โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๕. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๗)

 

          ดุสิตธานีเมื่อแรกเริ่มนั้นมีทวยนาครหรือพลเมืองประกอบไปด้วยข้าราชการในพระราชสำนัก เสนาบดีและข้าราชการจากต่างกระทรวงจำนวนเกือบ ๓๐๐ คน ทวยนาครทุกคนล้วนมีอาชีพการงานและมีถิ่นฐานบ้านช่องที่แน่นอน ส่วนผู้ที่ไม่มีบ้านเป็นของตนเองก็ต้องเช่าบ้านของกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งรายได้จากค่าเช่าบ้านนั้นได้พระราชทานไปบำรุงการกุศลสาธารณะต่างๆ เช่น สมทบจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และบริจาคให้สภากาชาดสยาม เป็นต้น

 

          ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานีและทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเหยียบดุสิตธานีในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามแล้ว ก็คงดำรงพระองค์เป็นทวยนาครคนหนึ่งของดุสิตธานี ทรงใช้พระนามแฝงว่า นายราม ณ กรุงเทพ เนติบัณฑิต ประกอบอาชีพทนายความ กับทรงเป็นพระรามราชมุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย

 

 

พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล - พระยาอุดมราชภักดี)

“นคราภิบาลผู้มีสัก” ท่านแรกของดุสิตธานี

 

 

          เมื่อการก่อสร้างบ้านเรือนรวมทั้งอาคารสาธารณะต่างๆ ภายในดุสิตธานี เช่น วัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน ธนาคาร ร้านค้า ฯลฯ ที่สรรสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมหลากหลายรูปแบบในอัตราส่วนราว ๑ : ๒๐ ของอาคารจริงแล้วเสร็จลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ทวยนาครทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันเลือกนคราภิบาลเพื่อทำหน้าที่บริหารราชการในจังหวัดดุสิตราชธานีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนแรก คือ พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล) []

 

          ภายหลังจากที่ทรงจัดให้มีการเลือกตั้งและคณะนคราภิบาลได้เข้าบริหารงานมาได้ระยะเวลาหนึ่ง อันทำให้ทรงทราบถึงผลการทดลองที่ได้ทรงจัดไปในเบื้องต้นแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ขึ้นเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยมีบทบัญญัติครอบคลุมถึงการเลือกตั้งและอำนาจหน้าที่ของนคราภิบาล การบำรุงรักษาความสะอาดและป้องกันโรคภัย การสับเปลี่ยนและตั้งนคราภิบาล หน้าที่ของสภาเลขาธิการ ทุนและการเงินทองของคณะนคราภิบาล รวมถึงการกำหนดโทษผู้กระทำผิด และการรักษาธรรมนูญ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งแรกตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญลักษณะปกครองฯ เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ การเลือกตั้งนคราภิบาลครั้งนี้ยังคงใช้วิธีให้ทวยนาครทุกคนลงคะแนนเลือกนคราภิบาลเช่นเดียวกับครั้งก่อนหน้า แต่ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นคราภิบาลครั้งนี้ คือ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) และในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งนั้นเองก็มีพระราชดำริว่า “...ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑... ยังมีข้อขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งสมควรจะเพิ่มเติมให้สมบูรณ์หรือแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น...”  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วย ตำแหน่งเชษฐบุรุษ เพื่อเป็นผู้แทนทวยนาครในอำเภอเข้าไปนั่งในสภากรรมกรรมการ นคราภิบาล และสิทธิแห่งเชษฐบุรุษเนื่องในการเลือกนคราภิบาล รวมทั้งสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่งเชษฐบุรุษกิตติมศักดิ์ แล้วได้โปรดกล้าฯ ให้มีการเลือกเชษฐบุรุษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ต่อจากนั้นอีกเจ็ดวันคือ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เชษฐบุรุษที่ได้รับการเลือกตั้งมาทั้งสี่คนจึงได้ประชุมพร้อมกันกันเลือกนคราภิบาล ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนคราภิบาลในครั้งนี้ยังคงเป็นพระยาอนิรุทธเทวาดังเดิม

 

          ต่อมาวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองดุสิตธานีอีกครั้งหนึ่ง โดยให้เปลี่ยนการเลือกเชษฐบุรุษจากเดิมอำเภอละหนึ่งคน ไปเป็นตำบลละหนึ่งคน และในวันเดียวกันนั้นก็ได้มีประกาศศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานีกำหนดให้ ท่านราม ณ กรุงเทพ เนติบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิและความสามารถหาผู้ที่จะเสมอมิได้ เป็นผู้รับอำนาจอำนวยการเลือกเชษฐบุรุษและนคราภิบาล ท่านราม ณ กรุงเทพ จึงได้จัดให้มีการเลือกเชษฐบุรุษโดยใช้วิธีการลงคะแนนสว่าง คือ

 

               (๑) เรียกบรรดาทวยนาครในตำบลที่จะเลือกเชษฐบุรุษให้ยืนขึ้น

               (๒) ขอให้ผู้ใดผู้หนึ่งสมมุติทวยนาครผู้หนึ่งเป็นเชษฐบุรุษ และมีผู้รับรองนายหนึ่ง และถามไปจนกว่าไม่มีใครสมมติกันอีก

               (๓) ให้ทวยนาครยกมือการแสดงการลงคะแนนเลือก

 

          และเมื่อที่ประชุมได้ลงมติเลือกเชษฐบุรุษครบทุกตำบลในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ แล้ว ก็ได้มีการเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการเลือกตั้งเป็นนคราภิบาล รวม ๒ นาย คือ

 

               (๑) นายรองพลพ่าห์ (แฉล้ม  กฤษณามระ) [] เชษฐบุรุษดอนพระราม นายขัน หุ้มแพร (ตี๋ ภัทร เสวี) [] เชษฐบุรุษดุสิตเป็นผู้เสนอ นายบำรุงราชบทมาลย์ (เปรื่อง  กัลยาณมิตร) [] เป็นผู้รับรอง

               (๒) นายขัน หุ้มแพร (ตี๋  ภัทรเสวี) เชษฐบุรุษดุสิต พระยาวรสิทธิ์เสวีวัตร์ (สะอาด ไชยันทน์) เป็น ผู้เสนอ นายกวด หุ้มแพร (ปาณี ไกรฤกษ์) [] เป็นผู้รับรอง

 

          ถัดจากนั้นอีกสามวัน คือ วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านราม ณ กรุงเทพ จึงได้จัดให้มีการเลือกนคราภิบาลโดยใช้วิธีเลือกคะแนนมืด โดยการขานนามตามอักขรานุกรมเรียงตัวไป เมื่อถึงนามผู้ใดผู้นั้นก็หย่อนบัตรลงคะแนน เมื่อเสร็จการลงคะแนน จึงจัดให้มีการนับคะแนน ปรากฏผลว่า นายขัน หุ้มแพร ได้ ๑๖๘ คะแนน นายรองพลพ่าห์ได้ ๒๕ คะแนน ท่านราม ณ กรุงเทพ ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งจึงประกาศให้ นายขัน หุ้มแพร เป็น นคราภิบาลคนที่สามของดุสิตธานี

 

 

หม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร นวรัตน สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิตราชธานี

 

 

          แต่ในการเลือกเชษฐบุรุษและทวยนาครคราวต่อมา หม่อมเจ้าปราณีเนาวบุตร นวรัตน สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลดุสิต ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ท่านราม ณ กรุงเทพ มีภารกิจทั้งในทางราชการและส่วนตัวอยู่มาก ได้ทูลขอถอนตัวจากการเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เสวกเอก พระยาราชเสนา (สหัส สิงหเสนี) เจ้ากรมแพนกการเมือง กระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งเชษฐบุรุษและนคราภิบาลของดุสิตธานีสืบต่อมาตราบจนดุสิตธานีได้ถูกยุบเลิกไปพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต โดยมีนายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) ได้รับเลือกเป็นนคราภิบาลคนที่ ๕ และเป็นคนสุดท้าย ทั้งเป็นนคราภิบาลที่มีอายุน้อยที่สุด

 

 

คณะกรรมการพรรคแพรแถบสีน้ำเงิน
(จากซ้าย)

๑. พระยาไพชยนต์เทพ (ม.ร.ว.ลพ อรุณวงษ์)

  ๒. พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ - เจ้าพระยารามราฆพ)
  ๓. ท่านราม ณ กรุงเทพฯ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) สภานายก (หัวหน้าพรรค)
  ๔. พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)
  ๕. พระยาสุจริตธำรง (โถ สุจริตกุล - พระยาอุดมราชภักดี)
(นั้งพื้น) หลวงราชเสวก (สมบุญ จารุตามระ - พระราชเสวก) สภาเลขานุการ

 

 

          นอกจากการเลือกตั้งอันเป็นวิถีปฏิบัติสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงกำหนดให้ดุสิตธานีมีพรรคการเมือง ๒ พรรค คือ พรรคแพรแถบสีน้ำเงิน กับพรรคแพรแถบสีแดง รวมทั้งได้ทรงจัดให้มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น ดังที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ทวยนาครคนหนึ่งของดุสิตธานีได้บันทึกไว้ใน “มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน)” ว่า

 

 

          “ ๓๐ กันยายน  []

ที่ดุสิตธานี มีวิกฤตทางการเมือง คณะนคราภิบาลจัดประชุมคณะโบว์สีน้ำเงินไม่เข้าร่วมประชุม แล้วคณะนคราภิบาลลาออกทั้งชุด สมุหเทศาภิ-บาลให้ตำรวจจับ นคราภิบาล (เพราะไม่ส่งงาน และไม่ส่งเงิน) ท่านราม ณ กรุงเทพ เข้าแก้สถานการณ์ ให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที พระยาอนิรุทธเทวาได้เป็นนคราภิบาล, พระยาสุจริตธำรงเป็นสภาเลขาธิการ ท่านราม ณ กรุงเทพ เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ฯลฯ”  []

 

 

          การจัดทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เมืองจำลองดุสิตธานีนี้คงดำเนินต่อมาตราบจนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต โดยที่ยังไม่ทันได้พระราชทานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแก่ปวงชนชาวไทยในวาระสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๑๕ ปี ดังที่มี พระบรมราชปณิธานมาแต่เดิม แม้กระนั้นกระทรวงมหาดไทยก็ได้รับสนองพระราชดำริ โดยนำรูปแบบและวิธีการที่ได้ทรงจัดทดลองไว้ในดุสิตธานีไปปรับใช้กับการปกครองท้องถิ่นที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “เทศบาล” สมดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ในคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตธานี เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

 

 

ศาลารัฐบาลมณฑลดุสิตราชธานี

 

 

          “...วิธีดำเนินการในธานีเล็กๆ ของเราเป็นเช่นไร ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้ประเทศสยามได้ทำเช่นเดียวกัน แต่จะให้เป็นการสำเร็จรวดเร็วทันใจดังธานีเล็กนี้ ก็ยังไปทีเดียวยังไม่ได้ โดยมีอุปสรรคบางอย่าง

 

          เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอให้ข้าราชการทั้งหลายตลอดจนทวยนาคร จงตั้งใจกระทำกิจการของตนตามหน้าที่ให้สมกับธานีซึ่งได้จัดตั้งขึ้นนี้ ในไม่ช้าจะได้แลเห็นผลของประเทศสยามว่าจะเจริญไปได้เพียงไร...”  []

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกเอก พระยาอุดมราชภักดี

[ ]  จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). “พระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล พระพุทธ ศักราช ๒๔๖๑”, ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตย ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๖๕.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประสิทธิ์บรรณการ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพลัษฎานุรักษ์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นเทพดรุณาทร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ายวด แล้วประสบอุบัติเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๒

[ ]  พ.ศ. ๒๔๖๒

[ ]  มีอะไรในอดีต (เมื่อ ๖๐ ปีก่อน), หน้า ๕๔.

[ ]  ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๗๘.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |