โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

 

๕๘. เรื่องของกรมหลวงชุมพรฯ (๓)

 

 

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต

เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ

 

 

          ครั้น ณ วันที่ ๖ เมษายนได้มีประชุมเสนาบดีสภาตามธรรมดา, แล้วฉันจึ่งได้พบพูดเรื่องกรมชุมพรกับน้องชายเล็ก  [] และกรมนครไชยศรี  []. ท่านทั้งสองนี้ก็ออกความเห็นว่าควรให้กรมชุมพรออกเป็นกองหนุนเสียคราว ๑, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เฃาทั้งหลายตีราคาไว้.

 

          ต่อมาวันที่ ๘ เมษายนฉันจึ่งได้มีโอกาสให้หาเสนาบดีทหารเรือเฃ้าไปพูดจาเรื่องนั้น, และฉันได้ชี้แจงความเห็นของฉันให้ฟังโดยพิสดาร. ดูท่าทางบริพัตร์ออกจะวิตกอยู่, คือเกรงว่า ถ้าให้กรมชุมพรออกพวกนายทหารที่เปนศิษย์จะหัวเสียและอาจจะทำบ้าอะไรได้ต่างๆ มีลาออกพร้อมกันเปนต้น. แต่ลงปลายก็รับว่าผู้ที่ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว จะให้ทำราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญไม่ได้อยู่เอง, แล้วและเลยกล่าวขึ้นว่าเห็นควรให้วุฒิชัย  [] เปนเจ้ากรมยุทธศึกษาแทน, ฉันก็ตกลงเห็นชอบด้วย.

 

          ครั้น ณ วันที่ ๑๑ เมษายน ฉันได้รับจดหมายจากบริพัตร์แสดงความวิตกต่างๆ ในการที่จะให้กรมชุมพรออกจากราชการประจำ; แต่ความเห็นของฉันก็ยังมียืนอยู่ตามเดิมว่าต้องให้ออก, เพื่อรักษาอำนาจแห่งราชการ. ฉันได้ส่งจดหมายของบริพัตร์ไปให้น้องชายเล็กและกรมนครชัยศรีดู, ก็ได้รับตอบในวันรุ่งขึ้น ว่าไม่ควรรั้งรอไว้อีกต่อไป, ฉันจึ่งได้ตกลงตอบไปยังบริพัตร์ สั่งให้กรมชุมพรออกจากประจำการกรมทหารเรือ หนังสือต่างๆ เนื่องด้วยเรื่องนี้มีอยู่บริบูรณ, รักษาไว้ที่กรมราชเลฃาธิการ.

 

          ต่อมาอีกไม่ช้า, ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้นเอง, กรมชุมพรได้ขอเฃ้ารับราชการในกองทัพเรือตามเดิม ที่ฉันรับเอาเฃ้าทำราชการกรมมหาดเล็กนั้น เพาะต้องการควบคุมให้ได้สดวกประการ ๑, กับอีกประการ ๑ ฉันบังเกิดความรู้สึกกระดากขึ้นในใจว่าอาจจะได้ประพฤติต่อกรมชุมพรข้อนฃ้างแรงเกินไปสักหน่อย เมื่อคำนึงดูว่าทั้งผู้ที่เปนโจทก์ ทั้งผู้ที่ได้เปนที่ปรึกษาในเมื่อวินิจฉัยคดีนั้นเปนผู้ที่ไม่ชอบกับกรมชุมพรส่วนตัวอยู่. แต่กรมชุมพรก็มีความผิดจริงอยู่ด้วย ดังได้กล่าวมาแล้วซึ่งจะละเลยเสียทีเดียวนั้นก็หาได้ไม่."  []

 

 

          จากพระราชบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงติดใจเอาความในเรื่องที่นักเรียนนายเรือวิวาทกับมหาดเล็กเลย และเมื่อตรวจสอบเรื่องการพระราชทานนามสกุลยังพบอีกว่า นายเรือตรี เจือ กระทรวงทหารเรือ หรือที่ต่อมาได้รับพระราชทานยศบรรดาศักดิ์เป็น นายนาวาตรี หลวงจบเจนสมุท ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล "สหนาวิน" เป็นนามสกุลลำดับที่ ๒๓๑ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ย่อมชวนให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่า หากนักเรียนนายเรือเจือ สหนาวิน เป็นคู่กรณีวิวาทกับมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่ได้บันทึกไว้จริง นักเรียนนายเรือเจือจะกล้าขอพระราชทานนามสกุลและจะมิได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับต้นๆ เพียงระยะเวลาเดือนเศษๆ นับแต่มีการพระราชทานนามสกุลเชียวหรือ?

 

          ส่วนการที่ทรงปลดนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ออกจากราชการเป็นกองหนุนเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทั้งที่เพิ่งจะทรงตั้งพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นี้ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงทหารเรือและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือไปเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้น ความในพระราชบันทึกก็ปรากฏชัดอยู่แล้วว่า เพราะไม่เสด็จไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือ ทั้งยังทรงเป็นต้นแบบให้นายทหารเรือรุ่นหนุ่มคิดกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา จึงต้องทรงปลดพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นออกเป็นกองหนุน เพื่อให้ทรงสำนึกผิด แต่ถัดมาวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ หรืออีกเพียง ๓ เดือนเศษก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก รับพระราชทานยศชั้น "หัวหมื่น" หรือที่ในเวลานั้นเรียกว่า "ชั้นที่ ๒ เอก" ซึ่งเป็นชั้นยศเทียบเท่านายพันเอกทหารบก และคงโปรดให้รับราชการในกรมมหาดเล็กมาจนคราวที่ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ แล้ว และนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบบังคมทูลสำนึกผิดและทรงอาสาเข้ารับราชการทหารเรือเพื่อทำหน้าที่ป้องกันพระราชอาณาจักรในสภาวะสงครามอีกครั้ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือในตำแหน่ง จเรทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

 

          เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้ว ก็ได้ทรงรับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ปรึกษาแห่ง "คณะที่ปฤกษาสำหรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี" ทั้งยังได้รับพระราชทานฐานันดรเป็น “มหาโยธิน” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และต่อมายังได้ทรงเป็นผู้แทนราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกไปจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง และทรงบังคับการเรือนั้นร่วมกับนายทหารเรือไทยนำเรือรบหลวงพระร่วงเดินทางจากประเทศอังกฤษมาถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ นับการเดินเรือข้ามทวีปครั้งแรกโดยคนไทย เป็นอาทิ จึงทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ

 

          ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ นายพลเรือเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ซึ่งเดิมเคยชื่อว่า "มณฑลชุมพร" อันพ้องกับพระนามกรม และได้ประชวรสิ้นพระชนม์เสียที่นั้น เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า

 

 

          "มีความสลดใจเปนอันมากที่จำเปนต้องจดลงในรายวันนี้ว่า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเฃตอุดมศักดิ์ได้สิ้นพระชนม์เสียที่ตำบลหาดรี, ปากน้ำชุมพร, เมื่อเวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยงวันนี้. ฃ่าวนี้ได้รับในเวลาดึก.
เมื่อเดือนเมษายน กรมชุมพรได้ขอลาพักรักษาพระองค์ ๑ เดือน โดยคำแนะนำของหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ 
[], นายแพทย์ใหญ่กระทรวงทหารเรือ, ผู้ที่ได้กล่าวในใบตรวจพระอาการว่า กรมชุมพรประชวรเปนพระโรคเส้นประสาทไม่ปรกติ. ตั้งแต่เมื่อทำบุญอายุเจ้าจอมมารดาโหมดได้สังเกตเห็นกรมชุมพรเดินง่องแง่งไม่ใคร่ถนัดอย่างไรอยู่. เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็ได้ขอยืมเรือพวก "ทเล" ลำ ๑ ลงเดินทางออกไปว่าจะไปประพาศทางมาณฑลสุราษฎร์. แรกที่จะได้ฃ่าวว่าประชวรครั้งสุดท้ายนี้ คือเจ้าพระยารามราฆพได้นำโทรเลขของเจ้าจอมมารดาโหมดมีมาถึงเธอนั้นมาให้เราดู, มีความว่ากรมหลวงชุมพรประชวรเป็นไข้พิษ พระอาการหนัก. ครั้นเวลาค่ำได้รับโทรเลขพระองค์เจ้าธานี   [] บอกฃ่าวมาว่า กระทรวงทหารเรือได้จัดส่งหม่อมเจ้าถาวรออกไปทางรถไฟยังชุมพร, และส่งเรือ "พระร่วง" ออกไป โดยคำขอร้องของเจ้าจอมมารดาโหมด, เพื่อจะได้รับกรมชุมพรกลับเฃ้าไปกรุงเทพ. ครั้นเวลาดึกจึ่งได้ฃ่าวว่ากรมชุมพรได้สิ้นพระชนม์เสียแล้วที่หาดรี เมื่อ ๑๑ นาฬิกาเช้า. ตำบลหาดรีนี้, ได้ทราบจากพระยาเวียงใน  []  (ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร) ว่า เปนที่มีไข้ป้าขุกชุม, และในฤดูเดือน ๖ เดือน ๗ ไม่มีใครอยู่ได้โดยปลอดไข้.

 

          กรมชุมพรประสูติวันที่ ๑๙ ธันวาคม, (ปีมะโรง) พ.ศ. ๒๔๒๓, ฉะนั้นมีพระชนม์ได้ ๔๒ ปี กับ ๕ เดือน; และเพราะได้เปนเพื่อนกันมาแต่เด็กเราจึ่งรู้สึกเสียดายและใจหายมาก"  []

 

 

          ความในพระราชบันทึกที่อัญเชิญมาข้างต้นย่อมเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงขัดแย้งกับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เลยแม้แต่น้อย ทั้งยังทรงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันกันมาแต่ทรงพระเยาว์ตราบจนพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นสิ้นพระชนม์ไปเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ แล้ว ก็ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทหารเรือไว้ทุกข์ด้วยการลดธงครึ่งเสามีกำหนดสามวัน นับแต่วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งเป็นวันที่เรือเชิญพระศพกลับถึงกรุงเทพฯ นอกจากนั้นยังเล่ากันต่อมาว่า เมื่อเวลาที่นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สิ้นพระชนม์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ที่พราชนิเวศน์มฤคทายวัน แล้วก็ทรงเหลียวมามีพระราชดำรัสอะไรสั้นๆ ซึ่งมหาดเล็กเวรที่เฝ้าฯ อยู่ ณ ที่นั้นก็ไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อะไร ถึงวันรุ่งขึ้นเมื่อพระทายาทของพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์นั้นนำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบถวายบังคมลาสิ้นพระชนม์แทนพระบิดา ก็มีรับสั่งว่า "รู้แล้ว"

 

 

 


[ ]  นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

[ ]  นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาได้เฉลิมพระยศเป็น จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

[ ]  นายนาวาเอก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิชัยเฉลิมลาภ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น นายพลเรือเอก หรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ เล่ม ๒, หน้า ๓ - ๑๐.

[ ]  หม่อมเจ้าถาวรมงตลวงศ์ ไชยันต์

[ ]  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ ต่อมาได้รับพระราชทานเฉลิมพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

[ ]  พระยาเวียงในนฤบาล (ชุบ โอสถานนท์) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประชากิจกรจักร์

[ ]  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. จดหมายเหตุรายวัน พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ รัตนโกสินทรศก ๑๔๒ เปนปีที่ ๑๔ ในรัชกาล, หน้า ๕๐ - ๕๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๕๑  |  ๕๒  |  ๕๓  |  ๕๔  |  ๕๕  |  ๕๖  |  ๕๗  |  ๕๘  |  ๕๙  |  ๖๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |