โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๑. พระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

 

 

          ในตอนที่ว่าด้วยวิถีชีวิตของมหาดเล็กนั้น หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่มหาดเล็กและการใช้ชีวิตของมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้หลากเรื่องตามความเข้าใจของผู้เขียนหนังสือดังกล่าว ซึ่งความในหนังสือนั้นล้วนผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง ฝากเรื่องราวไว้กับน้องๆ ในตอนต่อไปนี้จึงขอนำเสนอเรื่องการดำรงชีวิตของมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในแง่มุมต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้

 

 

มหาดเล็กสมเด็จพระบรมฯ

 

          สำหรับ "วิถีชีวิตของนายใน" ที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้นำเสนอเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงมหาดเล็กเด็กๆ ไว้ว่า "การถวายตัวเพื่อปรนนิบัติรับใช้เจ้านายในพระราชฐานชั้นใน จึงเปลี่ยนไปจากผู้หญิงเป็นผู้ชายถวายตัว"  [] นั้น ออกจะเป็นคำกล่าวที่ผิดไปจากความเป็นจริง เพราะสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้นทรงเป็นเจ้านายฝ่ายหน้า และเมื่อเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๕ นั้น ยังไม่ทรงมีพระชายาหรือหม่อม ฉะนั้นในพระราชสำนักสมเด็จพระบรมฯ จึงคงมีแต่มหาดเล็กจากกรมมหาดเล็กที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้มาประจำรับราชการในพระองค์ ซึ่งเรียกกันว่า "ข้าราชการมหาดเล็ก" มีนายจ่ายง [] (สาย ณ มหาชัย) เป็นหัวหน้าเรียกกันว่า "จางวางสาย" กับมหาดเล็กเด็กๆ ซึ่งบิดาผู้ปกครองได้นำมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เรียกกันว่า "หม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการ" มีหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ เป็นหัวหน้าเด็ก และหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ [] (นกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ปกครองดูแลมหาดเล็กเด็กๆ นั้นต่างพระเนตรพระกรรณ

 

          ข้าราชการมหาดเล็กนั้นมีหน้าที่ถวายการรับใช้ตามพระราชประเพณี แต่ส่วนหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชการนั้น เนื่องจากยังเป็นเด็กอายุระหว่าง ๑๒-๑๘ ปี ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน จึงมีหน้าที่สำคัญคือการเล่าเรียน และคอยเฝ้าทูลละอองพระบาทถวายการรับใช้ส่วนพระองค์เล็กๆ น้อยๆ ในเวลากลับมาจากโรงเรียนแล้ว และเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ ที่มีอายุเกินกว่า ๑๘ ปีเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในวัยเล่าเรียนก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นนักเรียนประจำกินนอนอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงทั้งสิ้น

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งที่พระราชวังสนามจันทร์

นักเรียนมหาดเล็กรัชใช้ปาณี ไกรฤกษ์ โดยเสด็จพระราชดำเนินมาท้ายรถยนต์พระที่นั่ง

 

 

          สำหรับเรื่องที่ "ม.ล.ปิ่น มาลากุล กล่าวว่า เหตุการณ์จักรยานยนต์นักเรียนมหาดเล็กรับใช้ชนกับรถบรรทุกหลวง  "แดงพญา" เป็นเหตุให้นายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) กะโหลกศีรษะแตกตาย และม.ร.ว.เฉลิมลาภ นักเรียนมหาดเล็กรับใช้อีกคนที่ซ้อนท้ายกระดูกไหปลาร้าหัก สร้างความเศร้าสลดพระราชหฤทัยต่อพระองค์อย่างมากจนมีพระราชดำรัสจะทรงขอซื้อจักรยานยนต์ของนายในทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุแบบนี้อีก"  [] นั้น คงจะเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาแก่เด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้เสมือนเป็น "ลูก" และโดยส่วนพระองค์นั้นก็ทรงถือว่าพระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ของเด็กๆ ดังได้กล่าวแล้วในบทที่ ๑ ฉะนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถยนต์บรรทุกของหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ จนเป็นเหตุให้นายจ่ายวด (ปาณี ไกรฤกษ์) และม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส นั้น ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อผู้ต้องสูญเสียลูกและเห็นลูกบาดเจ็บจะทุกข์โทมนัสแสนสาหัส และการสูญเสียคราวนั้นคงจะฝังอยู่ในพระราชหฤทัยตลอดมา ฉะนั้นเมื่อพระอดิศัยสวามิภักดิ์ (สรร สันติเสวี) กราบบังคมทูลขอพระราชทานรถมอเตอร์ไซค์ไว้ใช้งานส่วนตัว จึงมีพระราชกระแสตอบว่า "อยากหาที่ตายรึ?"  []

 

          ส่วนการพระราชทานพระมหากรุณาชำระหนี้สินแก่มหาดเล็กและข้าราชบริพารในพระองค์นั้น น่าจะมาจากการที่ทรงถือว่า มหาดเล็กนั้นคือคนรับใช้ของพระเจ้าแผ่นดิน การที่มหาดเล็กไปมีหนี้สินและหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ย่อมจะสร้างความเสื่อมเสียไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็น "นาย" ของมหาดเล็กเหล่านั้น ฉะนั้นการที่ทรงพระมหากรุณาชำระหนี้สินแทนมหาดเล็กนั้น นอกจากจะเป็นการป้องกันความเสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศแล้ว ยังทำให้มหาดเล็กผู้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณายิ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติกำลังความสามารถ พระมหากรุณาธิคุณนี้ยังเผื่อแผ่ไปถึงทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เช่น นายร้อยโท แม้น สังขวิจิตร ซึ่งเป็นข้าราชการทหารสังกัดกระทรวงกลาโหมมิใช่ข้าราชสำนักเช่นบรรดามหาดเล็ก แต่เป็นผู้มีหน้าที่ถวายอารักขาใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา

 

 

มหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทม

 

          อนึ่ง ที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ ได้กล่าวถึงมหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทมว่า มีโอกาสถวายการรับใช้เฉพาะสองต่อสอง จึงทำให้มหาดเล็กทั้งสองกองนี้มีโอกาสได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เหรียญตราโดยตรงอย่างสม่ำเสมอนั้น ก็ออกจะเป็นคำกล่าวที่เกินจริงไปสักหน่อย เพราะผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้ได้เฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทนั้นในข้อเท็จจริงมีแต่มหาดเล็กเด็กๆ ที่ทรงชุบเลี้ยงไว้เสมือน "ลูก" "เพราะพระองค์ทรงถือเอาเด็กเป็นเสมือนเพื่อนผู้ใกล้ชิด ไว้วางพระราชหฤทัย (ปกติผู้ใหญ่มิได้อยู่เฝ้าใกล้ชิดเลย นอกจากชั่วขณะที่เข้าปฏิบัติหน้าที่การงาน)"  [] ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพระราชกิจในแต่ละวัน เริ่มจากตื่นพระบรรทม สรง และผลัดพระภูษาพร้อมเสยกระยาหารเช้าแล้ว ก็จะเสด็จออกจากห้องพระบรรทมไปประทับทรงพระอักษร โดยในตอนต้นรัชกาลเป็นหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมคอยเฝ้าอยู่ที่หน้าห้องทรงพระอักษร ต่อเมื่อมีมหาดเล็กรับใช้และมหาดเล็กกองราชเลขานุการแล้ว จึงโปรดให้เป็นหน้าที่มหาดเล็กรับใช้และมหาดเล็กกองราชเลขานุการเป็นเวรคอยถวายการรับใช้ ถึงเวลาเสด็จลงเสวยพระกระยาหารกลางวันก็เป็นหน้าที่ข้าราชการผู้ใหญ่ในกรมมหาดเล็กเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสนองพระราชบรรหาร โดยมีมหาดเล็กกองตั้งเครื่องเป็นเวรถวายการรับใช้ เรื่อยไปจนถึงเวลาเสวยพระกระยาหารค่ำและทรงเล่นต่างๆ ในเวลากลางคืน ครั้นทรงเลิกการเล่นแล้วบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาทรงเล่นนั้นก็จะตามไปส่งเสด็จถึงหน้าห้องพระบรรทม แล้วจึงถวายบังคมลากลับไปยังที่พักของตน จากนั้นจึงเป็นหน้าที่มหาดเล็กห้องพระบรรทมซึ่งเป็นเวรวันละ ๔ คนเฝ้ารับเสด็จและถวายการรับใช้จนเสด็จเข้าพระที่แล้ว จึงกราบถวายบังคมลาไปพักผ่อนยังห้องพักที่อยู่ใกล้ห้องพระบรรทมนั้น ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีมหาดเล็กห้องพระบรรทมคนหนึ่งเป็นเวรนอนใกล้ที่ประทับ เพื่อทรงเรียกใช้สอยได้ในเวลาประทับในพระที่

 

          ดังได้กล่าวมาจะเห็นได้ว่า มหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทมนี้มีเวลาปฏิบัติราชการแตกต่างจากข้าราชการกรมกองอื่นๆ รวมทั้งที่สังกัดกระทรวงทั่วไป เพราะข้าราชการนอกจาก ๒ กองนั้นล้วนมีเวลาปฏิบัติราชการที่แน่นอนวันละ ๘ ชั่วโมง มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ แต่มหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทมนั้นต้องเข้าเวรรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตลอด ๒๔ ชั่วโมง มีวันทำการและวันหยุดสลับกันชนิดเข้าเวรวันหนึ่งออกเวรวันหนึ่ง ไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์เช่นข้าราชการทั่วไป การปฏิบัติราชการของมหาดเล็กจึงพอจะเปรียบได้กับข้าราชการทหารที่ปฏิบัติราชการในสมรภูมิซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นับเวลาปฏิบัติราชการเป็นทวีคูณ

 

          ส่วนที่กล่าวกันว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีพระราชนิยมพระราชทานบรรดาศักดิ์มหาดเล็กในทำเนียบสำหรับมหาดเล็กกองตั้งเครื่องและกองห้องพระบรรทมโดยเฉพาะ อีกทั้งบรรดาศักดิ์มหาดเล็กในทำเนียบนั้นผูกติดกับยศ ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการทหาร และโดยที่มหาดเล็กทั้ง ๒ กองนั้นล้วนเป็นผู้มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ได้ทอดพระเนตรเห็นความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการของบรรดามหาดเล็กเหล่านั้นด้วยสายพระเนตรตลอดเวลา การพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่มหาดเล็กทั้งสองกองจึงเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งต่างจากข้าราชการกรมอื่นที่ยศ เงินเดือน และบรรดาศักดิ์มิได้ผูกติดกับตำแหน่งหน้าที่เช่นมหาดเล็กในทำเนียบ อีกทั้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการกระทรวงและกรมอื่นๆ นั้นล้วนมีผู้บังคับบัญชารับผิดชอบต่างพระเนตรพระกรรณอยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของเสนาบดีเจ้ากระทรวงหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเป็นผู้กราบบังคมทูลเสนอขอบำเหน็จความชอบแก่ข้าราชการเหล่านั้น ซึ่งก็มีระเบียบแบบแผนปรากฏเป็นที่แน่ชัด และเมื่อมีการพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ครั้งใดย่อมมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์รวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานสัญญาบัตรหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในเวลาอันควรทุกราย สำหรับผู้ที่ประจำรับราชการในต่างประเทศหรือในหัวเมืองที่ห่างไกลไม่สะดวกที่จะมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ด้วยตนเอง ก็ย่อมจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงจัดส่งสัญญาบัตรหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออกไปพระราชทาน ฉะนั้นที่หนังสือ "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖ กล่าวว่า "การเลื่อนบรรดาศักดิ์นายในมีลักษณะพิเศษกว่าข้าราชการทั่วไป ตรงที่ไม่เพียงยกระดับบรรดาศักดิ์ แต่ยังยกระดับตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน และยศด้วยโดยไม่ต้องประกาศเป็นทางการ"  [] จึงไม่เป็นความจริงดังที่หนังสือนั้นกล่าวไว้
 

 

ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงฉายที่ร้านหลวงในงานฤดูหนาว พ.ศ. ๒๔๖๖

(จากซ้าย) นักเรียนราชวิทยาลัยอุทัย แสงรุจิ รองหุ้มแพร หลวงวิจิตรพัสตราภรณ์ (เพี้ยน แสงรุจิ)

เจ้าของร้านวิวิธภูษาคาร และเด็กหญิงพร้อม แสงรุจิ

 

 

          ส่วนการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินนั้น แม้ในรัชกาลก่อนๆ ก็เคยมีการพระราชทานบรรดาศักดิ์เช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เจ้าสัวยิ้ม พิศลยบุตร นายอากรหวย ก.ข. และเจ้าภาษีนายอากรเป็นพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ หรือจีนอูเต็ง โสภโณดร และจีนบุญเย็น โสภโณดร ผู้เป็นหุ้นส่วนห้างกิมเซ่งหลี เป็นหลวงอุดรภัณฑ์พานิช และหลวงจิตรจำนงวานิช มาก่อน ฉะนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ นายบุญรอด เศรษฐบุตร เป็นพระยาภิรมย์ภักดี หรือเจ้าสัวแต้ฮง เตชะวณิช ที่รู้จักกันในนาม "ยี่กอฮง" อดีตนายอากรหวย ก.ข. ผู้เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต๊กเซี่ยงตึ๊ง หรือ "ปอเต๊กตึ๊ง" เป็นพระอนุวัตรราชนิยม หรือนายเพี้ยน แสงรุจิ เจ้าของวิวิธภูษาคาร ร้านตัดเครื่องแบบเสือป่าและเครื่องแบบข้าราชการเป็นหลวงวิจิตรพัสตราภรณ์ หรือนายเซ่งชง เจ้าของร้านตัดเย็บเครื่องหนัง เซ่งชง เป็นหลวงประดิษฐ์บาทุกา ฯลฯ ล้วนเป็นบำเหน็จความชอบในการที่ท่านเหล่านั้นได้ทำประโยชน์แก่แผ่นดินโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน อีกทั้งยังเป็นเครื่องบำรุงน้ำใจให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาเหล่านั้นได้มีความสำนึกในเกียรติยศพิเศษที่ได้รับพระราชทาน และเป็นกำลังใจให้ทำความดีเพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินยิ่งๆ ขึ้น ทั้งเพื่อเป็นแบบอย่างให้พ่อค้าชาวจีนที่มุ่งมากอบโกยผลประโยชน์จากแผ่นดินสยามแล้วส่งกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนซึ่งทรงเรียกว่า "พวกยิวแห่งบุรพทิศ" ได้สำนึกตระหนักถึงทำหน้าที่ที่พึงตอบแทนแผ่นดินสยามที่สร้างความร่ำรวยให้แก่คคนเหล่านั้น

 

 

 


[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๓๔.

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นมหาดเล็ก ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวร แล้วเลื่อนเป็น พระเทพทวาราวดี เจ้ากรมในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในรัชกาลที่ ๖ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาเทพทวาราวดี แล้วเป็นพระยาบำเรอบริรักษ์ ตามลำดับ

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุรินทราชา

[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๓๕.

[ ]  "เหตุการณ์บางอย่างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สัมภาษณ์พระอดิศัยสวามิภักดิ์ โดย บรรณาธิการ", มานวสาร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๑ (พฤศจิกายน ๒๕๒๙), หน้า ๘-๑๓.

[ ]  พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์). "พระมหากรุณาแก่เด็ก", อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุนทรพิพิธ, หน้า ๑๓๑

[ ]  "นายใน" สมัยรัชกาลที่ ๖, หน้า ๓๗.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |