โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๔๘. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๐)

 

          อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศเบลเยี่ยมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ และ “...ได้เสด็จไปทอดพระเนตรป้อมต่างๆ ของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งในขณะนั้นถือกันว่าเป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดในยุโรป...”  [] และในการพระราชทานเลี้ยงลานักเรียนนายร้อยผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา []  ซึ่งเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในค่ำวันเดียวกันนั้น โดยทรงเล่า “...ถึงป้อมเมืองลิเอซ ถึงสะพานและช่องทางที่ข้าศึกอาจยกเข้ามา ได้ทรงทำนายไว้ว่า เยอรมันจะต้องยกเข้ามาทางนั้น ...และใน ค.ศ. ๑๙๑๔ คือ ๑๓ ปีภายหลัง กองทัพเยอรมันก็ได้โจมตีลิเอซตามทางที่ทรงทำนายไว้จริงๆ...”  []  พระปรีชาญาณทางการทหารนี้คงจะเป็นที่ประจักษ์แก่นายทหารชั้นนำของอังกฤษและชาติอื่นๆ ในยุโรป ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประทุขึ้นในยุโรป และความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า นายทหารในกองพันที่ ๑ กรมทหารราบเบาเดอรัม ซึ่งเคยเสด็จไปประจำการในกรมนั้น ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตไปในระหว่างสงครามเป็นจำนวนมาก

 

 

หน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษที่ลงข่าวการพระราชทานเงินช่วยเหลือ

ครอบครัวนายทหารกรมทหารราบเบาเดอรัมที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๑

 

 

          ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงการต่างประเทศจัดส่งเงินพระราชทานส่วนพระองค์จำนวน ๑,๐๐๐ ปอนด์ไปให้รัฐบาลอังกฤษจัดการช่วยเหลือบุตรกำพร้าและภรรยาม่ายของนายและพลทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัมแทนพระองค์จนเสร็จการ

 

 

สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

สำเนาพระราชโทรเลขของสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕

 

 

          อาจจะด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารประกอบกับน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ต่อมาในวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ (King George V) พระราชาธิบดีแห่งกรุงบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (Great Britain and Ireland) ได้มีพระราชโทรเลขอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกพิเศษ (Honorary General) แห่งกองทัพบกบริเตน (British Army) ทั้งให้ทรงเครื่องยศนายทหารของกรมทหารราบเบาเดอรัมเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย

 

 

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชทานนายพลโท พระยาสุรินทราชา (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ - พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร)

สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต

ผู้ซึ่งได้ตามเสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ ประเทศอังกฤษ

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระราชโทรเลขดังกล่าวแล้ว ได้มีพระราชโทรเลขส่วนพระองค์ลงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงตอบรับพระราชไมตรีดังกล่าว ทั้งยังได้ทรงอัญเชิญให้พระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ทรงรับพระยศเป็นนายพลเอกของกองทัพบกสยาม นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่กองทัพบกสยามได้รับเกียรติจากพระประมุขของชาติมหาอำนาจตะวันตก ทรงตอบรับเป็นนายทหารพิเศษของกองทัพบกสยาม ซึ่งนอกจากจะเป็นพยานแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณทางการทหารในพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในพระราชโทรเลขส่วนพระองค์ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่ได้พระราชทานไปยังนายพลโท พระยาสุรินทราชา (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) []  สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต พระสหายสนิทที่ได้ตามเสด็จไปเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ทรงกล่าวถึงการที่ได้ทรงรับ พระยศครั้งนี้ไว้ว่า “...การที่พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษให้ยศนายพล เราเห็นว่าเป็นเกียรติยศสำหรับชาติไทย เพราะราชาบุรพทิศยังไม่มีใครเคยเปนนายพลพิเศษในกองทัพยุโรป ฉนั้นราคาไทยสูงขึ้นอีกแล้ว...”  []

 

          อนึ่ง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงแล้ว นายแพทย์ที่เคยถวายการรักษาพระอาการพระอันตะอักเสบเมื่อคราวประทับทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จไปทรงรับการผ่าตัดพระนาภีเพื่อตกแต่งบาดแผลอีกครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ พร้อมกันนั้นจะได้ทอดพระเนตรความเจริญและการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในประเทศต่างๆ โดยทรงกำหนดจะเสด็จพระพระราชดำเนินย้อนเส้นทางที่เสด็จนิวัติพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เริ่มจากประพาสประเทศญี่ปุ่น แล้วไปสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสยามทางอินเดีย แต่เมื่อใกล้จะถึงวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงพระประชวรและเสด็จทิวงคตที่สิงคโปร์ ประกอบกับได้เกิดวิกฤตเงินปอนด์ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อเงินทุนสำรองของชาติ จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินที่ได้เตรียมการไว้นั้น

 

 

วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗

เวลา ๑๖.๑๕ น. ทรงเครื่องปกติ นายพลเอกกองทัพบกอังกฤษ

แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสถานคาร์โคซา กรุงกัวลาลัมเปอร์

อันเป็นจวนของเซอร์วิลเลียม ยอร์ช แมกซเวล (H.E. Sir William George Maxwell)

ข้าหลวงใหญ่แห่งสหรัฐมลายู (Chief Secretaries to the Government of the Federated Malay Stated)

ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสในงานแอดโฮมที่สนามเทนนิสหลังจวนคาโคซา

(จากซ้าย) ๑. นางสโตนเนอร์ (Mrs. O.F.G. Stonor)
๒. เจ้าจอมสุวัทนา
๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๔. นายโอ.เอฟ.จี สโตเนอร์ (Oswald Francis Gerard Stonor) ข้าหลวงประจำนครสะลังงอ (Resident of Selangor)
๕. สุลต่านซุเลมานชาห์ (H.H. Sultan Ala’idin Suleiman Shah) เจ้าผู้ครองนครสะลังงอ (Sultan of Selangor)

 

 

          เมื่อการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้เชื่อมต่อกับทางรถไฟของสหรัฐมลายูแล้วเสร็จ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีบางกอกน้อยเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงตรวจเส้นทางรถไฟสายใต้ไปจนสุดเขตพระราชอาณาจักรสยามที่สถานีปาดังเบซาร์ แล้วประทับกระบวนรถไฟพระที่นั่งซึ่งเปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรมลายูลากจูง เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐมลายูของอังกฤษ เริ่มจากเมืองไทรบุรีเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองอิโป (Ipoh) รัฐเประ (Perak) จังหวัดสิงคโปร์ (Singapore) เมืองยะโฮร์บารู (Jahor Bahru) รัฐยะโฮร์ (Jahor) กัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) รัฐสะลังงอร์ (Selangor) เกาะหมากหรือเมืองปีนัง (Penang) แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ประพาสเมืองกัวลากังสา (Kuala Kansar) เมืองไต้เผง (Taiping) รัฐเประ (Perak) จากนั้นประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีบูกิตมะตา (Bukit Mata) เสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยเสด็จลงประทับแรมที่จังหวัดสงขลาหนึ่งราตรี แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ โดยกระบวนรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีบางกอกน้อยในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชกาลที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ

 

 

 


[ ]  พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา). “ความอาลัยรัก”, รวมเรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ, หน้า ๒๘.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลตรี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ หัวหน้ากองทูตทหารและแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยในงานพระราชสงครามทวีปยุโรป (สงครามโลกครั้งที่ ๑) สุดท้ายได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลเอก พระยาเทพหัสดิ

[ ]  รวมเรื่องเบ็ดเตล็ดของพระยาเทพหัสดินฯ, หน้า ๒๙.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

[ ]  บัว ศจิเสวี. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ทรงได้รับยศพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ, หน้า ๑๑.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |