โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๑. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓)

 

          ในระหว่างเตรียมพระองค์ที่จะเสด็จเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น นอกจากจะต้องทรงเรียนวิชาขี่ม้า ทั้งยังต้องทรงทำความสะอาดคอกม้าด้วยพระองค์เองแล้ว ในระหว่างที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปประทับแรม ณ ปาคะเดสะโอวีฟ (Parc des Eaux - Vivres) เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังได้ทรงร่วมกับพระเชษฐาและพระอนุชาพร้อมทั้งนักเรียนไทยที่กำลังทรงศึกษาและศึกษาอยู่ในยุโรปจัดการรื่นเริงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงแสดงเป็น “มารี เลอรูส์” (Marie Leroux) ในบทละครเรื่อง “มาย เฟรนด์ ยาเล่ต์” (My Friend Jarlet) [] ของ อาร์โนลด์ โกลสเวอธี (Arnold Golsworthy) และ อี. บี. นอร์แมน (E.B. Norman) ซึ่ง “จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖” ได้กล่าวถึงการแสดงครั้งนี้ไว้ว่า

 

 

คณะผู้แสดงละครเรื่อง My Friend Jarlet

(แถวนั่งจากซ้าย) ๑. หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร) เป็น ปอล ลาตูร์
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็น มารี เลอรูซ์
๓. นายอาร์. อี. โอลิเวียร์ เป็น เอมิล ยาร์เลต์)
(แถวยืนจากซ้าย) ๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) เป็นพลทหาร)
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) เป็น นายทหาร
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) เป็น พลทหาร

 

 

          “วันที่ ๓๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖ ประทับที่พลับพลาปาคะเดสะโอวิฟ เวลาค่ำสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพร้อมด้วยพระราชโอรสทั้งหลายจัดตกแต่งโรงละครในบ้านริมพลับพลา มีลครถวายทอดพระเนตร โดยทรงรื่นเริงยินดีที่ได้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

 

          เวลายามเสศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรลครซึ่งพระราชโอรสทั้งหลาย มีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเปนต้น ได้ทรงเล่นด้วยพระองค์เอง

 

          โรงลครแต่งงดงามอย่างโรงลครฝรั่ง มีซอ ๗ ซอเปนดนตรี พระราชโอรสแต่งพระองค์อย่างลครฝรั่งงามนักแล ทรงภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วอย่างฝรั่งเล่นลคร ยิ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชแลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษภูวนารถ [] แต่งพระองค์อย่างลครฝรั่งเหมือนจริงงามน่าเอนดู บรรดาผู้ที่ดูยินดีรื่นเริงมากบางคนได้ฟังเจรจาเรื่องลครตอนที่สองมีความเสียวซ่านใจถึงพาให้น้ำตาตกก็มี" []

 

 

ทรงเครื่องปกตินักเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์

 

 

          เมื่อส่งเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จนิวัติประเทศไทยที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ โดยทรงปฏิบัติพระองค์ตามระเบียบของโรงเรียนทั้งมิได้ถือพระองค์ว่า ทรงเป็นเจ้านายแต่ประการใด วิชาที่ทรงศึกษาประกอบด้วย การปกครองของทหาร กฎหมาย ยุทธวิธี ป้อมค่าย การสำรวจ ภาษาฝรั่งเศส พลศึกษา ห้อยโหน (ยิมนาสติก) ขี่ม้า สำหรับวิชาขี่ม้านั้นมีการบันทึกไว้ว่า ทรงสอบไล่ได้คะแนนยอดเยี่ยม (Excellent) ส่วนวิชาป้อมค่ายนั้นก็ทรงพระปรีชาสามารถ ดังมีพยานปรากฏในเวลาต่อมาว่า ได้ทรงพระราชนิพนธ์ “ปาฐะกถา เรื่องการสงครามป้อมค่ายประชิด” พระราชทานให้โรงเรียนเสนาธิการทหารบกของไทย ใช้เป็นตำราเรียนของนักเรียนนายทหารหลักสูตรเสนาธิการทหารบกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จนการสงครามแบบป้อมค่ายเสื่อมความนิยมลงในยุคหลังสงครามเดียนเบียนฟู

 

 

ทรงเครื่องเต็มยศนายร้อยโททหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

ประทับฉายพระบรมฉายาลักาณ์พร้อมด้วยนายทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม

และนายร้อยเอก หลวงสรสิทธยานุการ (อุ่ม อินทรโยธิน - นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน)

 

          เนื่องจากระบบการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์นั้น มุ่งเน้นจัดการศึกษาแต่เฉพาะวิชาพื้นฐานทางทหาร เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกในตอนปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๑ แล้ว จึงได้เสด็จไปประจำการในกองพันที่ ๑ กรมทหารราบเบาเดอรัม (Duhram Light Infantry) ที่ออลเดอร์ช็อต (Aldershot) เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ เพื่อทรงฝึกหัดการบังคับบัญชาหน่วยทหาร

 

 

ภาพล้อในวารสารอังกฤษ เมื่อครั้งวทรงอาสาไปร่วมรบในสงครามบัวร์

 

 

          ในระหว่างที่ทรงประจำการอยู่ที่กองพันที่ ๑ กรมทหารราบเบาเดอรัมนั้น นอกจากจะทรงอาสาสมัครไปรบในสงครามบัวร์ (Boer Wars) ซึ่งอังกฤษรบกับพวกดัชท์และชาวพื้นเมืองที่อาฟริกาใต้ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๔๕ ร่วมกับนายทหารในกองพันที่ ๑ แต่ด้วยพระอิสริยยศซึ่งทรงดำรงอยู่ในฐานะพระรัชทายาทแห่งสยามประเทศ รัฐบาลอังกฤษและทางราชการไทยจึงได้พร้อมกันระงับมิให้เสด็จไปในสงครามครั้งนั้น

 

          อนึ่งในระหว่างที่ทรงประจำการในกองทัพอังกฤษนั้น ได้เสด็จไปทรงร่วมสวนสนามกับนายทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัมที่ไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) กรุงลอนดอน ซึ่งได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์คราวนั้นไว้ว่า

 

          “...เมื่อทรงเป็นนายทหารใหม่ๆ เวลามีสวนสนามที่บริเวณไฮด์ปาร์ค ทรงแต่งพระองค์เต็มยศเครื่องสนาม ทรงสายสพายจักรีสีเหลืองสด ทรงเป็นหนุ่มทั้งแท่ง ทรงคุยอวดว่าผู้หญิงฝรั่งติดกรอ คราวหนึ่งทรงนำแถวทหารราบเบาเดอรัม พอถึงสี่แยกแห่งหนึ่งมีสุภาพสตรีอังกฤษถลันวิ่งออกมาส่งช่อดอกไม้ให้ แล้วก็จูบพระองค์กลางสนามนั่นเอง พระองค์ทรงอายเกือบแย่ ตั้งแต่นั้นมาต้องทรงรับแขกผู้หญิงอังกฤษมิได้ว่างเว้น ต้องประทานเลี้ยงน้ำชาบ้าง ดินเน่อร์บ้าง ทรงเล่าขำๆ ว่า บางวันเงินหมดต้องให้ฮื่อ  [] ไปจัดการ...”  []

 

          เมื่อไม่อาจจะเสด็จไปทรงร่วมรบในสงครามบัวร์ตามพระราชประสงค์ จึงได้เสด็จไปทรงศึกษาเพิ่มเติมในวิชาการทหารปืนใหญ่ โดยได้เสด็จไปประจำการที่หน่วยภูเขาที่ ๖ ค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ ณ ดาร์ทมัว (Dartmour) ใกล้โอคแฮมตัน (Okehampton) และอีกเดือนหนึ่งถัดมาได้เสด็จไปทรงฝึกอบรมวิชาปืนเล็ก ที่ School of Musketry เมืองไฮท์ (Hythe) ทรงได้รับประกาศนียบัตรพิเศษและเหรียญแม่นปืน

 

          ภายหลังจากที่ได้เสด็จเข้าประจำการในกรมทหารราบเบาเดอรัม เพื่อทรงเรียนรู้ชีวิตนายทหารประจำการชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาพลเรือนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกสฟอร์ด (Oxford University) เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยจัดถวายพระราชวงศ์อังกฤษ [] และได้เสด็จไปประทับที่แคนทะเบอรี่ควอด (Canterbury Quad) วิทยาลัยไครสเชิช (Christ Church) เป็นเวลาเกือบจะ ๒ ปี เฉกเช่นนิสสิตทั่วไป วิชาที่ทรงศึกษานั้นประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ส่วนวิชาการปกครองนั้นได้ทรงศึกษาเน้นหนักในเรื่องการปกครองของประเทศอังกฤษและการปฏิวัติของฝรั่งเศสโดยละเอียด

 

          ในระหว่างปิดภาคเรียนภาคฤดูร้อน พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงพระประชวรพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ

 

          “...พระอาการเข้าเขตอันตราย การจะถวายการรักษาถึงขั้นผ่าตัดใหญ่ จำเป็นต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองลีพระบาทรัชกาลที่ ๕ เสียก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะดำเนินการได้ การคมนาคม สมัยนั้นอย่างดีก็โทรเลข ระยะเวลาที่จะติดต่อกันได้ก็ต้องตกอยู่ในราว ๕ - ๗ วัน เพราะต้องถ่ายทอดกันมาหลายประเทศ พระอาการยิ่งน่าวิตก นายแพทย์เกือบๆ จะไม่รับรองอยู่แล้ว ในที่สุดเมื่อถึงระยะคับขัน นายแพทย์ลงความเห็นว่า ถ้ามิได้ถวายการผ่าตัดทันเวลาเป็นเสด็จทิวงคตแน่ แต่ถ้าผ่าตัดมีหวังราว ๒๕%...”  []

 

          นายพันเอก พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร - เจ้าพระยาราชศุภมิตร) ราชองครักษ์และพระอภิบาลฝ่ายทหารได้กล่าวไว้ในหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ มิถนายน ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราฯ เริ่มมีพระอาการประชวรปวดพระเศียรและพระนาภีมาตั้งแต่เช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม นายแพทย์ Collier แพทย์ประจำวิทยาลัยไครส์เชิชและนายแพทย์ Manson แพทย์ประจำพระองค์ถวายการตรวจรักษาเบื้องต้น พระอาการไม่ดีขึ้นจนวันที่ ๓๐ พฤษภาคม นายแพทย์ผู้ถวายการรักษาทั้งสองคนได้ประชุมปรึกษากันเชิญนายแพทย์ผู้ชำนาญการบาดแผลสำคัญมาถวายการตรวจ และมีความเห็นว่าทรงพระประชวรพระอันตะ (ไส้ติ่ง) อักเสบ “ต้องผ่าเอาหนองออก... ถ้าทิ้งไว้ให้แตกแล้ว ก็อาจจะเปนอันตรายได้ เพราะฉนั้นหมอจะขออนุญาต ถ้าไม่ยอมให้หมอผ่าแล้ว หมอก็จะไม่ยอมรับผิดชอบ... ครั้นหมอ Manson กราบทูลชั้แจงพระโรคที่ประชวนและจะต้องขอผ่า ก็ทรงอนุญาตให้ผ่าโดยดี มิได้ทรงพระสทกสท้านประการใด” แพทย์จึงได้พร้อมกันถวายผ่าตัดในบ่ายวันเดียวกันนั้น

 

 

พระบรมฉายาลักษณ์เมื่อประทับทรงศึกษาที่มหาวิทลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด

 

 

          เมื่อทรงหายจากพระประชวรครั้งนั้นแล้ว ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และก่อนที่จะเสด็จออกจากมหาวิทยาลัยโดยไม่ทรงเข้าสอบไล่ตามประเพณีของพระราชวงศ์อังกฤษนั้น คณบดีพาเจต (Dean Parget) และสาธุคุณฮัสเซล (Rev. Hassel) ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้เป็นที่ระลึกสักเล่มหนึ่ง จึงทรงค้นคว้าและพระราชนิพนธ์หนังสือทำนองวิทยานิพนธ์เรื่อง “The War of the Polish Succession” และสำนักพิมพ์แบล็คเวลลล์ (Blackwell Press) ของมหาวิทยาลัยอ๊อกสฟอร์ดได้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาได้มีผู้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และพระยาบุรีนวราษฐ (ชวน สิงหเสนี) ราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแปลเป็นภาษา ไทยในชื่อ “สงครามสืบราชสมบัติโปลันด์” ในการแปลเป็นภาษาไทยนั้น ผู้แปลได้บันทึกไว้ว่า “แปลยาก” แต่ก็ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงตรวจ

 

          ต่อจากนั้นได้เสด็จไปทรงรับการอบรมวิชาทหารปืนใหญ่ภูเขาที่ กองทหารปืนใหญ่หลวงที่ออลเดอร์ช็อต (Battery of the Royal Artillery, Aldershot) ในระหว่างการอบรมนี้ทรงเล่าว่า “...ได้ทรงรับการฝึกอบรมอย่างทหารจริงๆ ...ต้องทรงกวาดขี้ม้า ทรงใส่เกือกม้า ทรงแคะกีบม้า ทรงอาบน้ำม้า แล้วทรงฝึกขี่ม้าอย่างจริงจัง เคยทรงเล่าว่า ทรงขี่โลดโผนพลิกแพลงทุกประการ ฉะนั้นการทรงม้าจึงได้ทรงเชี่ยวชาญพอใช้...”  []

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครนี้เป็นภาษาไทย พระราชทานชื่อว่า “มิตรแท้” และได้ทรงนำชื่อ ยาเล่ต์ ซึ่งเป็นตัวละครเอกในบทละครเรื่องนี้ไปตั้งเป็นชื่อสุนัขทรงเลี้ยงที่รู้จักกันดีในชื่อ “ย่าเหล”

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ]  พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ). จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ เล่ม ๑, หน้า ๒๑๘ - ๒๑๙.

[ ]  เป็นนามแฝงที่ทรงใช้เรียก นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ (อ๊อด ศุภมิตร) ราชองครักษ์ประจำพระองค์ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร ตำแหน่งสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์

[ ]  จมื่นมานิตนเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์). อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๓๑๒.

[ ]  เนื่องมาจากพระราชวงศ์อังกฤษมีประเพณีที่ทรงถือปฏิบัติติดต่อกันมาช้านานว่าพระราชวงศ์ชั้นสูงจะเสด็จเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย อ๊อกสฟอร์ด หรือ เคมบริดจ์ (Cambridge) เพียง ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และจะไม่ประทับอยู่จนถึงเวลาสอบไล่เพราะถือกันว่า พระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษเป็นผู้ประสาทปริญญา ดังนั้นจึงไม่สมควรจะรับปริญญาที่ตนเองเป็นผู้ประสาท

[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๒๖๑.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๑๑.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |