โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๕. งานกรีฑา (๓)

 

 

          ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานไว้ในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นตอนต่อจากที่ได้เชิญมาลงไว้ในตอนที่แล้ว

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พระบรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ประทับพลับพลายกข้างหอประชุมในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑

 

 

          "ประการที่หนึ่ง ปับลิกสูกลนั้นเขาย่อมสอนให้รักขนบธรรมเนียมของโรงเรียนและของประเทศเป็นอันมาก ขนบธรรมเนียมอย่างใดที่มีมาแต่เดิม แม้จะคร่ำคร่าไม่มีประโยชน์ก็ตาม ถ้าไม่เสียหายก็รักษาไว้ เพื่อให้นักเรียนภาคภูมิใจ ให้นึกถึงความเจริญของโรงเรียนที่มีมาแล้วแต่ก่อน เป็นโรงเรียนอีตันยังใส่หมวกสูงจนบัดนี้ ที่จริงหมวกสูงนั้นไม่เป็นของวิเศษอะไร และใส่ก็ไม่สบาย แต่ทำให้เตือนใจให้นักเรียนนึกถึงความรุ่งเรืองของโรงเรียนที่เป็นมาแล้ว นี่เป็นตัวอย่างที่ขอยกมาให้เห็นแต่อย่างเดียวเท่านั้น ผลนั้นเมื่อเด็กอังกฤษเติบโตขึ้นแล้วก็มีน้ำใจรักขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราสังเกตดูกิจการในประเทศอังกฤษ เราจะเห็นว่าเขารักษาขนบธรรมเนียมของเขาอย่างเข้มงวดดียิ่ง ถึงแม้ขนบธรรมเนียมนั้นจะไม่สู้เป็นประโยชน์ก็คงรักษาไว้ เช่นเป็นต้นว่า ผู้พิพากษายังสวมผมขาวปลอมมาจนทุกวันนี้ ว่าที่จริงไม่มีประโยชน์อะไร แต่ทำให้ระลึกถึงเกียรติคุณของผู้พิพากษาที่มีมาแต่เดิม การที่อังกฤษรักขนบธรรมเนียมหรือ Tradition ไม่ได้ทำให้ประเทศอังกฤษล้าหลังประเทศอื่นในความเจริญเลย สิ่งใดที่ควรเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งใดที่ยังดีอยู่ไม่เสียหายเขาก็คงรักษาไว้เพื่อนึกถึงความเจริญของประเทศที่มีมาแล้วในปางก่อน ถึงแม้ว่าเขาจะคิดทำงานใดๆ เพื่อมุ่งหาความเจริญในทางอนาคตก็จริง แต่เขาก็ไม่ยอมหันหลังให้อดีตเสียเลย ข้อนี้เองทำให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปกครองได้อย่างเรียบร้อยราบคาบ ไม่ต้องมีการจลาจลมากมายนัก นั่นเป็นผลของการรักษาขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ตัวอย่างในเร็วๆ นี้ คือประเทศอังกฤษได้มีคณะรัฐบาลกรรมกรซึ่งเป็นโสเชียลลิสต์แต่ก็หาได้มีการเปลี่ยนแปลงตูมตามกลับหน้ามือเป็นหลังมืออย่างใดไม่ เพราะกรรมกรก็เป็นชาวอังกฤษที่มีนิสสัยยังรักขนบธรรมเนียม การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปทีละนิดละหน่อยไม่มีใครรู้สึก ข้อนี้ในประเทศสยามควรเอาอย่างแน่นอนทีเดียว นึกถึงอนาคตว่าเราจะทำอย่างไรให้เจริญได้ก็ทำไป แต่สิ่งที่ดีงามที่เป็นมาแล้วก็ไม่ควรจะทิ้งเสีย ต้องนึกถึงบรรพบุรุษของเราที่ได้นำชาติของเรามาสู่ความเจริญนั้นด้วยระเบียบนี้ขอให้โรงเรียนนี้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

 

          หลักที่สอง ในโรงเรียนปับลิกสกูลของอังกฤษนั้น มีการปกครองอย่างเข้มงวดมากเป็นลำดับชั้นกันไป คือครู เด็กชั้นใหญ่ เด็กชั้นเล็ก เขาปกครองกันเป็นลำดับ และมีวินัยอย่างเคร่งครัด ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีเสรีภาพและอะไรต่ออะไรภาพบริบูรณ์ทุกอย่าง การปกครองในโรงเรียนนั้น เราน่าจะนึกว่าเขามิปล่อยให้เด็กฟรี ทำตามชอบใจหรือ เปล่าเลย การปกครองของโรงเรียนอังกฤษมีวินัยเคร่งที่สุด และให้เด็กปกครองกันเอง เพื่อฝึกหัดให้รู้จักปกครองกันตามลำดับชั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่มีโรงเรียนที่ไหนที่อนุญาตให้เด็กชั้นใหญ่เฆี่ยนเด็กชั้นเล็ก แต่นี่อังกฤษเขายอมให้ทำเช่นนั้น เด็กเล็กต้องรับใช้เด็กใหญ่ และเด็กชั้นใหญ่ลงโทษเด็กเล็กได้ด้วย ทั้งนี้เป็นการฝึกฝนให้คนเรารู้จักว่า การปกครองตามลำดับชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้นต้องมีไม่ว่าประเทศไหนหมด และจะมีแบบการปกครองอย่างใดๆ ก็ตาม การปกครองตามลำดับชั้นนั้นต้องมีอยู่เสมอ ไม่มีย่อมปกครองกันไม่ได้ และประเทศก็ต่อจะตั้งอยู่ไม่ได้ ดังนี้อังกฤษจึงฝึกสอนเด็กแต่เล็กๆ ให้รู้จักเคารพต่อผู้นำของตน เมื่อโตขึ้นเป็นนักเรียนชั้นใหญ่แล้ว ก็ให้รู้จักปกครองเด็กเล็กโดยยุตติธรรม ให้รู้จักรับผิดชอบในการปกครอง ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงมีการปกครองที่ดีเรียบร้อยอย่างยิ่ง แม้เขาปกครองประเทศอื่นที่เป็นเมืองขึ้นของเขา การปกครองก็เป็นที่เรียบร้อยเป็นยุตติธรรมแก่ประชาชนอย่างยิ่ง เพราะคนที่ไปปกครองประเทศราชเหล่านั้น มักเป็นนักเรียนที่ได้เรียนในปับลิกสกูลมาแล้วเป็นส่วนมาก นี่เป็นของที่พวกเราควรระลึกไว้ว่า ถ้าเราจะให้ประเทศสยามดีงามต่อไป เราต้องฝึกหัดเด็กของเราให้รู้จักเคารพนับถือผู้หลักผู้ใหญ่และให้รู้จักรับผิดชอบที่จะปกครองผู้น้อยต่อไปโดยยุตติธรรม ดังนี้การปกครองในประเทศสยามจึงจะได้ผลดีที่สุด

 

          หลักที่สาม ที่ปับลิกสกูลเขาใช้ก็คือ เขาฝึกหัดให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ที่เรียกว่า สปอร์ตสแมน การฝึกหัดน้ำใจนั้นเป็นของสำคัญมาก ยิ่งเราจะปกครองแบบเดโมคราซียิ่งสำคัญขึ้นอีก ในที่นี้จะขอหยิบยกหลัก ๒ - ๓ อย่างที่ว่าน้ำใจเป็นนักกีฬานั้นคืออะไร ประการที่หนึ่งนักกีฬาแท้จะเล่นเกมอะไรก็ตาม ต้องเล่นให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของเกมนั้น ไม่ใช้วิธีโกงเล็กโกงน้อยอย่างใดเลย จึงจะสนุกจึงจะเป็นประโยชน์ ประการที่สอง ถ้าเกมที่เล่นนั้นเล่นหลายคน ต้องเล่นเพื่อความชะนะของฝ่ายของตน ไม่ใช่เล่นเพื่อตัวตนเดียว ไม่ใช่เพื่อแสดงความเก่งของตัวคนเดียว ประการที่สาม นักกีฬาแท้นั้นต้องรู้จักชะนะและรู้จักแพ้ ถ้าชะนะก็ต้องไม่อวดดีทำภูมิ์ ถ้าแพ้ก็ต้องไม่พยาบาทผู้ชะนะเป็นต้น หลักสามอย่างนี้สำคัญมาก ย่อมใช้เป็นประโยชน์ได้ในการเมืองด้วย เมื่อเราจะปกครองแบบรัฐสภาแล้ว ก็ต้องมีคณะการเมืองเป็นธรรมดา เกมการเมืองก็ย่อมต้องมีกฎของเกมเหมือนกัน ถ้าเราเล่นผิดกฎการเมืองก็ย่อมจะมีผลเสียหายได้มากทีเดียว เพราะการปกครองแบบเดโมคราซีย่อมต้องมีการแพ้และชะนะ ซึ่งถือเอาตามเสียงของหมู่มากว่าฝ่ายใดแพ้และชะนะ เพราะคณะการเมืองย่อมมีความเห็นต่างๆ กันเป็นธรรมดา ตางฝ่ายก็ต้องมุ่งที่จะให้หมู่มากเห็นด้วยกับตน และเลือกตนเข้าเป็นรัฐบาล ฝ่ายไหนประชาชนส่วนมากเห็นด้วยฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชะนะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาจะพูดชักชวนให้ประชาชนลงความเห็นด้วยกับตนนั้น ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่นติดสินบนหรือข่มขืนน้ำใจก็ต้องเรียกว่าเล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้ ต้องพูดให้คนอื่นเห็นตามโดยโวหารและโดยขอบธรรมจึงจะถูกกฎของเกม การปกครองแบบเดโมคราซีนั้น ผู้ที่ชะนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง ก็ควรจะต้องนึกถึงน้ำใจของฝ่ายน้อยที่แพ้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราชะนะแล้วก็จะหาวิธีกดขี่ข่มเหงผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ต่างๆ นานาหาได้ไม่ ย่อมต้องมุ่งปกครองเพื่อประโยชน์ของคณะต่างๆ ทั้งหมด ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วถ้าตั้งกองวิวาทเรื่อย บอกว่าถึงแม้คะแนนโว้ตแพ้กำหมัดยังไม่แพ้เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชะนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนิรการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชะนะได้เหมือนกัน น้ำใจที่เป็นนักกีฬาที่เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าเราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม แม้ในโรงเรียนเรานี้แบ่งออกเป็นคณะต่างๆ เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะ เราก็เล่นสำหรับคณะของเราเพื่อให้คณะของเราชะนะ แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกันเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ เคยแข่งขันกันมาในระหว่างคณะอย่างไรต้องลืมหมด ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับประเทศชาติความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะตามธรรมดาย่อมต้องมีคณะการเมืองคณะต่างๆ ซึ่งมีความเห็นต่างๆ กัน แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้ว ต่างคณะต้องต่างร่วมใจกันนึกถึงประโยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่ ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันนั้นหมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร ต้องลืมหมด ต้องฝังเสียหมด ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศของตนเท่านั้น จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีใจเป็นนักกีฬาแท้ เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น จึงจะปกครองอย่างแบบเดโมคราซีได้ดี

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระแท่นมนังศาลรัตนราชอาสน์
ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร ในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม
ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

          ในเร็วๆ นี้ได้เคยมีเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงตัวอย่างนักการเมืองที่เป็นนักกีฬาแท้ แต่จะของดไว้ก่อน พูดถึงเรื่องเก่าๆ เสียก่อน เมื่อครั้งมหาสงครามนั้นประเทศต่างๆ ที่นักการเมืองมีความเห็นแก่งแย่งกันต่างๆ นั้น เมื่อถึงสงครามเข้าแล้วก็ร่วมใจกันทำสงครามเพื่อประโยชน์แห่งประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้เมื่อประเทศอังกฤษเกิดความยุ่งเหยิงเรื่องการเงินมากมาย นักการเมืองคณะต่างๆ ก็ได้รวมกันเป็นคณะชาติขึ้น เพื่อร่วมความคิดกันช่วยประเทศอังกฤษ กับเมื่อเร็วๆ นี้มีนักการเมืองที่น้ำใจเป็นสปอร์ตสแมนคือประธานาบดีฮูเวอร์ เวลานี้เราทราบว่ามีการเลือกประธานาธิบดีอเมริกาใหม่ และประธานาธิบดีฮูเวอร์แพ้โหวต มิสเตอร์แฟรงกลินรูสเวลต์จะได้เป็นประธานาธิบดีต่อไป คนแรกที่ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีคือประธานาธิบดีฮูเวอร์เอง นั่นแสดงน้ำใจนักกีฬาที่รู้จักแพ้ ตามแบบเลือกประธานาธิบดีของอเมริกานั้น ถึงแม้ได้รับเลือกแล้ว กว่าจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีต้องรอไปอีกหลายเดือน ดูเหมือนจนถึงเดือนมีนาคม ในระหว่างนี้ถ้าประธานาธิบดีฮูเวอร์ไม่เป็นนักกีฬา จะแกล้งทำให้เกิดลำบากต่างๆ ก็ได้ แต่แทนที่จะทำอย่างนั้น นี่กลับปรากฏว่า ฮูเวอร์จะเชิญมิสเตอร์รูสเวลต์มาที่วอชิงตันเพื่อปรึกษาการงานกัน และเพื่อให้รู้เรื่องไว้ เพื่อจะได้มอบการงานและทำการต่อไปโดยเรียบร้อย เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองของเขาอย่างดีที่สุดที่จะเป็นได้ นี่แสดงให้เห็นว่านักการเมืองของอเมริกาเขามีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ โดยเหตุนั้นอเมริกาจึงเป็นประเทศที่รุ่งเรืองและสมบูรณ์อย่างยิ่ง ในข้อนี้สมควรที่คนไทยจะหัดตัวเองให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ทุกประการเหมือนอย่างเขา และเชื่อว่าการที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง การปกครองแบบเดโมคราซี ถ้าราษฎรมีน้ำใจดีอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็จะเป็นผลดีแก่ประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีอย่างที่สุดก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้อาจเป็นผลร้ายก็ได้ เพราะฉะนั้นในเวลานี้ เราจะต้องพยายามโดยเคร่งครัดที่จะฝึกฝนพลเมืองของเราให้มีน้ำใจอยู่ในหลักต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การฝึกน้ำใจนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ได้ทรงระลึกถึงและริเริ่มทำขึ้นในประเทศสยาม เป็นต้นว่าได้ทรงสร้างโรงเรียนนี้และได้ทรงตั้งกองเสือป่าลูกเสือขึ้นเพื่อจะฝึกน้ำใจคน พระองค์ทรงเห็นว่าการฝึกหัดน้ำใจคนเป็นของสำคัญ และการที่พระองค์ได้ทรงตั้งต้นไว้นั้น เราจึงสามารถดำเนินการตามไปได้ และเราควรจะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในการที่พระองค์ให้ทรงริเริ่มการนั้นไว้ ควรที่อาจารย์และนักเรียนทั้งเก่าใหม่และที่จะมาเป็นนักเรียนต่อไป จะระลึกถึงข้อนี้ และควรประพฤติตนให้สมตามพระราชประสงค์ ฝึกฝนใจของตนให้เป็นไปตามแบบอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ทุกประการ ให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนตัวอย่างของโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศสยามทั่วทุกแห่ง


          ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอให้พรแก่บรรดาอาจารย์และนักเรียนเก่านักเรียนปัจจุบันของวชิราวุธวิทยาลัย ให้มีความเจริญยิ่ง บริบูรณ์ด้วยสติปัญญาและกำลังกาย เพื่อทำการงาน และรับราชการเพื่อประโยชน์ของชาติต่อไปในภายหน้า".

 

 

          กระแสพระราชดำรัสนี้คือหลักฐานสำคัญที่ชัดชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำหลักการอบรมนักเรียนแบบพับลิคสกูลมาเป็นแนวทางในการฝึกอบรมนักเรียนให้รู้จักการปกครองคนมาแต่ยังเป็นนักเรียน และเมื่อสยามประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงตอกย้ำให้เห็นว่า วชิราวุธวิทยาลัยที่ดำเนินการบ่มเพาะนักเรียนตามหลักการของพับลิคสกูลแบบอังกฤษนั้น จะเป็นสถาบันที่บ่มเพาะทั้งนักเรียนเก่าเก่า และผู้ที่ที่กำลังศึกษาอยู่ในเวลานั้น รวมทั้งที่จะได้เข้ามาศึกษาในกาลข้างหน้า ให้เป็นพลเมืองตัวอย่างในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกในอีกหนึ่งเดือนต่อมา.

 

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |