โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๑. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๓)

 

ด้านการคมนาคมและขนส่ง

 

          การพัฒนาระบบงานคมนาคมและขนส่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เริ่มจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศุฃาภิบาล กระทรวงนครบาล จัดสร้างสะพานชุด “เจริญ” โดยมีตัวเลขจำนวนปีพระชนม์พรรษาต่อท้าย เพื่อเป็นสาธารณทานเนื่องในวันเฉลิมพระชนม์พรรษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ รวม ๖ สะพาน คือ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สะพานเจริญพาศน์ ๓๓

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๖

 

 

สะพานเจริญรัช ๓๑

ข้ามคลองคูเมืองเดิม ที่ตำบลปากคลองตลาด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔

สะพานเจริญราษฎร์ ๓๒ ข้ามคลองมหานาค ที่ตำบลมหานาค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕
สะพานเจริญพาศน์ ๓๓ ข้ามคลองบางหอกใหญ่ ที่ถนนอิสรภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
สะพานเจริญศรี ๓๔ ข้ามคลองคูเมือง ตรงถนนบุรณศิริมาตยาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
สะพานเจริญทัศน์ ๓๕ ข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวราราม ตรงถนนบำรุงเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘
สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

สะพานเจริญศรัทธา

 

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างสะพานเจริญศรัทธา ข้ามคลองเจดีย์บูชา เพื่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างสถานีรถไฟนครปฐมกับองค์พระปฐมเจดีย์ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระปฐมเจดีย์ นับเป็นสะพานเฟโรคอนกรีตแห่งแรกที่สร้างขึ้นในหัวเมือง

 

          อนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกงานช่างทั้งประณีตศิลป์และงานช่างโยธาออกจากกระทรวงโยธาธิการ ให้คงดูแลรับผิดชอบการส่งข่าวสารและการทำทางน้ำทางบก รวมทั้งได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “กระทรวงคมนาคม” แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งวิศวกรผู้ชำนาญการช่างออกไปประจำอยู่ทุกมณฑล ให้ “...เป็นผู้ดำริห์แลแนะนำการโยธา แลการบำรุงฤาทำทางไปมาทั้งบกแลน้ำทั้งปวง ในจังหวัดมณฑลนั้นๆ...”   []

 

          นอกจากนั้นยังได้ทรงเร่งรัดและขยายเส้นทางเดินรถไฟที่ดำเนินมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สามารถเปิดการเดินรถไปถึงเชียงใหม่ในเส้นทางสายเหนือ ถึงหนองคายและอุบลราชธานีในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสายตะวันออกนั้นก็สามารถเปิดเดินรถไปถึงอรัญประเทศ และในเส้นทางสายใต้นั้นก็สามารถเปิดการเดินรถจากกรุงเทพฯ ไปจนสุดเขตแดนสยามและเชื่อมต่อกับทางรถไฟมลายูที่ปาดังเบซาร์และสุไหงโกลก และในการก่อสร้างทางรถไฟสายเหนือจากนครลำปางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลโดยวิศวกรเยอรมันนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้วิศวกรไทยเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลต่อจากนายช่างเยอรมันภายหลังจากที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย - ฮังการีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ จนแล้วเสร็จ และสามารถเปิดการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔

 

 

อุโมงค์ขุนตาล

 

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและสายใต้ซึ่งเดิมแยกกันอยู่เป็นสองกรมนั้นเข้าเป็นกรมเดียวกันแล้วโปรดพระราชทานนามใหม่ว่า “กรมรถไฟหลวง” และ “กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม” ตามลำดับ ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการตัดถนนเชื่อมต่อจากแนวสายทางรถไฟออกไปยังท้องที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้การลำเลียงสินค้าจากแหล่งผลิตออกสู่ท้องตลาดได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เช่น จากสถานีรถไฟเมืองนครลำปางไปยังเมืองเชียงราย จากสถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ ฯลฯ และได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานพระราม ๖ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกเพื่อเชื่อมทางรถไฟสายใต้เข้ากับทางรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกและสายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน โดยมีศูนย์กลางการเดินรถอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)

 

 

สะพานพระราม ๖

 

 

ดวงตราไปรษณียากร “อากาศไปรษรีย์” ชนิดราคาต่างๆ

สำหรับการจัดส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ทางอากาศไปรษณีย์

 

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้นในกระทรวงกลาโหมแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศในเส้นทางกรุงเทพฯ - จันทบุรี เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายกิจการอากาศไปรษณีย์ไปในเส้นทางภาคอีสานอีก ๒ เส้นทาง คือ

 

สายที่ ๑ นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุบลราชธานี เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕
สายที่ ๒ นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุดรธานี - หนองคาย เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖

 

 

สถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ที่ถนนวิทยุ

(ต่อมาเป็นที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหาร)

 

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงทหารเรือเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขระหว่างสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ที่กรุงเทพฯ กับสถานีวิทยุโทรเลขจังหวัดสงขลา รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดรหัสสัญญาณรับส่งโทรเลขเป็นภาษาไทยขึ้นใช้แทนรหัสมอร์ส (Morse) ที่เป็นภาษาอังกฤษ และได้ใช้งานต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจการโทรเลขในประเทศไทย

 

 

 


[ ]  “ประกาศจัดราชการแลเปลี่ยนนามกระทรวงโยธาธิการใหม่ กับตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ กรมหนึ่ง”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๒๗ มีนาคม ๑๓๐), หน้า ๕๖๙.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |