โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๗)

 

ด้านศาสนา

 

“วชิราวุโธภิกขุ”

พระภิกษุสมเด็จพระบรมบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายที่พระแท่นหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

 

 

          นอกจากจะทรงดำรงพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภกแก่ทุกศาสนาในประเทศไทยแล้ว ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงเลื่อมใสและใฝ่พระทัยศึกษาหลักธรรมในพระบวรพุทธศาสนามาแต่ทรงพระเยาว์ ถึงกับเคยมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าฉันไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฉันจะบวช และฉันเชื่อแน่ว่าบวชแล้วคงได้เป็นเปรียญ ต่อไปคงจะได้มีสมณศักดิ์รับภาระของพระศาสนาต่อไป”  []

 

          แม้นว่าจะมิได้ทรงรับพระราชภาระทางพระศาสนาดังพระบรมราชปณิธานข้างต้น แต่พระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงหยิบยกหลักธรรมในพระบวรพุทธศาสนาขึ้นอบรมข้าราชบริพารและพสกนิกรตามควรแก่โอกาสอยู่เสมอ ด้วยทรงพระราชดำริว่า

 

          “...ธรรมะเป็นเครื่องให้สุขแก่ผู้ประพฤติ, โดยเหตุที่ผู้ประพฤติธรรมะย่อมจะได้ผลอันงดงามหลายประการ อย่างน้อยก็เป็นสุขใจในการที่รู้สึกว่าตนมิได้ให้ร้ายแก่ผู้ใด เพราะฉะนั้นก็คงไม่มีใครเกลียดชังหรือให้ร้ายแก่ตน อีกประการหนึ่งผู้ที่ประพฤติธรรมย่อมเป็นผู้ที่ผู้อื่นนับหน้าถือตา, เชื่อถือ, ไว้วางใจ, ถ้าเป็นผู้น้อยก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่พอใจอุปการชุบเลี้ยง, และถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็ย่อมจะมีผู้นับถือเอาเป็นที่พึ่ง, ผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมย่อมไม่มีใครไว้ใจได้ เพราะบุคคลเช่นนั้นย่อมจะยกเอาความสะดวกแก่ตนเป็นที่ตั้ง, และถึงแม้ว่าจะทำความดีก็เพราะมุ่งหมายจะได้บำเหน็จตอบแทน, หรือหวังได้รับความสรรเสริญแห่งโลก, หรือเพราะกลัวโลกติเตียนเท่านั้น...”  []

 

 

พระภิกษุสมเด็จพระบรมบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์

และสามเณรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

ที่พระแท่นหน้าพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

 

 

          ทั้งยังได้ทรงรับพระราชธุระสืบอายุพระศาสนา โดยได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ให้ทรงเป็นแม่กองชำระคัมภีร์อรรถกถา และทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดพิมพ์อรรถกถาทั้งในส่วนพระวินัยปิฎก พระอภิธรรมปิฎก และพระสุตันตปิฎกบางคัมภีร์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ครั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส ทรงเจริญพระชันษา ๖๐ พรรษา ก็ได้ทรงรับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์อรรถกถาพระสุตันตปิฎกจนครบบริบูรณ์ แล้วโปรดพระราชทานไว้ในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ ชุด กับนานาประเทศอีก ๔๐๐ ชุด และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          “...ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ในพระราชหัดถเลขาสั่งเรื่องพระบรมศพของพระองค์ ว่าให้มีหนังสือสร้างขึ้นเปนส่วนหนึ่งในงานพระบรมศพเปนส่วนพุทธสาสนูปถัมภกสักเรื่องหนึ่ง... ทรงพระราชดำริห์ว่า หนังสือซึ่งจะเปนอุปัตถัมภกพระสาสนานั้น ถ้าทรงสร้างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ จะเปนการสมพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ทรงแสดงไว้ และ เปนพระเกียรติยศและพระราชอนุสาวรีย์อันงามยิ่ง เพราะหนังสือนี้เปนที่ปรารถนาทั่วไปตลอดถึงนานาประเทศ จึงมีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท กำหนดการที่จะพิมพ์พระไตรปิฎก ให้ได้ครบบริบูรณ์ทุกคัมภีร์ ให้กราบทูลอาราธนา พระเจ้า วรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเปนประธานในการตรวจสอบฉบับ และอักขรวิธี ส่วนทุนที่จะจับจ่ายในการสร้างพระไตรปิฎกนี้ มีพระราชประสงค์ที่จะให้เปนส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาราษฎร พร้อมเพรียงกันรวบรวมขึ้นบำเพ็ญกุศลสนองพระเดพระคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าฯ จึงมีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้ทูลเชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ และชักชวนบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการ ตลอดจนประชาราษฎร ให้โดยเสด็จพระราชกุศลนี้ ตามแต่จะเต็มใจอุทิศถวาย...”  []

 

          พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์หรือที่ต่อมาโปรดพระราชทานนามว่า “พระไตรปิฎกสยามรัฐ” นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ๔๒ เล่มจบ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ได้จัดพิมพ์แล้วเสร็จทันพระราชทานในการพระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ จำนวน ๓ เล่ม และเมื่อการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐแล้วเสร็จครบทั้ง ๔๒ เล่ม ก็ได้โปรดพระราชทานไปยังพระอารามต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งยังได้โปรดพระราชทานไปยังนานาประเทศ “...ที่มีศึกษาสถานอันตั้งขึ้นเพื่อสอนภาษาบาลีและพุทธสาสนาเป็นหลักแหล่ง...”  []

 

 

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกตน้อย)

 

 

          อนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น แม้จะไม่โปรดให้สร้างพระอารามหลวงประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณีก็ตาม แต่ก็ได้ทรงรับพระราชธุระจัดการปฏิสังขรณ์พระอารามสำคัญมาโดยตลอด พระอารามที่ทรงปฏิสังขรณ์นั้นมีอาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์, วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ฯลฯ นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระพุทธปฏิมาสำคัญไว้อีกหลายองค์ อาทิ พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วน้อย) ซึ่งโปรดให้นายคาร์ล ฟาแบร์เช่ (Carl Farbergé) เจียระไนขึ้นจากหินหยกเขียว (Nephrite) แล้วโปรดให้เป็นเจดียฐานอันประเสริฐไว้เป็นที่ทรงสักการะบูชาสำคัญประจำพระราชวังดุสิต ในทำนองเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง

 

 

 


[ ]  ทวน วิริยาภรณ์. พระพุทธศาสนากับชาวไทย, หน้า บทนำ.

[ ]  “พระบรมราโชวาท ในงานวิสาขบูชา ทรงแสดงแก่ครูแลนักเรียน ณ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๙”, พระบรมราโชวาท กับ วชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๖๔.

[ ]  “แจ้งความการสร้างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ เปนอนุสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๒ (๒๗ ธันวาคม ๒๔๖๘), หน้า ๒๙๘๑ - ๒๙๘๓.

[ ]  “ประกาศราชบัณฑิตยสภา เรื่องกำหนดการจ่ายเงินทุนพระไตรปิฎกและเกณฑ์พระราชทานพระไตรปิฎกสยามรัฐ”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๘ (๒๐ มีนาคม ๒๔๗๔), หน้า ๖๕๘ - ๖๖๑.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |