โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๔. ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ ๖ (๑)

 

 

          เมื่อกล่าวถึงสุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้อ่านทุกท่านคงนึกถึง "ย่าเหล" สุนัขที่ได้ชื่อว่าเป็น "มิตรแท้" ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ พระอนุชาพร้อมด้วยเจ้านายที่ประทับทรงศึกษาในยุโรป

ทรงร่วมกันจัดแสดงละครเรื่อง My Friend Jarlet ของ อาร์โนลด์ โกลสเวอธี (Arnold Golsworthy) และ
อี. บี. นอร์แมน (E.B. Norman)

ในการรื่นเริงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐

 

(แถวนั่งจากซ้าย)

๑. หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร (ปอล ลาตูร์) 
๒. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (มารี เลอรูซ์)
๓. นายอาร์. อี. โอลิเวียร์ (เอมิล ยาร์เลต์)

(แถวยืนจากซ้าย)

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ (พลทหาร) 
๒. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ (นายทหาร) 
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ

 

 

          คำว่า "มิตรแท้" นี้ มีที่มาจากบทละครเรื่อง "My Friend Jarlet" ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงร่วมกับพระอนุชาและเจ้านายที่ประทับทรงศึกษาอยู่ในยุโรปจัดแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ และต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถได้ทรงจัดแสดงถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรุสเซีย

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
ทรงแสดงเป็น มารี เลอรัวซ์ ในเรื่อง My Friend Jarlet ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรุสเซีย
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒

 

 

          เมื่อเสด็จนิวัติพระนครในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว นอกจากจะได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมราชเลขานุการเพื่อทรงเรียนรู้ข้าราชการทั้งปวง กับทรงเป็นนายพลเอเอก จเรทัพบก นายพลเรือเอก จเรทัพเรือ และราชองครักษ์พิเศษแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งทำให้ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่นครปฐมอยู่เนือง

 

          วันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ระหว่างประทับแรมที่พระตำหนักนันทอุทยาน จังหวัดนครปฐม ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเรือนจำมณฑลนครไชยศรี และมีผู้เห็นเหตุการณ์ได้เล่าไว้ว่า ในระหว่างเสด็จทอดพระเนตรสถานที่ต่าง ๆ ภายในเรือนจำนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขพันทาง ๒ ตัว ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขพันธุ์ไทยที่เติบโตอยู่ในเรือนจำมณฑลนครไชยศรี ส่วนตัวพ่อนั้นเป็นสุนัขพันธุ์ต่างประเทศของ "เจ้าคุณเทศา" คือ พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม สุนทรารชุน)  [] สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี ซึ่งจวนของท่านเจ้าคุณเทศาอยู่ติดกับเรือนจำนั้นเอง

 

          ในเวลานั้นลูกสุนัขทั้งสองกำลังนอนดูดนมแม่อยู่ที่เชิงบันไดโรงครัวภายในเรือนจำ เมื่อทอดพระเนตรเห็นลูกสุนัขทั้งสองตัวนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงดีดพระหัตถ์เรียก ลูกสุนัขตัวที่ขนยาวปุยสีขาว มีด่างดำที่ใบหน้า ขนบนหลังเป็นสีดำเหมือนอานม้า หูตก หางเป็นพวง ได้วิ่งมาเฝ้าคลอเคลียแทบเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับแรมที่สวนนันทอุทยานแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารในพระองค์คนหนึ่งมาขอลูกสุนัขนั้นไปทรงเลี้ยง และโดยที่ลูกสุนัขทั้งสองยังไม่หย่านม หลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันทน์)  [] พธำมรงค์เรือนจำมณฑลนครไชยศรี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายลูกสุนัขทั้งสองไปพร้อมกับแม่สุนัขนั้น

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน
ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย "ย่าเหล" สุนัยทรงเลี้ยง

 

 

          เมื่อทรงรับแม่และลูกสุนัขทั้งสองมาเป็นสุนัขทรงเลี้ยงนั้น เป็นเวลาที่กำลังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทละครเรื่อง "My Friend Jarlet" เป็นภาษาไทยในชื่อ "มิตร์แท้" โดยมีเนื้อเรื่องย่อว่า เมื่อเยอรมันเข้ายึดครองฝรั่งเศสคราวสงครามฟรังโก - ปรัสเซียน (Franco - Prussian War) เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๗๐ – ๗๑ มีชาวฝรั่งเศสคิดทำการกู้ชาติโดยทางลับ ซึ่งเรียกกันในสมัยหนึ่งว่า "อันเดอร์กราวนด์" (Underground) หรือปฏิบัติการใต้ดิน วันหนึ่งปอลซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสมาคมลับใต้ดินนี้ถูกทหารเยอรมันจับได้ และจะถูกประหารชีวิตเพราะมีการกระทำอันเป็นจารชน แต่ปอลนั้นหลงรักมารีผู้เป็นหลานสาวของเจ้าของโรงแรมที่ตนพักอยู่กับยาร์เลต์ผู้เป็นสหายสนิท ฝ่ายยาร์เลต์นั้นเกรงว่า หากปอลแต่งงานกับมารีแล้วตนจะลำบากเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย จึงพยายามกีดกันมิให้ปอลกับมารีได้ติดต่อกัน ถึงวันที่ปอลโดนจับและทหารเยอรมันจะมานำตัวปอลไปประหารนั้น ยาร์เลต์ได้สนทนากับมารีและทราบความว่า มารีนั้นคือธิดาของตน แต่ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเพราะยาร์เลต์ได้เลิกรากันไปกับมารดาของมารีตั้งแต่มารียังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อปอลกลับมาที่โรงแรมเพื่อจะร่ำลามารีก่อนที่ทหารเยอรมันจะมาคุมตัวไปประหารนั้น ยาร์เลต์จึงได้อาสาไปตายแทนเพื่อให้คนที่ตนรักทั้งสองได้ครองคู่ร่วมกันอยู่พอดี จึงได้โปรดพระราชทานนามลูกสุนัขตัวสีขาวมีจุดด่างดำที่วิ่งมาคลอเคลียอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทนั้นว่า "ย่าเหล" ซึ่งแปลงมาจากชื่อตัวละคร "ยาร์เลต์" ส่วนสีน้ำตาลอีกตัวหนึ่งนั้นพระราชทานนามว่า "ปอล"

 

          ปอลคงจะมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว จึงไม่มีผู้ใดกล่าวถึงปอลอีกเลย ส่วนย่าเหลเมื่อได้เข้ามาอยู่ในพระราชสำนักแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้คุณมหาดเล็กคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูย่าเหล เป็นต้นว่า จัดการอาบน้ำฟอกสบู่โรยแป้งฝุ่นหอมให้แก่ย่าเหล และนำย่าเหลขึ้นเฝ้าทุก ๆ เช้าในเวลาที่ตื่นพระบรรทม ต่อจากนั้นย่าเหลก็จะรับหน้าที่เสมือนมหาดเล็กคอยหมอบเฝ้าและตามเสด็จมิให้คลาดไปจากสายพระเนตร เวลาที่ทรงพระอักษรหรือประทับเสวยพระกระยาหาร ย่าเหลก็จะหมอบเฝ้าอยู่ใกล้ที่ประทับ แม้แต่เวลาเสด็จลงทรงกีฬา หรือเสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระราชฐานที่ประทับ ย่าเหลก็จะตามเสด็จไปด้วยทุกหนแห่ง เวลาเสด็จเข้าพระบรรทม ย่าเหลก็ยังตามเสด็จไปหมอบเฝ้าอยู่มิห่างจากพระแท่นบรรทมเสมือนเป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทมเลยทีเดียว ในยามที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนอกพระราชฐาน ย่าเหลก็จะตามมาส่งเสด็จถึงรถพระที่นั่ง และเมื่อได้ยินทหารรักษาวังที่กองรักษาการณ์หน้าประตูพระราชฐานเป่าแตรคำนับเป็นสัญญาณว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าเอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับมาแล้ว ย่าเหลก็จะมารอเฝ้ารับเสด็จอยู่ที่อัฒจันทร์เทียบรถพระที่นั่งเช่นเดียวกับคุณมหาดเล็กและพระตำรวจที่เข้าเวรประจำการในวันนั้น

 

          ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลที่ห่างไกล ซึ่งต้องเสด็จรอนแรมไปในป่าเขาที่ทุรกันดารก็โปรดให้ย่าเหลตามเสด็จไปด้วยทุกคราว ทั้งคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ประพาสเมืองพระร่วงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ทรงพระราชบันทึกถึงย่าเหลไว้ใน "จดหมายเหตุประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้" ว่า

 

 

          "เมื่อบ่ายวานนี้   [] มีเหตุออกจะขัน ๆ อยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งผมไม่ได้เห็นแก่ตาเอง ผมได้ฟังเขาเล่าภายหลัง คือในเวลาก่อนที่จะเสด็จประพาส คุณจางวางรถม้า  [] ท่านอยู่เปล่า ๆ ท่านจึงคิดจะถ่ายรูปเล่น แต่ท่านต้องการรูปแปลก ท่านจึงให้ปจูงแพะมาตัวหนึ่ง แล้วท่านเรียกเหลลงไปยุให้เห่าแพะ ท่านหมายว่าจะถ่ายกำลังเหลเห่า พะเอินแพะก็ตกใจกลัวเหล ถอยหนีร่ำไปต้องตอยลากออกมาให้ยืนตรงที่เหมาะ คราวนี้พอจะเปิดกล้องเหลโดดเข้าไปกัดแพะเข้าจริงๆ แพะตกใจวิ่งหนี คุณจางวางรถม้าก็เที่ยววิ่งตามไล่แพะด้วยกล้อง เขาว่าวิ่งกันรอบ ๆ พระที่นั่งจนเหนื่อยทั้งคนทั้งแพะและทั้งสุนักข์ คุณจางวางรถม้านั้นได้ทราบว่าท่านเสียท่าอย่างไรไม่ทราบจนตกเขา ขาบวมฟกไปหมด ดูเหมือนตกลงรูปก็เลยไม่ได้ถ่าย ผมเสียใจจริง ๆ ที่ผมไม่ได้อยู่ในที่นั้นด้วย ถ้าผมอยู่บางทีผมจะได้ถ่ายรูปท่านผู้ถ่ายรูปแพะอีกต่อหนึ่ง ฤาบางทีผมจะมัวต้องวิ่งเล่นเอาเถิดไปเสียด้วยอีกคนหนึ่งก็เป็นได้"  []

 

 

          ย่าเหลนั้นได้ชื่อว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด และมีความจงรักภักดีต่อเบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเยี่ยงมหาดเล็กในพระองค์คนหนึ่งเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้จากเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วได้พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมเป็นเข็มรูปพระวชิราวุธคมเงินด้ามทองให้แก่ย่าเหล เป็นเครื่องหมายว่า ย่าเหลได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กมาแต่ก่อนเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญราชรุจิและเสมาอักษรพระบรมนามภิไธยย่อ ว.ป.ร.ทองคำให้แก่ย่าเหลเพื่อเป็นพยานว่า ย่าเหลได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเช่นเดียวกับข้าราชบริพารทั้งหลาย นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำแผ่นทองคำลงยามีตัวอักษรสีดำจารึกข้อความว่า "ฉันชื่อย่าเหล เป็นสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ห้อยคอย่าเหลไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ที่ผู้พบเห็นย่าเหลภายนอกพระราชฐานได้ทราบและนำกลับมาถวายคืน กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ย่าเหลมีเงินเดือน ๆ ละ ๔๐ บาทเท่ากับเงินเดือนชั้นมหาดเล็กสำรอง (เทียบเท่าว่าที่นายร้อยตรี)
 

 

"กุฏิย่าเหล" ในเขตสังฆาวาสวัดพระปฐมเจดีย์

 

 

          เงินเดือนของย่าเหลนี้โปรดให้เก็บรวบรวมไว้ แล้วได้พระราชทานไปในการกุศลต่าง ๆ ในนามของย่าเหล เช่น โปรดพระราชทานไปเป็นทุนก่อสร้างกุฏิปฏิบัติธรรมของเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ได้พระราชทานนามกุฏินั้นว่า "กุฏิย่าเหล" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ 

 

 

 


 

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพุทธเกษตรานุรักษ์ มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมรักษาพระปฐมเจดีย์

[ ]  วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เวลานั้นประทับแรมที่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ เมืองระนอง

[ ]  ตือ นายวรการบัญชา (เทียบ อัศวรักษ์) ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลตำรวจโท พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้, หน้า ๒๕.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |