โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

 

๗๐. วิกฤต ร.ศ. ๑๑๒

กับการจัดระเบียบกองทัพสยาม ()

 

 

โรงทหารหน้า หรือ ศาลาว่าการยุทธนาธิการ ซึ่งปัจจุบันคือ ศาลาว่าการกลาโหม

 

 

          เมื่อโปรดให้จัดตั้งกรมยุทธนาธิการก็แลเห็นความยากข้อสำคัญของกรมยุทธนาธิการมีอยู่ ในเรื่องที่จะหาคนเป็นทหารนั้นเป็นยากยิ่งกว่าอย่างอื่น ที่จริงความคิดที่จะตั้งพระราชบัญญัติเกณฑ์ชายทุกคน ให้เป็นทหารชั่วเวลาอันมีกำหนดเหมือนอย่างต่างประเทศจัดกันในยุโรป เป็นความคิดที่มีมาแต่ครั้งนั้นหรือก่อนนั้นแล้ว แต่จัดขึ้นไม่ได้ด้วยเห็นความขัดข้องเพราะเห็นเป็นการใหญ่โต จะเกณฑ์คนซึ่งไม่อยากเป็นทหารให้ต้องเป็นทหารทั้งพระราชอาณาจักร วิธีที่จะจัดการผ่อนผันจัดการให้เรียบร้อยยากมิใช่น้อย ผู้จะเป็นเครื่องมือสำหรับทำการ ตั้งแต่นายทหารที่จะส่งออกไปบังคับบัญชาก็มีไม่พอ ฝ่ายพลเรือนที่จะช่วยทำการในท้องที่มีสำมโนครัวเป็นต้น ก็ยังไม่แลเห็นความหวังใจอยู่ที่ไหน และที่สุดซึ่งเป็นข้อสำคัญกว่าอย่างอื่นนั้น คือ จะได้เงินที่ไหนมาให้พอใช้จ่าย คิดเห็นเป็นความขัดข้องที่จะแก้ไขได้ในเวลานั้น ในชั้นเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการ ตลอดมาจนถึงเมื่อกรมหลวงนครไชยศรีฯ ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ตั้งต้นคิดอ่านเรื่องแก้ไขวิธีเกณฑ์ทหารอันเป็นปัญหาใหญ่และยากที่สุดของการทหารในเวลานั้น เพราะเห็นว่าถ้าไม่คิดเรื่องวิธีเกณฑ์ทหารให้ลุล่วงตลอดไปแล้ว ถึงจะจัดการอย่างอื่นก็เหมือนสักแต่ว่าแต่งเครื่องประดับประดา หากเป็นแก่นสารแก่ราชการทหารได้จริงๆ ไม่มี จึงจับดำริเรื่องการเกณฑ์ทหารในเบื้องต้นเร่งรัดให้ฝ่ายพลเรือนทำสำมโนครัวตายตัวพลเมืองก่อน ครั้งนั้นสำมโนครัวมณฑลนครราชสีมาแล้วก่อน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเป็นข้อบังคับลักษณะการเกณฑ์ทหารจัดเป็นการทดลองที่มณฑลนครราชสีมามณฑลหนึ่งก่อน

 

 

นายพลเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

จเรทัพบก และราชองครักษ์พิเศษ

 

 

          แต่ในปีเถาะ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ พุทธศักราช ๒๔๔๖ เมื่อจัดวางการมณฑลนครราชสีมา เห็นการจะสำเร็จได้จึงใช้ข้อบังคับนั้นจัดต่อออกมาอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครสวรรค์หนึ่ง, มณฑลพิษณุโลกหนึ่ง, มณฑลราชบุรีหนึ่ง, เมื่อจัดการทั้ง ๔ มณฑลนี้ เห็นเป็นผลดีจะจัดได้ทั่วไป จึงตราพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ปีมะเส็ง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔ พุทธศักราช ๒๔๔๘ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียบเรียงพระราชบัญญัตินี้เอง ด้วยเสด็จดำรงตำแหน่งที่จเรทหารบก และเป็นที่ปฤกษาหารือของกรมหลวงนครไชยศรีฯ อยู่ในเวลานั้น วิธีเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัตินี้ว่าแต่โดยเนื้อความ บรรดาชายเมื่อมีอายุถึงฉกรรจ์ต้องมาเข้าทะเบียนเป็นทหารรับราชการประจำอยู่ ๒ ปี เมื่อรับราชการครบ ๒ ปีแล้ว ปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ ๑ มีหน้าที่เข้ามาฝึกซ้อมปีละ ๒ เดือน นอกจากนั้นปล่อยให้ทำมาหากินตามสบาย เมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๑ ครบ ๕ ปีแล้ว ปลดออกเป็นกองหนุนชั้นที่ ๒ พวกกองหนุนชั้นที่ ๒ มีหน้าที่เข้ามาฝึกซ้อมเพียงปีละ ๑๕ วัน เมื่ออยู่ในกองหนุนชั้นที่ ๒ ครบ ๑๐ ปีแล้ว เป็นปลดพ้นราชการทหาร เมื่อประกาศพระราชบัญญัติแล้วได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติตามมณฑลโดยลำดับมาดังนี้ :

 

          ๑. มณฑลนครราชสีมา ๒. มณฑลนครสวรรค์ ๓. มณฑลพิษณุโลก ๔. มณฑลราชบุรี ๔ มณฑลนี้ได้จัดการตามข้อบังคับมาแล้ว ใช้พระราชบัญญัติแต่วันประกาศเป็นต้นมา.

 

          . มณฑลกรุงเก่า ๖. มณฑลนครไชยศรี ๒ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติแต่วันที่ ๑ เมษายน ปีมะเมีย รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ พุทธศักราช ๒๔๔๙.

 

          ๗. มณฑลปราจีน ใช้พระราชบัญญัติวันที่ ๑ เมษายน ปีมะแม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖ พุทธศักราช ๒๔๕๐.

 

          ๘. มณฑลกรุงเทพฯ ๙. มณฑลจันทบุรี ๒ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติวันที่ ๑ เมษายน ปีวอก รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ พุทธศักราช ๒๔๕๑ มณฑลอื่นนอกจากที่กล่าวมานี้ เป็นมณฑลอยู่ชายพระราชอาณาเขต ใช้แต่ข้อบังคับเกณฑ์คนเป็นตำรวจภูธร เพื่อให้คุ้นเคยแก่การฝึกหัดเสียก่อน พึ่งมาประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในรัชกาลที่ ๖ คือ :

 

          ๑๐. มณฑลพายัพ ๑๑. มณฑลอุดร ๑๒. มณฑลอุบลราชธานี ๑๓. มณฑลร้อยเอ็ด ๔ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๗

 

          ๑๔.มณฑลนครศรีธรรมราช ๑๕. มณฑลปัตตานี ๑๖. มณฑลสุราษฎร์ธานี ๑๗. มณฑลภูเก็ต ๑๘. มณฑลเพ็ชรบูรณ์ ๕ มณฑลนี้ใช้พระราชบัญญัติมื่เอวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ เป็นอันได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารทั่วทั้งพระราชอาณาจักรเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙ นี้."  []

 

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ มีบทบัญญัติยกเว้นบุคคลบางจำพวกจากการรับราชการทหารเป็นการชั่วคราว เช่น พระภิกษุ สามเณรรู้ธรรม และนักบวช ที่ได้รับการยกเว้นตลอดเวลาที่ยังบวชอยู่ เมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ

 

          "ผู้ที่ยังตื่นเต้นกลัวเป็นทหารพากันหนีไปบวชเป็นพระบ้างเป็นเณรบ้าง การแก้ไขต้องทูลขอให้สมเด็จพระมหาสมณะฯ ทรงวางระเบียบทางข้างฝ่ายพุทธจักร ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับราชการฝ่ายพระราชอาณาจักร ความขัดข้องอีกอย่างหนึ่ง ปรากฏขึ้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารในกรุงเทพฯ ความในพระราชบัญญัติมียกเว้นให้ข้าราชการพลเรือนไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นทหาร ด้วยเหตุติดทำราชการอย่างอื่น ครั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติแล้ว ผู้ที่ไม่อยากเป็นทหารพากันเข้าสมัครรับราชการตามกระทรวงพลเรือน ถึงจะได้เงินเดือนหรือไม่ได้เงินเดือนก็รับทำด้วยประสงค์จะหลีกเลี่ยงพอให้อายุพ้นกำหนดการเกณฑ์ ข้างฝ่ายทหารเห็นเป็นช่องทางที่คนจะหลีกเลี่ยง เสียข้อสำคัญของพระราชบัญญัติ ซึ่งประสงค์จะป้องกันความเดือดร้อนให้คนทั้งหลายรู้สึกว่าต้องเป็นทหารเสมอหน้ากันทุกคน จะขอให้กระทรวงพลเรือนส่งเสมียนพนักงานมาเป็นทหาร ข้างฝ่ายพลเรือนเห็นชอบด้วยบ้าง ไม่เห็นชอบด้วยบ้าง เกิดโต้แย้งกัน กว้าจะตกลงเป็นระเบียบได้มีความลำบากไม่ใช่น้อย นอกจากนี้ยังมีความลำบากโดยธรรมดาเพราะการจัดแพร่หลายเจริญขึ้นก็ต้องการความตรวจตราดูแลยิ่งขึ้น ต้องการนายทหารมากขึ้น"  []

 

          แม้กระนั้นเมื่อเริ่มจัดให้มีการเกณฑ์คนเข้ารับราชการทหารตามหัวเมืองมณฑลต่างๆ แล้ว ก็ได้จัดให้ "คนอยู่ในมณฑลไหน รับราชการอยู่ในมณฑลนั้น เมื่อตั้งหลักดังนี้แล้ว จึงจัดการควบคุมบัญชาติดต่อกัน ตั้งแต่กองร้อยกองพันขึ้นไป จนกองพลกองทัพตามภูมิพิไชยสงคราม และจัดเหล่าทหารต่างๆ ตามกระบวนยุทธ"  [] โดยกรมกองทหารที่ทรงร่วมกันจัดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น ประกอบไปด้วยกองพลทหารบก ๑๐ กองพล กระจายกันอยู่ในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักร คือ
 

 

แผนที่แสดงที่ตั้งหน่วยทหารในมณฑลต่างๆ ทั้วพระราชอาณาจักรทั้ง ๑๐ กองพล

 

 

                    กองพลที่ ๑ มณฑลกรุงเทพฯ

                    กองพลที่ ๒ มณฑลนครไชยศรี

                    กองพลที่ ๓ มณฑลกรุงเก่า (อยุธยา)

                    กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี

                    กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา

                    กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์

                    กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก

                    กองพลที่ ๘ มณฑลพายัพ

                    กองพลที่ ๙ มณฑลปราจิณบุรีและมณฑลจันทบุรี

                    กองพลที่ ๑๐ มณฑลอีสาน [] และมณฑลอุดร

 

 

 


[ ]  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "หลักการสงคราม", อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ, หน้า ๖๘ - ๗๓.

[ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ , หน้า ๗๓ - ๗๔.

[ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๕

[ มณฑลอีสานนี้ ต่อมาแยกออกเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็จ

 

 

ก่อนหน้า  |  ๖๑  |  ๖๒  |  ๖๓  |  ๖๔  |  ๖๕  |  ๖๖  |  ๖๗  |  ๖๘  |  ๖๙  |  ๗๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |