โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๓๘. คณะ (๑)

 

 

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้ความหมายคำว่า "คณะ" ไว้ว่า "หมู่, พวก, ฝูง: แผนกวิชาหนึ่ง ๆ ในมหาวิทยาลัย" [] แต่สำหรับนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยแล้ว คณะ กลับมีความหมายถึงที่พักอาศัยซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของนักเรียน ซึ่งตรงกับคำว่า "House" ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกที่พักของนักเรียนใน Public School

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโรงเรียนแรฟเฟิลส์ (Raffle School) ซึ่งเป็น Public School ที่อังกฤษจัดตั้งขึ้นที่สิงคโปร์แล้ว ก็ได้มีพระราชดำริที่จะจัดให้มีโรงเรียนแบบ Public School ขึ้นในประเทศไทย เพื่อเตรียมนักเรียนออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนแบบ Public School แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ฝั่งธนบุรี ทรงจ้างครูชาวอังกฤษเข้ามาเป็นครูใหญ่และครูผู้สอน จัดการเรียนการสอนตามแบบ Public School ของอังกฤษเต็มรูปแบบแล้ว จึงมีการนำคำว่า "บ้าน" มาใช้เรียกที่พักนักเรียนแทนคำว่า House ใน Public School และคำว่าบ้านนี้คงติดมากับโรงเรียนราชวิทยาลัย แม้จะย้ายที่ตั้งมาตั้งที่สาวยสวลีสัณฐาคาร และบางขวางในเวลาต่อมา และแม้โรงเรียนราชวิทยาลัยจะถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ในชื่อ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัยในยุคหลังนี้ ก็ยังคงเรียกที่พักเรียนนั้นว่า "บ้าน" ตลอดมา ต่างกันแต่เพียงชื่อบ้านที่เดิมเรียกว่า บ้าน A, B, C, D มาเปลี่ยนเป็นบ้าน ๑, ๒, ๓, ๔ ในยุค ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย

 

 

ผังแสดงที่ตั้งโรงเรียนชั่วคราวที่สวนกระจัง
ตอนหน้า (ขวาของภาพ) เป็นที่ตั้งหอประชุมและห้องเรียน

ตอนกลางเป็นเรือนพักนักเรียนเด็กโตเรียกว่า เรือน ก, ข, ค, ง,จ และเรือนเด็กเล็ก

 

 

          แต่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นแทนพะอารามหลวงนั้น ในยุคแรกตั้งโรงเรียนที่ในพระบรมมหาราชวังจะเรียกที่พักนักเรียนว่าอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่เมื่อย้ายมาเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนชั่วคราวในที่ดิน "สวนกระจัง" ที่พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนถาวรเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้น มีหลักฐานว่า ที่พักนักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นแยกเป็น "เรือน" เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูงหลังคามุงจาก ตั้งเรียงกันในแนวทิศตะวันออกไปตะวันตก รวม ๕ เรือน มีนามเรียกขานเรียงกันว่า เรือน ก, ข, ค, ง, จ

 

 

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ ๒๔๓๖
แสดงที่ตั้งวัดพันเตา วัดหอธรรม วัดสบขมิ้น วัดสบฝาง
ที่รายล้อมพระเจดีย์หลวง เจติยถานสำคัญประจำเมืองนครเชียงใหม่

 

 

          อนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นนั้น มีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นประดุจพระอารามหลวงประจำรัชกาล ฉะนั้นในการวางผังก่อสร้างโรงเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดหรือปัจจุบันเรียกว่า หอประชุมไว้ที่กึ่งกลางโรงเรียน ให้หอสวดนั้นเป็นประดุจเจติยสถานสำคัญใจกลางเมืองเฉกเช่น พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระบรมธาตุเจดีย์เมืองสุโขทัย และพระเจดีย์หลวงนครเชียงใหม่ โดยมีตึกนอนนักเรียนตั้งประจำอยู่ที่ ๔ มุมโรงเรียน ในทำนองเดียวกับที่พระเจดีย์สำคัญทั้ง ๓ องค์นั้นต่างก็มีพระอารามเป็นที่สถิตแห่งพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ ๔ มุมพระเจดีย์สำคัญนั้น

 

          ครั้นการก่อสร้างตึกนอนนักเรียนที่ ๔ มุมโรงเรียนแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกหมู่ตึกที่พักนักเรียนนั้นว่า “คณะ” ในทำนองเดียวกับหมู่กุฎีสงฆ์ในพระอาราม เพราะอีกนัยหนึ่งในเมื่อโรงเรียนนี้เปรียบเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลแล้ว ครูและนักเรียนที่อยู่ประจำในรงเรียนจึงเปรียบเสมือนพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในพระอารามหลวงนั้น

 

 

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงตึกคณะที่ ๔ มุมโรงเรียน

 

 

          ตึกคณะแต่ละคณะที่ ๔ มุมโรงเรียนนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นหมู่ตึก ๓ หลัง มีลวดลายปูนปั้นที่ด้านนอกตัวตึกแตกต่างกันไป แต่พื้นที่ใช้สอยภายในมีเท่ากันทั้ง ๔ คณะ ตึกหลังกลางใช้เป็นที่อยู่ของนักเรียนซึ่งในเวลานั้นมีอยู่ราวคณะละ ๔๐ คน ส่วนตึกอีก ๒ หลังที่มีทางเดินเชื่อมต่อกับตึกใหญ่นั้น หลังหนึ่งจัดเป็นที่พักของครูกำกับเรือนนักเรียนและครอบครัว ส่วนอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของอาจารย์ชาวต่างประเทศที่ทำหน้าเป็นอนุสาสกประจำคณะ เว้นแต่คณะบรมบาทซึ่งในเวลานั้นจัดเป็นคณะเด็กเล็ก แต่ครูกำกับเรือนคือ พระยาบรมบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการโรงเรียนด้วย ได้แยกไปพักอยู่ที่ "โรงเรือ" ที่ริมสระน้ำในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นตึกรามจิตติ ตึกที่จัดเป็นที่พักของครูกำกับคณะจึงใช้เป็นที่พักของหม่อมพะยอมในพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์ศรีวิไลยวรวิลาศ ซึ่งเป็นครูแม่บ้านประจำคณะแทน
 

 

คณะอภิรักษ์ ราว พ.ศ. ๒๔๖๓
ขณะกำลังเปลี่ยนกระเบื้องจากเมืองจีนขึ้นมุงแทนกระเบื้องซิเมนต์เคลือบสี
ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงวังจัดทำขึ้นเป็นการชั่วคราว

 

 

          เมื่อแรกย้ายนักเรียนเข้าพักอาศัยในตึกใหม่ทั้ง ๔ นั้น นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาเรียกที่พักนักเรียนนี้ว่า "คณะ" แล้ว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกชื่อคณะตามราชทินนามของครูผู้กำกับคณะนั้น ๆ เช่น

 

 

พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวะธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (นั่งเก้าอี้ที่ ๖ จากซ้าย)
ถ่ายภาพพร้อมด้วย หลวงจรัสอักษรกูล (ม.ล.จรัส อิศรรางกูร) ครูกำกับคณะ (นั่งเก้าอี้ที่ ๕ จากซ้าย)
และนักเรียนคณะจรัส ราว พ.ศ. ๒๔๖๕

คณะบรมบาท

มีพระยาบรมบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) เป็นครูกำกับคณะ

คณะอภิรักษ์

มีพระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง รจนานนท์) เป็นครูกำกับคณะ

คณะจรัส

มีหลวงจรัสอักษรกูล (ม.ล.จรัส อิศรางกูร) เป็นครูกำกับคณะ

คณะจรูญ

มีหลวงจรูญอักษรศักดิ์ (ฮี้ อุรัสยนันทน์) เป็นครูกำกับคณะ

 

 

พระวิเศษศุภวัตร (เทศน์สุนทร กาญจนศัพท์) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ (นั่งเก้าอี้ที่ ๕ จากซ้าย)
ถ่ายภาพพร้อมด้วยหลวงสนธิวิชากร (แดง หงสวีณะ) ครูกำกับคณะสนธิ (นั่งเก้าอี้ที่ ๔ จากซ้าย)
และนักเรียนคณะสนธิ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ราว พ.ศ. ๒๔๖๕

 

 

                สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ซึ่งแบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ คณะนั้น ก็มีการนำราชทินนามของครูกำกับคณะมาใช้เรียกเป็นชื่อคณะเหมือนกัน ดังมีชื่อคณะเมื่อแรกตั้งโรงเรียนนั้นว่า

 

คณะวิเศษ

มีหลวงวิเศษศภวัตร์ (เทศสุนทร  กาญจนศัพท์) เป็นครูกำกับคณะ

คณะประทัต

มีหลวงประทัตสุนทรสาร (เหล่ง  บุณยัษฐล) เป็นครูกำกับคณะ

 

 

 


[ ]  ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๔๙๓, หน้า ๒๒๒.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |