โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๖. เรื่องของกรมหลวงชุมพรฯ (๑)

 

 

นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ทรงเครื่องเต็มยศเมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสรริยยศเป็น นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

 

 

          เรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดแย้งกับนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น  มีการกล่าวถึงกันในหลายแง่มุม  แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงที่มาของการจัดแย้งนั้น  ขอเท้าความให้ท่านผู้อ่านได้จักประประวัติของนายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์  หรือ "เสด็จเตี่ย" ของบรรดาทหารเรือกันเสียก่อน

 

          นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด  บุนนาค  เมื่อวันที่  ๑๙  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๒๓  ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์  ทรงมีพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ๑ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส

 

          เนื่องจากทรงมีพระชนมายุแก่กว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เพียง ๑๓ วัน  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษพร้อมกัน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

 

          เมื่อเสด็จถึงประเทศอังกฤษแล้ว  พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปเป็นพระอภิบาลได้จัดให้ประทับทรงศึกษาอยู่ด้วยกัน  เพราะในชั้นต้นนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้ทั้งสองพระองค์ทรงเล่าเรียนวิชาการทหารเรือ  แต่ในระหว่างที่ยังทรงเล่าเรียนวิชาสามัญอยู่นั้น  สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเทพ

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี

ทรงฉายพระฉายาลักษณ์พร้อมด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

เมื่อแรกเสด็จถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

 

 

          ทวาราวดีทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงต้องทรงเปลี่ยนไปทรงศึกษาวิชาทหารบกและวิชาพลเรือนเพื่อเตรียมพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป แม้กระนั้นก่อนที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์จะทรงแยกไปเรียนวิชาการทหารเรือ ก็ยังคงประทับทรงศึกษาอยู่ด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทั้งยังได้โดยเสด็จไปในการทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ อยู่เสมอ ดังมีความตอนหนึ่งในจดหมายที่หม่อมราชวงศ์สิทธิ์  สุทัศน์ [] ส่งเข้ามากราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมติอมรพันธุ์ [] ราชเลขานุการเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ว่า

 

 

          "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ก็ทรงสำราญพระทัย และทรงพระเจริญขึ้นมากทั้งพระองค์และศิลปะวิทยาการซึ่งทรงเล่าเรียนอยู่ทุกวันนี้

 

          เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๑๑๓ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย มีพระเสาวนีย์เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระองค์เจ้าอาภากรไปเฝ้าที่พระราชวังวินด์เซอร์ ครั้นเสด็จไปถึงวินด์เซอร์แล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระเจ้าลูกเธอ ได้เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ปรินเซสลุวิสก่อน ประมาณครู่หนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าเสด็จออก แล้ว Sir Fleetwood Edwards ได้ชักนำให้ทรงรู้จักกัน สมเด็จพระนางเจ้าได้ทรงตรัสทักทายปราศรัยตามสมควร แล้วจึ่งมีพระราชเสาวนีย์สั่งให้ Marques of Lorne, Lord Hawkesbury และ Sir Fleetwood Edwards เชิญเสด็จไปประพาสของต่างๆ ที่มีอยู่ในพระราชวัง แล้วเสด็จขึ้น

 

          รั้นเสด็จทอดพระเนตรสิ่งของทั่วทุกห้องแล้ว Sir Fleetwood Edwards จึ่งได้เชิญเสด็จไปเสวยน้ำชา ครั้นเสวยแล้วจึ่งเสด็จกลับ เวลาประมาณบ่าย ๔ โมงเศษ"  []

 

 

          นอกจากนั้นในขณะที่ประทับทรงศึกษาร่วมกันที่ประเทศอังกฤษนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ยังได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ไปทอดพระเนตรโรงงานทำปืนใหญ่และโรงงานต่อเรือรบของบริษัทอาร์มสตรองที่เมืองนิวคาสเซิล ในระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ และเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ในประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ระหว่างวันที่ ๑๓ กรกฎาคม - ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ แล้วเสด็จไปประทับที่พักผ่อนพระอิริยาบถที่ตำบลเตรเกสเตล (Tregastel) ใกล้ลานิยอง (Lannion) ทางฝั่งเหนือของฝั่งเหนือของฝรั่งเศส โดยมีมิสเตอร์ทอมสันตามไปถวายพระอักษรด้วย ต่อจากนั้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองต์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ จึงแยกไปทรงศึกษาเพื่อเตรียมพระองค์เข้าโรงเรียนนายเรือ แต่เมื่อถึงวันหยุดก็เสด็จกลับมาประทับพร้อมกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่นๆ อยู่เสมอ จนเสด็จไปเข้าโรงเรียนนายเรือในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอทรงสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้เสด็จกลับเข้ามารับราชการทหารเรือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ในขณะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ยังทรงประทับศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และได้เสด็จนิวัติพระนครในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๕

 

          ชนวนเหตุความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น กล่าวกันว่า เริ่มมีขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องที่ทำให้ทรงขัดแย้งกันนั้นเริ่มมาจากนักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการอ้างถึงบันทึกของนายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท (เจือ สหนาวิน) ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และประทับอยู่ที่พระราชวังสราญรมย์นั้น โปรดการเล่นโขนละคร ทรงรับมหาดเล็กใหม่ๆ เข้ามาฝึกเป็นตัวโขนตัวละคร มหาดเล็กเหล่านี้บางคนก็เป็นลูกผู้ดีมีตระกูล บางคนเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาแต่หน่วยก้านดีมีแววทางนาฏศิลป์ พวกแรกมักอยู่ในระเบียบดีไม่มีปัญหา แต่พวกหลังบางคนนิสัยดี มีบางคนอวดตัวว่าเป็นถึงมหาดเล็กของเจ้านายใหญ่โตเลยคึกคะนองไม่ค่อยจะเกรงใคร

 

          วันหนึ่งนักเรียนนายเรือหนุ่ม ๒ คนซึ่งเป็นศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แต่งตัวเครื่องแบบขาวนักเรียนนายเรือเดินผ่านไปทางถนนสนามไชย ผ่านพวกมหาดเล็กหนุ่มๆ กลุ่มใหญ่ที่กำลังเตะฟุตบอลกันอยู่ พอมหาดเล็กเห็นนักเรียนนายเรือสองคน ซึ่งหนึ่งในสองคนนั้นคือ นักเรียนนายเรือเจือ สหนาวิน เดินอกผายไหล่ผึ่งผ่านไป แล้วหยุดทำความเคารพธงชาติตอนหกโมงก่อนที่จะก้าวผึ่งผายออกเดินพร้อมกัน พวกมหาดเล็กอยากแซวขึ้นมา จึงเกิดมีหัวโจก ส่งเสียงเป็นจังหวะ ว่า หนึ่ง หนึ่ง หนึ่งสอง ตามจังหวะก้าวเดิน นักเรียนนายเรือเห็นมหาดเล็กมาลูบคม ก็เอาจริงขึ้นมา จึงเกิดถามทำนองต่อว่ากัน ถามกันไปถามกันมาไม่มีใครยอมรับ ก็เลยเกิดเป็นมวยหมู่ขึ้นมาระหว่างนักเรียนนายเรือ ๒ คนและมหาดเล็กหลายสิบชกต่อยกันชุลมุนอยู่พักใหญ่ มหาดเล็กตะโกนให้ทหารยามหน้ากระทรวงกลาโหมจับนักเรียนนายเรือ ทหารยามไม่กล้าจับ มีนายทหารคนหนึ่งเห็นเหตุการณ์ก็ร้องบอกให้นักเรียนนายเรือหลบหนีไปเสีย เพราะว่ากำลังของอีกฝ่ายมากกว่า นักเรียนนายเรือทั้งสองก็เลยแหวกพวกมหาดเล็กซึ่งไม่กล้าทำอะไรจริง กลับบ้านไปได้

 

          ปรากฏว่านายเจือได้รับบาดเจ็บ หน้าบวมปากเจ่อไปตามระเบียบ แต่ก็ไปเรียนหนังสือต่อได้ไม่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส ความทราบไปถึงผู้บังคับการโรงเรียน นายนาวาตรี หลวงพินิจจักรพันธุ์ (สุริเยศ อมาตยกุล ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสาครสงคราม) เรียกตัวไปตักเตือนและให้ทำรายงานเสนอขึ้นไป แต่ก็แค่นั้นเพราะดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร

 

 

จอมพลเรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อครั้งทรงดะงพระอิสริยยศเป็น

นายพลเรือเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร จเรทัพเรือ

 

 

          ต่อมา ๓ - ๔ เดือน เรื่องที่นึกว่าจบกันไปแล้วก็กลับลุกลามเป็นเหตุใหญ่โต ด้วยมหาดเล็กกลุ่มนั้นไปกราบบังคมทูลฟ้องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ว่าถูกนักเรียนนายเรือมาข่มเหงถึงหน้าวัง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ กริ้วว่าผู้ก่อเหตุเป็นนักเรียนของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มารังแกมหาดเล็กของพระองค์ จึงทรงทำเรื่องกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

 

          เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงทราบและทรงสืบสาวราวเรื่องหาข้อเท็จจริงได้แล้ว ก็ไปเฝ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ชวนกันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลว่าในความเป็นจริง มีนักเรียนนายเรือแค่ ๒ คนเท่านั้น แต่มหาดเล็กหลายสิบคน ใครข่มเหงใครกันแน่ ไม่มีกฎหมายที่ไหนออกว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ทรงสนับสนุนว่าเป็นความจริง ทั่วโลกไม่มีกฎหมายว่าคนน้อยข่มเหงคนมาก มีแต่คนมากข่มเหงคนน้อย

 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผินพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แล้วมีกระแสพระราชดำรัสว่า "พ่อโตก็ไม่ควรเอาเรื่องเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มากล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราว เสียเวลา" นายเจือก็เลยรอดพ้นจากความผิด เรียนจบเข้ารับราชการในกองทัพเรือ เข้าวังได้ใกล้ชิดกับพระโอรสธิดาที่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งชราจึงได้เขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้รู้กันสำหรับคนรุ่นหลัง

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร

[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์

[ ]  นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์). "จดหมายหม่อมราชวงศ์สิทธิ์ ฉบับที่ ๒", วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ (๑ มกราคม ๒๕๒๘), หน้า ๑๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |