โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๕)

 

          ด้วยข้อตกลงในมาตราทึ่ ๒ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ฉะนั้นเพื่อแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งอัตรากำลังจากกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ไปจัดตั้งกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ คงเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในกองพันนี้จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทางกระทรวงวังเช่นเดียวกับส่วนราชการในพระราชสำนักอื่นๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารในหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ เพื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าเป็นทหารรักษาวัง แทนการส่งกำลังจากกรุงเทพฯ ไปประจำการในมณฑลนครศรีธรรมราชตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา

 

 

จอมพล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

เสด็จประทับ ณ มุขหน้าที่ว่าการกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

ในการพระราชทานธงไชยเฉลิมพล กองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.

วันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

 

          ในการจัดตั้งกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กับจัดให้มีส่วนแยกไปตั้งประจำอยู่ที่จังหวัดระนองและพัทลุงนั้น ได้พระราชทานพระบรมราชกุศโลบายไว้ว่า มีพระราชประสงค์ “...จะไปตั้งวังอยู่ในมณฑลปักษ์ใต้แห่งหนึ่ง และอาไศรยเหตุที่จำเปนต้องมีคนถืออาวุธรักษาพระองค์ในเวลาไปประทับที่นั้น ควรจัดตั้งกองทหารรักษาวังขึ้นกอง ๑...”   [] ประกอบกับโดยนิตินัยแล้วกองทหารรักษาวังมิใช่กองทหารประจำการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม หากแต่เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงวัง จึงทำให้การจัดตั้งกองพันทหารรักษาวังในมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นไปโดยเรียบร้อยปราศจากการร้องคัดค้านจากทางการอังกฤษ

 

          ในส่วนการป้องกันพระราชอาณาเขตทางทะเล ซึ่งนับว่าเป็นพระราชกิจสำคัญในรัชกาลอีกประการหนึ่งนั้น ก็พบหลักฐานว่าเมื่อเสด็จเสวยสิริราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองมณฑลชายทะเลอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ในระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ การเสด็จพระราชดำเนินคราวนั้นนอกจากจะได้เสด็จประพาสเมืองมณฑลนครศรีธรรมราช คือ เมืองสงขลา และหาดใหญ่ มณฑลชุมพร คือ เกาะพงัน และเมืองชุมพรแล้ว ยังได้เสด็จประพาสหมู่เกาะในบริเวณชายฝั่งทะเลมณฑลจันทบุรี อาทิ เกาะกูด เกาะช้าง เกาะเสม็ด ช่องแสมสาร และสัตหีบ โดยมีพระที่นั่งมหาจักรีเป็นเรือทรง ทั้งยังได้โปรดให้เรือสุครีพ เรือพาลี และเรือเสือทยานชล ซึ่งเป็นเรือรบของกระทรวงทหารเรือตามเสด็จไปในกระบวนด้วย

 

 

เข็มตราสัญลักษณ์ราชาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

บนแพรแถบสีธงชาติ (ธงช้างเผือก และธงไตรรงค์)

ที่มอบเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมบริจาคสมทบจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วงตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป

 

 

          ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น เพื่อจัดการเรี่ยไรเงินซื้อเรือรบชนิดที่เรียกว่า เรือลาดตระเวนอย่างเบา (Light Cruiser) ระวางขับน้ำ ๕,๐๐๐ ตันลงมา อันเป็นเรือที่มีความคล่องตัวสูง สามารถทำการยุทธเบ็ดเตล็ดได้มากกว่าเรือชนิดอื่นๆ เพื่อไว้ป้องกันพระราชอาณาเขตทางทะเล โดยได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิมจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท แล้วได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินรายได้จากการจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์ การประกวดภาพ รวมทั้งเงินรายได้ต่างๆ ของดุสิตธานี ฯลฯ สมทบกับเงินที่ราษฎรทุกหัวเมือง

 

 

นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ทรงฉายที่ประเทศอังกฤษเมื่อครั้งเสด็จไปทรงจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง

 

 

เรือรบหลวงพระร่วงในการสมโภชขึ้นระวางที่ท่าราชวรดิษฐ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

 

 

ประทับบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองชายทะเลมณฑลจันทบุรี

ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗

(จากซ้าย) ๑. นายนาวาโท หลวงประดิยัตินาวายุทธ (ศรี กมลนาวิน - พระยาราชวังสัน) ผู้บังคับการเรือพระที่นั่งมหาจักรี
  ๒. นายพลเรือโท พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสง - ชูโต) ผู้บัญชาการกรมชุมพล
  ๓. จอมพลเรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

มณฑลทั่วราชอาณาจักรได้บริจาคทั้งสิ้น ๒,๕๙๑,๙๔๖ บาท ๖๕ สตางค์ รวมกับเงินผลประโยชน์ที่หาได้จากเงินบริจาคจำนวดังกล่าวอีก ๙๒๒,๖๕๗ บาท ๓๖ สตางค์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๕๑๔,๖๐๔ บาท ๑ สตางค์ ให้นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  [] เสนาธิการทหารเรือและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นข้าหลวงพิเศษนำคณะออกไปเลือกซื้อเรือรบที่ประเทศอังกฤษ ที่สุดทรงเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโดซื่อ “เรเดียนท์” ของบริษัท ทอร์นิครอฟท์ จำกัด ในราคา ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ กับมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ๙,๐๐๐ ปอนด์ กับ ๔๗,๑๐๘ บาท ๘ สตางค์ แล้วได้ทรงบังคับการนำเรือรบที่ได้โปรดพระราชทานนามว่า “เรือพระร่วง” นั้นเดินทางสู่ประเทศสยาม โดยมีนายทหารเรือไทยทั้งหมดเป็นผู้บังคับเรือข้ามทวีปเป็นครั้งแรกแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีสมโภชและขึ้นระวาง “เรือรบหลวงพระร่วง” ซึ่งเป็นนามที่พระราชทานให้ใหม่ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ณ ท่าราชวรดิษฐ ส่วนเงินที่เรือจากการจัดซื้อเรือพระร่วงจำนวน ๓๖,๘๕๘ ปอนด์ ๕ ชิลลิง ๒ เพนนี กับ ๒๗๑,๓๓๘ บาท ๕๗ สตางค์นั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กองทัพเรือไว้ใช้ในราชการต่อไป

 

 

 


[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ก.๗/๓ เรื่อง การจัดทหารและเกณฑ์ทหารมณฑลปักษ์ใต้ (๑๓ มกราคม ๒๔๕๖ - ๒ กันยายน ๒๔๕๙)

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |