โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๑. งานกรีฑา (๙)

 

 

สาวพรมจารีย์ทำพิธีขอไฟจากดวงอาทิตย์ที่เทือกเขาโอลิมปัส (เนินหอนาฬิกา)

 

          งานกรีฑาปีการศึกษา ๒๔๙๙ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ อันเป็นงานกรีฑาครั้งที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบัน ที่เริ่มมีการจุดคบเพลิงในงานกรีฑา โดยสมมติให้เนินหอนาฬิกาเป็นภูเขาโอลิมปัส (Olympus) เมื่อนักเรียนเดินแถวถวายตัวตามประเพณีแล้ว จึงเริ่มพิธีขอไฟจากดวงอาทิตย์โดยมีนักเรียนแต่งตัวเป็นสาวพรมจารีย์ทำพิธีขอไฟจากดวงอาทิตย์ โดยใช้แว่นรวมแสงเมื่อได้ไฟแล้วได้ต่อไฟสู่คบเพลิงแล้วส่งต่อให้นักกีฬาวิ่งผลัดเปลี่ยนกันเป็นระยะๆ รอบโรงเรียน เริ่มจากหอนาฬิกาตรงไปคณะผู้บังคับการ ผ่านตึกพยาบาล (หอประวัติในปัจจุบัน) เลี้ยวที่มุมสระน้ำตรงคณะดุสิต วิ่งตรงผ่านข้างตึกวชิรมงกุฎ ผ่านตึกวิทยาศาสตร์ (ตึกเหลืองข้างหอประชุม ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) อ้อมวงกลมหน้าหอประชุม แล้วลงสู่สนาม วิ่งผ่านหน้าที่ประทับ วนรอบสนามหน้าแล้วไปจุดที่กระถางคยเพลิงใบใหญ่ที่ด้านหลังคณะพญาไท ขณะนั้นเองเสียงแต่ดังกังวลขึ้นพร้อมกับการชักธงพระมนูแถลงสาร และธงพระมหามงกุฎสีน้ำเงินอันเป็นธงกีฬาของโรงเรียน กับธงประจำคณะต่างๆ ขึ้นสู่ยอดเสา เป็นสัญญาณเริ่มการแข่งขันกรีฑา ประเพณีวิ่งคบเพลิงนี้ต่อมาได้ย่นย่อลงเหลือวิ่งจากหอนาฬิกาไปยังกรางคบเพลิง ซึ่งบางปีก็ย้ายมาอยู่มุมสนามหน้าด้านหอนาฬิกาบ้างก็มี
อนึ่ง ในงานกรีฑาปี .ศ. ๒๕๐๐ นี้ นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในงานดังเช่นทุกปีแล้ว ในปีนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เสด็จมาสมทบในเวลาประทับทอดพระเนตรการแข่งขันกรีฑาและการแสดงของนักเรียนเป็นครั้งแรกด้วย

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ
และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ประทับทอดพระเนตรการกรีฑาและการแสดงในงานกรีฑา

 

 

          ถัดมาใน พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นปีแรกที่เริ่มมีการแสดงตามแบบการแสดง "ตำนานเสือป่า" ซึ่งเป็นการแสดงตำนานชาติไทยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นที่สนามสโมสรเสือป่า พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และ ๒๔๕๕ แต่การแสดงของนักเรียนในวันนั้นเป็นการแสดงโขนเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ จบแล้วเป็นการฟ้อนรำของนักเรียนคณะเด็กเล็กที่แต่งตัวเป็นนางฟ้าออกมาร่ายรำ และร้องเพลงนางนาคถวายพระพร

 

 

 

ม้าไม้และกระบวนรถศึกในการแสดงตำนานกรีกเรื่อง “ม้าไม้เมืองทรอย”
ในงานกรีฑา เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒

 

 

          การแสดงในปีต่อมาเป็นการแสดงตำนานกรีกเรื่อง "ม้าเมืองทรอย" มีการสร้างฉากขนาดใหญ่ที่กลางสนามหน้าเป็นภาพวาดเมืองทรอย รวมทั้งมีการสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นครั้งแรก ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นผลงานที่รังสรรค์ขึ้นด้วยความสามัคคีของคุณครูศิลปะและนักเรียน ที่พร้อมใจกันรังสรรค์ฉากที่ยิ่งใหญ่นั้นในช่วงเวลาว่างจากการเล่าเรียน ทั้งนี้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

 

          นอกจากผลงานการรังสรรค์ฉากขนาดใหญ่แล้ว การแสดงชุดม้าเมืองทรอยนี้ยังมีการจัดสร้างรถศึกและมีม้าจริงที่ได้รับความอนุเคราะห์จากกองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเข้าฉาก ซึ่งทำให้การแสดงดูสมจริงยิ่งขึ้นขึ้น

 

 

การแสดงตำนานชาติไทย ตอนสมเด็จพระนเรศวรปีนค่ายพม่า

 

 

          นับจากการแสดงเรื่องม้าเมืองทรอยใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งนักเรียนเป็นผู้คัดเลือกเรื่องที่จะแสดงแล้วนำเรียนท่านผู้บังคับการเพื่อขอความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว ในปีต่อๆ มาทางโรงเรียนได้พิจารณาเห็นว่า ใน "งานคณะเทอม ๒" ซึ่งเป็นงานสังคมที่โรงเรียนกำหนดให้นักเรียนแต่ละคณะจัดขึ้นก่อนปิดภาคปวารณาในเดือนพฤศจิกายน ในงานของคณะต่างๆ นอกจากจะมีงานเลี้ยงสังสรรค์กันภายในคณะแล้ว ยังมีการออกบัตรเชิญท่านผู้บังคับการ ผู้กำกับคณะ คณาจารย์ และนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนโดยเป็นกรรมการในสมาคมต่างๆ ไปร่วมเป็นเกียรติในงานของแต่ละคณะที่จัดหมุนเวียนกันไป ๔ วันติดต่อกัน และในงานคณะนี้เองที่แต่ละคณะต่างก็ลงทุนจัดการแสดงมาประกวดประขันกัน จึงเกิดการประกวดการแสดงระหว่างคณะ และการแสดงของคณะที่ชนะเลิศในแต่ละปีใดก็จะได้รับการคัดเลือกไปจัดแสดงถวายทอดพระเนตรในงานกรีฑา การแสดงในช่วงเวลาต่อมาจึงมีหลากหลายทั้งในรูปแบบการแสดงตำนานตะวันตก เช่น คลีโอพัตรา หรือตำนานชาติไทย เช่น สงครามยุทธหัตถีที่มีการสร้างช้างจำลองมาชนกันจริงๆ ในสนาม หรือ "ตำนานวชิราวุธ" ซึ่งกล่าวถึงอาวุธของพระอินทร์ อันทำให้เกิดศัพท์เฉพาะขึ้นในหมู่นักเรียน เพราะผู้แสดงคนหนึ่งเกิดไปหลับในห้องเรียน เมื่อถูกคุณครูปลุกพร้อมคำถามว่า "เมื่อคืนเธอไปทำอะไรมา ถึงไม่ได้หลับได้นอน" นักเรียนคนนั้นได้กล่าวตอบคุณครูด้วยความภาคภูมิใจว่า "ไปเฝ้าพระอินทร์มาครับ"

 

          นอกจากคำว่าไปเฝ้าพระอินทร์แล้ว งานกรีฑายังทำให้เกิดคำศัพท์ขึ้นอีกคำคือ "รถพระอินทร์" รถพระอินทร์จะเกี่ยวข้องอย่างไรกับการแสดงตำนานวชิราวุธหรือไม่ ยังไม่พบข้อมูลที่แน่ชัด แต่สมัยหนึ่งมีการจัดแสดงเห่เรือสุพรรณหงส์ เป็นการแสดงการพายเรือสุพรรณหงส์บนสนามหญ้าผ่านหน้าที่ประทับ และมีการเห่ด้วยบทเห่เรือ "นาวาวชิราวุธ" ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของคุณครูจำรัส จันทรางศุ

 

ภาพวาดรถพระอินทร์ ผลงาน ไตรธวีช ศีติสาร OV’46

 

          เรือสุพรรณหงส์ที่นำมาพายเห่ถวายทอดพระเนตรนั้นมีโขลนเรือและลำเรือแกะสลักเป็นรูปเรือสุพรรณหงส์จริงๆ เลยทีเดียว แต่มีผ้าสีแดงปิดช่วงท้องเรือไปจนถึงพื้นสนามหญ้า เปรียบได้กับเรือลอยอยู่บนสายน้ำ ทั้งที่ภายในลำเรือนั้นเป็นโครงไม้มีล้อยางตันเรียงกันไป ข้างฝ่ายนักเรียนก็แต่งเครื่องแบบสวมเสื้อราชปะแตนสวมหมวกทรงประพาสแสดงท่าพายเหมือนจริง เสร็จงานแล้วก็มีการรื้อโครงเรือไปทำเป็นรถพระอินทร์สำหรับคนงานใช้ขนสิ่งของกันภายในโรงเรียน และเป็นอุปกรณ์การเล่นของนักเรียนในยามว่างและในเวลาวิกาล ซึ่งบางคราวรถพระอินทร์ก็ตกไปอยู่ในสระน้ำหลังตึกขาวบ้าง บ้างก็ไปไกลถึงตลาดโต้รุ่งประตูน้ำ แถวๆ ห้างสรรพสินค้าแพลตินั่มในปัจจุบัน

 

          ในช่วงรื้อฟื้นการจัดงานกรีฑาในรัชกาลปัจจุบันนั้น เป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งจะฟื้นตัวจากความเสียหายที่ได้รับจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประกอบกับสมาคมนักเรียนเก่าฯ ได้จัดสรรเงินรายได้จากการจัดงานวชิราวุธานุสรณ์มาให้โรงเรียนจัดสร้างถาวรวัตถุที่ยังขาดแคลนให้สมบูรณ์ ในการเสด็จพระราชดำเนินงานกรีฑาของโรงเรียนในแต่ละปี ก่อนจะเสด็จขึ้นหอประชุมจึงมักจะมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถาวรวัตถุต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อทรงเปิดถาวรวัตถุนั้นแล้วเหตุการณ์ก็เป็นปกติมาทุกปี จนถึงคราวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสระว่ายน้ำที่อยู่ระหว่างตึกพยาบาลกับสนามเทนนิสในตอนบ่าย พอตกเย็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ก็มีการเปิดสระว่ายน้ำย่างไม่เป็นทางการโดยนักเรียนคณะพญาไท เพราะในสมัยนั้นน้ำประปาในกรุงเทพฯ ไหลอ่อนมาก โดยเฉพาะในเวลาเย็นเปิดก๊อกน้ำแต่ละทีแทบจะไม่มีน้ำไหลให้อาบกัน แล้วต่อด้วยการเปิดสระรอบดึกโดยนักเรียนคณะผู้บังคับการ ดุสิต และจิตรลดา แต่การเปิดสระรอบดึกนั้นไม่พ้นสายตาครูอุดม รักตประจิต ผู้กำกับคณะดุสิต ซึ่งผลเป็นอย่างไรนักเรียนในช่วงเวลานั้นคงจำกันได้ดี

 

          งานกรีฑาในแต่ละปีนั้นนับได้ว่าเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาของโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากการแข่งขันกรีฑาและการแสดง ของนักเรียนแล้ว คุณหญิงภะรตราชา (ต่อมาเป็นท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา) และคุณครูสตรียังได้ร่วมกันจัดพระสุธารสถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ โดยมีนักเรียนทำหน้าที่มหาดเล็กตั้งเครื่อง รวมทั้งจัดอาหารว่างเลี้ยงรับรองผู้มาร่วมงานเช่นเดียวกับที่เคยจัดกันมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          การแสงในแต่ละปีกว่าจะจบสิ้นลง และเสร็จการพระราชทานถ้วยรางวัลในแต่ละปีนั้น ก็ล่วงเวลาใกล้จะพลบค่ำลงทุกปี แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ก็ทรงพระมหากรุณาประทับให้เหล่าราชบริพารนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและแสดงความจงรักภักดีให้ปรากฏแก่สายพระเนตรทุกปีมา แต่เมื่อมีพระราชกรณียกิจสำคัญของประเทศชาติเพิ่มมากขึ้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง จนเริ่มมีพระอาการประชวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จไปทรงศึกาวิชาการบินที่ต่างประเทศ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ต่อมาจนประชวรด้วยโรคชรา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์มาอีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง

 

          ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในงานกรีฑาครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว การแสดงในสนามก็เริ่มลดลงจนเลิกไปในที่สุด แล้วการแสดงผลงานศิลปหัตถกรรมและผลงานทางวิทยาศาสตร์ก็ทยอยล้มเลิกตามไป คงเหลือแต่งานพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ทรงรับพระราชภาระเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนงานกรีฑาและการแสดงผลงานของนักเรียนเพิ่งจะมารื้อฟื้นจัดขึ้นเป็นกิจกรรมภายในของโรงเรียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

          ในอดีตเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ เป็อันเสร็จงานกรีฑาในแต่ละปีแล้ว นักเรียนก็จะแยกย้ายกันกลับคณะอาบน้ำและแต่งชุดนักเรียนปกติไปร่วมงานเลี้ยงโต๊ะจีนที่สนามบาสเกตบอลข้างคณะผู้บังคับการ (ต่อมาย้ายมาจัดที่อินดอร์สเตเดียมและสนามข้างหอประชุมตามลำดับ)

 

          เสร็จจากรับประทานโต๊ะจีนแล้วก็แยกย้ายกันกลับคณะ และก่อนจะเข้านอนในคืนนั้นมักจะมีกิจกรรม "สามัคคีสี่คณะ ปาเจ๊กเฉ่า" ซึ่งจะได้นำมาเล่าในโอกาสต่อไป

 

          รุ่งขึ้นเก้านาฬิกาครูและนักเรียนทุกคนขึ้นหอประชุม สวดมนต์แล้วท่านผู้บังคับการเชิญพระราชกระแสมาแจ้งให้นักเรียนทราบ และกล่าวขอบใจทุกคนที่ร่วมกันจัดงานกรีฑาจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี ถัดจากนั้นเป็นการมอบของที่ระลึกให้แก่นกเรียน ซึ่งหัวหน้าแต่ละคณะเป็นผู้ออกไปรับมอบแล้วนำมาแจกจ่ายแก่นักเรียนในคณะ แต่มีเหตุการณ์พิเศษอยู่สองเหตุการณ์ คือ เมื่อมีการแจกเข็มขัดที่หัวเข็มขัดเป็นตราพระมหามงกุฎอย่างที่นักเรียนใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ท่านผู้บังคับการได้ประกาศเรียกนักเรียนคณะจิตรลดาคนหนึ่งออกไปรับเข็มขัดที่มีขนาดพิเศษ เพราะเข็มขัดปกติไม่สามารถรัดรอบเอวของนักเรียนคนนั้นได้ กับอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ ท่านผู้บังคับการประกาศเรียก นายแวน เลณบุรี (ปัจจุบัน ร.ต.อ.แวน เลณบุรี) นักเรียนคณะพญาไทออกไปรับของที่ระลึกพิเศษเป็นกระเป๋าหนังสีดำพิมพ์ลายพระมหาวชิรมงกุฎสีทอง (ปัจจุบันกระเป๋าใบนี้อยู่ที่หอประวัติของโรงเรียน)

 

          เหตุที่ท่านผู้บังคับการกล่าวเช่นนั้นเป็นเพราะ นายแวน เลณบุรี คนนี้เล่นรักบี้ทีมโรงเรียนมาตั้งแต่เรียนชั้น ม.ศ. ๑ (ปัจจุบันคือ มัธยมปีที่ ๒) และติดทีมชาติตั้งแต่ ม.ศ. ๓ (ปัจจุบันคือ มัธยมปีที่ ๔) ได้รับเครื่องหมายสามารถกีฬาของโรงเรียนจนถึงชั้นสามารถพิเศษเหนือพิเศษ จนสุดท้ายท่านผู้บังคับการต้องมอบกระเป๋าหนังให้เป็นพิเศษ พร้อมกับกล่าวว่า "โรงเรียนไม่มีอะไรจะให้เธออีกแล้ว จึงขอมอบกระเป๋าในบี้ให้ และถ้าเธอยังจะอยู่ต่อเห็นทีจะต้องปลูกบ้านให้เธออยู่ที่สนามหลัง"

 

          นอกจากสองเรื่องข้างต้นแล้ว ก็เห็นจะมีเหตุการณ์ในความทรงจำอีกเรื่องหนึ่ง คือ การแจกรางวัลนักเรียนผู้กระทำพิธีเปิดสระว่ายน้ำตอนกลางดึก ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของงานกรีฑาในความทรงจำของนักเรียนวชิราวุธหลากรุ่นหลายวัย ที่สามารถเล่าได้ไม่รู้จบ แต่เห็นทีจะต้องขอจบเรื่องงานกรีฑาที่มีวิวัฒนาการมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้แต่
เพียงนี้

 

 
 
 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |