โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

 

๑๖๒. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๔)

 

        ๖. พระราชนิยมเรื่องสร้างโรงเรียนแทนวัด

 

 

 

 

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาลเนื่องในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาลแล้ว ต่อมาในการปลงศพ ปั้น อุปการโกษากร ภรรยาของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) และท่านผู้หญิงสุทธิ์ วิเชียรคีรี ณ วัดเทพศิรินทราวาสเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ทายาทของปั้นได้

 

 

นางอุปการโกษากร (ปั้น  วัชราภัย)

 

 

                “...ตกลงกันเห็นว่า สถานที่ศึกษาเปนสิ่งสำคัญอันเปนประโยชน์ให้กุลบุตร์ได้อาศรัยเล่าเรียน ซึ่งเปนเวลาต้องการของบ้านเมืองด้วย และเมื่อปั้นยังมีชีวิตอยู่ได้เปนมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามตลอดมาจนถึงแก่กรรม จึงคิดสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดนี้ ..เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ใช้สถานที่นี้กระทำการฌาปนกิจศพปั้น แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้แล้ว แลได้มอบตึกหลังนี้แก่กรมศึกษาธิการใช้เปนสถานศึกษาตามที่เจตนาไว้ กรมศึกษาธิการได้รับแลเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยม เรียกว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษวัดสุทธิวราราม” รับนักเรียนเข้าเล่าเรียนตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เปนต้นไป บรรดาผู้ที่ออกทรัพย์ก่อสร้างโรงเรียนขอพระราชทานถวายพระราชกุศล  []

 

 

                เมื่อกระทรวงธรรมการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลที่ทายาทของปั้น อุปการโกษากร ได้ร่วมกันบำเพ็ญแล้ว ยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กระทรวงธรรมการเชิญกระแสพระราชดำริและพระราชนิยมว่าด้วย เรื่อสร้างโรงเรียนแทนวัด ออกประกาศให้มหาชนได้ทราบทั่วกัน ดังนี้

 

 

                “แต่ก่อนมาผู้ใดมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็มักจะสร้างวัดขึ้น การสร้างวัดขึ้นใหม่เช่นนั้น โดยมากก็คงอยู่ได้ชั่วคราว คือ ชั่วอายุแลกำลังของบุคคลที่ปกครองรักษา ถ้าขาดความทะนุบำรุงเมื่อใดวัดที่สร้างขึ้นไว้ก็รกร้างว่างเปล่าเปนป่าพง อันเปนที่สลดใจแห่งพุทธศาสนิกชน ใช่แต่เท่านั้น แม้วัดซึ่งยังเปนที่อาศรัยได้อยู่บ้าง แต่ขาดความปกครองอันดี ปล่อยให้ทรุดโทรมรกเรื้อเลวทราม ก็กลับจะเปนซ่องที่อาศรัยแอบแฝงของผู้ประพฤติชั่ว สถานที่ซึ่งตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้กลับเปนทางชั่วร้าย มิได้นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ทั้งพุทธจักร์แลอาณาจักร์เลย การที่พวกบุตร์ของปั้นได้มีน้ำใจศรัทธาบำเพ็ญกุศลโดยวิธีสร้างโรงเรียนอันเปนสิ่งต้องการในสมัยนี้ขึ้น ให้เปนที่ศึกษาของประชาชน นับว่าเปนการแผ่ผลให้เปนสาธารณประโยชน์ต่อไปเช่นนี้ ทรงพระราชดำริห์เห็นมั่นในพระราชหฤทัยว่าจะมีผลดีทั้งฝ่ายพระพุทธจักร์แลอาณาจักร์ จะเปนผลานิสงษ์อันงามจริง เปนอันพอพระราชหฤทัย แลต้องด้วยพระราชนิยมยิ่งนัก จึงทรงสรรเสริญแลทรงอนุโมทนาในส่วนกุศลอันนี้ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชนิยมอันนี้ให้ทราบทั่วกันว่า ถ้าผู้ใดมีจิตรศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประสงค์จะบำเพญกุศลให้เปนผลานิสงษ์อันดีจริงแล้ว ก็ควรจะถือเอาการสร้างโรงเรียนว่าเปนการกุศลที่จะพึงกระทำอันหนึ่งได้ ถ้าหากมีความประสงค์ที่จะทำการอันใดซึ่งเปนทางสร้างวัด ก็ควรที่จะช่วยกันปฏิสังขรณ์วัดที่มีอยู่แล้ว ให้ดีงามแลสืบอายุให้มั่นคงถาวรต่อไป ดีกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ แล้วไม่รักษา ปล่อยให้ทรุดโทรมเปนที่น่าสังเวช อันเปนทางที่จะชักพาให้คนมีใจหมิ่นประมาทในพระพุทธศาสนากอบไปด้วยโทษดังกล่าวแล้วนั้น”  []

 

 

                ต่อจากนั้นมาได้มีผู้เจริญรอยพระยุคลบาทจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร และบางรายได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานนามโรงเรียน ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนไว้ มีอาทิ

 

 

โรงเรียนเบญจมราชูทิศ  มณฑลนครศรีธรรมราช

 

 

                “เบญจมราชูทิศ” พระราชทานให้เป็นนามโรงเรียนประจำมณฑล ปราจิณบุรี [], จันทบุรี, ราชบุรี, และปัตตานี กับเป็นนามโรงเรียนประจำจังหวัดอุทัยธานี [] มณฑลนครสวรรค์ และโรงเรียนประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช มณฑลนครศรีธรรมราช

                โรงเรียนประจำมณฑลภูเก็ต พระราชทานนามว่า “ตัณฑวณิชวิทยาคม” []

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลปราจิณ พระราชทานนามว่า “ดัดดรุณี”

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลจันทบุรี พระราชทานนามว่า “ศรียานุสรณ์”

                โรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “ราชินูทิศ”

                โรงเรียนประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “ห้องสอนศึกษา”

                โรงเรียนประจำจังหวัดน่าน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “สุริยานุเคราะห์” []

                โรงเรียนประจำจังหวัดลำพูน มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “จักรคำคณาธร”

                โรงเรียนประจำจังหวัดแพร่ มณฑลพายัพ พระราชทานนามว่า “พิริยาลัย”

                โรงเรียนประจำจังหวัดหล่มสัก มณฑลเพชรบูรณ์ พระราชทานนามว่า “ศักดิ์วิทยาคาร” []

                โรงเรียนประจำจังหวัดตรัง มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามว่า “วิเชียรมาตุ”

                โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเพชรบุรี มณฑลราชบุรี พระราชทานนามว่า “เบญจมเทพอุทิศ”

 

 

โรงเรียนมุกดาลัย  จังหวัดมุกดาหาร

 

 

                โรงเรียนประจำอำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “มุกดาลัย”

                โรงเรียนประจำอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มณฑลอุดร พระราชทานนามว่า “อุเทนวิทยาคาร”

                โรงเรียนเบญจมราชาลัย มณฑลกรุงเทพฯ

                โรงเรียนสายปัญญา มณฑลกรุงเทพฯ

                โรงเรียนมหินทรศึกษาคาร จังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนปลูกปัญญา  มณฑลภูเก็ต

เมื่อวันที่  ๒๙  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๕๒

 

 

                โรงเรียนสมัคพลผดุง จังหวัดนครปฐม มณฑลนครไชยศรี

                โรงเรียนปลูกปัญญา จังหวัดภูเก็ต มณฑลภูเก็ต

                โรงเรียนเพาะปัญญา จังหวัดตรัง มณฑลภูเก็ต

 

 

 


[ ]  “แจ้งความกระทรวงธรรมการ พแนกกรมธรรมการ ประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๖ สิงหาคม ๑๓๐),หน้า ๘๙๖ - ๘๙๙.

[ ]  “แจ้งความกระทรวงธรรมการ พแนกกรมธรรมการ ประกาศพระราชนิยมเรื่องบำเพญกุศลในวิธีสร้างโรงเรียน”, ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๖ สิงหาคม ๑๓๐),หน้า ๘๙๖ - ๘๙๙.

[ ]  ต่อมาภายหลังยุบเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เปลี่ยนโรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชูทิศ” ต่อมาได้ยุบรวมกับ โรงเรียนวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “เบญจมราชรังสฤษฏิ์”

[ ]  ต่อมาได้ยุบรวมกับโรงเรียนอุทัยทวีเวท แล้วเปลี่ยนนามเป็น “อุทัยวิทยาคม”

[ ]  ปัจจุบันคือ โรงเรียนสตรีภูเก็ต

[ ]  ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น “ศรีสวัสดิ์วิทยาคาร”

[ ]  ต่อมายุบรวมกับโรงเรียนสตรีหล่มสัก “สตรีวิทยา” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “หล่มสักวิทยาคาร”

 

 

 

| ก่อนหน้า | ๑๖๑ | ๑๖๒ | ๑๖๓ | ๑๖๔ | ๑๖๕ | ๑๖๖ |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |