โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

 

๑๕๘. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๐)

 

ด้านวรรณกรรมและหนังสือพิมพ์

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการประพันธ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มจดบันทึกพระราชกิจรายวันในสมุดจดพระราชบันทึก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อคราวทรงเจริญพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ครั้นเสด็จออกไปทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ทรงฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยทรงใช้เวลาว่างพระราชนิพนธ์บทละครภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งยังได้ทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่ทรงพบเห็นไว้ในรูปพระราชหัตถเลขา เช่น ทรงเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปนไว้เป็นพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษรวม ๘ ฉบับ ซึ่งต่อมาได้ทรงใช้พระราชหัตถเลขานี้ในการทรงสอนภาษาอังกฤษพระราชทานนายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) มหาดเล็กรับใช้นายหนึ่งด้วย

 

          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการประพันธ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มจดบันทึกพระราชกิจรายวันในสมุดจดพระราชบันทึก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อคราวทรงเจริญพระชนมายุได้ ๘ พรรษา ครั้นเสด็จออกไปทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ก็ได้ทรงฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส โดยทรงใช้เวลาว่างพระราชนิพนธ์บทละครภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งยังได้ทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่ทรงพบเห็นไว้ในรูปพระราชหัตถเลขา เช่น ทรงเล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปนไว้เป็นพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษรวม ๘ ฉบับ ซึ่งต่อมาได้ทรงใช้พระราชหัตถเลขานี้ในการทรงสอนภาษาอังกฤษพระราชทานนายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) มหาดเล็กรับใช้นายหนึ่งด้วย

 

          นอกจากบทพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในระหว่างประทับทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษแล้ว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนครแล้วก็ได้ทรงใช้เวลาว่างในแต่ละวันทรงพระราชนิพนธ์บทละคร บทความ นิทาน ฯลฯ ไว้เป็นจำนวนมาก ดังเช่น ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง Chao Tak Sin (เจ้าตากสิน) เป็นอุปรากรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช และเมื่อคราวฉลองพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ก.ร.ว.) ได้สำรวจและรวบรวมที่ได้ทรงไว้ตลอดพระชนม์ชีพพบว่า มีจำนวนกว่า ๑,๒๐๐ เรื่อง โดยจำแนกไว้เป็นหมวดๆ ดังนี้

 

หมวด ข. โขน - ละคร ๑๘๗ เรื่อง
หมวด ด. พระราชดำรัส พระบรมราชานุศาสนีย์ เทศนา ฯลฯ ๒๒๙ เรื่อง
หมวด น. นิทานและเรื่องชวนหัว ๑๕๙ เรื่อง
หมวด บ. บทความที่พระราชทานไปลงหนังสือพิมพ์ ๓๑๖ เรื่อง
หมวด ร. ร้อยกรอง ๑๕๑ เรื่อง
หมวด ส. สารคดี ๑๙๔ เรื่อง

 

          นอกจากนั้นยังสำรวจพบพระราชนิพนธ์หมวด อ. อื่นๆ ที่อยู่ในรูปพระราชบันทึกและพระราชหัตถเลขาอีกจำนวนมาก ที่แม้เวลาจะล่วงมาถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่อาจจะรวบรวมให้สมบูรณ์ครบถ้วนได้

 

          พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ ดังที่วรรณคดีสโมสรได้ประกาศยกย่องบทพระราชนิพนธ์ “หัวใจนักรบ” เป็นเลิศประเภทบทละครพูด “พระนลคำหลวง” เป็นหนังสือแต่งดีในกวีนิพนธ์ และ“มัทนะพาธา” เป็นหนังสือแต่งดีเพราะทรงใช้คำฉันท์เป็นบทละครพูด ซึ่งเป็นของแปลกแต่งได้ยาก และยังไม่เคยมีกวีคนใดแต่งมาก่อนแล้ว ยังพบว่า ได้ทรงใช้บทพระราชนิพนธ์หลายเรื่องเป็นอุปกรณ์ในการพระราชทานความรู้ในเรื่องต่างๆ แก่พสกนิกรไทยมาโดยตลอด เช่น ทรงกล่าวถึงระบอบประชาธิปไตยที่เป็นจริงไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ฉวยอำนาจ” หรือ “Coup d’ Etat” ทรงใช้บทละครเรื่อง “พระร่วง” ในการแสดงตำนานชาติไทยและปลูกฝังให้คนไทยมีความรักสามัคคีอันเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ และทรงเตือนให้คนไทยตระหนักถึงภัยกำลังจะมาจาก “ซ่องฮอย” [] ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “หัวใจนักรบ” นอกจากนั้นพระราชนิพนธ์บางเรื่องยังได้ทรงหยิบยกธรรมะชาดกมาผูกเป็นบทละคร เช่น ธรรมาธรรมะสงคราม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นตามเค้าเรื่องในธรรมะชาดก เอกาทสนิบาต เพื่อระลึกถึง “กิจการที่ได้เป็นไปแล้วในงานมหาสงครามในยุโรป อันพึ่งจะยุติลงในศกนั้น ด้วยความปราชัยแห่งฝ่ายผู้ที่ประพฤติละเมิดธรรมะ”   []

 

          นอกจากพระราชนิพนธ์บทละครภาษาไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดภาษาอังกฤษอีกหลายเรื่อง เช่น “The Man in Khaki”, A Stateman’s Wife”, “A Real Ghost”, “A Queer Burglary” พระราชทานนักเรียนมหาดเล็กหลวง และ “The Taming of Uncle Gideon” พระราชทานนักเรียนราชวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้ใช้ในการฝึกพูดภาษาอังกฤษ ทั้งได้ยังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “การสงครามป้อมค่ายประชิด” ให้ทหารใช้เป็นตำราเรียน “หลักราชการ” ให้เป็นคู่มือปฏิบัติงานของข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานทั่วไป และ “พระบรมราชาธิบายในการประพันธ์” ที่พระราชทานให้เป็นคู่มือของนักอักษรศาสตร์ เป็นต้น

 

          ในส่วนพระราชนิพนธ์แปลนั้น ทรงแปลบทละครภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยไว้หลายเรื่อง เฉพาะอย่างยิ่งบทละครของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) กวีคนสำคัญของอังกฤษ ซึ่งมีพระราชบันทึกว่า “แปลยากมาก... เพราะเต็มไปด้วยโวหารอย่างจินตะกวียุโรป ซึ่งหาคำแปลเทียบเคียงให้ตรงยากในภาษาไทย... เต็มไปด้วยถ้อยคำที่ไพเราะและโวหารกล้าๆ”  แม้กระนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์แปลไว้เป็นภาษาไทยได้อย่างไพเราะถึง ๓ เรื่อง คือ “เวนิสวานิช” ซึ่งทรงแปลจากเรื่อง The Merchant of Venice “ตามใจท่าน” จากเรื่อง As You Like It กับ “โรเมโอและจูเลียต” จากเรื่อง Romeo and Juliat รวมทั้งได้ทรงดัดแปลงเรื่อง Othello เป็น บทละครนอกเรื่อง “พญาราชวังสัน” และ “เสภาพญาราชวังสัน”

 

          บทประพันธ์ของเชคสเปียร์ที่ทรงแปลไว้เป็นภาษาไทยนั้น นอกจากจะมีลักษณะเป็นบทกวีภาษาไทยที่ “สละสลวย” แล้ว ยังทรงรักษาอรรถรสของบทประพันธ์เดิมไว้ได้ครบถ้วน ดังตัวอย่างเช่น

 

          เรื่องเวนิสวานิช ตอนที่บัสสานิโยออกมาพบนางปอร์เชีย ซึ่งเชคสเปียร์ประพันธ์ไว้เป็นกลอนเปล่า (Blank Verse) ว่า

 

                   “We should hold day with the Antipoddes,

                    If you would walk in absence of the sun.”

 

ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็น กลอน ๘ ไว้ว่า

 

                   “ถ้าแม้ดวงใจเดินใกล้พี่

                    ส่องแสงแทนแสงระวีสว่างหล้า

                    แม้ราตรีจะมีผ่องประภา

                    ประหนึ่งว่ากลางวันเป็นมั่นคง”

 

 

          สำหรับเรื่องตามใจท่านซึ่งเชคสเปียร์ได้ประพันธ์ไว้ใน องค์ที่ ๒ (Act 2) ตอนที่ ๗ (Scene 7) ว่า

 

                   “Blow, blow, thou winter win

                    Thou art not so unkind

                              As man’s ingratitude ;

                    Thy tooth is not so keen,

                    Because thou art not seen.

                              Although thy breath be rude

                    Heigh-ho ! sing, heigh ho ! unto the green holly :

                    Most Friendship is feigning, most loving mere folly :

                              Then, heigh-ho ! the holly !

                                        The life is most jolly.

 

ก็ทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

 

                              “อ้าลมหนาวพัดอ้าวไม่ร้ายสู้

                    ความชั่วอกะตัญญูของคนได้;

                    ถึงพัดต้องกายเย็นไม่เป็นไร

                    เพราะมิได้เคยเห็นเป็นเพื่อนกัน.

                              โอ้เจ้าพุ่มพฤกษาสง่าศรี,

                    ในโลกนี้สหายไม่มีที่จริงใจ;

                              ลุ่มหลงพะวงใย

                              รักหน่ายคลายไป

                                        อย่าได้เป็นห่วงอีกเลยเอย.

 

 

          นอกจากนั้นยังได้ทรงแปลบทละครพระราชนิพนธ์ภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษไว้อีกหลายเรื่อง อาทิ ทรงแปลเรื่อง “น้อยอินทเสน” เป็น “The Earl of Claverhouse”, เรื่อง “หาโล่ห์" เป็น “The Shield “, เรื่อง “ล่ามดี” เป็น “A Good Interpreter”, เรื่อง “ฉวยอำนาจ” เป็น “Coup d’ Etat”, เรื่อง “เห็นแก่ลูก” เป็น “For His Child” เป็นต้น

 

 

          สำหรับเรื่องมัทนะพาธาที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็น “ยอดแห่งบทละครพูดคำฉันท์” นั้น ในชั้นต้นทรงแปลเป็นร้อยแก้วภาษาอังกฤษพร้อมด้วยอภิธานศัพท์ ต่อมาในตอนปลายรัชกาล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ [] ราชเลขานุการในพระองค์ฝ่ายต่างประเทศ ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงแปลพระราชนิพนธ์มัทนะพาธาเป็นร้อยกรองภาษาอังกฤษ จึงทรงทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็น กลอนเปล่า (Blank Verse) ตามแบบบทกวีของเชกสเปียร์ โดยทรง “เล่นคำ” เลียนพระราชนิพนธ์ภาษาไทย ดังเช่น

 

สุเทษณ์.

อ้าโฉมวิไลยะสุปริยา

มะทะนาสุรางค์ศรี

 

Ah ! Ravishing beloved Madanã, divinely fair.

 

พี่รักและกอบอภิระตี

บมิเว้นสิเน่ห์หนัก;

 

I love and I adore thee with devotion great and rare.

 

บอกหน่อยเถอะว่าดะรุณิเจ้า

ก็จะยอมสมัครัก

 

Tell me, sweet maid, thou art willing to love me back also.

     

มัทนา.

ตูข้าสมัคฤมิสมัค

ก็มิขัดจะคล้อยตาม

 

I’d not oppose Your Grace at all, whether willing or no.

 

 

 

สุเทษณ์.

จริงฤานะเจ้าสุมะทะนา

วจะเจ้าแถลงความ ?

  Are they all true, fair Madanã, the words spoken to me ?
     
มัทนา.

ข้าขอแถลงวะจะนะตาม

สุระเทวะโปรดปราน

 

I’ll speak such words, O gracious god, as are pleasing to thee.

     
สุเทษณ์.

รักจริงมิจริงฤก็ไฉน

อรไทยบ่แจ้งการ ?

 

Why not tellme if thou lov’st me truly or not, my treasure ?

     
มัทนา. รักจริงมิจริงก็สุระชาญ ชยะโปรดสถานใด ?
  Should I love thee truly or not, my lord ? What is thy pleasure ?
     

สุเทษณ์.

พี่รักและหวังวธุจะรัก

และบทอดบทิ้งไป.

  I love and hope to have thy love, and I’ll never forsake thee.
     

มัทนา.

พระรักสมัคณพระหทัย

ฤจะทอดจะทิ้งเสีย ?

 

Loving and hoping as thou dost, why shouldst thou e’er forsake me ?

     

สุเทษณ์.

ความรักระเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย
  Love made my heart-weary, since I could not dally with thee.
     

มัทนา.

ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ ?
  Could thy heart-weariness by dalliance allayébe ?
     

สุเทษณ์.

โอ้โอ๋กระไรนะมะทะนา บมิตอบพะจีพอ
  Oh ! Madanã, why wilt thou not give me and answer fair ?
     

มัทนา.

โอ้โอ๋กระไรอะมระง้อ มะทะนามิพอดี
  Oh ! Why art thou not fair to Madanã, great deity rare ?
     

สุเทษณ์.

เสียแรงสุเทษณ์นะประดิพัทธ์

มะทะนาบเปรมปรีดิ์

  Hopeless Sudeshana loves sweet Madanã, untouch’d by love !
     

มัทนา.

แม้ข้าบเปรมปฺริยะฉนี้

ผิจะโปรดก็เสียแรง

  Untouch’d by love am I, to love me would quite hopeless prove !

 

 

          ในส่วนที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นกาพย์ฉบงง ๑๖ ก็ทรงรักษาคำแปลภาษาอังกฤษไว้ที่ ๑๖ พยางค์ เช่น

 

สุเทษณ์. ปวงรูปเจ้าวาดมานี้   เป็นรูปนารี   ที่ล้วนประเวริฐเลิดงาม;

 

Those pictures are of fair maidens of beauty rare-all sweet they are-

  แต่กูดูทุกนงราม   ก็ยังไม่เห็นทราม   กว่านารีรัตน์มัทนา
  I find each fair lady is less rich in beauty than Madanä.

 

 

          เว้นแต่ตอนที่มีพระราชประสงค์จะให้มีความไพเราะเป็นพิเศษ ก็ทรงเลือกใช้ blank verse ชนิดมี ๑๐ พยางค์ ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับการพูดโต้ตอบ และบางทีก็ให้มีสัมผัสด้วย ดังเช่นตอนที่เป็นฉันท์ภุชงคประยาตร์ ๑๒ ก็ได้ทรงเปลี่ยน blank verse ๑๐ พยางค์ เป็น ๑๒ พยางค์ ตอนที่เป็นฉันท์วิชฺชุมาลา ๘ และฉันท์จิตระปทา ๘ ซึ่งแบ่งวรรคตอนเป็นตอนละ ๔ คำนั้น ก็ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตอนละ ๔ คำ โดยมีทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน ดังเช่น บทฉันทร์จิตระปทา ๘ ที่ว่า

 

นางมทะนา จุติอย่านาน

          จงมะละฐาน

          สุระแมนสุวรรณ์

ไปเถิดกำเนิด ณ หิมาวัน
          ดังดนุลั่น           วจิสาปไว้

 

ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็นร้อยกรองภาษาอังกฤษว่า

 

Madanä, thou, pass quickly now

          From this noble celestial land;
Go, willful maid, in forest glade
          Be thou reborn. Go, I command !

 

 

          แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่พระราชนิพนธ์ร้อยกรองภาษาอังกฤษ ซึ่งทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์องก์ที่ ๑ ราว ๑ เดือน องก์ที่ ๒ เสร็จใน ๑๖ วันต่อมา และองก์ที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์เสร็จเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ หรือ ๖ วันหลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์องก์ที่ ๒ จบลงแล้ว จากนั้นมาคงจะมีพระราชภารกิจอื่นจึงมิทันที่จะทรงพระราชนิพนธ์องก์ที่ ๔ และ ๕ ต่อจนจบ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้วจึงได้พบลายพระราชหัตถ์พระราชนิพนธ์องก์ที่ ๔ ค้างไว้เพียง ๕ - ๖ หน้า หรือประมาณครึ่งขององก์ที่ ๔ โดยจบลงในตอนที่ศุภางค์ขับไล่นางค่อม อราลี ออกจากสวนหลวง แล้วสนทนากับปริยัมวะทาด้วยบทฉันท์ภุชงคัปประยาตร์ ๑๒ โดยทรงพระราชนิพนธ์แปลเป็น rhymed couplets ๑๒ พยางค์ว่า

 

ศุภางค์.

ผิเลือกคู่เพราะเพ่งทาง

ประโยชน์เพียง ณ การเมือง

 

If one chooses a wife for mere reasons of state,

 

มิช้านานก็จำเคือง ระคายจิตระคายตา

 

Ere long must mind and eyes be tried of such a mate !

 

 

          พระราชนิพนธ์สำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประเภทหนึ่ง คือ บทความปลุกใจให้รักชาติที่โปรดพระราชทานไปลงในหนังสือพิมพ์ไทยและหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ เช่น “เมืองไทยจงตื่นเถิด”, “ลัทธิเอาอย่าง”, “พวกยิวแห่งบุรพทิศ” โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์เรื่อง “โคลนติดล้อ” นั้น ได้มีผู้ใช้นามปากกาว่า “ทุ่นดำ” [] แสดงความเห็นแย้งผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ในบทความชื่อ “ล้อติดโคลน” ซึ่งนอกจากจะไม่ทรงถือโทษผู้ที่แสดงความเห็นแย้งนั้นแล้ว ยังได้โปรดพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพานทองเครื่องยศให้เป็นบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย จึงนับเป็นพยานสำคัญว่า ในรัชกาลนี้ได้พระราชทานเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแก่วงการหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่

 

 

 


[ ]  ในพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ เรื่อง “The Locusts” ซึ่งทรงแปลจากเรื่อง “Les Sauterelles” ของ Emile Fabre นั้น ทรงกล่าวถึง อาณาจักร “มังกรทอง” ของฝรั่งเศสในตะวันออกไกลว่า แบ่งเป็น ๓ แคว้น คือ แม่น้ำเขียว ภูเขาสูง และซ่องฮอย ซึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้ขยายความไว้ว่า

               แม่น้ำเขียว คือ กัมพูชา

               ภูเขาสูง คือ ลาว

               ซ่องฮอย คือ ไซ่ง่อนและฮานอย หรือเวียตนาม

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ธรรมาธรรมะสงคราม, หน้า คำนำ.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงษ์เธ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

[ ]  เป็นนามปากกาของ นายพลเรือโท พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารเรือ

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๕๑ | ๑๕๒ | ๑๕๓ | ๑๕๔ | ๑๕๕ | ๑๕๖ | ๑๕๗ | ๑๕๘ | ๑๕๙ | ๑๖๐ | ถัดไป |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |