โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

 

๑๕๐. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๒)

 

ด้านเศรษฐกิจ (ต่อ)

 

 

แผ่นป้ายหวย กข

 

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลิกการพนันหวย ก ข. และเลิกบ่อนเบี้ยในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพราะทรงพระราชดำริว่า การพนันนั้นเป็น “...เป็นทางให้เกิดการลักเล็กขโมยน้อย ไม่ตั้งใจปฏิบัติการงาน เป็นการเสื่อมเสียมาก...”  []  ทั้งยังก่อให้เกิดโทษถึง ๖ สถาน คือ

 

                   “๑) เมื่อชนะย่อมก่อเวร

                    ๒) เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป

                    ๓) ทรัพย์ย่อมฉิบหาย

                    ๔) ไม่มีใครเชื่อถือถ้อยคำ

                    ๕) เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน

                    ๖) ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย”   []

 

          การเลิกหวย ก ข. และบ่อนเบี้ยนี้นอกจากจะส่งผลให้รายได้ของแผ่นดินต้องลดลงถึงปีละกว่า ๗ ล้านบาทแล้ว ยังทำให้การลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศต้องชะลอตัวลง ทั้งที่เมื่อแรกเสด็จเสวยราชสมบัติได้เคยมี พระราชปรารภถึงเรื่องเงินแผ่นดินไว้ว่า

 

 

          “...รายรับของเงินแผ่นดินหาใคร่จะพอกับรายจ่ายไม่ ต้องคิดตัดรายจ่ายเฃ้าหารายรับทุกๆ ปีมา เห็นว่าธรรมดาบ้านเมืองจะเจริญขึ้นก็ต้องอาไศรยแก่การเงินที่ออกเงินลงทุนไปก่อนจึงจะได้รับผลเมื่อภายหลัง เมื่อต้องมาคิดตัดรายจ่ายเฃ้าหารายรับอยู่ดังนี้ การบางอย่างที่ควรทำให้สำเร็จไปโดยหวังจะได้รับผลก็ต้องงดรออยู่ กระทำให้ความเจริญของบ้านเมืองเดินหน้าไปไม่ควรแก่กาลสมัย สมควรต้องคิดจัดรายรับให้ทวีขึ้นพอแก่ที่จะไม่ต้องตัดรายจ่ายที่สมควรเสียมากนัก แลควรคิดตัดรายจ่ายที่ยังไม่ถึงเวลาจำเปนจริงๆ นั้นออกเสียบ้าง ความเจริญของบ้านเมืองจะได้เดินเร็วขึ้นกว่าที่เปนอยู่บัดนี้...”    []

 

 

ร่างพระราชหัตถเลขาเรื่องการจัดตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

 

 

          นอกจากการลงทุนในภาครัฐแล้ว เมื่อจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการก่อสร้างตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. และหอสวดรวมทั้งหอนอนของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง รวมตลอดทั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนทดและส่งน้ำที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักตอนล่างในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่เข้าร่วมหุ้นจัดตั้ง “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัดสินใช้” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เพื่อผลิตปูนซิเมนต์รองรับการก่อสร้างต่างๆ ที่จะเกิดมีขึ้นรวมทั้งเพื่อทดแทนการนำเข้า ทั้งมีพระราชประสงค์สำคัญเพื่อฝึกหัดคนไทยให้รู้จักการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในทวีปยุโรป ประกอบกับเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประทศในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่เรียกกันว่า “น้ำท่วมปีมะเส็ง” ต่อเนื่องด้วยฝนแล้งอีก ๓ ปี ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๓ ทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศตกต่ำลง แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นั้น “...ประเทศใกล้เคียงไม่มีข้าวขาย แต่ประเทศสยามมีขาย และขายได้เป็นราคาถึง ๕๖.๙ ล้านบาทเศษ ภายใน ๔ เดือน ข้าวภายในเมืองจึงแพงขึ้น ที่ประชุมเสนาบดีตกลงให้ยกเลิกภาษีอากรบางอย่าง ให้รัฐบาลซื้อข้าวมาขายในราคาถูก และจ่ายเงินแถมพกผู้มีรายได้น้อย...”  []  แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ว่า

 

 

          “...การแก้ไขโดยวิธีต่างๆ นั้น อาจไม่ได้ผล น่าจะลองแก้โดยวิธีเก็บภาษีเงินได้จากบุคคลที่ร่ำรวย ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติลองร่างพระราชบัญญัติมาทูลเกล้าฯ ถวาย และให้ขอยืมผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจากกระทรวงยุติธรรมไปช่วย ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวง นครบาลสืบดูว่าบุคคลชนิดใดร่ำรวยมากที่สุด เช่น ได้กำไรจากการค้าขาย นอกจากนั้น ที่ประชุมตกลงให้เพิ่มเงินเดือนเสมียนพนักงานจาก ๕๐ บาท เป็น ๖๐ บาท...”  []

 

 

ศาลาว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคาข้าวและค่าครองชีพเพิ่มเติม อาทิ โปรดให้ปิดอ่าวและห้ามส่งข้าวออกนอกพระราชอาณาเขต ยกเว้นอากรค่านาสำหรับตำบลต่างๆ ในจังหวัดนนทบุรี ๔๕ ตำบล ตำบลต่างๆ ในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ยกเลิกค่าธรรมเนียมจดทะเบียนล้อเลื่อนบางชนิด และโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการสถานกงสุลที่ปีนัง กัลกัตตา สิงคโปร์ และข้าราชการสถานทูตที่กรุงโตเกียว ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง กรมสถิติพยากรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เพื่อจัดรวบรวม “...“สแตติสติค” (Statistic, ซึ่งภายหลังได้ประดิษฐศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทยว่า “สถิติพยากรณ์)... อันเปนรายละเอียดแห่งการหมุนเวียนแห่งทรัพย์...”  []  ซึ่งเป็นรากฐานของการวางรากฐานการพาณิชย์ของประเทศ ก่อนแล้วต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์หรือเดิมคือกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นเป็น “สภาเผยแพร่พาณิชย์และสถิติพยากรณ์” []  มีฐานะเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง เช่นเดียวกับ Board of Trade ของประเทศอังกฤษ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่อุดหนุนและส่งเสริมการพาณิชย์ของประเทศ ตลอดจนให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจและเสนอช่องทางในการลงทุนในกิจการใหม่ๆ

 

 

เขื่อนพระราม ๖

 

 

          อนึ่ง เมื่อสัญญาบริษัทขุดคูคลองแลคูนาสยามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมทดน้ำ กระทรวงเกษตราธิการ เข้าจัดการบำรุงที่นาในท้องทุ่งรังสิตแทนบริษัทนั้น พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายการขุดคลองและคูนาในที่บางแห่งต่อขึ้นไปทางเหนือ อันทำให้เกิดการขุดคลองส่งน้ำเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง “เขื่อนพระราม ๖” กั้นลำน้ำป่าสักที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทดและส่งน้ำลงสู่ท้องทุ่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จัดเป็นเขื่อนทดและส่งน้ำแห่งแรกของประเทศไทย แล้วได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อนนี้เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗

 

          เมื่อการพัฒนาระบบชลประทานในลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำป่าสักประสบผลสำเร็จสมดังพระราชประสงค์ ทำให้ผลิตผลการเกษตรของประเทศทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ประเทศสยามเริ่มใช้มาตราชั่งตวงวัดแบบเมตริกเป็นมาตรฐานในการซื้อขายสินค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ครั้นล่วงเข้าสู่ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่ง

 

 

          “...จำนวนปีรัชกาลที่ ๖ จะเสมอด้วยรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรเปนรัชมงคล เคยมีการฉลองราชสมบัติเปนประเพณีมาในรัชกาลก่อนๆ ครั้งนี้มีพระราชประสงค์จะให้การฉลองราชสมบัตินั้นเปน ประโยชน์เกื้อกูลความเจริญสุขสำราญแก่ประชาชนชาวพระนคร ตลอดจนการค้าขายในพระราชอาณาเขต จึงทรงบริจาคที่ดินอันเปนสมบัติในพระคลังข้างที่ ณะตำบลศาลาแดง เปนเนื้อที่ ๓๖๐ ไร่ ให้สร้างสวนลุมพินีขึ้นพระราชทานแก่มหาชนเพื่อให้เปนที่สำหรับชาวพระนคร เมื่อแสวงหาความสุขสบายจะได้เที่ยวเตร่สำราญอิริยาบถต่อไป แลโปรดฯ ให้จัดการแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ณ สวนลุมพินี...” []

 

 

 

 

          งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกไกลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งหวังให้งานนี้เป็นเครื่องแนะนำและชักจูงชาวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยและรู้จักสินค้าไทยมากขึ้น จึงทรงกำหนดให้จัดงานต่อเนื่องกันไปถึง ๑๐๐ วัน โดยมีกำหนดเปิดงานในวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่ยังมิทันจะถึงกำหนดเปิดงานก็ “...เกิดวิปโยคทุกข์อันใหญ่หลวงขึ้นแก่สยามประเทศ เหตุด้วยพระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต งารที่จะฉลองราชสมบัติรัชกาลที่ ๖ มิได้มีดังมุ่งหมาย อีกประการ ๑ วันซึ่งได้กำหนดว่าจะเปิดสวนลุมพินีกับสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ตกเปนเวลาประชาชนชาวสยามไว้ทุกข์...”  []  งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์จึงเป็นอันต้องล้มเลิกไป แม้กระนั้นสวนลุมพินีที่ทรงเตรียมไว้เป็นสถานที่จัดงานก็ได้แปรสภาพมาเป็นสวนสาธารณะสมดังพระบรมราชปณิธานที่พระราชทานไว้แต่แรก

 

          นอกจากจะโปรดให้จัดการลงทุนด้านชลประทานเพื่อพัฒนาการเกษตรอันเป็นที่มาของการเตรียมการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ในตอนปลายรัชกาลแล้ว เมื่อกรมรถไฟหลวงได้ก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านลงไปถึงชายทะเลบ้านถมอเรียง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพื้นที่ชายหาดถมอเรียงหรือต่อมารู้จักกันในชื่อ “หัวหิน” ให้เป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศของชาวไทยและชาวต่างประเทศ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการก่อสร้างโรงแรมรถไฟพร้อมกับสนามกอล์ฟหลวงขึ้นที่ชายหาดหัวหิน เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่ชายหาดหัวหิน

 

 

โรงแรมรถไฟหัวหิน

 

 

          ครั้นการก่อสร้างโรงแรมรถไฟหัวหินและสนามกอล์ฟหลวงหัวกินแล้วเสร็จ และเริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมีผลกำไรจากการประกอบการต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้มีพระราชดำริที่จะพระราชทานพระราชวังพญาไทซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับโรงแรมรถไฟหัวหิน ให้กรมรถไฟหลวงไปจัดเป็นโรงแรมแบบรีสอร์ท ในนาม “โฮเต็ลพญาไท” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวชมงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งที่จะมาเยือนกรุงสยามในเวลาต่อไป แต่ในระหว่างที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง กำลังเตรียมการจัดพระราชวังพญาไทเป็นโฮเต็ลพญาไทตามกระแสพระบรมราชโองการนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ในขณะเดียวกันงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะประเทศชาติอยู่ในระหว่างไว้ทุกข์ใหญ่ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงรับสิริราชสมบัติสืบต่อมาก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชวังพญาไทเป็น “โฮเต็ลพญาไท” ตามพระราชประสงค์เดิมในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช โฮเต็ลพญาไทจึงได้เริ่มเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๘ จนยุบเลิกและปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลเสนารักษ์ทหารบกตามนโยบายของรัฐบาลภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

 

 

 


[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๒๑๒.

[ ]  อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”, หน้า ๒๑๒.

[ ]  “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐”, เอกสารประวัติศาสตร์ : การบริหารการปกครองกระทรวงมหาดไทย, หน้า ๑๖๕ - ๑๖๖.

[ ]  ประติสมิต. มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน), หน้า ๔๐.

[ ]  เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๗๗.

[ ]  ปัจจุบันคือ กระทรวงพาณิชย์

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ. ๒.๒๖/๑ เรื่อง ร่างประกาศเลิกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สวนลุมพินี ๒๔๖๘ (๒๔ ธันวาคม ๒๔๖๘)

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๔๑ | ๑๔๒ | ๑๔๓ | ๑๔๔ | ๑๔๕ | ๑๔๖ | ๑๔๗ | ๑๔๘ | ๑๔๙ | ๑๕๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |