โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

 

          ในระหว่างที่ประทับแรมที่พระราชสนามจันทร์นั้น มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นครั้งหนึ่งในคืนวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ดังมีความละเอียดปรากฏในพระราชหัตถเลขากราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมชนกนาถ ดังนี้

 

 

พระปฐมเจดีย์สมัยรัชกาลที่ ๖

 

 

“สนามจันทร์ เมืองนครปฐม

   
  วันที่ ๒๖ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘
 

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

 

          ด้วยเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘ นี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยาม กับ ๔๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันทร์  [] มีข้าราชการและมหาดเล็กอยู่ด้วยกันเป็นอันมาก ได้เห็นองค์พระเจดีย์รัศมีสว่างพราวทั้งองค์ ประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ด้านตะวันตก คือด้านที่เล็งตรงกับสนามจันทร์นั้น ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวๆ เรืองๆ ตั้งแต่ใต้คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่ง ตลอดขึ้นยังยอดมงกุฎ และซ้ำยังมีเปนรัศมีพวยพุ่งสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๓ - ๔ วา ปรากฏแก่ตาอยู่อย่างนี้ ๑๗ นาที แล้วรัศมีตอนใต้แต่ปล้องฉนัย ตลอดจนยอดก็ดับลงทันที เหลือสว่างอยู่แต่ตอนช่องมะหวด ลงมาอีกสักไม่ถึงกี่งนาที ก็ดับหายไปหมด มืดแม้แต่จะมองรูปองค์พระก็ไม่เห็นถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นในขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยาม ๔ คน เป็นจำนวน ๖๙ คน

 

          ข้าพระพุทธเจ้าได้ลองคิดตามไซแอนซ์  [] ว่า บางทีจะเปน ด้วยเมื่อตอนเย็นฝนตกหนัก ละอองฝนจะติดค้างอยู่ที่กระเบื้องที่ประดับองค์พระปฐมบ้าง ครั้นตอนดึกพระจันทร์จะทอทั่วถึงได้ หรือจะว่ามีธาตุฟอสฟอรัสอยู่ในองค์พระธาตุนั้น จะส่องสว่างพราวในเวลากลางคืนได้ ก็ต่อเมื่อได้ต้องแสง อาทิตย์ในเวลากลางวันมากพอ นี่ในเวลากลางวันก็ชอุ่ม ตอนเย็นฝนก็ตก คงไม่ใช่แสงฟอสฟอรัสแน่ จึงเปนอันจนด้วยเกล้าฯ ที่อ้างว่าแสงรัศมีนั้นเปนด้วยเหตุไร นอกจากว่าเปนมหัศจรรย์ยิ่ง

 

          รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ข้าพระพุทธเจ้าได้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระนิกรมุนี  [] เปนประธานสวดมนต์เย็นในพระวิหารบนองค์พระ แล้วได้เดินเทียนสมโภชองค์พระสามรอบ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๖ เวลาเช้า พวกข้าราชการและพ่อค้าราษฎรชาวพระปฐมเจดีย์ ได้มีความปิติยินดี ช่วยกันจัดของไปถวายและเลี้ยงพระหมดทั้งวัดพระปฐมเจดีย์ เปนจำนวน ๖๘ รูป เวลาค่ำได้มีละครเรื่องสุวรรณหงส์ ตอนกุมพลถวายม้าฉลองคืนหนึ่งเปนเสร็จการ เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานถวายพระราชกุศล

 

          ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

   

ขอเดชะ

 
   

ข้าพระพุทธเจ้า วชิราวุธ”  []

 

 

 

          ถัดมาอีก ๒ วัน คือ วันที่ ๒๘ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาทรงตอบ มีความตอนหนึ่งว่า

 

          “เรื่องพระปฐมเจดีย์กระทำปาฏิหาริย์ตามลักษณะที่เล่ามานี้ ช่างไม่มีผิดกับที่เคยเห็น ๒ คราวแต่สักนิดหนึ่งเลย เวลาที่ได้เห็นนั้น คนมากยิ่งกว่าที่นับมา เวลาเพียงยามเดียว กำลังเสด็จออกคนเฝ้าแน่น ๆ อยู่ ก็ได้เปนเช่นนี้ เห็นปรากฏด้วยกันหมด จึ่งได้มีเรื่องตรวจตรา ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้าพระยาทิพากรวงษ์  [] พ่อเฃ้าใจชัดเจนลักษณที่เล่านั้นเปนอย่างไร และเชื่อว่าเได้เปนเช่นนั้นจริงเพราะเคยเห็น แต่จะเปนด้วยเหตุอันใดเหลือที่จะยืนยันฤารับรองให้คนอื่นเห็นจริงด้วยได้ จึ่งไม่ได้เล่าให้ใครฟังในชั้นหลัง ๆ นี้ เพราะห่างจากเวลาที่ได้เห็นนั้นมาก เข้าใจว่าการที่เปนเช่นนั้นจะได้เปนอยู่เนือง ๆ แต่หากคนที่นั่นตกค่ำลงก็เฃ้านอนเสียไม่ได้สังเกต แปลกอยู่หน่อยหนึ่งแต่ที่เวลาเปนมักจะเปนเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนญี่ เวลาเดินบกมาที่นั้นฤาเสด็จออกไปหลายครั้งไม่เคยมีเลย”  []

 

 

พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างและประดิษฐานไว้ ณ ชาลาพระที่นั่งพิมานปฐม

 

 

          ต่อมาเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยไว้เป็นเป็นที่ระลึกที่ชาลาพระที่นั่งพิมานปฐม [] ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์แสดงปาฏิหาริย์ในครั้งหลังนั้นด้วย

 

          นอกจากพระราชกิจน้อยใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้ว ในระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงได้รับพระราชภาระเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ในระหว่างที่สมเด็จพระบรมชนกนาถมิได้เสด็จประทับในพระนครอยู่เนืองๆ

 

 

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าทหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่มาประชุมฟังข่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๐

เนื่องในกำหนดกึ่งระยะเวลาเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ณ ศาลาอันเตปุริกธุริฯ พระราชวังดุสิต

 

 

          ในระหว่างเวลาที่ทรงสำเร็จราชการรักษาพระนครนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมักจะโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมเสนาบดีเป็นประจำทุกวัน จะเว้นบ้างก็แต่เฉพาะวันอาทิตย์ บางวันก็เสด็จไปประชุมเรื่องการทหารที่ศาลาว่าการยุทธนาธิการในตอนเช้า และประชุมเสนาบดีในตอนบ่าย เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจสนองพระเดชพระคุณเป็นที่เรียบร้อยสมดังพระบรมราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงมีความปรากฏในพระราชโทรเลขที่พระราชทานมาจากเมืองบาดฮอมบวร์ก (Bad Homburg) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์

พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๐

 

 

“ถึงมกุฎราชกุมาร กรุงเทพฯ

 

          พ่อได้รับโทรเลขของลูกลงวันที่ ๒๐ เดือนนี้แล้ว พ่อจับใจนักในถ้อยคำที่ให้พรมา พ่อขอบใจมากนัก สิ่งอันหนึ่งซึ่งทำให้พ่อมีใจสบายวางอารมณ์ได้นั้น คือว่าราชการบ้านเมืองที่พ่อมอบให้ลูกรักษาไว้ ได้เปนไปโดยเรียบร้อยดีอย่างยิ่ง สมกับความไว้วางใจของพ่อแล้ว

 

          การพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา ได้ลงมือทำที่นี้ก่อน คือ ได้กระทำการสักการบูชา ณ วันที่ ๒ กันยายน คนไทยที่อยู่ในยุโรปก็ได้มายังที่นี้เปนอันมาก พ่อให้มีการเลี้ยงกัน วันที่ ๒๑ กันยายนเวลาเที่ยง เจ้าพนักงานในเมืองนี้ได้จัดที่พักขึ้นใหม่ให้เปนเกียรติยศแก่พ่อ สำหรับที่จะได้รับคำอำนวยพรจากข้าราชการฝ่ายสยามและประชาชนชาวเมืองนี้ด้วยแล้ว ได้แจกตราที่สร้างขึ้นใหม่ เวลาค่ำได้มีการเลี้ยงที่กุระเฮาซ์ เมื่อเลี้ยงแล้วได้มีการรับแขก วันที่ ๒๒ กันยายน เวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง จะรับพระราหูแล้ว จะได้ออกไปยังปารีสเวลาเย็นเปนเริ่มเดินทางกลับ พ่อได้รับโทรเลขให้พรจากพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายทั้งหลาย มีเอมเปอเรอเยอรมันเปนต้นแล้ว พ่อได้สดับฟังเทศนาที่ กรมหลวงวชิรญาณได้มีมายังที่นี้ และได้บำเพ็ญการกุศลมีทานเปนต้นแล้ว ขอลูกได้รับส่วนกุศลนี้ด้วย

 

  (พระบรมนามาภิไธย) จุฬาลงกรณ์”  []
 

 

 


[ ]  เรือนไม้ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ เพื่อเป็นที่ประทับชั่วคราวในระหว่างการก่อสร้างพระที่นั่งพิมานปฐม

[ ]  Science

[ ]  พระนิกรมมุนี (น่วม จนฺทสุวณฺโณ ป.ธ.๕) เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้อาราธนาไปครองวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพเวที ถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ “พระธรรมปิฎก อดุลยญาณนายก กถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี”

[ ]  หม่อมหลวงปิ่นมาลากุล. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า, หน้า ๔๓ - ๔๔.

[ ]  นามเดิม ฃำ บุนนาค

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. “พระปฐมปาฏิหาริ”, จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า๒๗ - ๒๘.

[ ]  เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานหมู่พระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ให้กระทรวงมหาดไทยใช้เป็นศาลารัฐบาลมณฑลนครไชยศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชลอพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยมาประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครสืบมาตราบจนถึงทุกวันนี้

[ ]  “พระราชโทรเลข (ตอบพระโทรเลขส่วนพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ล ฯ ได้มีไปทูลเกล้าฯ มีมาแต่ฮอมเบิค วันที่ ๒๑ กันยายน ร.ศ. ๑๒๖ เวลาเช้า ๓ โมง ๕๐ นาที ได้รับที่กรุงเทพฯ คืนวันเดียวกัน เวลา ๒ ยาม ๒๕ นาที”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๔ (๒๙ กันยายน ๑๒๖) หน้า ๖๓๗ - ๖๓๘.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |