โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

 

๔๐. สรรเสริญเสือป่า หรือ สรรเสริญบทพระสุบิน

 

 

          เมื่อกล่าวถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินแล้ว นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยทุกคนคงจะนึกึงเพลงที่วงจุลดุริยางค์บรรเลงในเวลาปิดพระวิสูตรบนหอประชุมเป็นแน่ แต่น้อยคนคงจะทราบว่า เพลงนี้มีที่มาและมีลำดับศักดิ์ความสำคัญอย่างไร ฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ ในตอนนี้จึงขอฝากเรื่องของเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินไว้กับน้อง ๆ ดังนี้

 

 

จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

 

 

          เพลงสรรเสริญเสือป่า หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้งทรงเป็นนายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมชุนนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และนายกองตรี ผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครสวรรค์ ทรงพระนิพนธ์ถวายเมื่อแรกสถาปนากองเสือป่าใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ดังมีความปรากฏในปกพระนิพนธ์โน้ตเพลงสรรเสริญเสือป่าว่า

 

 

 

 

          เพลงสรรเสริญเสือป่านี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แตรวงกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ เริ่มบรรเลงเพลงนี้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ในการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและพระราชทานธงไชยเฉลิมพลกองเสือป่ามณฑลนครสวรรค์ ที่สนามหน้าศาลารัฐบาลมณฑลนครสวรรค์ ดังมีบันทึกในราชกิจจานุเบกษาว่า "เสด็จประทับพลับพลายก สมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวง เสด็จมาประทับด้วย สมาชิกเสือป่าแลลูกเสือมณฑลตั้งแถวที่สนามหญ้าน่าพลับพลา พระราชทานธงประจำกองแลธงนายหมู่ด้วย พระยารณไชยชาญยุทธ์   [] เชิญธงเข้าประจำกองแล้ว เดิรธงผ่านแถวกองเสือป่า แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่า"  []

 

          การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าในการพระราชทานธงไชยเฉลิมพลเสือป่ามณฑลนครสวรรค์นี้ เป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่ นายกองตรี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ผู้ทรงพระนิพนธ์เพลงนี้ซึ่งทรงมีพระนามกรมพ้องกับนามมณฑลและทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษกรมเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครสวรรค์ด้วย

 

 

มหาศารทูลธวัช หรือธงไชยเฉลิมพลประจำคณะเสือป่า

 

 

ศารทูลธวัช (ธงไชยเฉลิมพล) กรมนักเรียนเสือป่าหลวงรักษาพระองค์

 

 

          ต่อจากนั้นยังได้พบหลักฐานอีกว่า ได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าเป็นเพลงเคารพมหาศารทูลธวัชประจำคณะเสือป่า และศารทูลธวัชประจำกรมกองเสือป่า รวมทั้งในระหว่างเวลาเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลเสือป่าและลูกเสือในวโรกาสต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า เพลงสรรเสริญเสือป่านี้เป็นเพลงเคารพมีเกียรติยศเสมอด้วยเพลงมหาไชย

 

          อนึ่ง เนื่องจากเพลงสรรเสริญเสริญเสือป่านี้ มีที่มาจากเพลงสรรเสริญพระบารมีเก่าซึ่งมีที่มาจากพระสุบินนิมิตในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพลงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า สรรเสริญพระจันทร์บ้าง บุหลันลอยเลื่อนบ้าง บุหลันเลื่อนลอยฟ้าบ้าง นอกจากนั้นในตอนท้ายของเพลงนี้ยังมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างไปจากเพลงอื่น ๆ คือ ตอนจบของเพลงเสียงดนตรีจะค่อย ๆ เบาลง ๆ จนเงียบหายไปในราตรีกาล ฉะนั้นเมื่อทรงพระนิพนธ์เพลงสรรเสริญเสือป่าขึ้น จึงได้ทรงกำหนดให้ตอนท้ายของเพลงนี้ค่อย ๆ เบาลงจนเงียบหายไปในที่สุด

 

          เพลงสรรเสริญเสือป่าคงมีบทบาทเป็นเพลงเคารพของคณะเสือป่ามาตราบจนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และต้องสูญหายไปจากสังคมไทยพร้อม ๆ กับกองเสือป่าที่หายเข้าป่าไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้วชิราวุธวิทยาลัยฟื้นฟูการดนตรีซึ่งได้ซบเซาไปนับแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องดนตรีและครูมาฝึกสอน เมื่อฝึกหัดนักเรียนจนสามารถจัดตั้งเป็นวงจุลดุริยางค์ขึ้นได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ แล้ว พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้วงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าในเวลาปิดพระวิสูตรพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์บนหอประชุม [] เป็นสัญญาณส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ต่อจากนั้นมาจึงได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดให้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าในวาระสำคัญที่เนื่องในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นลำดับมา เช่น สำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติจัดให้วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงนี้แทนการบรรเลงเพลงมหาฤกษ์เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๖ และเมื่อมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดให้มีการแสดงละครพระราชนิพนธ์หรือกิจกรรม ณ โรงละครศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์ ก็ได้จัดให้มีการบรรเลงเพลงสรรเสริญเสือป่าก่อนเริ่มการแสดงละครหรือเริ่มกิจกรรม เป็นสัญญาณว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับทอดพระเนตรการแสดงละครหรือทรงเป็นประธานในการจัดกิจกรรมนั้น ๆ จึงนิยมกันว่า เพลงสรรเสริญเสือป่านี้คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

 


[ ]  นามเดิม ทองศุข โชติกเสถียร ในเวลานั้นเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครสวรรค์และผู้บังคับกองเสือป่ารักษาดินแดนมณฑลนครสวรรค์

[ ]  "ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ (ต่อคราวก่อน)", ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ (๒๒ ตุลาคม ๑๓๐), หน้า ๑๖๐๑ - ๑๖๐๖.

[ ]  ธรรมเนียมการเปิดปิดพระวิสูตรนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดไว้ตั้งแต่แรกตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีสัญญาว่า เมื่อเปิดพระวิสูตรหมายถึงได้เสด็จออกประทับเป็นประธานในพิธีนั้นแล้ว และเมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะชักพระวิสูตรปิดเป็นสัญญาณว่าเสด็จขึ้นแล้ว

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๓๑  |  ๓๒  |  ๓๓  |  ๓๔  |  ๓๕  |  ๓๖  |  ๓๗  |  ๓๘  |  ๓๙  |  ๔๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |