โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๖. เมืองมหาวิทยาลัย (๑)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษนั้น พระชนมายุเกินกว่าที่จะเสด็จเข้าทรงศึกษาในพับลิคสกูล (Public School) ซึ่งกล่าวกันว่า "มีวิธีอบรมที่ดีกว่าโรงเรียนอย่างอื่น ๆ"  [] การอบรมนักเรียนในพับลิคสกูลนั้นเขามุ่งหมายให้นักเรียนเป็น "ผู้รู้จักเล่นเกม He plays the game นี่เป็นศัพท์ที่อังกฤษใช้เสมอ แปลว่าเล่นเกมถูกต้อง รู้จักรักและนึกถึงการช่วยเหลือเพื่อนของตน ไม่ใช่เอาเปรียบ เป็นของสำคัญมากเป็นการอบรมนิสสัยอย่างดี"  [] เซอร์เบซิล ทอมสัน ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจัดมาเป็นผู้ถวายการศึกษาจึงได้จัดให้ทรงศึกษาแบบโฮมสกูล (Home School) ณ ที่ประทับ จนทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ กับวิชาพลเรือนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าของอังกฤษที่ "เปรียบเหมือนเป็นโรงประจำต่อยอดจากปับลิกสกูลของอังกฤษ"  []

 

 

Christ Church College, Oxford University

 

 

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายพร้อมด้วยสมาชิก Cosmopolitan Club ที่ Christ Church College, Oxford University

 

 

          การที่ได้ประทับทรงศึกษาอยู่ท่ามกลางชาวอังกฤษเป็นเวลานานถึง ๙ ปี ทำให้ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า การอบรมนักเรียนตามแบบพับลิคสกูลแล้วไปต่อยอดที่มหาวิทยาลัยแบบเก่า เช่น อ๊อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดซ์นั้น "ทำให้อังกฤษเป็นชาติที่รุ่งเรืองมีอำนาจใหญ่โตในโลกได้จนมีประเทศราชทั่วไปทั้งโลก เพราะเหตุว่ามีนิสสัย "รู้จักเล่นเกม" นี่เองแม่ทัพสำคัญของอังกฤษ คือ ดุยุ๊ค ออฟ เวลลิงตัน ที่เป็นผู้ชนะพระเจ้านะโปเลียนที่ ๑ ในการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูนั้น ได้กล่าวว่า "ข้าพเจ้าชนะการยุทธ์ที่วอเตอร์ลูบนสนามกีฬาที่โรงเรียนอีตัน[]นขณะเดียวกันก็ทรงพระราชดำริว่า "ประเทศทั้งหลายย่อมเจริญได้ด้วยการศึกษา ประเทศใดปราศจากการศึกษา ประเทศนั้นต้องเป็นป่าเถื่อน"  [] เพราะเหตุฉะนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยสิริราชสมบัติแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นแทนพระอารามหลวงประจำรัชกาล โปรดให้จัดการศึกษาในโรงเรียนนั้นตามแบบพับลลิคสกูลของอังกฤษ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งเดิมมุ่งผลิตนักเรียนออกรับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นพื้นขึ้นเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นับเป็นพระราชกรณียกิจแรกในรัชกาล

 

 

โฉนดที่ดินบริเวณสวนกระจัง พระราชวังดุสิต

ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

ผังที่ดินบริเวณสวนกระจัง

แสดงให้เห็นร้องสวนก่อนที่จะมีการขุดสนะเพื่อปรับพื้นที่เป็นสนามของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เมื่อแรกที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนทั้งสองขึ้นเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในการเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งแรกในรัชกาลนั้น คงโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนทั้งสองนั้นเปิดการเล่าเรียนอยู่ที่ตึกยาวริมประตูพิมานไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่สวนดุสิต ที่มีชื่อเรียกว่า "สวนกระจัง" ริมคลองเปรมประชากร เนื้อที่ ๙๙ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา ให้เป็นที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือที่ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย"

 

 

 


[ ]  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. "พระราชดำรัสพระราชทานแก่อาจารย์ ครู และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในงานวันรื่นเริงประจำปีของโรงเรียน วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑", ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๒๓ - ๑๒๕.

[ ที่เดียวกัน

[ ]  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา). "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย", หนังสือมหาวิทยาลัย ฉบับ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๐: มหาธีรราชานุสรณ์, หน้า ๓๔๕ - ๓๔๙.

[ ]  ประมวลพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า ๑๒๓ - ๑๒๕.

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. "พระราชดำรัสตอบคำกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายเสื้ออาจารย์ของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๖", พระบรมราโชวาทกับวชิราวุธวิทยาลัย, หน้า ๘๙ - ๙๐.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |