โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๒๘)

 

ด้านการปกครอง

 

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายในการปกครองประเทศ โดยจัดการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามแบบแผนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้แล้ว แต่เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ทรงบังคับบัญชาราชการในกระทรวงมหาดไทยโดยสิทธิ์ขาดมาแต่เริ่มตั้งกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กราบถวายบังคมลาพักราชการเพื่อรักษาพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเสนาบดีที่ปรึกษามาตั้งแต่วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ แล้ว ก็ได้มีพระราชดำริให้จัดการปกครองหัวเมืองมณฑลต่างๆ เสียใหม่ ด้วยมีพระราชดำริว่า นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดรูปการการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว บรรดาราชการของกระทรวงต่างๆ ในหัวเมืองมณฑลนั้นๆ ต่างก็ไปรวมอยู่ในบังคับบัญชาของสมุหเทศาภิบาลซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาราชการฝ่ายปกครองในหัวเมืองมณฑล จึงทำหี่ชการทั้งหลายทั้งปวงในหัวเมืองมณฑลทั่วราชอาณาจักรไปรวมอยู่ในการปกครองของกระทรวง มหาดไทย แต่ในส่วนพระองค์นั้นทรงเห็นว่า ราชการกระทรวงต่างๆ ทั้งในกรุงและหัวเมืองล้วนขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ายู่หัว ซึ่งทรงเป็นหัวหน้ารัฐบาลโดยตรง ต่อมาวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองมณฑลที่ใกล้เคียงกันจัดเป็นภาค มีอุปราชภาคเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้าฯ ให้แยกหัวเมืองในมณฑลพายัพออกเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลพายัพ มีเขตปกครองคือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย กับมณฑลมหาราษฎร์ มีเขตปกครองคือ จังหวัดแพร่ ลำปาง และน่าน แล้วโปรดให้รวมมณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์เป็น “มณฑลภาคพายัพ”

 

 

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)

อุปราชมณฑลภาคพายัพคนแรก

 

 

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มหาอำมาตย์โท เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลพายัพ เป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ ให้มีเกียรติยศและตำแหน่งราชการสูงกว่าสมุหเทศาภิบาลในมณฑลภาคพายัพ ทั้งยังให้ “...มีหน้าที่บังคับบัญชาตรวจตราแนะนำราชการในส่วนธุระการให้เปนไปตามกระแสพระบรมราชโองการ และพระราชกำหนดกฎหมาย ทั้งดำริห์การทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรภาคนั้น ให้เจริญดีขึ้นโดยใช้กุศโลบายอันเหมาะแก่ท้องที่และต้องด้วยพระบรมราโชบาย...”  []

 

 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์

(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์)

อุปราชมณฑลปักษ์ใต้และสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช

 

 

          ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมมณฑลนครไชยศรี และมณฑลราชบุรี จัดเป็น “มณฑลภาคตะวันตก” รวมมณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลสุราษฎร์ และมณฑลปัตตานี จัดเป็น “มณฑลปักษ์ใต้” และรวมมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็จ และมณฑลอุบล เป็น “ภาคอีสาณ” ตามลำดับ กับได้ทรงตั้งสมุหเทศาภิบาลผู้มีเกียรติยศสูงสุดในแต่ละภาคเป็นอุปราชประจำภาคนั้นๆ ด้วย

 

          ส่วนมณฑลกรุงเก่า (มณฑลอยุธยา) นั้น ทรงพระราชดำริว่า “...กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา เปนพระมหานครราชธานีโบราณ นับว่าเปนมงคลสถานสำคัญแห่งหนึ่ง อีกประการหนึ่งได้ขยายเขตรมณฑลนี้กว้างขวางขึ้น มีประชาชนในเขตรความปกครองของมณฑลนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน...”  [] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนฐานันดร มหาเสวกโท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลขึ้นเป็นอุปราชมณฑลกรุงเก่ามาตั้งแต่ วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

ภาพล้อฝีพระหัตถ์ “เจ้าคุณกรุง”

หรือ มหาเสวกโท พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์)

อุปราชมณฑลกรุงเก่า (อยุธยา)

 

 

          อนึ่ง ในการรวมหัวเมืองมณฑลเข้าเป็นภาคนั้น นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอุปราชและสมุหเทศาภิบาล ซึ่ง“...เปนผู้ที่ทรงเลือกสรรแต่งตั้งออกไปรับราชการฉลองพระเดชพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณ...”  [] ที่แต่เดิมเคยได้รับพระราชทานยศชั้นมหาอำมาตย์เป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง มหาดไทย ให้เปลี่ยนมาเป็นข้าราชการในพระราชสำนัก “...ที่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน...”  [] และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชและสมุหเทศาภิบาลเปลี่ยนมาใช้ยศและเครื่องแต่งตัวอย่างข้าราชการในพระราช สำนักชั้นมหาเสวก ส่วนผู้ที่ออกไปจากกรมมหาดเล็ก ก็โปรดให้ใช้ยศและเครื่องแต่งตัวฝ่ายมหาดเล็กชั้นจางวาง แต่อุปราชและสมหเทศาภิบาลที่เป็นผู้ที่มียศทหารชั้นสูงอยู่แล้ว คงให้ใช้ยศและเครื่องแต่งกายอย่างทหารตามเดิมแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศกำหนดอำนาจและหน้าที่ของอุปราชไว้เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

 

 

          “(๑) อุปราชเปนข้าราชการผู้ใหญ่ต่างพระองค์ รับราชการต่างพระเนตร์พระกรรณประจำอยู่หัวเมือง มีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายพลเรือนทุกตำแหน่งบรรดาประจำรับราชการอยู่ในภาคหนึ่งแห่งพระราชอาณาจักร์ แลมีน่าที่บังคับบัญชาตรวจตราแนะนำราชการในส่วนธุระการให้เปนไปตามกระแสพระบรมราชโองการ แลพระราชกำหนดกฎหมาย ทั้งดำริห์การทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรภาคนั้น ให้เจริญดีขึ้นโดยใช้กุศโลบายอันเหมาะแก่ท้องที่และต้องด้วยพระบรมราโชบาย

 

          (๒) อุปราชจะตั้งที่ทำราชการอยู่มณฑลหนึ่งมณฑลใดในภาคใดนั้นก็ได้ แลให้มีข้าราชการประจำทำราชการกับอุปราชตามสมควรแก่ราชการ

 

          (๓) การที่จะบังคับบัญชาราชการ แลมีใบบอกรายงานหรือหารือข้อราชการมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ นั้น ถ้าราชการสิ่งใดที่มีกฎแลข้อบังคับวางไว้ชัดเจนเปนระเบียบแล้ว ราชการมณฑลใดให้สมุหเทศาภิบาลมณฑลนั้น คงบังคับบัญชาแลมีใบบอกตรงมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ได้ตามเดิม แต่ถ้าเปนราชการสำคัญหรือราชการที่ยังไม่ได้มีกฎหรือข้อบังคับวางไว้เปนระเบียบแล้วอย่าง ๑ การขอแต่งตั้งถอดถอนย้ายข้าราชการชั้นตั้งแต่นายอำเภอขึ้นไปอย่าง ๑ การเสนอความดีความชอบผู้สมควรจะได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ แลเครื่องราชอิศริยาภรณ์อย่าง ๑ การทำงบประมาณรายรับรายจ่ายเงินประจำปีของมณฑลอย่าง ๑ สมุหเทศาภิบาลต้องได้รับอนุมัติของอุปราชก่อนแล้ว จึงจะมีใบบอกเสนอมายังเสนาบดีเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ ได้”  []

 

 

           ในการทรงจัดระเบียบราชการกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ นอกจากจะโปรดเกล้าฯ ให้อุปราชเป็นผู้แทนพระองค์ทำหน้าที่กลั่นกรองราชการต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว ยังเป็นการกระจายอำนาจให้อุปราชพิจารณาวินิจฉัยสั่งราชการบางเรื่องให้แล้วเสร็จเด็ดขาดลงที่ภาคหรือมณฑล โดยไม่ต้องส่งเรื่องนั้นเข้ามาที่กระทรวงมหาดไทยเช่นที่เคยมา ทำให้ราชการต่างๆ สามารถดำเนินไปได้โดยรวดเร็วและลดทอนงานที่จะต้องส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยลงไปด้วย

 

          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดปันราชการในกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงอื่นๆ รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกระทรวงนครบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบจัดการปกครองเฉพาะมณฑลกรุงเทพฯ รวมเข้ากับกระทรวงมหาดไทย นับแต่นั้นมากระทรวงมหาดไทยจึงได้รับผิดชอบการปกครองท้องที่ทั่วทั้งพระราชอาณาจักรมาจนถึงปัจจุบัน

 

          ในส่วนการปกครองหัวเมืองมณฑลปัตตานี อันประกอบด้วย เมืองปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง ยะลา ราห์มัน สายบุรี และระแงะ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกันทั้งทางเชื้อชาติและศาสนากับราษฎรในสี่รัฐมลายูของอังกฤษ คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปลิสนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานหลักรัฏฐาภิปาลโนบายสำหรับการปกครองหัวเมืองมณฑลนี้ไว้เป็นพิเศษ รวม ๖ ข้อ ดังนี้

 

 

          “ข้อ ๑. ระเบียบการหรือวิธีปฏิบัติการอย่างใดเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกเห็นไปว่า เป็นการเบียดเบียน กดขี่ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที การใดจะจัดขึ้นใหม่ต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลามหรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุนศาสนามะหะหมัดได้ยิ่งดี

 

          ข้อ ๒. การกะเกณฑ์อย่างใดๆ ก็ดี การเก็บภาษีอากรหรืออย่างใดๆ ก็ดี เมื่อพิจารณาโดยส่วนรวมเทียบกันต้องอย่าให้ยิ่งกว่าที่พลเมืองในแว่นแคว้นของต่างประเทศ ซึ่งคงอยู่ใกล้เคียงติดต่อกันนั้นต้องเกณฑ์ต้องเสียอยู่เป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาเทียบกันแต่เฉพาะอย่างต้องอย่าให้ยิ่งหย่อนกว่ากันจนถึงเป็นเหตุเสียหายในทางปกครองได้

 

          ข้อ ๓. การกดขี่บีบคั้นแต่เจ้าพนักงานของรัฐบาล เนื่องแต่การใช้อำนาจในทางที่ผิดมิเป็นธรรมก็ดี เนื่องแต่การหมิ่นลู่ดูแคลนพลเมืองชาติแขกโดยฐานที่เป็นคนถ่วงชาติก็ดี เนื่องแต่การหน่วงเหนี่ยวชักช้าในกิจการตามหน้าที่เป็นเหตุ ให้ราษฎรเสียความสะดวกในทางหาเลี้ยงชีพก็ดี พึงต้องแก้ไขและระมัดระวังมิให้มีขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องให้ผู้ทำผิดรองรับผลตามความผิดโดยยุติธรรม ไม่ใช่สักแต่ว่าจัดการกลบเกลื่อนให้เงียบไปเสีย เพื่อจะไว้หน้าสงวนศักดิ์ของข้าราชการ

 

          ข้อ ๔. กิจการใดทั้งหมดอันเจ้าพนักงานจะต้องบังคับแก่ราษฎร ต้องระวังอย่าให้ราษฎรขัดข้องเสียเวลา เสียการในทางหาเลี้ยงชีพของเขาเกินสมควร แม้จะเป็นการจำเป็นโดยระเบียบการก็ดี เจ้าหน้าที่พึงสอดส่องแก้ไขเสมอเท่าที่สุดจะทำได้

 

          ข้อ ๕. ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่ง หรือส่งไปทางลงโทษเพราะเลว

 

          ข้อ ๖. เจ้ากระทรวงทั้งหลายจะจัดการวางระเบียบการอย่างใดในมณฑลปัตตานี อันจะเป็นการพากพานถึงสุขทุกข์ราษฎร ก็ควรพิจารณาหาเหตุผลแก้ไขหรือยับยั้ง ถ้าไม่เห็นด้วยว่ามีมูลขัดข้อง ก็ควรหารือกับกระทรวงมหาดไทย แม้ยังไม่ตกลงกันได้ระหว่างกระทรวง ก็พึงนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย”  []

 

 

 


[ ]  “ประกาศว่าด้วยน่าที่แลอำนาจอุปราช”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๙ ธันวาคม ๒๔๕๘), หน้า ๓๙๓ - ๓๙๔.

[ ]  “ประกาศเลื่อนฐานันดรสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๓ (๑๐ กันยายน ๒๔๕๙), หน้า ๑๓๐.

[ ]  “ประกาศเปลี่ยนยศ อุปราช แลสมุหเทศาภิบาล”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๘), หน้า ๓๕๕ - ๓๕๘.

[ ]  ที่เดียวกัน.

[ ]  “ประกาศว่าด้วยน่าที่แลอำนาจอุปราช”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๑๙ ธันวาคม ๒๔๕๘), หน้า ๓๙๓ - ๓๙๔.

[ ]  ชัชพล ไชยพร. พระมงกุฎเกล้าฯ กับหัวเมืองปักษ์ใต้, หน้า ๓ - ๔.

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |