โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๒. สยามกับสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ตอนที่ ๒)

 

 

          ครั้นการสงครามในยุโรปดำเนินมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๐ จนทรงตระหนักแน่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารว่า เยอรมันจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้เป็นแน่ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดประชุมเสนาบดีสภาเป็นการลับ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ มีสมาชิกเสนาบดีสภาเข้าร่วมประชุม คือ

          ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จเรทหารทั่วไป

          ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

          ๓. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

          ๔. จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ ฉัตรกุล) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

          ๕. เจ้าพระยาอภัยราชมหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม

          ๖. เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) เสนาบดีกระทรวงคมนาคม

          ๗. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง

          ๘. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

          ๙. พระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) [] เสนาบดีกระทรวงธรรมการ

        ๑๐. พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ์) สภาเลขานุการ ทำหน้าที่จดรายงานการประชุม

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงเครื่องเต็มยศนายพลเอก นายทหารพิเศษประจำกรมกรมทหารราบเบาเดอรัม

 

 

          ในการประชุมเสนาบดีสภาวันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา สภาเลขานุการอ่านพระราชบันทึกแนวพระราชดำริในการรักษาความเป็นกลางของกรุงสยาม ซึ่งอุปทูตเยอรมันและออสเตรียแสดงความกังวลว่า จะทรงละทิ้งความเป็นกลาง อันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลสยามได้ช่วยจับพวกอินเดียที่คิดขบถ รวมทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปช่วยภรรยาและบุตรของทหารในกรมทหารราบเบาเดอรัม ((Duhram Light Infantry) ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ พระราชาธิบดีแห่งประเทศอังกฤษได้มีพระราชโทรเลขมาอัญเชิญให้ทรงรับยศเป็นนายพลเอกพิเศษแห่งกองทัพบกอังกฤษ นอกจากจะทรงตอบรับพระราชไมตรีดังกล่าวแล้ว ยังได้ทรงเชิญสมเด็จพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ให้ทรงเป็นนายพลเอกของกองทัพบกสยาม นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเอเชียได้เป็นนายพลเอกของกองทัพอังกฤษและชาวอังกฤษได้รับยศนายพลเอกของกองทัพบกสยาม

 

          แม้ว่าการดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายดังกล่าวจะเป็นการล่อแหลมต่อความเป็นกลางของประเทศสยามก็ตาม แต่ก็ทรงระมัดระวังโดยทรงหารือกระทรวงการต่างประเทศก่อนทุกครั้ง จึงไม่ทรงหวั่นไหวพระราชหฤทัยไปตามที่ทูตทั้งสองประเทศได้แสดงความกังวลมา แต่ที่ทรงพระปริวิตกนั้นคือ

 

 

          "ฐานะแท้จริงของกรุงสยามนั้น เป็นอยู่อย่างไร อาณาเขตของเราตกอยู่ในท่ามกลางระหว่างแดนของอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น ถ้าแม้เราแสดงความลำเอียงเข้าข้างเยอรมันแม้แต่น้อย เพื่อนบ้านผู้มีอำนาจ ก็คงจะได้ชนเอาหัวแบนเมื่อนั้น การที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เขายอมให้กรุงสยามคงเป็นกลางอยู่นั้น ก็เพราะเขายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้เราเข้ากับเขาเท่านั้น และถ้าเมื่อใดเขารู้สึกว่าความเป็นกลางของเราเป็นเครื่องกีดขวางแก่เขาแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยเขาคงจะไม่ยอมให้เราคงเป็นกลางอยู่เป็นแน่แท้"  []

 

 

          แต่ในเวลาที่ทรงนำเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประชุมเสนาบดีสภานั้น ทรงตระหนักแน่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารแล้วว่า กลุ่มมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีหมดหนทางที่จะเอาชนะในมหาสงครามครั้งนี้แล้ว และถ้าสยามยังคงเป็นกลางต่อไปก็คงจะมีแต่ เสมอตัว กับ ขาดทุน เพราะถ้าอังกฤษและฝรั่งเศสใจดีก็เสมอตัว แต่ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทมาว่า ฝรั่งเศสจะขอให้สยามไล่ชาวเยอรมันที่ทำราชการออกทั้งหมด และให้เราทำสัญญาการค้าใหม่ให้เขาได้เปรียบเยอรมัน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เราต้องวิวาทกับเยอรมันโดยไม่มีใครมาช่วย แต่ถ้าเราเข้าข้างสัมพันธมิตรเสียแล้ว ก็มีแต่ ทางได้ กับ เสมอตัว เพราะเมื่อสงครามสงบลงแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติที่ชนะสงครามเจรจากับนานาชาติเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและแก้พิกัดภาษีศุลกากร

 

          นอกจากนั้นยังได้ทรงกล่าวถึงเหตุผลที่ทรงเลือกประกาศสงครามกับเยอรมนีไว้พระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายเมย์นาร์ด คอลเชสเตอร์ - วีมซ (Maynard W. Colchester-Wemyss) เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า

 

 

          "เรามีสนธิสัญญากับเยอรมันที่จะต้องคำนึงถึง ตามสนธิสัญญาเก่า เยอรมันมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสยามและได้ปฏิเสธที่จะสละเอกสิทธิ์นี้ถึงแม้บริเทนใหญ่กับฝรั่งเศสจะได้กระทำแล้วก็ตาม ดังนั้น ถ้าเราจะจับกุมคนจีนสักคนและกงสุลเยอรมันอ้างว่าเขาเป็นคนในความคุ้มครองของเยอรมัน เราก็คงต้องส่งนักโทษคืน การกระทำเช่นนั้นจะช่วยผลักดันให้คนจีนอื่นๆ แสวงหาความคุ้มครองจากเยอรมันโดยทันที เนื่องจากชาวจีนจะแสวงหาความคุ้มครองจากต่างชาติก็เพื่อจะหลบเลี่ยงกฎหมายของประเทศที่ตนอาศัยอยู่เท่านั้น จริงๆ แล้ว เป็นที่รู้กันว่าชาวจีนหลายคนซึ่งมีชื่อในทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษได้แสดงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนผู้คุ้มครองเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าการเป็นคนในบังคับนั้นไม่สามารถทำให้พวกเขาไม่ต้องขึ้นศาลสยามได้อีกต่อไป

 

          จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การจัดการอย่างเฉียบขาดจึงเป็นเรื่องรีบด่วนจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้สถานะความเป็นกลางของเราก็ยิ่งลำบากมากขึ้นทุกวัน และการคงความเป็นกลางอยู่ เราก็ไม่สามารถทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพอใจได้ เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เราที่สุดไม่สามารถขจัดความระแวงที่มีต่อเราได้ทั้งหมด และผู้ต้องสงสัยชาวอินเดียหรือญวนใหม่ๆ ทุกคน ........................................... [] ความเป็นกลางที่จะเรียกว่าดีได้ก็คือความเป็นกลางที่แสร้งทำเป็นมองไม่เห็นการกระทำผิดของพวกเขา! นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องเข้าข้างพวกคุณ เนื่องจากเราไม่สามารถเข้าข้างเยอรมันได้ไม่ว่าในสภาการณ์ใดๆ"

 

 

          อนึ่ง ในเวลานั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วว่า ทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียต่างก็รู้สึกเป็นเกียรติที่สยามจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่อังกฤษยังคงแสดงท่าทีคัดค้านเพราะคำนึงถึงประโยชน์ทางการค้าอยู่ และถ้าสยามไม่คำนึงถึงท่าทีของอังกฤษแล้ว อังกฤษก็คงจะไม่ยอมรับและคงจะตอบรับการเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรของสยามเช่นเดียวกับที่ตอบประเทศจีนไปก่อนหน้านั้นว่า "ไม่รู้ไม่ชี้ จะทำสงครามกับเยอรมันก็ทำไปตามลำพัง"

 

          เมื่อที่ประชุมเสนาบดีสภาได้พิจารณาในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้เสนอความเห็นว่า หากสยามจะเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ ต้องทำอย่างมีเกียรติ ที่ประชุมเสนาบดีสภาในวันนั้นจึงได้มีมติว่า "สยามตกลงจะคุมเชิงไว้จนอังกฤษเปลี่ยนแนว"

 

          แต่อังกฤษก็ยังคงยืนกรานตามแนวทางเดิมตลอดมา ในการประชุมเสนาบดีสภาเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดโดยเชิญทูตสัมพันธมิตรมาหารือพร้อมๆ กัน แต่การนี้ก็ยังไม่เกิดผลอันใดจนกระทั่งวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงทรงแจ้งให้ที่ประชุมเสนาบดีสภาทราบว่า อังกฤษตอบรับแสดงความยินดีที่ประเทศสยามจะเข้าสงครามและร่วมรบในสงคราม ณ ทวีปยุโรป แต่อังกฤษเกี่ยงว่า ทหารไทยเท่าที่ปรากฏไม่เคยได้รบกับใครมาก่อน จึงจะให้ทหารไทยไปขนสัมภาระผ่านทะเลทรายเมโสโปเตเมียและส่งเสบียง ทรงเห็นว่า ข้อเสนอของอังกฤษนี้เป็นการหมิ่นเกียรติยศทหารไทย จึงทรงหันไปเจรจากับฝรั่งเศส และเมื่อทูตฝรั่งเศสนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กองทัพฝรั่งเศสกำลังขาดแคลนเรื่องการพาหนะ ทั้งเรื่องกองยานยนต์ นักบิน รวมทั้งเรื่องพยาบาลสนาม ขอให้สยามช่วยใน ๓ เรื่องนี้ เมื่อทรงเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของฝรั่งเศส จึงได้ทรงเตรียมการประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย–ฮังการีเป็นลำดับต่อมา

 

 

ทรงเครื่องพระมหาพิชัยยุทธสีแดง (ตามกำลังวัน) ตามตำราพิชัยสงคราม

พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบคาบค่าย ในคราวทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

 

          ล่วงพ้นเวลาเที่ยงคืนของวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ย่างเข้าสู่วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้ว ตึงได้มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมออกประกาศรับสมัครและคัดเลือกชายฉกรรจ์จำนวนกว่าพันคนจัดเป็นกองทหารบกรถยนต์และกองบินทหารบก พร้อมทั้งหมวดพยาบาล ไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป

 

          ก่อนที่กองทหารอาสาจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงส่งนายและพลทหารทุกคนที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และได้พระราชเสมาเงินมีสายพร้อม ด้านหน้าเป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ ร.พระมหามงกุฎ มีฉัตรเครื่องสูงสองข้าง และที่ด้านหลังจารึกอักษรว่า "พระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม ๒๔๖๐" กับเสื้อโอเวอร์โค๊ตแก่นายและพลทหารทุกคน และในวันรุ่งขึ้นก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับรักษาพระองค์ที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญยังได้พระราชทานโคลงสยามานุสสติให้เป็นเครื่องเตือนใจนายและพลทหารที่จะไปในงานพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรปด้วย 

 

 

ลายพระราชหัตถ์โคลงสยามานุสสติ

 

 

 


 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ]  ม.ล.ปิ่น มาลากุล. "ก่อนประกาศสงคราม", มานวสาร ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๗ (กรกฎาคม ๒๕๒๒), หน้า ๙.

[ ]  ข้อความในต้นฉบับภาษาอังกฤษไม่สมบูรณ์

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |