนะแข่งขันในการกรีฑาเสร็จแล้ว เสด็จประทับบนโรงเรียน

 

 

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
แต่งเครื่องแบบปกติข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงธรรมการ
สวมเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖
มือซ้ายถือหนังสือ "สมบัติของผู้ดี"

 

 

          เวลา ๒ ทุ่มเสด็จประทับเสวยพระกระยาหาร ผู้ที่ได้รับพระราชทานเลี้ยงที่โต๊ะเสวย คือ

 

          พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ  [] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          เจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

          เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี  [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้ตรวจการพิเศษโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  [] เสนาบดีกระทรวงวัง

          พระยาวรพงษ์พิพัฒน์  [] อธิบดีกรมตรวจมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ [] แทนอธิบดีกรมมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระยาประสิทธิ์ศุภการ  [] รองอธิบดีกรมมหาดเล็ก กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระยาไพศาลศิลปสาตร์  [๑๐] ลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระยาบุรีนวราษฐ์  [๑๑] ราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ กรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระโอวาทวรกิจ  [๑๒] ผู้อำนวยการโรงเรียนพานิชการ เดิมเปนอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

          นาย เอ ไตรส์ มาร์ติน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชวิทยาลัย

          นาย ซี เวล อาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          เมื่อเสร็จแล้วเสด็จประทับ ณ โรงลคร ทอดพระเนตร์นักเรียนเล่นละครพูด พอได้เวลาสมควรแล้วเสด็จพระราชดำเนิรกลับ"  [๑๓]

 

 

          เนื่องจากในงานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ แม้จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประกาศนียบัตรและเหรียญที่ระลึกนักเรียนเก่าแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาละพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนที่สอบไล้คะแนนเป็นเยี่ยมในแต่ละวิชา ซึ่งมีนักเรียนบางคนเคยได้รับพระราชทานรางวัลแต่ละวิชาเป็นหนังสือ เมื่อนำมาเรียงซ้อนกันท่านเล่าว่าสูงเกือบถึงเอวของผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลก็ตาม แต่โดยที่ในงานประจำปีนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมเรือยนต์หลวงจัดเรือยนต์หลวงไปรับนักเรียนราชวิทยาลัย จากโรงเรียนราชวิทยาลัยที่บางขวางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลและแข่งขันกรีฑากับนักเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นการแข่งขันหน้าพระที่นั่งเป็นประจำทุกปีมา จึงนิยมเรียกงานประจำปีของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้ว่า "งานกรีฑา" มาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          งานกรีฑาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้จัดต่อเนื่องกันมาจนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ แต่ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังได้มีพระราชกระแสดำรัสสั่งไว้กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงว่า "ถึงข้าจะตายไปแล้ว ก็ขอให้มีกรีฑาให้ข้าดูในวันเกิดของข้าด้วยเถิด"

 

(ยังมีต่อ) 

 

 


 

[ ]  นามเดิม ศร ศรเกตุ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ

[ ]  ฉลองพระองค์อาจารย์นั้น มีรูปลักษณะเป็นเสื้อครุยเหมือนเสื้ออาจารย์ หากแต่มีแถบสำรดติดที่ข้างพระองค์เป็นพิเศษ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โรงเรียนก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์อาจารย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัยต่อมา ในปัจจุบันจึงได้ออกนามฉลองพระองค์อาจารย์นี้ว่า ฉลองพระองค์บรมราชูปถัมภก

[ ]  ปัจจุบันคือ "ครุยอาจารย์" และ "ครุยครู" ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ กรรมการ อาจารย์และครูวชิราวุธวิทยาลัยที่ได้สนองพระเดชพระคุณครบตามกำหนด

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.เปีย มาลากุล

[ ]  นามเดิม ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล
[ ] 
นามเดิม ม.ร.ว.เย็น มาลากุล ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาวรพงษ์พพัฒน์

[ ]  นามเดิม นพ ไกรฤกษ์

[ ]  นามเดิม ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยารามราฆพ

[ ๑๐ ]  นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ๑๑ ]  นามเดิม ชวน สิงหเสนี
[ ๑๒ ]  นามเดิม เหม ผลพันธิน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาโอวาทวรกิจ

[ ๑๓"ข่าวในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ (๔ มกราคม ๒๔๕๖), หน้า ๒๒๖๕ - ๒๒๖๗.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |