โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

 

๗๒. การประลองยุทธ์เสือป่าและลูกเสือ (๑)

 

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครภายหลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ในตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๔๕ แล้ว นอกจากจะได้เสด็จไปทรงปฏิบัติราชการที่กรมราชเลขานุการและศาลวว่าการยุทธนาธิการในเวลากลางวันแล้ว ในเวลากลางคืนที่ทรงว่างจากพระราชกิจก็มักจะโปรดให้มหาดเล็กข้าในพระองค์ได้เล่น "ซ้อมรบ" กันในบริเวณพระราชฐานที่ประทับอยู่เสมอๆ ดังที่พระยาสุนทรพิพิธ (เชย มัฆวิบูลย์) อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้บันทึกเรื่องราวความทรงจำครั้งเป็นมหาดเล็กเด็กๆ ในพระราชสำนักสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารไว้ใน "ยุทธวิธีของเสือป่า" ว่า

 

          "พ.ศ. ๒๔๔๗ ขณะประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้ทรงตั้งทวีปัญญาสโมสรขึ้นในพระราชอุทยานสราญรมย์ และในปีนี้เองก็ได้ทรงฝึกอบรมให้ข้าราชบริพารทั้งเด็กผู้ใหญ่เล่นการซ้อมรบ วิธีการซ้อมรบก็ทำนองเดียวกับการซ้อมรบของทหาร แต่ทำเป็นส่วนย่อยพอเหมาะสมกับจำนวนคนที่มี และมีวิธีการแทรกซึมเข้าไปตามหมู่บ้าน เพื่อทำความไมตรีหวังเอาเป็นกำลัง ทั้งสองฝ่ายต่างใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อจะให้สำเร็จผลแก่ฝ่ายตน ฝ่ายใดได้ชาวหมู่บ้านเป็นพวกก็เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ฝ่ายที่ไม่ได้ก็แสดงตัวเป็นปรปักษ์แก่ชาวบ้าน แล้วการรบก็เป็นคำสมมติฯ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีการอย่างอื่น สุดแต่จะทรงพระราชดำริหรือออกคำสมมติขึ้น  []

 

 

มุมหนึ่งในพระราชอุทยานสราญรมย์

ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรวาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้เป็นสถานที่ "เล่นซ้อมรบ"

 

 

          การซ้อมรบกระทำในพระราชอุทยานสราญรมย์ในเวลากลางคืน นับแต่เวลาเสวยพระกระยาหารค่ำแล้ว คือ ประมาณเวลา ๒๑.๓๐ น. ไปเลิกเอาเวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ของวันใหม่ สัปดาห์ละ ๒ - ๓ คืน... แม้เมื่อเวลาแปรพระราชฐานไปประทับที่จังหวัดนครปฐม การซ้อมรบก็คงดำเนินเช่นเดียวกัน และได้มีการเดินทางไกลไปจนถึงอำเภอบ้านโป่ง" ด้วย

 

 

นายพลเสือป่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประทับยืนบนรถยนต์พระที่นั่งประดับธงหมายตำแหน่ง ผู้บัญชาการสูงสุดในสนาม

ขณะทอดพระเนตรการลำเลียงพล ในระหว่างการซ้อมรบเสือปา พ.ศ. ๒๔๖๔

นายพลเสือป่า พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) เฝ้าฯ ที่ข้างรถยนต์พระที่นั่ง

 

 

          ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นแล้ว ก็ทรงจัดให้มีการซ้อมรบเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดนครปฐม ในระหว่างวันที่ ๒ - ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ และก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการซ้อมรบใหญ่เสือป่าคราวนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตรา "ข้อบังคับการซ้อมรบสำหรับเสือป่า" ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)

 

          ในคำปรารภแห่งข้อบังคับการซ้อมรบสำหรับเสือป่านั้น ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดการซ้อมรบไว้ว่า มีความมุ่งหมายอันสำคัญที่จะฝึกซ้อมเสือป่าให้ชำนาญในหน้าที่ซึ่งคล้ายกับในเวลาสงคราม เพื่อเป็นกำลังสำคัญช่วยกองทัพบกในการเล็ดลอดสอดแนมนำข่าวคราวของช้าศึกมาให้ทราบ และจะได้เป็นผู้ช่วยนำทัพในมณฑลและตำบลที่เสือป่านั้นคุ้นเคยและช่ำชอง

 

          ข้อบังคับสำหรับการซ้อมรบนั้นมีอยู่ ๕ มาตรา

          มาตรา ๑ ว่าด้วยการซ้อมรบ

          มาตรา ๒ ว่าด้วยความประพฤติของเสือป่าทั้งสองฝ่ายในเวลาซ้อมรบ

          มาตรา ๓ ว่าด้วยการตัดสิน

          มาตรา ๔ ว่าด้วยการพักแรม

          มาตรา ๕ ว่าด้วยผู้เป็นประธานและกรรมการ

 

          สรุปความสำคัญของข้อบังคับการซ้อมรบนั้นคือ การซ้อมรบนั้นย่อมจัดเป็นสองฝ่ายซึ่งสมมติประดุจนายกองเป็นประธานเป็นคนกลาง ผู้เป็นประธานนี้จะต้องชี้แจงว่ากองเสือป่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ตั้งรับ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายบุกรุก และกองทั้งสองต่างมีหน้าที่อย่างใด นอกจากนั้นผู้เป็นประธานจะต้องสมมติเหตุการณ์ต่างๆ และแจ้งให้ผู้นำทัพทั้งสองฝ่ายรู้ข่าวต่างๆ พอสมควรที่จะเป็นไปได้ในเวลาสงคราม

 

 

กองเสือป่าขณะเข้าประจัญบานในระหว่างการซ้อมรบ

 

 

          ในเวลาการซ้อมรบนั้นต้องระวังมิให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน และห้ามเสือป่าขู่เข็ญราษฎร เวลาเสือป่าเหล่าราบทั้งสองฝ่ายเข้าตะลุมบอน ห้ามเข้าใกล้กันเกินกว่า ๑๐ ก้าว ถ้าแม้เป็นเสือป่าเหล่าราบต่อเสือป่าเหล่าม้า หรือเสือป่าเหล่าม้าต่อเสือป่าเหล่าม้าด้วยกัน ให้บอกหยุดตั้งแต่ระยะก่อนจะถึงกันไม่น้อยกว่า ๒๐ ก้าว

 

          ในการฝึกหัดซ้อมรบนี้ เมื่อผู้เป็นประธานเห็นว่ากองเสือป่าทั้งสองฝ่ายได้กระทำการต่อสู้เป็นที่พอเพียงแก่ความประสงค์ สมควรจะวินิจฉัยผลของการซ้อมรบได้โดยตลอดแล้ว ก็ควรให้เป่าแตรสัญญาณบอกเลิกการรบ แล้วจึงเรียกนายกองนายหมู่มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ผู้เป็นประธานอยู่นั้น หลังจากนี้ผู้เป็นประธานจะให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายอ่านคำสมมติและชี้แจงเหตุผลต่างๆ ซึ่งผู้นำทัพได้จัดและกระทำไปในการซ้อมรบนั้นโดยตลอด ครั้นแล้วผู้เป็นประธานจะต้องวินิจฉัยคำตัดสินและชี้แจงความผิดและถูกของการนำทัพทั้งสองฝ่าย

 

 

พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ที่ประทับแรมในระหว่างซ้อมรบเสือป่า

 

 

          การซ้อมรบเสือป่านั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นในฤดูแล้งทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยงดไปหนึ่งปีใน พ.ศ. ๒๔๖๕ การซ้อมรบในแต่ละปีจะเริ่มขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายกเสือป่าและผู้บัญชากรกองเสนาหลวงรักษาพระองค์แปรพระราชฐานจากพระที่นั่งพิมานปฐมหรือพระที่นั่งวัชรีรมยาไปประทับแรมที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีราชองครักษ์เสือป่าและนายเสือป่ารับใช้คอยประจำรับใช้ตามตำแหน่งแทนมหาดเล็กที่ต่างก็แยกย้ายเข้าประจำตามกรมกองเสือป่าที่สังกัด ในเวลาเดียวกันนั้นพระราชวังสนามจันทร์ก็จะแปรสภาพจากพระราชฐานที่ประทับมาเป็นค่ายหลวงพระราชวังสนามจันทร์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเสือป่าและลูกเสือจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เดินทางไปประชุมพลพร้อมกันที่พระราชวังสนามจันทร์ หรือค่ายหลวงบ้านโป่งแล้ว จึงเริ่มการซ้อมรบใหญ่ประจำปี

 

          การฝึกซ้อมในช่วงต้นนั้นจะเป็นการซ้อมรบระหว่างกองย่อยในสังกัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ด้วยกัน ต่อจากนั้นจึงรวมกองย่อยจัดเป็นกองกำลังระดับกองพันหรือกรมยกเข้าปะทะกัน สุดท้ายจึงเป็นการซ้อมรบใหญ่ประจำปีในระหว่างกองกำลังในสังกัดกองเสนาหลวงรักษาพระองค์ซึ่งในบางปีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง แต่ส่วนใหญ่จะโปรดเกล้าฯ ให้นายเสือป่าชั้นผู้ใหญ่หมุนเวียนกันเป็นผู้นำทัพ กับกองกำลังเสนาหลวงรักษาดินแดนกรุงเทพฯ ที่มีนายพลเสือป่า เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลและผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ และนายพลเสือป่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ เป็นผู้นำทัพตามลำดับ

 

 

นายพลเสือป่า เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนกรุงเทพฯ

 

 

          การซ้อมรบใหญ่แต่ละครั้งจะมีคำสมมติให้ฝ่ายหนึ่งเป็นข้าศึกยกกำลังเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หรือยกขึ้นมาจากคาบสมุทรมลายูผ่านจังหวัดราชบุรีมุ่งหน้าเข้าตีพระราชวังสนามจันทร์เพื่อยกกำลังผ่านเข้าไปตีกรุงเทพฯ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับคำสมมติให้เป็นกองกำลังฝ่ายสยามทำหน้าที่ตั้งรับและรักษาที่มั่นเป็นการประวิงเวลารอให้ฝ่ายทหารยกกำลังกองทัพออกมาตั้งรับและรุกไล่ข้าศึกให้พ้นไปจากพระราชอาณาเขต การซ้อมรบใหญ่นี้จะกระทำติดต่อกันราว ๓ หรือ ๕ วัน จึงจะทราบผลแพ้ชนะที่ชัดเจน เสร็จการซ้อมรบใหญ่แล้วมีการชุมพลสวนสนามหน้าพระที่นั่ง รับพระราชทานพระบรมราโชวาททรงพระราชวิจารณ์การซ้อมรบที่ผ่านมา ตอนกลางคืนมีการพระราชทานเลี้ยงพร้อมการแสดงส่งท้าย แล้ว รุ่งขึ้นจึงต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับ

 

 

 


[ ]  พระยาสุนทรพิพิธ. เกียรติคุณ ของ พระยาสุนทรพิพิธ, หน้า ๖๘ - ๖๙.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๗๑  |  ๗๒  |  ๗๓  |  ๗๔  |  ๗๕  |  ๗๖  |  ๗๗  |  ๗๘  |  ๗๙  |  ๘๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |