โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

 

๓๐. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

กับ

วชิราวุธวิทยาลัย (ตอนที่ )

 

 

ชิงเมือง

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

 

 

          เรื่องชิงเมืองนี้ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยหม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล และกรุ่ม สุรนันทน์ ท่านเล่าให้ฟังว่า เย็นวันหนึ่งขณะที่นักเรียนจำนวนหนึ่งกำลังเล่นน้ำกันอยู่ในสระหลังตึกขาว (ตึกวชิรมงกุฎ) พลันนักเรียนคนหนึ่งเหลือบไปเห็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี ทรงฉลองพระองค์ลำลองกำลังเสด็จพระราชดำเนินตรงมาที่สระน้ำหลังตึกขาว ด้วยเกรงพระราชอาญานักเรียนจำนวนหนึ่งจึงรีบขึ้นจากน้ำและหลบลี้หนีกลับเข้าคณะของตน ส่วนผู้ที่หลบไม่ทันนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระราชเสาวนีย์ให้ขึ้นจากน้ำมาเฝ้าทูละอองธุลีพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์จดชื่อนักเรียนที่ถูกเรียกขึ้นมาจากน้ำนั้นไว้ทุกคน

 

          คุณกรุ่ม สุรนันทน์ ท่านเล่าว่า บรรดานักเรียนที่ถูกจดชื่อซึ่งรวมถึงตัวท่านผู้เล่านั้น ต่างก็รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไปตามๆ กัน เพราะตัวท่านผู้เล่านั้นนอกจากจะมีบรรพบุรุษที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งตัวผู้เล่าเองนั้นก็เป็นนักเรียนหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเล่าเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย ส่วนนักเรียนคนอื่นๆ นั้นก็ล้วนเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีทรงรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้งบิดาและมารดา จึงต่างก็เกรงกันไปว่า บุพการีของแต่ละคนอาจจะต้องพลอยเดือดร้อนไปกับความซุกซนตามประสาเด็กๆ ของพวกตน
แต่การมิได้เป็นไปดังที่นักเรียนเหล่านั้นหวั่นวิตก เพราะอีกราว ๒ สัปดาห์ถัดมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่โรงเรียนอีกครั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนที่ถูกจดชื่อไว้ในคราวก่อนนั้นมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมราชินีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสบู่หอมให้คนละก้อน ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนเหล่านั้นร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “ชิงเมือง” โดยทรงใช้เกาะต่างๆ ในบริเวณสระน้ำหลังตึกขาวเป็นสถานที่ถ่ายทำ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พยายามสืบหาฟิล์มภาพยนตร์เรื่องนี้มาหลายปีแต่ก็ยังหาไม่พบ

 


*********************************

 

 

Reserved Training Corps (R.T.C.)

          สืบเนื่องจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าเพื่อจัดเตรียมกำลังอาสาสมัครไว้เป็นกำลังสำรองในการป้องกันประเทศแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือเพื่อเตรียมเยาวชนของชาติไว้พร้อมรับใช้ชาติในยามที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้น ก็มีพระราชนิยมให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงได้ฝึกหัดเป็นลูกเสือกองแรกของประเทศสยาม และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกกองลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเป็นกรมนักเรียนเสือป่าหลวง ซึ่งรู้จักกันในนามของ "นักเรียนนายร้อยเสือป่า"

 

          แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และกองเสือป่าต้องยุบเลิกไปเพราะขาดผู้อุปถัมภ์นั้น ในคราวเดียวกันนั้นกรมนักเรียนเสือป่าก็สูญสลายหายเข้าป่าไปพร้อมกับกองเสือป่า คงเหลือแต่ศารทูลธวัช (ธงไชยเฉลิมพล) กรมนักเรียนเสือป่าหลวงยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์อยู่ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้ว ก็ได้มีพระราชดำริว่า นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยสมัยหลายคนเคยได้รับการฝึกหัดวิชาทหารเมื่อครั้งเป็นนักเรียนเสือป่าหลวงมาก่อนแล้ว แต่เมื่อมาเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้วไม่ได้ฝึกหัดวิชาทหารอีกต่อไป ทรงรู้สึกเสียดายจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนจัดการฝึกวิชาทหารในรูปแบบ Reserved Training Corps (R.T.C.) ซึ่งเป็นแนวทางการฝึกหัดนักเรียนชั้นมัธยมของอังกฤษให้เป็นกองกำลังสำรองในแนวทางเดียวกับนักเรียนเสือป่าหลวง มาจัดขึ้นอีกครั้งที่วชิราวุธวิทยาลัย

 

          การฝึกหัด R.T.C. ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ต่อมาในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลประชาธิปไตยก็ได้จัดให้มีการฝึกหัดวิชา R.T.C. แก่นักเรียนมัธยมทั่วประเทศเรียกว่า "ยุวชนนายทหาร" และ "ยุวชนทหาร" แต่แนวการฝึกหัดนักเรียนเป็นยุวชนนายทหารและยุวชนทหารนั้นรัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยกลับไปเลือกใช้แนวทาง “ยุวชนนาซี” ของพรรคสังคมชาตินิยมเยอรมัน (นาซี) จึงทำให้การฝึกหัดวิชาทหารเพื่อเป็นกำลังสำรองของชาติตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง และกิจการยุวชนนายทหารและยุวชนทหารนั้นก็ต้องถูกเลิกล้มไปพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

 

*********************************

 

 

นักเรียนหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

 

          แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงเสกสมรสด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๒ แต่ก็ไม่ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มาเป็นพระราชโอรสบุญธรรม ในขณะเดียวกันด้วยมีพระราชนิยมรักเด็ก จึงทรงรับหม่อมเจ้าและบุตรหลานข้าราชการที่ยังเยาว์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์จำนวนมาก โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนเยาวกุมารไว้ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของเด็กที่ทรงชุบเลี้ยงและยังมีอายุอยู่ในวัยเยาว์

 

          ในจำนวนหม่อมเจ้าและบุตรหลานข้าราชการที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงไว้นั้น มีอาทิ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ หม่อมเจ้าอัชฌา จักรพันธุ์ เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง พานทอง ทองเจือ กรุ่มสุรนันทน์ ฯลฯ กล่าวสำหรับเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง บุตรเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต อดีตเจ้านครลำปางนั้น มีความในเอกสารจดหมายเหตุว่า เมื่อประทับแรมที่เมืองนครลำปางคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ เมื่อเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น เจ้าบุญสารเสวตร ณ ลำปาง บุตรเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ได้นำเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง น้องชายซึ่งเวลานั้นยังมิได้โกนจุกเข้าเฝ้าถวายตัว ทรงพระราชดำริว่า บุญส่งนั้นอายุยังน้อยทั้งต้องมากำพร้าบิดา หากปล่อยทิ้งไว้ที่ลำปางก็ทรงเกรงว่าจะมิได้รับการศึกษาเท่าที่ควร จึงมีพระราชดำรัสด้วยพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขอให้ส่งเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ลงมากรุงเทพฯ จะโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัย แต่เนื่องจากเจ้าบุญส่งยังมิได้โกนจุกในชั้นต้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเรียนที่โรงเรียนเยาวกุมารไปพลาง ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดการโกนจุกพระราชทานที่วังวรดิศแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เข้าเรียนในวชิราวุธวิทยาลัยในฐานะนักเรียนหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเดีวกับ กรุ่ม สุรนันทน์ บุตรพระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม สุรนันทน์) และพานทอง ทองเจือ บุตรพระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ฯลฯ

 

 

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

ทรงเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนเยาวกุมาร

 

 

          แต่สำหรับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาเรียนที่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นเวลา ๑ ปีนั้น ท่านชายหวาน หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเล่าไว้ว่า

 

 

          "วันหนึ่ง พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ต้องเสด็จไปตัดพระเกศาที่ร้านแถวแพร่งนราฯ ย่านเสาชิงช้า ท่านทรงมีรถของทูลกระหม่อมพ่อ (สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุฯ) ซึ่งเป็นรถตอนเดียว ทรงนั่งไปกับพระพี่เลี้ยง ส่วนพวกเรานั้นนั่งรถยนต์หลวง (ร.ย.ล.) ซึ่งเป็นรถฟอร์ดแบบรถขนหมู ระหว่างนั่งรถยนต์หลวงนั้น พวกเราโหวกเหวกสนุกสนานกันไป มีแต่พระองค์จิรศักดิ์ฯ ที่ต้องทรงนั่งอย่างโก้และเหงาอยู่องค์เดียว ขากลับจึงทรงขอมาอยู่ด้วย เพื่อจะได้เฮอากับเพื่อนๆ

 

          บังเอิญวันนั้นมีอันจะต้องเกิดเหตุขึ้น คือ ตามกิจวัตรแล้ว พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ จะต้องเข้าไปเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวก่อนพวกเรา หลังจากที่สมเด็จระบรมราชินีฯ เสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว เพราะมีฐานะเป็นพระราชโอรสบุญธรรม จึงมีสิทธิพิเศษกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องรอให้มหาดเล็กออกมาเรียกจึงจะเข้าไปได้ แต่วันนั้นรถที่ประทับของพระองค์ชายกลับมาถึงก่อน รถ ร.ย.ล.ยังมาไม่ถึง กลายเป็นว่าสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จฯ ออกนานแล้ว พระองค์ชายยังไม่ได้เข้าไปเฝ้าฯ เมื่อเข้าเฝ้าฯ พร้อมกับพวกเรา พระเจ้าอยู่หัวก็รับสั่งถามว่า ทำไมถึงมาช้าและมาพร้อมกันหมด ท่านก็กราบบังคมทูลว่าอาศัยรถขนหมูกันมา ได้เฮกันสนุกสนาน พระองค์ท่านทรงฟังแล้วมีรับสั่งว่า

 

          "แกเชียวเป็นหัวโจกใช่ไหม" ผมตกใจมากถึงกับผายลมปรู้ด คล้ายกับว่ามีความผิดอย่างมาก ทั้งที่ทีแรกรู้สึกเป็นเรื่องโก้ที่เป็นหัวโจก กลายเป็นว่าถูกกริ้วในฐานะทำให้เพื่อนๆ ตามเป็นฝูงแกะ ผมบอกกับตัวเองว่า เป็นคนดังไม่ค่อยดีเลย ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง แต่ผมเองก็ไม่รู้สึกถูกลงโทษแต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์ท่านก็ไม่มีรับสั่งคาดโทษอะไร

 

          หลังจากนั้นไม่นานก็โปรดเกล้าฯ ให้ผมแยกไปเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งผมเข้าใจว่าอาจเป็นวิธีการที่พระองค์ท่านจะทรงใช้ควบคุมเด็ก ไม่ให้เหลิงวุ่นวายเกินไป และไม่ให้เด็กตามหัวหน้าคนใดคนหนึ่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนขาดความคิดและความเชื่อมั่นเป็นของตัวเอง จึงต้องแยกตัว “หัวหน้า” ออกจากกลุ่มเสีย และเป็นการใช้ “ไม้นวม” ที่จะทรงลงโทษผมก็ได้

 

          การเรียนที่วชิราวุธฯ นั้นเป็นโรงเรียนประจำกินนอน ผมได้กลับเข้ามาในวังก็แค่ช่วงวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ และไม่รู้สึกขมขื่นแต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกขาดทุนเล็กน้อยที่อดฟังนิทานจากพระโอษฐ์ของพระองค์ท่านในตอนค่ำของวันธรรมดา

 

          ที่โรงเรียนวชิราวุธฯ มีระเบียบในการรับเบี้ยเลี้ยงจากครูใหญ่เป็นรายสัปดาห์ และในแต่ละวันพอสี่โมงเช้าพักเรียนก็ไปซื้อกะหรี่ปั๊บหรือขนมอื่นที่มีประโยชน์มากิน สำหรับกิจกรรมแล้วที่นี่ส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬา มีทีมฟุตบอลหลายรุ่น และฝีเท้าที่หนักของผมก็เป็นที่ยอมรับให้เป็นกัปตันทีมฟุตบอลรุ่นเล็กกับเขาคนหนึ่ง อีกทั้งผมยังได้เป็นนักมวยอย่างบังเอิญด้วย คือว่าที่โรงเรียนมีกฎห้ามชกต่อยเหมือนเป็นเด็กริมถนน ใครไม่ชอบหน้ากัน หรือมีเรื่องโกรธแค้นกัน จะต้องมาหาครูสอนยิมนาสติก ขอนวมมาต่อยกันต่อหน้าคนอื่นๆ ในห้อง ยิมนาสติกนั่นเอง เมื่อเลิกชกกันแล้วต้องจับมือกัน

 

          สำหรับผมที่ได้เป็น "นักมวยบังเอิญ" นั้น ไม่ใช่ว่าผมไปมีเรื่องทะเลาะกับใคร แต่เป็นเพราะวันหนึ่งครูบอกว่าจะสอนวิธีชกมวยให้รู้ไว้เพื่อป้องกันถูกคนอื่นรังแก และครูมีลูกศิษย์คนหนึ่งตัวผอมกะหร่องหัวโต เขาเดินเข้ามา มือใส่นวมเรียบร้อย คงเป็นเด็กที่ครูหดไว้แล้ว ครูก็มองหานักเรียนที่อยู่ตรงหน้าที่จะมาเป็นคู่ซ้อม และสายตาของครูมาหยุดที่ผม พร้อมกับบอกว่า

 

          "รูปร่างท่าทางใหญ่ แข็งแรงดี คงจะได้" แล้วสั่งให้คนเอานวมมา ความเป็นเด็กบ้านนอก ผมจึงไม่เคยเห็นนวมมาก่อน เห็นไกลๆ นึกว่าลูกมะพร้าว เขาก็เอานวมมาใส่ให้ ครูบอกว่าต่อยกันเสร็จแล้วห้ามถือโทษโกรธกัน เพราะนี่เป็นการกีฬา แต่ประสบการณ์ชกมวยนั้น ผมเคยเห็นแต่เด็กวัดเขาชกกันเหมือนควายขวิด ซึ่งผมคิดว่าเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์แล้ว

 

          พอครูบอกเริ่ม เขาก็ก้มหน้าก้มตาเข้ามาตุ้บ ตุ้บ ตุ้บ ผมไม่กล้าเงยหน้าเลย แต่แล้วก็เห็นหนังลูกกลมๆ ลอยมาทุบตุ้บ โอ๊ย เสียงในหูดังวี้ด วี้ด วี้ด แล้วเขาก็เต้นโยกตัว หาไม่เจอเลย มีแต่เสียงลมวืด วืด วืด ผมจะต่อยก็ไม่โดน เป็นแบบความขวิดทุกที แล้วก็นึกได้ว่า ก่อนอื่นต้องหาว่าเท้าเขาอยู่ที่ไหน ตัวเขาถึงจะอยู่ตรงนั้น พอผมจับจังหวะเท้าของเขาได้ ผมก็ชกพั่บเข้าไป ไม่ทราบว่าถูกตรงไหน แต่เขาล้มโครม ครูบอกพอๆ ให้จับมือกัน ตั้งแต่นั้นผมได้ยินครูว่า
"ตานี่หมัดหนัก น่าจะพัฒนา" แต่หลังจากครั้งนั้น ผมก็ไม่มีโอกาสได้ต่อยมวยอี จนได้ไปแสดงฝีหมัดอีกครั้งยังต่างเมือง ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในคราวหลัง

 

          ผมเรียนอยู่ที่วชิราวุธฯ ราว ๑ ปี ผลการสอบออกมาปรากฏว่าได้ที่ ๓ ครูบอกว่าเรียนเก่งเหมือนกับหมัดหนัก และต้องพยายามสองเรื่องนี้ต่อไปให้ได้ ต่อมาก็โปรดเกล้าฯ ให้ผมกลับมาเรียนที่โรงเรียนราชกุมารได้ วันที่กลับมา พระองค์ท่านก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งผมรู้สึกใจเต้นและกลัวว่าจะกริ้วอะไรอีกหรือเปล่า แต่แล้วกลับยื่นพระหัตถ์พระราชทานเสมาพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร.แก่ผม เป็นเครื่องหมายว่าพระราชทานอภัยโทษในการ  "เนรเทศ" ไปอยู่โรงเรียนวชิราวุธฯ แก่ผมแล้ว []

 

 
 
*********************************
 

 


 

[ ]  หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. ใต้ร่มฉัตร, หน้า ๔๐ - ๔๕.

 

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๒๑  |  ๒๒  |  ๒๓  |  ๒๔  |  ๒๕  |  ๒๖  |  ๒๗  |  ๒๘  |  ๒๙  |  ๓๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |