โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๑. คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม (๑)

 

 

          กีฬาฟุตบอลที่นิยมเล่นในยุโรปนั้นมีหลายประเภท แต่แอสโซซิเอชั่นฟุตบอล (Association Football) นั้นดูจะเป็นกีฬาที่นิยมเล่นกันมากในประเทศอังกฤษแลพภาคพื้นยุโรป กีฬาชนิดนี้เพิ่งจะแพร่เข้าสู่ประเทศสยามเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา และด้วยความที่กีฬาชนิดนี้ใช้เฉพาะอวัยวะส่วนเท้าในการเตะและเลี้ยงลูกฟุตบอล ชาวไทยในเวลานั้นจึงเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า "หมากเตะ" และเรียกผู้เล่นกีฬาชนิดนี้ว่า "นักเลงลูกหนัง"

 

          หมากเตะในระยะเริ่มแรกนั้นเล่นกันอยู่แต่เฉพาะในหมู่นักเรียนไทยที่กลับมาจากยุโรป และชาวยุโรปที่มารับราชการในประเทศสยาม จวบจนวันเสาร์ที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) จึงได้มีการแข่งขันฟุตบอลตามกฎกติกาการแข่งขั้นของสมาคมฟุตบอลอังกฤษเป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง ระหว่างชาวอังกฤษที่มีถิ่นพำนักในกรุงสยามในชื่อ "ชุดบางกอก" กับ "ชุดกรมศึกษาธิการ" ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชาวสยามที่จบการศึกษามาจากยุโรปและชาวยุโรปที่มารับราชการในกรุงสยาม ผลการแข่งขันปรากฏว่าเสมอกันไป ๒ - ๒

 

 

นายกองโท เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

 

 

          จากวันนั้นมาหลวงไพศาลศิลปสาตร [] (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือ "ครูเทพ" ได้แปลกฎกติกาการแข่งขันแอสโซซิเอชั่นฟุตบอลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย และได้นำออกเผยแพร่ในวารสารวิทยาจารย์ของกระทรวงธรรมการ จึงทำให้กีฬาชนิดนี้เผยแพร่ไปยังโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ และกรมศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก และกำหนดอายุนักกีฬาทุกคนไว้ไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์ ชุดที่ชนะเลิศในครั้งนั้นคือ ชุดโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์

 

          ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งสามัคยาจารย์สมาคมและสามัคยาจารย์สโมสรขึ้นที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบุรณะ [] ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ แล้ว สามัคยาจารย์สมาคมก็ได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลในระหว่างสมาชิกของสมาคมที่สนามสโมสรสามัคยาจารย์สมาคมหรือสนามกีฬาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปัจจุบัน สมาชิกของสามัคยาจารย์สมาคมซึ่งต่างก็เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาของชาติจึงได้มีส่วนร่วมแข่งขันฟุตบอล ซึ่งส่งผลห้กีฬาฟุตบอลยิ่งแพร่หลายไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองที่ห่างไกล ดังมีหลักฐานปรากฏในสมุดจดหมายเหคุรายวันของโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ว่า "วันนี้ข้าหลวงธรรมการมาตรวจโรงเรียน...ใจความที่มาพูดในวันนี้... ให้ซื้อฟุตบอล ให้นักเรียนและครูเล่นราคาลูกละ ๑๐ บาท เงินรายนี้ให้จัดการเรี่ยไร และข้าหลวงธรรมการจะออกให้ ๒ เท่าของเงินที่หาได้"  []

 

          แม้กีฬาฟุตบอลจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่นักเรียนก็ตาม แต่สำหรับหน่วยทหารซึ่งเป็นที่รวมของกำลังพลในวัยฉกรรจ์กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เล่นกีฬาชนิดนี้ เป็นเพราะกองทัพสยามในยุคนั้นยังถือคตินิยมแบบกองทัพเยอรมัน ดังที่ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ แห่งเยอรมนีได้มีพระราชปฏิสัณฐานด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องของกองทัพบกอังกฤษ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชสำนักเยอรมนีใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ว่า "นายทหารพวกนั้นใส่ใจกับการเล่นคริกเก็ตและโปโลมากกว่าหน้าที่การงาน ไม่จริงจังกับเรื่องของกองทัพอย่างทหารเยอรมัน กองทัพจะไม่มีวันดีขึ้นได้เลยจนกว่าจะสามารถทำให้พวกนายทหารคิดว่ากองทัพนั้นเป็นธุรกิจของตน และจำเป็นที่ตนจะต้องทำงานอย่างขะมักเขม้นวันละแปดชั่วโมงเช่นเดียวกับในบริษัทการค้าทั่วไป" "

  []

 

จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

เสนาบดีกระทรวงกะลาโหม

เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็นนายพลเอก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ

 

 

          ด้วยแนวคิดแบบกองทัพบกเยอรมันที่จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกระลาโหมทรงนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในกองทัพบกสยามตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นนายพลโท ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง นายทหารในกองทัพบกสยามจึงมิได้รับอนุญาตให้เล่นกีฬาที่นิยมกันเป็นสากลเพื่อเป็นการหย่อนใจในระหว่างว่างเว้นจากการปฏิบัติภารกิจประจำวัน จนล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วหลายปี กีฬาฟุตบอลจึงเริ่มแพร่เข้าสู่กรมกองทหาร ดังความตอนหนึ่งในเรื่อง "ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย" ที่ "นิสิตออกซ์ฟอร์ด" หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทรงพระราชนิพนธ์ไว้ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลปักษ์ใต้ แล้วได้พระราชทานไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงเป็น "นิสิตออกซ์ฟอร์ด"

 

 

          "บรรดาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของท่าน คงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลนั้น ในสมัยนี้มีคนพอใจชอบเล่นกันเปนอันมาก แลไม่ต้องสงสัยเลยคงจะเปนการเล่นที่จะยั่งยืนต่อไปในกรุงเทพฯ ข้อนี้ก็ไม่ปลาดอะไร แต่ท่านทั้งหลายคงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลซึ่งเปนการเล่นของชาวอังกฤษโดยแท้นั้น พึ่งจะได้มีคนนิยมเล่นกันมากใน ๔ - ๕ ปีนี้เอง. ตามโรงเรียนต่างๆ นั้น ได้เล่นกันมานานแล้วจริงอยู่ แต่ในหมู่ทหารพึ่งจะได้มาแลเห็นเล่นกันหนาตาขึ้นในเร็วๆ นี้เอง. ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารย่อมทราบอยู่ดีแล้วว่า เวลาใดที่คนหนุ่มๆ มาประชุมรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันเปนจำนวนมาก จะเปนทหารหรือพลเรือนก็ตาม ความคนองอันเปนธรรมดาแห่งวิสัยหนุ่มจำเปนต้องมีทางระบายออกโดยอาการอย่างใดอย่าง ๑ ในสมัยก่อนเมื่อครั้งกองทัพของเราได้เริ่มจัดระเบียบขึ้นตามแบบของกองทัพเยอรมันโดยเคร่งครัดนั้น การเล่นใดๆ และการกรีฑาทั้งปวงย่อมนับว่าเปนสิ่งที่ไม่สมควรแก่ทหาร เพราะฉนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยเหตุนี้เองผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารของเรา ถึงจะไม่ห้ามปรามตรงๆ จึงไม่ใคร่จะได้อุดหนุนส่งเสริมการเล่นอย่างใดๆ ทั้งสิ้น จริงอยู่การกรีฑาได้มีมาแล้วเปนครั้งคราว และเราก็ยังจำได้ว่าได้เคยเห็นการกรีฑาของทหารที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว ๒ คราว แต่การกรีฑาอย่างที่จัดมาแล้วนั้นเปนแต่การชั่วคราว ความพยายามที่จะบำรุงการเล่นในหมู่ทหารเพื่อให้เปนทางออกกำลังกายและหย่อนใจนั้นนับว่าไม่มีเลย เพราะฉนั้นทหารไทยเราจึงล้วนเปนผู้ที่ได้เคยต้องประพฤติตนอย่างที่ชนเยอรมันเขาเห็นว่าสมควรแก่ทหาร แต่ซึ่งชาวเราเห็นว่าไม่สนุกอย่างยิ่ง

 

          ในกองทัพบกอังกฤษ เขาย่อมมีการเล่นแลกรีฑาต่างๆ ส่วนในกองทัพบกรัสเซียเขาก็อุดหนุนการเต้นรำและร้องเพลงเปนทางบรรเทิงใจในหมู่ทหาร ฝ่ายกองทัพเยอรมันนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าทหารมีทางบันเทิงใจโดยอาการอย่างไร ข้าพเจ้าได้ยินแต่กิติศัพท์เขาว่าวิธีเดินก้าวช้ายกขาสูงๆ ซึ่งฝรั่งเขาเรียกกันว่า "เดินตีนห่าน" นั่นแหละเปนวิธีที่เยอรมันเขาใช้สำหรับฝึกหัดกำลังกาย ซึ่งผู้บังคับบัญชาในกองทัพอันเปนเจ้าของแบบอย่างนั้นได้ให้อนุมัติเห็นชอบด้วย. การเดินชนิดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะต้องใช้กำลังมากจริง แต่จะนับว่าเปนทางบันเทิงใจนั้นยังแลไม่เห็น แต่อย่างไรก็ดี วิธีเดินตีนห่านนี้ หาได้นำเอามาใช้เปน แบบอย่างในกองทัพไทยเราไม่ และเมื่อการเล่นอย่างใดๆ อื่นก็มิได้จัดให้มีขึ้น ทหารของเราจึงมิได้มีการเล่นเพื่อหย่อนใจและออกกำลังกายเลย เว้นไว้แต่การฝึกหัดดัดตนและหัดกำลังกาย ซึ่งทหารของเราก็ถือว่าเปนการงาน มิใช่การเล่น. ทางหย่อนใจนี้แหละเปนสิ่งที่ทหารเราต้องการ ก็เมื่อทหารเหล่านี้ไม่มีทางที่จะระบายความคนองซึ่งมีอยู่โดยธรรมดานั้นโดยอาการอันปราศจากโทษและสนุกสนาน คือ มีการเล่นชนิดที่ออกกำลังกายอย่างลูกผู้ชาย อีกประการหนึ่งการดื่มเหล้าเบียร์ฤาก็มิใช่เปนทางหย่อนใจที่จะหาได้ด้วยราคาถูกเหมือนอย่างในเมืองอื่นบางเมือง ทหารของเราตามทางราชการ จึงนับว่าไม่มีทางสนุกสนานหย่อนใจอะไรเลย แต่ในทางซึ่งมิใช่ราชการหรือทางส่วนตัวนั้น เขาทั้งหลายบางทีก็ระบายความคนองของเขาโดยวิธีไม่สนุกแก่พลเรือนเลย (เพราะพลเรือนมักต้องหัวแตก) และไม่ขันสำหรับพลตระเวนด้วย ส่วนนายผู้มีน่าที่บังคับบัญชา ก็ต้องใช้ความระวังระไวอยู่เสมอ เพื่อควบคุมคนที่อยู่ในบังคับของตน.

 

          ต่อมาความนิยมอย่างใหม่ได้ปรากฏขึ้นทีละเล็กละน้อย. ในโรงเรียนนายร้อยและนายเรือ ได้เกิดเล่นฟุตบอลกันขึ้น ฟุตบอลได้เกิดมีขึ้นด้วยอาการอย่างไรนั้น ก็หาได้มีปรากฏในจดหมายเหตุแห่งใดไม่ และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาจะได้เปนผู้ชักนำเข้ามาหรืออย่างไร แต่การเล่นของอังกฤษชนิดนี้ย่อมมีลักษณอยู่อย่าง ๑ คือ ว่าถ้าได้เข้าไปถึงแห่งใดแล้ว แม้ทางราชการจะแสดงกิริยาเม้ยเมินสักเท่าใดก็ดี คงไม่สามารถจะบันดาลให้สูญหายไปได้ เพราะฉนั้นในไม่ช้าการเล่นฟุตบอลนี้จึงได้กลายมาเปนวิธีหย่อนใจแลออกกำลังกายของนักเรียนนายร้อยแลนายเรือ ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชานั้น ก็เออ อวยอุดหนุนไปตามควร. เมื่อในเร็วๆ นี้ได้มีการเล่นแข่งขันกันหลายคราวอย่างฉันมิตร์ ในระหว่างนักเรียนนายร้อยทหารบกแลเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์ ซึ่งอยู่ใกล้กันในบริเวณสวนดุสิต ส่วนนักเรียนนายเรือก็ได้มาเล่นกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงหลายคราว.

 

          ต่อนั้นมาฟุตบอลจึงได้เข้าไปถึงโรงทหาร ผู้ใดได้เปนผู้นำเข้าไปนั้น ข้าพเจ้าหาทราบไม่ แต่จะเปนใครก็ตาม เขาเปนผู้สมควรที่จะได้รับความขอบใจแห่งเราทั้งหลาย และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าพวกทหารเองคงจะรูสึกขอบคุณเขาเปนอันมาก. เวลานี้พวกทหารมีทางที่จะหย่อนใจด้วยความร่าเริงและไม่มีโทษ ส่วนการเล่นนั้นเองก็เปนที่บันเทิงไม่เฉภาะแต่ส่วนผู้เล่น ทั้งคนดูก็พลอยรู้สึกสนุกสนานด้วย. ท้องสนามหลวงเวลานี้เปนสนามที่ฝึกหัดเล่นฟุตบอลสำหรับทหาร ดังที่เราเห็นอยู่แทบทุกวันเวลาบ่ายๆ เต็มไปด้วยเพื่อนทหารที่ล้อมคอยดูตะโกนบอกและล้อกันฉันเพื่อนฝูง. สนามหญ้าในพระบรมมหาราชวังหลังวัดพระแก้ว ก็เปนที่สำหรับเล่นของกรมทหารรักษาวัง ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็ไปเล่นที่สวนมิสกะวันใกล้โรงโขนหลวงที่สวนดุสิต แลได้เล่นแข่งขันกับเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์เนืองๆ เปนการบำรุงความสามัคคีให้ดีขึ้น ตั้งแต่ฟุตบอลได้เข้าไปถึงในกองทัพบกแล้ว ความรู้สึกเปนเกลอกันในหมู่ทหาร สังเกตเห็นได้ว่าดีขึ้นเปนอันมาก ในห้องรักษาการแลห้องขังก็มีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อน การออกนอกบริเวณแลการหนีก็มีน้อยลงมาก ความรู้สึกเปนมิตรเปนเกลอในหมู่ทหารและเสือป่าก็ได้เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอลเปนปฐม ทั้งนี้ส่อให้เห็นว่า นิสัยของทหารเราไม่ถูกกับวิธีปกครองตามแบบของเยอรมัน (ซึ่งไม่ให้มีการเล่น)."  []

 

          บทพระราชนิพนธ์นี้ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดว่า ผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลเข้าไปเผยแพร่ในโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ จนแพร่หลายไปยังกรมทหารมหาดเล็กฯ และทหารรักษาวังนั้น น่าจะต้องเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับสูงกองทัพ ทั้งยังจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษามาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งก็คงจะมีแต่ "นิสิตออกซ์ฟอร์ด" หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียวที่นอกจากจะทรงเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษแล้ว ในช่วงเวลานั้นยังทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษของโรงเรียนนายร้อย กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ จ.ป.ร. และกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. ด้วย

 

 

 


[ ]  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

[ ปัจจุบันคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

[ โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย". สมุดหมายเหตุโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย กับโรงเรียนฝึกหัดครู ร.ศ. ๑๓๑ - พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๒๐ - ๒๑

[ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ละม้ายมาศ ศรทัตต์ - แปล). "จดหมายจากเยอรมนี", วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๔ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๕), หน้า ๒๓.

[ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ บ.๘/๑ เรื่อง ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๕๘).

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |