โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๒๘. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

กับ

วชิราวุธวิทยาลัย (ตอนที่ ๑)

 

 

           นับแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ แล้ว ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวด้วยวชิราวุธวิทยาลัยมาโดยลำดับ ซึ่งจะขอหยิบยกขึ้นกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

 

จัดระเบียบราชการในพระราชสำนัก พ.ศ. ๒๔๖๙

 

           สืบเนื่องมาจากในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเหตุวิกฤติในแบงก์สยามกัมมาจล หรือปัจจุบันคือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน ทำให้พระคลังข้างที่ต้องได้รับความเสียหายไปกว่า ๑.๖ ล้านบาท ประกอบกับการที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนมากในการจัดตั้งส่วนราชการต่างๆ เพื่อการป้องกันประเทศ เช่น ทรงตั้งกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. กองเสือป่าและลูกเสือ รวมทั้งทรงตั้ง กรมมหรสพ และกรมศิลปากรขึ้นในพระราชสำนัก เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูงานนาฏดุริยางคศิลป์ งานวิจิตรศิลปกรรมไทย นอกจากนั้นยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อการ "สร้างคน" ตามแนวพระราชดำริ ผ่านทางโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

 

           ผลจากการที่ได้ทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากในแต่ละปีดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันกระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเคยสัญญามาแต่ต้นรัชกาลว่าจะจัดเงินปีถวายเพิ่มปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท จากปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ที่จัดถวายปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็หาได้จัดถวายจนเวลาล่วงมาหลายปีจึงได้ทยอยจัดถวายจนครบจำนวนปีละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วก็มิได้จัดถวายเพิ่มตามที่สัญญาไว้อีกต่อไป คงถวายเพียงปีละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาตราบจนเสด็จสวรรคต

 

           เนื่องมาจากเงินที่รัฐบาลจัดถวายในแต่ละปีมิได้สัมพันธ์กับรายจ่ายในพระราชสำนักนั้นเอง จึงส่งผลให้ในตอนปลายรัชสมัยเกิดวิกฤติรายจ่ายในพระราชสำนัก และทำให้จำต้องทรงจัดให้มีองคมนตรีตรวจตัดงบประมาณรายจ่ายในพระราชสำนัก โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงเป็นสภานายก และ มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นกรรมการ

 

           กรรมการตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนักได้ประชุมพิจารณากันแล้ว ได้มีมติให้เริ่มตัดรายจ่ายด้วยการยุบเลิกกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทำหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาเขตในคาบสมุทรมลายู ซึ่งรัฐบาลสยามมีข้อตกลงลับกับอังกฤษที่จะไม่ส่งกองทหารลงไปประจำการ กับยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ เสียตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่นั้นคงให้เปิดการเรียนการสอนต่อไปจนนักเรียนสอบไล่ประจำปีแล้วเสร็จ แล้วจึงให้ยุบเลิกให้เสร็จสิ้นเสียตั้งแต่วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (สมัยนั้นยังเปลี่ยนปี พ.ศ. กันในวันที่ ๑ เมษายน) ซึ่งการยุบเลิกส่วนราชการทั้งสองนั้นทำให้สามารถประหยัดพระราชทรัพย์ลงได้ปีละ ๓๒๐,๐๐๐ บาท แยกเป็นส่วนของกองพันที่ ๓ ทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ปีละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท และโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ปีละกว่า ๑๒๐,๐๐๐ บาท

 

           ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากจะมีพระราชดำริให้ดำเนินการตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักต่อจากที่ดำเนินมาในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติปรับลดเงินปีที่เคยจัดถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวปีละ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือเพียงปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นมา และด้วยเหตุที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐบาลจัดถวายเงินปีในจำนวนที่ลดน้อยลงถึง ๑ ใน ๓ เช่นนั้น จึงทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องปรับลดส่วนราชการในพระราชสำนักให้เหมาะสมกับจำนวนเงินที่ลดลง ในการนี้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกส่วนราชการในพระราชสำนักลงบางส่วน อาทิ ยุบเลิกกรมมหรสพ กรมศิลปากร ยุบรวมกรมพระอัศวราช กรมชาวที่ เข้ากับกรมมหาดเล็ก แล้วยกกรมมหาดเล็กที่เดิมเป็นส่วนราชการอิสระขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปรวมเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงวัง พร้อมกันนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับอัตรากำลังกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. จากเดิม ๒ กองพันๆ ละ ๔ กองร้อย ลงเหลือเพียง ๒ กองร้อย

 

           ผลของการปรับลดส่วนราชการในพระราชสำนักคราวนั้น นอกจากจะทำให้ส่วนราชการจำนวนมากจำต้องถูกยุบเลิกไปแล้ว ยังทำให้ข้าราชการในพระราชสำนักอีกกว่าพันคนทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยต้องถูกดุลยภาพออกรับพระราชทานบำเหน็จบำนาญ

 

           อนึ่ง ในการยุบเลิกส่วนราชการในพระราชสำนักในคราวนั้น นอกจากกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กซึ่งบังคับบัญชากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์จะถูกยุบเลิกไปแล้ว ยังส่งผลให้โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์อีก ๓ โรงเรียน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงมหาดเล็กหลวง โรงเรียนราชวิทยาลัย และโรงเรียนพรานหลวงต้องถูกยุบเลิกไปพร้อมกันในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ด้วย

 

           แต่เนื่องด้วยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงศึกาธิการ อดีตกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่างก็ถวายฎีกาคัดค้านโดยอ้างว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเฉลิมพระราชศรัทธาแทนการสถาปนาพระอารามหลวงตามโบราณราชประเพณี ฉะนั้นหากจะโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเสีย ก็จะเป็นการยุบพระอารามหลวงประจำรัชกาลซึ่งเป็นการผิดำระราชประเพณี ในขณะเดียวกันพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัยก็ได้ถวายฎีกาคัดค้าน โดยอ้างว่า เมื่อกระทรวงยุติธรรมรับโอนโรงเรียนราชวิทยาลัยมาจากกระทรวงธรรมการในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กระทรวงธรรมการได้จัดสรรงบประมาณให้กระทรวงยุติธรรมเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนราชวิทยาลัยปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท และเมื่อกระรวงยุติธรรมขอพระราชทานถวายโรงเรียนราชวิทยาลัยมาขึ้นสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๙ กระทรวงยุติธรรมก็ได้โอนเงินจำนวนดังกล่าวมาให้กรมมหาดเล็กเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนราชวิทยาลัยต่อมา และเมื่อมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมมหาดเล็กทำความตกลงกับกระทรวงธรรมการขอตัดโอนเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท จากยอดเงินสนับสนุนโรงเรียนราชวิทยาลัยปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ โรงเรียนราชวิทยาลัยจึงคงเหลือเงินสนับสนุนจากงบประมาณกระทรวงธรรมการปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท และได้ใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวรวมกับเงินส่วนพระราชทานเป็นรายปีในการบริหารจัดการโรงเรียนราชวิทยาลัยมาตราบจนโรงเรียนต้องปิดลงเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต แต่เนื่องจากพระราชธรรมนิเทศเห็นว่า หากจะให้โรงเรียนราชวิทยาลัยคงเปิดดำเนินการต่อไปโดยอาศัยเงินสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการปีละ ๙๐,๐๐๐ บาทแล้ว ก็น่าจะคงเปิดโรงเรียนราชวิทยาลัยต่อไปได้

 

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรฎีกาทั้ง ๓ ฉบับแล้ว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า หากจะโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงโรงเรียนต่อไปก็ไม่มีพระราชทรัพย์พอที่จะทรงอุดหนุนโรงเรียนนี้เช่นในรัชกาลก่อน เพราะได้โปรดเกล้าฯ ให้ตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนักลงถึง ๑ ใน ๓ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเงินที่รัฐบาลจัดถวายปีละ ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และหากจะทรงยุบเลิกโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเสีย ก็จะเป็นการผิดพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากจัดสร้างโรงเรียนถาวรไว้ที่สวนกระจังในเขตพระราชวังดุสิต เพื่อให้เป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงมีพระราชดำริว่า หากทรงยุบเลิกโรงเรียนราชวิทยาลัยและโปรดเกล้าฯ ให้โอนเงินที่กระทรวงศึกษาธิการจัดถวายปีละ ๙๐,๐๐๐ บาท มาเป็นค่าใช้จ่ายของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ก็จะทรงรักษาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้แทนพระอารามหลวงไว้ได้ ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กับได้โปรดเกล้าฯ ให้โอนครูและข้าราชการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไปเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ มาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙

 

           ส่วนชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ทรงพระราชดำริว่า โดยที่ชื่อของโรงเรียนนั้นส่อให้เข้าใจไปว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้แล้วจะได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก เช่นเดียวกับที่นักเรียนนายร้อยเมื่อสำเร็จการศึกษาย่อมได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายทหารในกองทัพบก ซึ่งชื่อโรงเรียนที่เป็นเช่นนั้นไม่ต้องด้วยพระราชนิยม จึงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็นอย่างอื่น ครั้นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้รับสนองพระราชดำริและได้คิดชื่อโรงเรียนใหม่ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระบรมราชโองการวางรูปการและพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

 

 

"ประกาศ

วางรูปการและพระราชทานนามโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

**********************************

 

          มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ ได้ทรงสถาปนาขึ้น เพื่อให้เปนอนุสาวรีย์ ดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาลของพระองค์ โดยพระราชประสงค์ให้เปนสถานศึกษาอันดีของกุลยุตร์ และดำรงอยู่ได้มั่นคงสืบไปภายหน้า จึงได้ทรงวางรูปการอันเป็นหลักสำคัญไว้แล้ว ๒ ประการ คือ ได้พระราชทานทุนทรัพย์ไว้เป็นกำลัง เพื่อให้โรงเรียนมีผลประโยชน์เลี้ยงตัวเองได้ในภายหน้า ประการ ๑ ได้ทรงตั้งหลักวิธีปกครองด้วยสภากรรมการไว้สำหรับดูแลจัดการให้เปนไปในทางที่ควร ประการ ๑

 

          บัดนี้ทรงพระราชดำริห์ว่า เปนการสมควรที่จะส่งเสริมฐานะของโรงเรียนนี้ให้สถาพรพัฒนายิ่งขึ้น เพื่อเปนที่เชิดชูพระเกียรติยศแห่งสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถิติของโรงเรียนดังต่อไปนี้ คือ

                    ๑. ให้โรงเรียนอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

                    ๒. ให้ขึ้นแก่สภากรรมการจัดการ

 

          ส่วนนามของโรงเรียนนั้น ทรงพระราชดำริห์ว่า บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนนี้กับโรงเรียนราชวิทยาลัยรวมเปนโรงเรียนเดียวกันแล้ว สมควรจะมีนามอันทรงไว้ซึ่งความเปนอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช และโรงเรียนราชวิทยาลัยด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

 

ประกาศมา ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ เปนปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจุบันนี้" 

 

 
 
**********************************
 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |