โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๘)

 

พระนิโรคันตราย

 

 

          พระนิโรคันตราย [] พระพุทธรูปกาไหล่ทองปางสมาธิ มีนาคแปลงเป็นมนุษย์เชิญฉัตรและพัดโบกประจำอยู่สองข้างองค์พระ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จำนวน ๑๖ องค์เท่าจำนวนปีในรัชกาล โดยทรงกำหนดจะจัดให้มีการสมโภชในการพระราชพิธีสมภาคาเสด็จดำรงสิริราชสมบัติเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เผอิญทรงพระประชวรเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดพระราชทานไปยังพระอารามฝ่ายมหานิกายจำนวน ๑๕ วัด และเก็บไว้ใช้ในราชการ ๑ องค์ดังพระราชประสงค์ และเมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราชใน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ได้ทรงพบพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง ที่เมืองศรีสัชนาลัย องค์พระชำรุดมาก คงเหลือแต่พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทที่ไม่ชำรุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปที่ยังคงเหลืออยู่นั้นลงมากรุงเทพฯ และเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นหล่อองค์พระเพิ่มเติมจนสมบูรณ์เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิหารโถงที่โปรดให้สร้างต่อออกมาทางด้านหน้าพระวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”

 

 

พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร

 

 

          นอกจากนั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งกองทหารอาสาสมัครไปร่วมรบในสมรภูมิทวีปยุโรป คราวสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น ก็ได้โปรดกล้าฯ ให้มีอนุศาสนาจารย์ไปกับกองทหารนั้น และต่อมาวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองอนุศาสนาจารย์ขึ้นในกองทัพบก โดยมีพระราชประสงค์จะให้ทหารมี “เพื่อนทางใจ” ในยามคับขัน โดยเฉพาะเมื่อมีทุกข์ร้อนอย่างใด จะได้ไม่กังวลและไม่ว้าเหว่ หรือลำบากใจ ทั้งยังได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือว่าด้วยหลักธรรมทางพระพุทธ ศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้ง ปาฐกถา เทศนา พระบรมราโชวาท บทสวดมนต์ บทความสั้นๆ รวมทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร, ปลุกใจเสือป่า, พระบรมราชานุศาสนีย์แสดงคุณานุคุณ, ประโยชน์แห่งการอยู่ในธรรม, ธรรมาธรรมะสงคราม และมงคลสูตรคำฉันท์ เป็นต้น

 

 

โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นหัวหน้าคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานเสื้อยศ (เสื้อยุบ๊ะ)

ที่พระลานหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

 

 

          ในส่วนการทนุบำรุงศาสนาอื่นนั้น นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ “...ให้ชนชาวอิสลามซึ่งอยู่ในพระบรมโพธิสมภารมาชั่วกาลนาน อันต้องไปตกค้างอยู่ในจังหวัดเมคคะอันได้รับทุกข์ยากกันดารมานานได้กลับสู่งกรุงสยาม...”  []  แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างเสื้อคลุมชนิดปิดอกสีต่างๆ มีพระมหามงกุฎกับอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อปักติดหน้าอก พระราชทานเป็นเสื้อยศแก่โต๊ะอิหม่าม (สมภาร) มาแต่คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔ เสื้อยศนี้มีด้วยกัน ๓ ชั้น คือ

                    ชั้นที่ ๑ พระราชทานแก่โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นหัวหน้าคณะใหญ่

                    ชั้นที่ ๒ พระราชทานแก่โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นหัวหน้าคณะกลางประจำมณฑล

                    ชั้นที่ ๓ พระราชทานแก่โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นหัวหน้ารองคณะประจำมณฑล

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จลงประทับเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้อิสลามศาสนิกเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ทูลเกล้าฯ ถวายคทาอาเนอิสลาม

 

 

          ต่อมาวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้อิสลามศาสนิกในพระบรมราชูปถัมภ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนและคฑาอาเด่นอิสลาม [] เนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา “๓ รอบ มโรงนักษัตร” และในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าซะยูดะห์รองกราบแก่ ๓ อิหม่ามซึ่งเป็นกอลีหัวหน้าคณะใหญ่ และหัวหน้าคณะกลาง ผู้มีคุณความดีความสามารถในศาสนา คือ

                    ๑. หะหยีอับดันล๊ะฮ์ กอลีหัวหน้าคณะใหญ่ มัสยิดบางกอกน้อยโรงเรียนราชการุญ จังหวัดธนบุรี

                    ๒. หะหยีซ้ำมะแอ หัวหน้าคณะกลาง มณฑลกรุงเทพฯ มัสยิดยะวาคลองสัวยม จังหวัดพระนคร

                    ๓. หะยีอุมรัด หัวหน้าคณะกลาง มณฑลกรุงเทพฯ มัสยิดบ้านคู้ จังหวัดมีนบุรี

 

          ในส่วนของศาสนาอื่นๆ นอกจากจะทรงรับเป็นศาสนูปถัมภกแล้ว ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงศาสนานั้นๆ ตามควรแก่โอกาสอีกด้วย

 

 

 


[ ]  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขนานนามพระพุทธรูปนี้ว่า “พระนิร โรคันตราย”

[ ]  “คำกราบถวายบังคมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายดอกไม้ธูปเทียนแลคฑาอาเด่นอิสลาม”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๔ มกราคม ๒๔๕๙), หน้า ๒๘๑๙ - ๒๘๒๓.

[ ]  คฑาอาเด่นอิสลามนี้ มีรายการปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่า

          ๑) รัดเกล้า, ทองคำลงยาฝังไข่มุกกับมรกฎ ๓๔ เมล็ด

          ๒) ปีกทั้งสอง, ทองคำล้วน

          ๓) ตัวมุหรอก, เงินลงยาสีมรกฎ เครื่องประดับลงยากาไหล่ทอง

          ๔) ปลอกคฑา, ทองคำล้วน สลักช่อไชยพฤกษ์

          ๕) รวมที่เป็นทองคำล้วน น้ำหนักทองคำ ๑๕ บาท

          ๖) คฑายาว ๑ เมตร ๒๘ เซนติเมตร

 

เข็มพระมหามงกุฎอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ

ว.ป.ร.

ทำด้วยทองคำลงยานี้

ชาวอิสลามในพระบรมราชูปถัมภ์

ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

 

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |