โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๓. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๕)

 

ด้านกฎหมายและการศาล

 

 

ศาลสนามสถิตยุติธรรมที่ริมท้องสนามหลวง

 

 

          สืบเนื่องจากทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เสด็จไปทรงระงับความวุ่นวายในกระทรวงยุติธรรม อันเนื่องมาจากคดีพญาระกาในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทรงเป็นผู้กำกับราชการในกระทรวงนั้นสืบเนื่องมาจนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ แต่ราชการในกระทรวงยุติธรรมก็ยังหาได้สงบเรียบร้อยลงโดยบริบูรณ์ไม่ เพราะนายเทียม ไกรสีห์  [] ซึ่งต้องพระราชอาญาถอดออกจากราชการเมื่อครั้งคดีพญาระกายังคงก่อเหตุยุ่งยากต่างๆ อยู่เสมอ

 

 

          “...กล่าวกันว่าถ้าแม้ลูกความใดหานายเทียมไปเปนทนายความตามหัวเมือง เขาก็มักจะไปพักอยู่ที่บ้านผู้พิพากษา และผู้พิพากษาหนุ่มๆ โดยมากก็เปนศิษย์ของนายเทียม ฉนั้นจึ่งเปนหนทางให้ใครๆ พูดได้ว่าผู้พิพากษามักลำเอียงข้างครู, ทำให้ผู้ที่มีคดีในศาลพากันติดใจในความยุติธรรมยุติธรรมของผู้พิพากษา แม้ผู้พิพากษาในกรุงเทพก็ตกอยู่ในความถูกระแวงเช่นนั้นเหมือนกัน, เพราะประการ ๑ ผู้พิพากษาโดยมากก็เปนมิตร์สหายของนายเทียม, และอีกประการ ๑ นายเทียมไปมาหาสู่อยู่กับกรมราชบุรีเสมอ ฝ่ายผู้พิพากษาโดยมากก็ยังคงฝักใฝ่ไปมาอยู่ที่กรมราชบุรี, และมักนำเอาปัญหาทางกฎหมายไปปรึกษาหาฤาอยู่เนืองๆ ส่วนข้อที่ว่าข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมไม่พอใจในส่วนตัวเสนาบดีคนใหม่นั้น, ...เขากล่าวกันว่าพระองค์เจ้าจรูญ  [] นั้นทำงานด้วยยาก, เพราะไม่ชอบคบกับใครเสียเลยและพูดดีกับใครก็ไม่เปน, มีแต่ดุและติโทษอยู่เสมอๆ...”  []

 

 

          จากเหตุขัดแย้งในกระทรวงยุติธรรมดังกล่าว นอกจากจะเป็นชนวนให้บรรดาผู้พิพากษา “...ชวนกันใช้วิธีขัดขืนโดยนิ่งเสีย คืองานการอันใดไม่สั่งไม่สะกิดก็ไม่ทำ, และพระองค์จรูญนั้นสกิดใครเบาๆ ก็ไม่เปน, ได้แต่สะกิดแรงๆ กล่าวคือแกไม่ยอมใช้วิธีพูดโน้มน้าวด้วยไมตรีเสียเลย, มีแต่จะพูดออกอำนาจอยู่เสมอ, จึงทำให้คนที่ดื้อกลับถือทิฐิมานะดื้อต่อ...”  [] อันเป็นผลให้มีคดีความคั่งค้างอยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมให้ “...ลงเปนระเบียบเดียวกับประเทศอื่นๆ...”  [] โดยโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระบรมราชโองการจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ซึ่งมีความตอนหนึ่ง ว่า

 

 

          “...กระทรวงยุติธรรมในเวลานี้มีเสนาบดีผู้เดียวเปนผู้บังคับบัญชา แลวินิจฉัยข้อราชการทั้งฝ่ายธุรการแลฝ่ายตุลาการรวมกัน ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า การที่คนผู้เดียวจะดำริห์แลบังคับบัญชาราชการทั้งสองประเภทนั้น ให้ตลอดไปได้โดยเรียบร้อยย่อมเปนการยาก สมควรจะแยกน่าที่ให้มีฝ่ายธุรการส่วนหนึ่ง แลฝ่ายตุลาการส่วนหนึ่ง ราชการในกระทรวงยุติธรรมจะได้เจริญยิ่งขึ้นกว่าที่เปนมาแล้ว

 

          อนึ่ง ศาลฎีกาซึ่งนับว่าเปนศาลสูงสุด ในพระราชอาณาจักรสยามก็ยังไม่มีอธิบดี แลยังมิได้รวมอยู่ในกระทรวงใด นับว่าต้องเปนพระราชธุระพิเศษอยู่ส่วน ๑ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ยกศาลฎีกาไปรวมอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๑ เปนต้นไป แลจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอธิบดีศาลฎีกาในเวลาต่อไป เพื่อเปนผู้ใหญ่เปนประธานในพแนกตุลาการ

 

          ส่วนน่าที่ราชการนั้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแลน่าที่ได้บังคับบัญชาราชการแลรับผิดชอบทั่วไป แลบรรดาราชการอันนับว่าเปนส่วนธุรการในกระทรวงนี้ เปนน่าที่เสนาบดีบังคับบัญชาได้สิทธิ์ขาดโดยลำพัง แต่ในส่วนที่เปนฝ่ายตุลาการนั้น ให้เสนาบดีปฤกษาหาฤาแลฟังความเห็นของอธิบดีศาลฎีกา แล้วแลวินิจฉัยบังคับบัญชาไปตามที่ตกลงกัน ฤาถ้ามีความเห็นแตกต่างกันก็ให้เสนาบดีพร้อมด้วยอธิบดีศาลฎีกานำความกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติ

 

          ให้อธิบดีศาลฎีกามีน่าที่ดำริห์วางระเบียบราชการพแนกตุลาการแลนำความเห็นเสนอเสนาบดี ตลอดถึงการตั้งแลผลัดเปลี่ยนฤาเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา ส่วนแก้ข้อขัดข้องปัณหาที่เกี่ยวด้วยกฎหมายนั้น เปนน่าที่อธิบดีศาลฎีกาเปนผู้วินิจฉัย แค่ถ้ามีข้อใดซึ่งจำจะต้องเรียนพระราชปฏิบัติ ให้อธิบดีศาลฎีกานำข้อความนั้นขึ้นกราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติโดยตรงได้

 

          ข้อปัณหาในทางราชการที่เกี่ยวกับนานาประเทศนั้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ปฤกษาหาฤาเสนาบดีกระทรวงว่าการต่างประเทศแล้วจึงวินิจฉัย...”   []

 

 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์

 

 

          เมื่อทรงจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมพร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกาพระองค์แรกเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ และโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ออกไปเป็นอรรคราชทูตพิเศษ ณ กรุงปารีส แล้วทรงย้ายพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง [] จากปลัดทูลฉลองกระทรวงนครบาลมาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๕ แล้ว “...ราชการในกระทรวงนั้นดำเนินไปโดยอาการอันเรียบร้อย และคดีที่คั่งค้างในศาลหลวงต่างๆ ก็ได้จัดการเร่งรัดให้ผู้พิพากษาจัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จไปโดยรวดเร็ว...”  []

 

          แม้กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังได้ทรงรับพระราชธุระสอดส่องตรวจตราราชการในกระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินไปตามพระบรมราโชบายที่จะให้ผู้พิพากษามีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงเป็นสิทธิ์ขาดปลอดจากการแทรกแซงของฝ่ายบริหาร [] อันเป็นหลักประกันความความยุติธรรมแก่พสกนิกรของพระองค์แล้ว ต่อมาในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติทนายความ เพื่อคุ้มครองโจทก์และจำเลยผู้มีอรรถคดีในศาลยุติธรรมให้ปลอดพ้นจากบรรดาเจ้าถ้อยหมอความที่แอบแฝงหากินอยู่ในโรงศาล และถัดมาวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบำรุงวิชากฎหมายและสอดส่องควบคุมความประพฤติของทนายความ ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมร่างกฎหมายเพื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมตลอดทั้งการพิจารณายกร่างกฎหมายต่างๆ

 

 

โรงเรียนกฎหมายที่เชิงสะพานพิภพลีลา ต่อมาเป็นที่ทำการกรมโฆษราการ (กรมประชาสัมพันธ์)

 

 

          ในส่วนการศึกษาวิชากฎหมายนั้น นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนกฎหมายที่พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงตั้งขึ้นแต่ครั้งยังทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ “...สั่งสอนนักเรียนโดยวิธีจารีตธรรม   [๑๐] ...ตั้งกรรมการปกครองเองแลตั้งข้อสอบไล่เองตามหลักสูตร แลออกประกาศนนียบัตร์แก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ว่ามีภูมิรู้เปนเนติบัณฑิตฯ แลเนติบัณฑิตเหล่านั้นจะฟังว่าได้สอบไล่ในสนามเหมือนเปรียญฝ่ายปริยัติธรรมก็ยังมิได้ เพราะทางราชการมิได้รับรองอย่างใด...”   [๑๑] ให้เป็นโรงเรียนหลวงสังกัดกระทรวงยุติธรรม อันเป็นการรับรองหลักสูตรการศึกษาวิชากฎหมายตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ถึงคราวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้โปรดเกล้าฯ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์พลเรือน ทรงฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิต

 

 

          พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างเสื้อครุยเนติบัณฑิตพระราชทานให้แก่ผู้ที่สอบไล่วิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิตสยามสืบต่อมาทุกปีตราบจนสิ้นรัชกาล จึงเป็นอันพ้นสมัยการพระราชทานเสื้อครุยแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม แต่สมาชิกของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงใช้เสื้อครุยแบบที่ทรงพระราชดำริไว้เป็นเครื่องหมายของสมาชิกสภาสืบต่อมา ตราบจนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเสื้อครุยเนติบัณฑิต พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้เปลี่ยนไปใช้เสื้อครุยดำดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

 

 

เจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)

เมื่อครั้งเป็นมหาเสวกโท สมุหพระนิติศาสตร์ สวมครุยเนติบัณฑิต

 

 

          เสื้อครุยเนติบัณฑิตที่ทรงพระราชดำริไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ นั้น มีลักษณะเป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาวแบบเสื้อครุยไทย มีสำรดพื้นขาวติดแถบทองที่ขอบรอบและที่ต้นแขนปลายแขน และต่อมาอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ใช้แบบเสื้อครุยเนติบัณฑิตที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริไว้นั้นเป็นต้นแบบในการกำหนดรูปลักษณะเสื้อครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

 

          อนึ่ง เมื่อการชำระสะสางรวบรวมพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่ขึ้นเป็นประมวลกฎหมาย จนได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพที่ ๑ และ ๒ แล้ว และโดยที่ “...ประมวลกฎหมายทั้งนี้เปนของใหม่ที่เริ่มทำขึ้นโดยอาศัยหลักปรัตยุบันนิติศาสตร์ยากที่จะศึกษาเทียบเคียงเพื่อหยั่งรู้ความประสงค์ได้ตลอด...”   [๑๒] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสภานิติศึกษาขึ้นเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ให้มีหน้าที่จัดระเบียบกับวางหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรม ทั้งกิจการอื่นอันเกี่ยวแก่โรงเรียนนี้ด้วย

 

 

 


[ ]  นามเดิม เทียม บุนนาค สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยามคนที่ ๒ แล้วได้รับพระราชทานทุนไปเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ กลับมารับราชการในกระทรวงยุติธรรมจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนหลวงพระยาไกรสีห์ แต่ต้องพระราชอาญาถอดจากยศบรรดาศักดิ์เพราะก้าวล่วงพระบรมเดชานุภาพในคราวที่เกิดคดีพญาระกา ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร

[ ]  ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖, หน้า ๑๘๓.

[ ]  ที่เดียวกัน

[ ]  ที่เดียวกัน

[ ]  “ประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๑๔ เมษายน ๑๓๑), หน้า ๓.

[ ]  นามเดิม หม่อมราชวงศ์ลพ สุทัศน์ ต่อมาได้รับพราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร

[ ]  “ประกาศเลื่อนแลตั้งกรมตั้งพระองค์เจ้าแลเจ้าพระยา”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๙ (๑๓ พฤศจิกายน ๑๓๑), หน้า ๒๕๓.

[ ]  ระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริไว้นี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “...การแบ่งน่าที่ระวางเสนาบดีกับอธิบดีศาลฎีกาเช่นนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ราชการในสมัยนั้น บัดนี้ได้ล่วงพ้นเวลาแห่งการจำเป็นแล้ว...” จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุตติธรรมนั้นเสียตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้ออก “ประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุตติธรรม พุทธศักราช ๒๔๗๑” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

          “...ให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมเป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาข้อราชการทั้งฝ่ายธุรการและตุลาการ นอกจากการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล ส่วนการที่จะตั้ง เลื่อน ย้าย หรือปลดผู้พิพากษานั้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต

          อนึ่งเพื่อให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมได้มีโอกาสตราราชการในศาลยุตติธรรมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมมีอำนาจนั่งกำกับการพิจารณาปรึกษาคดีในศาลตยุติธรรมได้ทุกศาล

          ส่วนศาลฎีกานั้นให้คงรวมอยู่ในกระทรวงยุตติธรรม ให้มีอธิบดีศาลฎีกาเป็นผู้รับผิดชอบที่จะรักษาการในศาลนั้นให้เรียบร้อยถูกต้องตามแบบแผน มีอำนาจที่จะตั้ง ผลัด เปลี่ยน ปลด และบังคับบัญชาพนักงานในศาลนั้นได้ทุกตำแหน่ง นอกจากนี้ให้อธิบดีศาลฎีกามีหน้าที่เป็นผู้รับปรึกษาหารือ ออกความเห็นแก่เสนาบดียุตติธรรมในข้อราชการทั่วไป...”

[ ๑๐ ]  หมายถึงระบบกฎหมายแบบที่ใช้ในประเทศอังกฤษ ที่เรียกว่า Common Law System

[ ๑๑ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ย. ๑/๑ เรื่อง โรงเรียนกฎหมาย (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ - ๑ ตุลาคม ๒๔๖๖)

[ ๑๒ ]  “ประกาศตั้งสภานิติศึกษา”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๑ (๑๐ สิงหาคม ๒๔๖๗), หน้า ๕๔.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |