โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๕. ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ ๖ (๒)

 

 

          การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงย่าเหลเหมือนเป็นคุณมหาดเล็กคนหนึ่งนี้เอง จึงคงจะทำให้ย่าเหลลำพองตนว่าเป็นสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลยทำให้คุณมหาดเล็กบางคนเกิดความหมั่นไส้ และคอยหาเหตุกลั่นแกล้งย่าเหลอยู่เสมอ ๆ เล่ากันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจภายนอกพระราชฐานคราใด คุณมหาดเล็กซึ่งเป็นคู่ปรับกับย่าเหลก็มักจะถือโอกาสนั้นรังแกย่าเหลอยู่เสมอ แต่ถึงแม้จะเป็นสุนัข ก็ใช่ว่าย่าเหลจะยอมให้ถูกรังแกเอาง่าย ๆ พอได้ยินทหารรักษาวังที่หน้าประตูพระราชฐานเป่าแตรคำนับ ๓ จบเป็นสัญญาณว่า เสด็จพระราชดำเนินผ่านประตูพระราชฐานเข้ามาแล้ว ย่าเหลก็จะไปรอรับเสด็จอยู่ที่เชิงอัฒจันทร์เทียบรถพระที่นั่ง แล้วก็จะตามเสด็จขึ้นสู่ที่ประทับ พอเดินผ่านคนที่เคยรังแกตน ย่าเหลก็จะตรงเข้าไปงับหน้าแข้งคนผู้นั้นทันทีเป็นการกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าคุณมหาดเล็กผู้นั้นได้รังแกตนในยามที่เสด็จไม่อยู่ แต่ก็ไม่ปรากฏว่า มีคุณมหาดเล็กคนใดต้องรับพระราชอาญาเพราะรังแกย่าเหลเลย จะมีบ้างก็แต่เพียงรับสั่งตำหนิฉันนายกับบ่าว ดังที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงประสาท สุขุม ได้บันทึกไว้ว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร.
ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วยมหาดเล็กรับใช้ชุดแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

 

(นั่งพื้นจากซ้าย)

๑. หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์
(ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์)
๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
(ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา )

(ยืนจากซ้าย)

๑. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล 
๒. หม่อมเจ้าดิศศานุวัตร ดิศกุล 
๓. นายหยิบ ณ นคร
๔. นายปาณี ไกรฤกษ์ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ายวด)
๕. หม่อมเจ้าหัชชากร วรวรรณ 
๖.นายประสาท สุขุม

 

 

          "ข้าพเจ้าชอบสัตว์โดยเฉพาะสุนัขมาก ฉะนั้นในโอกาสที่ข้าพเจ้าเข้าเฝ้า และอยู่ใกล้ย่าเหลข้าพเจ้ามักจะรังแกมันเสมอ โดยการแอบบีบหางบ้าง บีบขาบ้าง ดึงขนบ้าง แล้วแต่ใกล้อะไร และในทำนองเดียวกัน ย่าเหลก็โกรธข้าพเจ้า มันก็หันมากัดบ้างตามภาษาหมาของมันเท่าที่มันจะแสดงออกมาได้ แต่ทว่ามันชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ข้าพเจ้าถูกพระองค์กริ้วข้าพเจ้าบ่อย ๆ ในครั้งนึ่งถ้าจะทรงรำคาญ จึงมีพระราชดำรัสว่า

          "ไอ้นี่ชอบกัดกับหมาจริง"

          นับแต่นั้นก็ทรงขนานนามข้าพเจ้าว่า "ไอ้หมา"

          ดังที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ บางทีจะเข้าใจกันถ่องแท้ว่า ข้าพเจ้าได้ชื่อว่า  "ไอ้หมา" มิใช่ไปกัดกับย่าเหล แต่ถ้าจะเข้าใจว่า  "ข้าพเจ้ากัดกับย่าเหลจนได้ชื่อว่าไอ้หมาก็คงไม่แปลกอะไรนัก""  []

 

 

          ย่าเหลนั้นแม้นว่าจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงเป็นอย่างดีเพียงไรก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมชาติของสัตว์ที่ต้องหาโอกาสเล็ดลอดออกไปแสวงหาความสุขตามวิถี และการเล็ดรอดหนีออกไปเที่ยวนอกพระราชฐานเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้นเอง ที่ทำให้ย่าเหลต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิต ดังมีบันทึกในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของกรมพระอาลักษณ์ว่า เวลาบ่าย ๕ โมง ทรงรถยนต์แต่พระที่นั่งอัมพรสถานเสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพุ่มเข้าพรรษาแด่พระสงฆ์ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามลำดับ
 

 

          "...เวลาค่ำ เสด็จจากวัดพระเชตุพนไปสวนสราญรมย์ ประทับเสวยที่นั้น เวลา ๓ ยามเสด็จกลับ วันนี้เมื่อเวลาเสด็จวังสราญรมย์ สุนัขชื่อ "ย่าเหล" ที่ทรงเลี้ยงไว้ จะเที่ยวไปติดสัตว์ฤาอย่างไรไม่ทราบ มีผู้ยิงด้วยปืนลูกกลดตายที่ระหว่างถนนข้างวัดพระเชตุพน แลนำเอาไปทิ้งไว้ที่ถังฝุ่นฝอยของกรมศุขาภิบาล มีสีมาทองคำลงยาที่จารึกอักษรว่า "ฉันชื่อย่าเหล" เปนสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลสีมานี้ก็หายไปด้วย..."  []

 

 

หีบบรรจุศพย่าเหล ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์

 

 

          การเสียชีวิตของย่าเหลนี้คงจะนำความวิปโยคโทมนัสมาสู่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่น้อย คุณมหาดเล็กที่ได้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจึงกล่าวไว้ตรงกันว่า ล้นเกล้าฯ ทรงสลดในพระราชหฤทัยจนสังเกตเห็นได้จากสีพระพักตร์ที่หม่นหมอง ทรงเงียบและไม่มีรับสั่งกับผู้ใดไปหลายวัน แม้กระนั้นก็ไม่ปรากฏว่า มีรับสั่งหรือทรงสงสัยว่าผู้ใดเป็นผู้ทำร้ายย่าเหล หากแต่โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำหีบบรรจุศพย่าเหล เป็นหีบไม้แกะสลักลงรักปิดทองมีรูปศีรษะย่าเหลติดอยู่ที่ข้างหีบ แล้วโปรดให้นำหีบนั้นบรรจุศพย่าเหลขึ้นรถไฟกลับไปยังนครปฐมซึ่งเป็นบ้านเกิด โปรดให้นักเรียนมหาดเล็กหลวงเนื่อง สาคริก แต่งเครื่องแบบลูกเสือหลวง เดินนำแถวลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงพร้อมแตรวง มีขบวนตลกหลวงของกรมมหรสพที่โปรดให้สวมหัวเป็นสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุนัข แมว ฯลฯ และขบวนชาวบ้านอีก ๑๐ ตำบล จัดเป็นขบวนแห่ศพย่าเหลจากพระราชวังสนามจันทร์ไปยังเมรุที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นเป็นการเฉพาะที่วัดพระปฐมเจดีย์

 

 

ผ้าเช็ดหน้าพิมพ์ลายเป็นรูปย่าเหลพร้อมของพระราชทาน
ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพย่าเหล

 

 

          เมื่อยกหีบศพย่าเหลขึ้นตั้งบนจิตกาธานแล้ว ทรงจุดชนวนฝักแคทำเป็นลูกหนูด้วยพระราชหัตถ์ เมื่อชนวนลูกหนูวิ่งตามสายไปยังศพของย่าเหล เป็นเสร็จการพระราชทานเพลิงศพย่าเหลเพียงเท่านี้ ด้วยไม่โปรดให้บุคคลอื่น ๆ ขึ้นเผาศพย่าเหลต่อท้ายการพระราชทานเพลิงศพเช่นงานอื่น ๆ ส่วนของที่ระลึกในงานนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นผ้าเช็ดหน้าสีขาว ตรงกลางพิมพ์ภาพย่าเหลยืนเต็มตัว กับมีภาพสิ่งของที่ได้พระราชทานไว้แก่ย่าเหล คือ เข็มข้าหลวงเดิม เหรียญราชรุจิ และเสมาอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ พิมพ์ไว้ที่มุมบนขวาและมุมล่างซ้ายขวาของผ้าเช็ดหน้านั้นด้วย

 

          นอกจากนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปย่าเหลด้วยทองแดงทำเป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่หน้า "พระตำหนักเหล" หรือที่ต่อมาพระราชทานนามใหม่ว่า "พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์" ซึ่งคำว่าชาลีนี้เป็นภาษาอังกฤษ ตรงกับคำว่า "ยาร์เลต์" ในภาษาฝรั่งเศส หรือ "ย่าเหล" ในภาษาไทย ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกบทกลอนพระราชนิพนธ์แสดงความอาลัยรักย่าเหลไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์นั้น ดังนี้

 

 

          อนุสาวรีย์นี้เตือนจิตร์

ให้กูคิดรำพึงถึงสหาย

อ้อาไลยใจจู่อยู่ไม่วาย

กูเจ็บคล้ายศรศักดิ์ปักอุรา

ยากที่ใครเขาจะเห็นหัวอกกู

เพราะเขาดูเพื่อนเห็นแต่เปนหมา

เขาดูแต่เปลือกนอกแห่งกายา

ไม่เห็นฦกตรึกตราถึงดวงใจ

เพื่อนเปนมิตรชิดกูอยู่เนืองนิตย์

จะหามิตรเหมือนเจ้าที่ไหนได้

ทุกทิวาราตรีไม่มีไกล

กูไปไหนเจ้าเคยเปนเพื่อนทาง

ช่างจงรักภักดีไม่มีหย่อน

จะนั่งนอนยืนเดินไม่เหินห่าง

ถึงยามกินเคยกินกับกูพลาง

ถึงยานนอน ๆ ข้างไม่ห่างไกล

อันตัวเพื่อนเหมือนมนุษสุจริต

จะผิดอยู่แต่เพียงพูดไม่ได้

แต่เมื่อกูใคร่รู้ความในใ

ก็มองดูรู้ได้ในดวงตา

โอ้อกกูดูเพื่อนอยู่หลัด

เพื่อนมาพลัดพรากไปไม่เห็นหน้า

กูเผลอ ๆ ก็เชง้อเผื่อเพื่อนมา

เสียงกุกกักก็ผวาตั้งตามอง

อันความตายเปนธรรมดาโลก

กูอยากตัดความโศกกระมลหมอง

นี่เพื่อนตายเพราะผู้ร้ายมันมุ่งปอง

เอาปืนจ้องสังหารผลาญชีวี

เพื่อนมอดม้วยมือทุรชน

เอารูปคนสวมใส่คลุมใจผี

เปนคนจริงหรือจะปราศซึ่งปรานี

นี่รากษสอัปรีปราศเม็ตตา

มันยิงเพื่อนเหมือนกูพลอยถูกด้วย

แทบจะม้วยชีวังสิ้นสังขาร์

จะหาเพื่อนเหมือนเจ้าที่ไหนมา

ช้ำอุราอาไลยไม่วายวัน

เมื่อยามมีชีวิตร์สนิทใจ

ยามบรรไลยลับล่วงดวงใจสั่น

ด้วยอำนาจจงรักภักดีนั้น

ขอให้เพื่อนขึ้นสวรรค์สำราญรมย์

ถึงจะมีหมาอื่นมาแทนที่

กูก็รักเพื่อนนี้เปนปฐม

ที่ไหนเล่าจะสนิทและชิดชม

ที่ไหนเล่าจะนิยมเท่าเพื่อนรัก

ถึงแม้จะไม่มีรูปนี้ไว้

รูปเพื่อนฝังดวงใจกูตระหนัก

แต่รูปนี้ไว้เปนพยานรัก

ให้ประจักษ์แก่คนผู้ไมตรี

เพื่อนเปนเยี่ยงอย่างมิตรสนิทยิ่ง

ภักดีจริงต่อกูอยู่เต็มที่

แม้คนใดเปนได้อย่างเพื่อนนี้

ก็ควรนับว่าดีที่สุดเอย.

 

 

 


 

[ ]  ประสาท สุขุม. “ไอ้นี่ชอบกัดกับหมาจริง”, มานวสาร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ (มีนาคม ๒๕๒๙), หน้า ๒๒ - ๒๓.

[ ]  จดหมายเหตุพระราชกิรายวันในพระบาสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖).

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |