โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๔)

 

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

 

พระราชนิพนธ์ กันป่วย

ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานเป็นคู่มือประจำตัวทหารและเสือป่า

เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและการปฐมพยาบาล

 

 

          ด้วยทรงตระหนักดีถึงพุทธภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” หรือ “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” จึงทรงใฝ่พระราชหฤทัยบำรุงอนามัยของพสกนิกร ทรงถือว่า “...อนามัยเปนกรณียะอัน ๑ ในการปกครองบ้านเมือง ถ้าพลเมืองป่วยไข้ไม่สมประกอบ ต้องนับว่าประเทศนั้นขาดปัจจัยแห่งความสมบูรณ์...”   []

 

          แนวพระราชดำริดังกล่าวนั้นมีพยานปรากฏมาแต่ยังครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้ทรงแสดงให้ประจักษ์เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ดังมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

          “...ตั้งแต่แรกเรากลับมาจากการศึกษา ก็ได้มาแลเห็นสภากาชาดของเรา ซึ่งในเวลานั้นมีอาการแปลกกับที่ได้จัดขึ้นใหม่ในบัดนี้ คือ ยังจัดไปโดยหนทางดำเนินการที่เข้าใจผิดอยู่ ตัวเราองในครั้งนั้นได้รับภาระช่วยเหลือฉลองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนีผู้เปนสภานายิกา จึงได้คิดถึงการที่จะแก้ไขระเบียบการในสภากาชาดให้ลงรอย แลได้กราบทูลว่าควรมีโรงพยาบาลขึ้นโรงหนึ่ง เพื่อประสงค์ให้เปนที่ฝึกหัดนายแพทย์ ฝ่ายทหารแลหัดคนพยาบาลให้ชำนิชำนาญ การของสภากาชาดนั้นเราเข้าใจเสียว่าจะทำแต่ในเวลาสงคราม ถึงกระนั้นก็ดี ในการรักษาโรคก็ดี การพยาบาลก็ดี ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดสักแต่ว่าเปนคนแล้วก็ทำได้ดังนั้นหามิได้ ต้องอาไศรยการเล่าเรียน เพราะฉะนั้นไม่ว่าชาติใด จำเปนต้องมีสถานที่ไว้เปนที่ศึกษาของนายแพทย์ เมื่อถึงเวลาจะต้องใช้ในการงานสงครามจะได้ไม่เสียงาน...”   []

 

 

ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

 

          จึงได้ทรงพระราชดำริร่วมกับนายพลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เตรียมการที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้นตามแบบอย่างโรงพยาบาลของสภากาชาดญี่ปุ่นที่ได้ทอดพระเนตรเมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนคร พ.ศ. ๒๔๔๕ แต่เพราะโอกาสยังไม่เหมาะและเป็นการที่ใช้ทุนทรัพย์มาก การจึงได้เนิ่นช้ามาจนถึงคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงได้ทรงพระราชดำริพร้อมด้วยพระเชษฐภคินีพร้อมกันบริจาคพระราชทรัพย์และทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบมา

 

          ครั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้าง “สถานเสาวภา” ขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระราชทานให้เป็นที่ทำการของกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดสยาม โดยมีส่วนงานที่สำคัญในสังกัด คือ

 

 

สถานเสาวภา

พระบรมราชินยานุสาวรีย์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง

 

 

         “๑ สถานปาสเตอร์ มีน่าที่แยกธาตุในสิ่งต่างๆ เนื่องด้วยการพยากรณ์โรค ตรวจค้นเชื้อโรค และทำวัคซีนเซรุ่มกับทำการรักษาโรคกลัวน้ำอันเนื่องแต่พิษเขี้ยวสุนักข์และรักษาพิษงู...

 

          ๒ โรงเรียนบัคเตรีวิทยาปราสิตวิทยา และวิชาเรื่องโรคระบาทว์ เพื่อเปนสำนักศึกษาประกอบวิชาแพทย์ อัศวแพทย์ และสัตวแพทย์...”  []

 

 

สวนลุมพินีและพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ต่อมาในคราวที่จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เนื่องในการพระราชพิธีสมภาคาเฉลิมสิริราชสมบัติเสมอด้วยรัชกาลที่ ๒ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ฝั่งตะวันออกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ให้เป็นสวนสาธารณะพระราชทานนามว่า “สวนลุมพินี” จึงปรากฏเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์และ พระบรมราชินยานุสาวรีย์เรียงเคียงกันเป็นพยานแห่งความรักและผูกพันของทั้งสามพระองค์สืบมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

ปาร์คหิมพานต์หรือปาร์คสามเสน

ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่รับซื้อไว้

แล้วพระราชทานให้กระทรวงนครบาลจัดเป็น “วชิรพยาบาล”

 

 

          นอกจากนั้นเมื่อแรกเริ่มรัชสมัยก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่จัดการซื้อตึกและที่ดินริมถนนสามเสน แล้วพระราชทานให้กระทรวงนครบาลจัดเป็นโรงพยาบาลสำหรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยเจ็บในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า “วชิรพยาบาล” เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ต่อมาในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างตึกวชิระพยาบาล เป็นตึกหลังแรกของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตอีกด้วย

 

          ส่วนการวางรากฐานสาธารณูปการของประเทศนั้น ได้ทรงพระราชดำริให้กรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาลริเริ่มวางรากฐานการประปาในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ครั้งทรงเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ดังมีความตอนหนึ่งใน “สมุดจดรายวัน เล่ม ๒ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖ ว่า

 

 

“วันที่ ๑๒ สิงหาคม

 

          เรื่องน้ำกินในกรุงเทพ ฯ (๓) กรมศุฃาภิบาลเสนอเรื่องคิดจัดให้มีน้ำจืดกินและใช้ในกรุงเทพฯ ตามความคิดเดิมว่าจะฝังท่อมาจากเชียงรากนั้น จะเปลืองเงินมากเหลือเกิน บัดนี้ได้คิดใหม่ คือจะขุดคลองน้ำจืดจากเชียงรากลงมาจนถึงกรุงเทพฯ เมื่อผ่านคลองรังสิตจะมีท่อ (Syphon) ลอดใต้คลองรังสิต ทางกรุงเทพฯ นี้จะตั้งโรงสูบสูบน้ำขึ้นจากคลองน้ำจืดที่สามเสน จะใช้กรองด้วยเครื่องไฟฟ้าทำโอโซน (Ozone) ขึ้น เมื่อกรองสะอาดดีแล้ว ให้เดินไปตามท่อที่จะได้ฝังไปตามถนน ถ้าผู้ใดประสงค์ก็ฝังเข้าไปให้ใช้ได้ถึงในบ้าน จะคิดค่าน้ำที่ใช้นั้นคิวบิคเมเตอร์ละบาท ซึ่งคิดไปแล้วดูจะถูกกว่าจ้างคนหาบ ประมาณเงินที่จะต้องใช้ในการทำทุกประการสามล้านบาทเศษ นายช่างว่าจะทำให้แล้วเสร็จภายใน ๒ ปี ในที่ประชุมก็แลเห็นอยู่พร้อมกันว่าความคิดของเฃาดีมาก และเชื่อว่ารัฐบาลคงจะได้กำไร เพราะคนคงจะยินดีใช้น้ำนั้นเปนแน่ ยิ่งเวลาที่น้ำแม่น้ำเค็มแล้ว ก็จะแลเห็นประโยชน์มาก แต่เงินที่จะต้องใช้นั้นมากมายนัก...”  []

 

          การขุดคลองน้ำจืดจากเชียงรากมาจนถึงโรงกรองน้ำที่สามเสน รวมทั้งจัดการฝังท่อส่งน้ำจากโรงกรองน้ำที่สามเสนไปจนถึงบ้านเรือนราษฎรในกรุงเทพฯ จึงต้องใช้เวลาดำเนินการถึงเกือบ ๗ ปีจึงแล้วเสร็จ และได้เสด็จพระราดำเนินทรงเปิดประปาสถาน (โรงกรองน้ำสามเสน) เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ และ “...ตั้งแต่ได้จำหน่ายน้ำประปามาแล้ว ไข้อหิวาตกะโรคที่ในกรุงเทพฯ จะนับว่าไม่มีเลยก็ได้...”  []

 

 

          ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยก “...การสุขาภิบาล แพนกป้องกันความป่วยไข้ให้ความสุขแก่ประชาชน คือ (Public Health)...”  [] จากกระทรวงนครบาลรวมเข้ากับกรมประชาภิบาล ตั้งขึ้นเป็นกรมใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย พระราชทานนามว่า “กรมสาธารณสุข” แล้วจึงได้มีการยกระดับกรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศุขาภิบาลและโอสถศาลาเพิ่มเติมขึ้นในหัวเมืองต่างๆ เป็นลำดับ

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. ๒๔๖๖ ให้มีการจัดตั้งสภาการแพทย์ []  เพื่อ “...วางระเบียบบังคับ และเลื่อนฐานะแห่งการประกอบโรคศิลปะให้สูงยิ่งขึ้น...”  []  อันเป็นผลให้ประชาชนได้รับสวัสดิภาพในการรักษาพยาบาลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาต

 

 

 


[ ]  “พระราชดำรัสตอบในการเปิดสถานเสาวภา”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๑๗ ธันวาคม ๒๔๖๕), หน้า ๒๕๘๐.

[ ]  “พระราชดำรัสตอบในการเปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๑๔ มิถุนายน ๒๔๕๗), หน้า ๕๖๘.

[ ]  “คำกราบบังคมทูลของอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม ในการเปิดสถานเสาวภา ณ วันที่ ๗ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๕”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๙ (๑๗ ธันวาคม ๒๔๖๕), หน้า ๒๕๗๐ - ๒๕๗๑.

[ ]  จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๓.

[ ]  “พระราชดำรัส ในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา พ.ศ. ๒๔๕๘”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๖ มกราคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๔๘๘.

[ ]  “ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขและตั้งอธิบดีกรมสาธารณสุข”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๕ (๘ ธันวาคม ๒๔๖๑), หน้า ๓๐๒ - ๓๐๓.

[ ]  ปัจจุบันเรียกว่า แพทยสภา

[ ]  “พระราชบัญญัติการแพทย์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๖”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๐ (๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๖), หน้า ๑๓๗.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |