โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

 

๑๓๘. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๐)

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลอยพระองค์พระราชวงศ์

เสด็จสถิตเหนือพระที่นั่งมนังคศิลารัตนสิงหสาสน์ ภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร

แวดล้อมด้วยมหาดเล็กเชิญเตรื่องอิศริยราชูปโภค ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโคช

วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

 

 

          การจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

 

          “...ที่มีงานเช่นนี้นับว่าอยู่ฃ้างจะหาญจัด เชื่อความสามารถของตนเองจัดอยู่ งานที่มีเจ้านายและทูตต่างประเทศมาช่วยพร้อม ๆ กันเช่นนี้ ไม่ใช่แต่จะยังไม่เคยมีในกรุงสยาม ถึงในประเทศใด ๆ ในภาคอาเซียนี้ก็ยังไม่เคยมี เมืองเราเปนที่ ๑ ที่ได้มีคนสำคัญ ๆ มาช่วยงานพร้อมกัน ก็น่าจะรู้สึกภาคภูมิในใจอยู่บ้าง แต่ก็ต้องเขม้นขะมักทำตัวให้จำเริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนและต้องระวังแต้มคูยิ่งขึ้นอีก เพราะชาติยุโรปต่าง ๆ เฃาเริ่มจะนับหน้าถือตาเราอยู่แล้ว ต้องสำแดงให้เฃาแลเห็นปรากฏว่าชาติเราตื่นแล้วจริง ไม่งัวเงียต่อไป และเปนชาติที่สมควรเฃาจะรับรองคบค้าในสมาคมแห่งชาติได้ แต่ก็ต้องระวังไม่ทะนงเกินไป เหลิงเกินไป ผู้ที่ฤศยาและไม่พอใจไม่อยากเห็นความจำเริญรุ่งเรืองของชาติเราก็มีอยู่ และเปนผู้ที่เปนเพื่อนบ้านกลาย ๆ อยู่ด้วย ที่ไหนเลยเฃาจะพอใจในการที่เราตะเกียกตะกายให้เทียมทันเสมอหน้าเฃา ยิ่งมีทางที่จะแข่งขึ้นหน้าไปด้วยเฃาก็จะยิ่งไม่พอใจหนักขึ้น แต่เราได้เริ่มขึ้นแล้ว ก็ไม่ยอมถอยหลัง จะต้องเดินหน้าเรื่อยไปเท่านั้น จึ่งจะไม่เสียทีที่ได้ยอมลงทุนเปนมากมายก่ายกองในงานครั้งนี้...”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุยพระราชวงศ์ และพระชฎามหากฐิน

เสด็จสถิตเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์

 

 

          อนึ่ง เมื่อสรงพระมุรธาภิเษกสนานอันเป็นที่หมายว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว พระมหาราชครูพราหมณ์พิธีได้กราบบังคมทูลเฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏ ดังนี้

 

          “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมติวงษ์ อดิศัยพงศวิมลรัตน วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถ จุฬา ลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิต บุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อติเรกบุญฤทธิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน์อัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรม ชนกา ดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศ รามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

          ออกพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมติวงษ์ อดิศัยพงศวิมลรัตน วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือออกพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

 

          ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ได้ประชุมปรึกษาพร้อมกันมอบฉันทานุมัติถวาย จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช [] ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า

 

          “...เมื่อสมเด็จพระรามราชา ผู้ครองนครอู่ทองโบราณได้ทรงสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหานครขึ้น แล้วเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีเปนประถมบรมกษัตริย์สืบมา ในสมัยรัตนโกสินทรนี้เมื่อพระบาทสมเดจพระรามาธิบดีจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาเปนพระมหานครขึ้นแล้ว ได้เสด็จเสวยไอสุริยสมบัติผ่านสยามรัฐมณฑล ก็ได้ทรงพระนามว่า  สมเดจพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ฯ ล ฯ เปน ประถมบรมกระษัตริย์ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์สืบมาจนกาลบัดนี้ จึงเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า พระนามสมเดจพระรามา ธิบดีนั้นเปนพระมหามงคลปรมาภิไธยอันประเสริฐ แลมีเปนสร้อยอยู่ในพระสุพรรณบัฏแล้ว ทั้งประกอบเปนพระราชศิริกับนามพระมหาราชธานีด้วย สมควรจะประดิษฐานพระนามนี้ไว้ให้เปนใหญ่ในพระราชประเพณี ให้เปนที่เจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒจิรกาล จึงพร้อมกันขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูล ขอพระราชทานเฉลิมพระนามพระบาท สมเดจพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระปรมาภิไธยสมเดจพระรามาธิบดี นำพระนามเดิม แทนคำว่าสมเดจพระปรเมนทร เพื่อเจริญพระราชราศีกฤดาภินิหาร ให้พระบรมราชมหาจักรีวงศ์ดำรงมไหสุริยสมบัติเปนอิศราธิปไตยในสยามรัฐสีมา โดยสถาพรพัฒนาการ เปน อนัญญสาธารณชั่วฟ้าแลดิน

 

          เมื่อได้ทรงพระราชวิจารณ์ด้วยพระญาณอันสุขุมโดยรอบคอบแล้ว ทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วยกับความดำริห์ของพระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดีดังที่ได้กราบบังคมทูลมานั้น

 

          อนึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาโบราณสมัยสมเดจพระเจ้ารามเมืองอู่ทองได้ผ่านพิภพสยามประเทศมณฑลเปนประถมบรมกษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว ก็น่าที่สมเด็จพระราชาธิบดี ซึ่งสืบราชสมบัติต่อลงมาจะทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ที่ ๓ ตามลำดับ แต่หาเปนเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุที่สมเด็จพระราชาธิบดีซึ่งสืบราชสมบัติต่อแต่สมเดจพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมานั้น หาได้สืบสันตติวงศ์โดยตรงเปนลำดับกันมาไม่ ส่วนในพระบรมราชวงศ์มหาจักรีนี้ จำเดิมแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสวยราชสมบัติเปนประถมบรมกระษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์นี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาก็ได้สืบสันตติวงศ์โดยตรงลงมาจนปัตยุบันนี้ หาได้มีการยักเยื้องผันแปรอย่างใดไม่ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๓ ก็ได้ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีต่อเนื่องกันมา พึ่งมาเปลี่ยนพระราชประเพณีใช้คำอื่นนำพระนามในรัชกาลที่ ๔ อาไศรยเหตุชนี้ จึงควรเฉลิมพระปรมาภิไธยให้ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีทุกรัชกาลด้วย...”  []

 

 

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

 

 

          จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปเป็น “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ส่วนพระปรมาภิไธยอย่างเต็มและอย่างมัธยมก็โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ” แล้วต่อด้วยสร้อยพระปรมาภิไธยเดิม กับโปรดให้แก้สร้อยพระนามตอนท้ายจาก “อดุลยศักดิอรรคนเรศรามาธิบดี” เป็น “อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี” สืบมาแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

 


[ ]  จดหมายเหตุรายวัน ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๔๑.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

[ ]  “ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๙), หน้า ๒๑๔- ๒๑๖.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๓๑ | ๑๓๒ | ๑๓๓ | ๑๓๔ | ๑๓๕ | ๑๓๖ | ๑๓๗ | ๑๓๘ | ๑๓๙ | ๑๔๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |