โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

กับ

วชิราวุธวิทยาลัย (ตอนที่ )

 

 

ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          เรื่องการรับและส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โดยเฉพาะการเข็นรถพระที่นั่งสงเสด็จนั้น ดูจะเป็นเรื่องปกติมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นักเรียนคงได้สนองพระเดชพระคุณด้วยการเข็นรถพระที่นั่งส่งเสด็จตลอดทุกปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๕ ดังที่นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย สำรวล พุกณานนท์ ได้เล่าไว้ในหนังสือ "O.V. รุ่นลายครามรำลึก พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๕๓๔" ว่า

 

 

          "๑๒ พฤศจิกายน เป็นวันงานประจำปีของโรงเรียน เริ่มมีตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ ในหลวง และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ คู่กันทุกปีมิได้ขาด พระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักเรียนที่สอบไล่ได้ ม.๘ ปีที่แล้ว มอดพระเนตรการแสดงต่างๆ ของนักเรียน เช่น กรีฑา, รักบี้, วิ่งวิบาก ตามแต่โรงเรียนจะจัดถวายเป็นปีๆ ไป แล้วพระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นเสร็จงาน พอเสด็จฯ กลับ เพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น

 

          ยอดความสนุกของพวกเราในงานนี้ดูเหมือนจะอยู่ตอนนี้ คือเวลาเข้าแถวส่งเสด็จ เมื่อเสด็จฯ ผ่านพวกเราซึงอมยิ้มพร้อมวันทยหัตถ์ สมเด็จฯ ทรงยิ้มรับเพราะทรงทราบดีว่าประเดี๋ยวจะเกิดอะไรขึ้น พอเสด็จฯ ผ่านไปแล้ว พวกเราขยับกริ๊กๆ คล้ายผึ้งที่กำลังจะออกบิน พอรถพระที่นั่งเริ่มเคลื่อน ผึ้งทั้งหลายก็แตกจากรัง พรูเข้าไปเข็นรถทั้งด้านข้างและด้านหลัง

 

          มีอยู่ปีหนึ่ง หน้าของเราเกือบติดกระจกรถ ห่างจากพระองค์ท่านไม่กินศอก พระพักตร์ทรงตามปกติ ไม่ทรงยิ้มหรือทรงพระสรวลอย่างสมเด็จฯ แต่แววพระเนตรนั้นบ่งชัดว่าทรงสนุกกับพวกเราอย่างเต็มที่

 

          การอยู่ใกล้ที่ประทับนั้นต้องระมัดระวังมาก แต่เราไม่ค่อยเครียดเพราะสมเด็จพรางเจ้ารำไพพรรณี ท่านทรงยิ้มและทรงพระสรวลอยู่บ่อยๆ ทำให้พวกเราไม่ว่าเล็กหรือโต รู้สึกว่ามีความอบอุ่นและคุ้นเคยกับพระองค์ท่านอย่างประหลาด

 

          ระหว่างเข็นรถซึ่งเข้าเกียร์หนึ่งอยู่ตลอดเวลา พวกเราก็ไชโยไปตลอดทางจนถึงประตูคณะประทัตฯ สุดเขตโรงเรียน ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์อำลา พวกเราก็หยุดแค่ประตูโบกมือและไชโย จนรถพระที่นั่งลับตาไป

 

          อีกปีหนึ่ง วันงานโรงเรียนฝนตกหนัก เมื่อจวนเวลาเสด็จฯ โรงเรียนจัดที่แสดงไว้ที่สนามข้างหอประชุมอย่างเคย บังเอิญเป็นการแสดงที่ไม่ใช้สนาม มีการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า มีเบาะยิวยิตสูจึงขนย้ายขึ้นมาได้ ระหว่างที่พวกเราช่วยกันของรวมทั้งเก้าอี้ที่ประทับ เก้าอี้แขก และเก้าอี้ผู้ปกครองขึ้นบนหอประชุม นึกว่าจะไม่เสด็จฯ เสียแล้ว ที่ไหนได้ระหว่างที่วิ่งขึ้นวิ่งลงนั้น เสียงตำรวจเป่านกหวีดยาวรับกันเป็นทอดๆ แสดงว่ารถพระที่นั่งกำลังจะถึงโรงเรียนอยู่แล้ว ตกใจแทบสิ้นสติ เราแบ่งงานกันเองโดยอัตโนมัติ ส่วนหนึ่งวิ่งลงไปเข้าแถวคอยรับเสด็จที่สนามหน้าหอประชุม ที่เหลือขนของแข่งกับเวลาอย่างอุตลุด

 

          ปกติแถวรับเสด็จเป็นแถวเรียงสอง วันนั้นเปลี่ยนกันเองเป็นแถวเรียงหนึ่ง ถ่างให้แถวยาวๆ เข้าไว้ จนระยะเคียงนั้นม้าผ่านได้ เรียงแถวได้เร็วมากเป็นพิเศษราวกับเนรมิต แต่ถึงกระนั้นพอเสร็จก็ได้วันทยหัตถ์พอดี

 

          คงทรงเห็นขำ เพราะว่ารถพระที่นั่งจะผ่านถนนหน้าคณะประทัตฯ ถึงทางเลี้ยวเข้าไปหน้าหอประชุมนั้น นานพอจะทรงเห็นความโกลาหลอลหม่านของพวกเราได้ถนัด เห็นสีพระพักตร์แล้วพวกเราแม้จะเปียกมะลอกมะแลกทั้งเครื่องแบบและหอบจนซี่โครงบาน รู้สึกชื่นใจจนหายเหนื่อย"

 

          ส่วนการส่งเสด็จครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้น มีบันทึกในจดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

 

          "วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ เป็นวันกำหนดเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปและสหปาลีรัฐอเมริกา เวลา ๑๑ นาฬิกา ๕๖ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมุรธาภิเษก สมเด็จพะนางเจ้าฯ พระบรมราชินีสรงน้ำพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วทรงเครื่อง เสด็จออกท้องพระโรงพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พราหมณ์ถวายน้ำเทพมนต์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน มีสมเด็จพระศรีสวินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าเป็นประธาน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีพราชปฎิสันถาร และตรัสลาทั่วกันแล้ว ได้พระฤกษ์ยาตราเวลา ๑๒ นาฬิกา ๓๕ นาที ทรงรถยนต์พระที่นั่งออกจากสวนจิตรลดา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าราชบริพาร นักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และกองทหารรักษาวัง ส่งเสด็จพระราชดำเนินหน้าพระตำหนัก"  []

 

 

นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สำรวล พุกกะณานนท์

 

 

          อนึ่ง นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยสำรวล พุกกะณานนท์ ก็ได้บันทึกเรื่องราวกรไปส่งเสด็จครั้งสุดท้ายนี้ไว้ในหนังสือ "O.V. รุ่นลายครามรำลึก พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๒๕๓๔" ว่า

 

 

          "หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนกระทั่งไทยต้องรบกันเอง แล้วเกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองอันกระทบกระเทือนถึงพระยุคลบาทซึ่งจะไม่เล่าในที่นี้ วันหนึ่งพระองค์ธานีฯ  [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการเสด็จเข้ามาในโรงเรียน ทรงมีท่าทีร้อนรน จู่ๆ เสนาบดีเสด็จเข้ามาต้องเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็สำคัญจริงๆ คือ ในหลวงกำลังจะเสด็จ ไปอังกฤษด่วน เราได้รับคำสั่งให้หยุดเรียน แต่งเครื่องแบบไปส่งเสด็จที่ท่าราชวรดิษฐ์เดี๋ยวนั้น

 

          เวลานั้น ที่นั่นไม่มีกองเกียรติยศ ไม่มีวงดุริยางค์ ไม่มีข้าราชบริพาร ไม่มีใครเลย มีแต่ครูและเด็กนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธฯ เพียงร้อยกว่าคน ยืนเข้าแถวคอยส่งเสด็จอยู่อย่างเงียบกริบ แดดจ้าแต่กลับวังเวงและเงียบเหงา
(เดยเข้าใจว่าที่ส่งเสด็จคือท่าราชวรดิษฐ์ แต่เมื่อพระองค์ท่านยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ ทำไมจึงเงียบเชียบหนัก หรือเราจำสถานที่ผิด มานึกสงสัยเอาเมื่อตอนเขียน)

 

          เราทำวันยหัตถ์ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านแถวช้าๆ เพราะจวนจะหยุดอยู่แล้ว เพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งเคยดังกระหึ่มในหัวอกดีนักกลายเป็นอดีตไป แถวเราใกล้พระองค์ท่านอย่างเคย สีพระพักตร์และแววพระเนตรบอกเรื่องราวหมด ช่างแตกต่างกับเวลาเสด็จฯ ไปโรงเรียนเสียจริงๆ สังหรณ์ว่าจะไม่ได้เฝ้าฯ ท่านอีก พวกเราโตๆ กันขึ้นมาแล้ว คงรู้สึกเหมือนๆ กัน คือ เศร้า หดหู ว้าเหว่ และสงสารพระองค์ท่านจับหัวใจ แต่การที่ทอดพระเนตรเห็นแถวพวกเราโดยมิได้ทรงคาดหวัง และทรงเห็นสีหน้าของพวกเราทำให้แววรันทดนั้นแฝงแววชื่นพระทัยอยู่ด้วย  []

 

          ทั้งที่แสนเศร้า ยังอดดีใจขึ้นมาหน่อยหนึ่งไม่ได้ ที่ยังเป็นประโยชน์แก่พระเจ้าอยู่หัวของเรา แม้เพียงนิดเดียว... กตัญญู ฝังจิด ติดแดดวง ภักดีหน่วง เหนี่ยวใจไม่จืดจาง

 

          ม่มีใครพูดอะไรกันถึงเรื่องนี้เลย แม้กระทั่งเมื่อกลับมาถึงโรงเรียนแล้ว เริ่มเข้าใจคำว่า "พระเจ้าอยู่หัว" หมายความถึงอะไร เราฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่เพราะอยู่เป็นนานตั้งหลายๆ ปี

 

          ต่อมาไม่นาน มีรับสั่งให้สำนักพระราชวังมารอถ่ายรูปพวกเราในโรงอาหาร กำลังจะกินของว่างเพื่อส่งไปให้ทอดพระเนตรที่อังกฤษ แสดงว่าทรงระลึกถึงพวกเราอยู่"

 

 

          ภายหลังจากที่ได้ไปส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินจากพระนครในวันนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ประเทศจนทรงสละราชสมบัติใน ๑ ปีเศษต่อมา

 

          เมื่อพระบทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรงสละราชสมบัติเพราะขัดแย้งกับรัฐบาลในขณะนั้นแล้ว อีกไม่กี่เดือนต่อมารัฐบาลก็มีแนวคิดจัดระเบียบราชการในพระราชสำนักอีกครั้ง แล้วได้มีคำสั่งให้โอนกองทหารรักษาวัง ว.ป.ร.ซึ่งเป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์สังกัดกระทรวงวัง ไปเป็นกองพันทหารราบที่ ๙ (ทหารรักษาวัง) สังกัดกระทรวงกลาโหม พร้อมกันนั้นก็ได้มีคำสั่งปลดพระยาบรมบาทบำรุง ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยออกจากตำแหน่ง โดยส่งพระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนธาตุผลิน) ซึ่งเคยเป็นผู้กำกับคณะพณิชฯ (คณะพญาไท) มาดำรงตำแหน่งแทน

 

 
 

*********************************

 

 


 

[ ]  จดหมายเหตุ เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖ - ๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑.

[ ]  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ต่อมาทรงได้รับพราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ในเวลานั้นทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการและนายกสภากรรมการจัดการวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว

[ ]  ในการไปส่งเสด็จคราวนั้น นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย หม่อมเจ้าพิริยดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงเป็นผู้หนึ่งที่ไปเฝ้าฯ ส่งเสด็จ ทรงเล่าประทานว่า เมื่อรถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่านแถวนักเรียนนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชะโงกพระพักตร์ออกจากหน้าต่างรถพระที่นั่ง ทรงโบกพระหัตถ์ลานักเรียน ทั้งทรงเห็นน้ำพระเนตรคลอพระพักตร์

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |