โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

 

๘๕. คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม ()

 

 

จางวางโท พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์)

ปลัดกระทรวงธรรมการและเลขาธิการคณะฟุตบอลแห่งสยามคนแรก

 

 

          เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นที่สุดดังนั้นแล้ว ต่อมาวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ นายหมวดโท พระยาไพศาลศิลปสาตร์ (รื่น ศยามานนท์) เลขาธิการคณะฟุตบอลแห่งสยามก็ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังสโมสรฟุตบอลมหาดเล็กหลวงว่า

 

          “สภากรรมการมีคำสั่งให้ข้าพเจ้าแจ้งมาว่า เหตุที่ท่านอ้างมานั้นเปนความเข้าใจผิด เพราะในรายงานและจดหมายเลขาธิการถึงท่าน ก็ได้กล่าวโดยชัดเจนว่า การที่สโมสรมหาดเล็กหลวงส่งคนเกินอัตรานั้นเปนการพลั้งเผลอจริงๆ ไม่ใช่ด้วยเจตนา และโดยเหตุนี้กรรมการจึงหาได้ลงโทษอย่างแรงที่สุด คือคัดออกจากคณะฟุตบอลแห่งสยามไม่ ข้าพเจ้าได้คัดข้อความในรายงานที่เกี่ยวแต่เรื่องนี้ส่งมายังท่านพร้อมด้วยจดหมายนี้

 

          เมื่อปรากฏอย่างชัดเจนว่า กรรมการมิได้ลงความเห็นว่าการที่ท่านทำผิดข้อบังคับนั้นด้วยเจตนาอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วเช่นนี้ หวังได้ว่าท่านคงจะถอนใบลา เพื่อกิจการของคณะฟุตบอลแห่งสยามซึ่งได้ตั้งต้นมาแล้วโดยเรียบร้อยได้ดำเนินต่อไป”  []

 

          ภายหลังจากที่สโมสรฟุตบอลมหาดเล็กหลวงได้รับหนังสือชี้แจงจากเลขาธิการคณะฟุตบอลแห่งสยามแล้ว หลวงศักดิ์ นายเวร  [] เลขานุการสโมสรฟุตบอลมหาดเล็กหลวงก็ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตอบรับหนังสือนั้นว่า “ถ้าคณะฟุตบอลแห่งสยามคงเชื่อในเกียรติคุณและความสุจริตของสโมสรมหาดเล็กหลวงอยู่แล้ว และเห็นว่าถ้าสโมสรของข้าพเจ้าถอนใบลาเสียและคงชื่ออยู่ในทะเบียนของคณะฟุตบอลแห่งสยามต่อไป จะทำให้กิจการของของคณะฟุตบอลแห่งสยามดำเนินโดยสดวกแล้ว กรรมการของสโมสรมหาดเล็กหลวงก็ยินดีจะถอนใบลานั้นเสีย และคงเปนสมาชิกของคณะฟุตบอลแห่งสยามต่อไป.”  []

 

          อนึ่ง ภายหลังจากที่มีพระบรมราชวินิจฉัยเห็นชอบด้วยคำตัดสินของสภากรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยามที่ได้มีมติให้ปรับสโมสรฟุตบอลมหาดเล็กหลวงเป็นผู้แพ้ในการแข่งขันกับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรมแล้ว สโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรมจึงได้เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศกับสโมสรฟุตบอลกรมมหรสพ ในวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งนักเรียนเก่าพรานหลวงฉัตร สุนทรายน อดีตผู้รักษาประตูฟุตบอลกรมเสือป่าพรานหลวงรักษาพระองค์ชุดชนะเลิศถ้วยน้อยนักรบใน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้บันทึกเรื่องราวการแข่งขั้นในวันนั้นไว้ใน “เริ่มแรกการแข่งขันฟุตบอล ชิงถ้วยใหญ่ - ถ้วยน้อย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙” ว่า

 

          “การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยใหญ่ - ถ้วยน้อย ของสมาคมฟุตบอลแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เวลานี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้เริ่มแรกในการแข่งขันฟุตบอลกัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยใช้สนามฟุตบอลเสือป่าพระราชวังดุสิต สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบ สนามฟุตบอลโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และสนามฟุตบอลสวนมิสกวัน เป็นการคัดเลือกชุดฟุตบอลของสโมสรต่างๆ ที่ส่งเข้าแข่งขัน มีสโมสรทหารบก ทหารเรือ และสโมสรของกระทรวงกับกรมกองต่างๆ ส่งเข้าแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยใหญ่ - ถ้วยน้อย โดยแบ่งชุดฟุตบอลของสโมสรที่สมัครเข้าแข่งขันชิงถ้วยใหญ่และสมัครเข้าชิงถ้วยน้อยเป็น ๒ พวก คัดเลือกชุดฟุตบอลของสโมสรที่ได้ที่ ๑ - ๒ แต่ละพวกเข้าชิงถ้วยใหญ่ - ถ้วยน้อยในรอบสุดท้าย ได้เข้าไปแข่งขันที่สนามฟุตบอลเสือป่าพระราชวังดุสิต ปรากฏว่า ชุดฟุตบอลสโมสรกรมมหรสพได้เข้าชิงถ้วยใหญ่กับชุดฟุตบอลสโมสรกระทรวงยุติธรรม ส่วนถ้วยน้อย ชุดฟุตบอลทหารราชวัลลภ ได้ชิงกับชุดฟุตบอลสโมสรกรมตำรวจ ปรากฏว่าชุดฟุตบอลทหารราชวัลลภเป็นฝ่ายชนะ ได้รับพระราชทานถ้วยน้อยไว้เป็นเกียรติ ๑ ปี เป็นประเดิมเริ่มแรก ในปีต่อมา ชุดฟุตบอลสโมสรทหารราชวัลลภมิได้ส่งชุดฟุตบอลเข้าแข่งขันอีกเลย เห็นจะเป็นด้วยไม่มีตัวผู้เล่น เพราะต้องย้ายและออกไปเป็นส่วนมาก เป็นที่น่าเสียดาย มีคำขวัญพูดกันติดปากในการแข่งขันฟุตบอลสมัยนั้นว่า “ถ้วยใหญ่มหรสพ ราชวัลลภถ้วยน้อย”

 

          การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยใหญ่ ระหว่างชุดฟุตบอลสโมสรกรมมหรสพ กับชุดฟุตบอลสโมสรกระทรวงยุติธรรม ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ชุดฟุตบอลสโมสรกรมมหรสพใช้เสื้อสีเขียว กางเกงขาว ชุดฟุตบอลสโมสรกระทรวงยุติธรรม ใช้สีขาวทั้งชุด

 

          ฟุตบอลนัดสำคัญนี้ กระผมอยากเข้าดู แต่ไม่มีเงินเสียค่าผ่านประตู นึกออกได้ว่า เคยอาศัยเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองนักรบกับคณะจำอวดที่ไปแสดงถวายหน้าที่ประทับ ในเวลาหยุดพักการแข่งขันครึ่งเวลา ๑๐ นาที จึงได้เข้าดูการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้กับคณะจำอวดเช่นเคย เป็นการสะดวกดี มีประตูอีกประตูหนึ่งที่เข้าได้โดยไม่ต้องเสียเงินค่าผ่านประตู เวลามีการแข่งขันฟุตบอล มีคนเข้าอยู่เสมอเรียกกันติดปากว่าประตูสุนัข เป็นช่องแคบเข้าลำบาก เข้าไม่ระวังอาจจะถูกลวดหนามเกี่ยวเสื้อ - กางเกงขาด

 

 

ชุดฟุตบอลกรมมหรสพที่ชนะเลิศการแข่งขัน “ถ้วยใหญ่” ของคณะฟุตบอลแห่งสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

ได้รับพระราชทาน “ถ้วยใหญ่” ไว้ครอบครองเป็นชุดแรก

๑.หลวงยงเยี่ยงครู (จิ๋ว รามนัฏ) ถือ “ถ้วยใหญ่” ๒. พระประสิทธิ์บรรณการ (แฉล้ม กฤษณามระ) ๓. ขุนบริบาลนาฏศาลา (เกิด วัชรเสวี)

๔.หลวงประสิทธิ์นนทเวท (หับ ปีตะนีละผลิน) ๕. บุญ บูรณนัฏ ๖. หลวงมิลินทวณิช (ใหญ่ มิลินทวณิช) ๗. ผัน ทัพภเวช ๘. ถม โพธิเวส

๙. พระดรุณรักษา (เพิ่ม เมษประสาท) ๑๐ . หลวงวิเศษธีระการ (เธียร วรธีระ) ๑๑. เจ๊ก สุนทรกนิษฐ์

 

 

          การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยใหญ่ครั้งนี้ ผลปรากฏว่าชุดฟุตบอลกรมมหรสพเป็นฝ่ายชนะ ได้รับพระราชทานถ้วยใหญ่เป็นปีเริ่มแรก ไปรักษาไว้เป็นเกียรติ ๑ ปี มีการแห่ถ้วยใหญ่ที่กรม กองต่างๆ ได้จัดมาช่วยเป็นการสนุกครึกครื้น กระบวนแห่งของกรมมหรสพ จัดเป็นกระบวน ๙ ทัพ ในเรื่องพระอภัยมณี กระบวนแห่ได้เคลื่อนผ่านที่ประทับ เพื่อถวายทอดพระเนตรจนสิ้นสุดกระบวน ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับที่ประทับ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ส่วนกระบวนแห่ถ้วยใหญ่ ได้เคลื่อนกระบวนไปตามถนนราชดำเนินนอก ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์ เลี้ยวขวาเชิงสะพานไปตามถนนกรุงเกษม เลี้ยวขวาข้ามสะพานวิศณุกรรมนฤมาน เลี้ยวขวาเชิงสะพาน สู่ประตูใหญ่กองบัญชาการกรมมหรสพ (วังจันทร์)  [] เป็นอันยุติกระบวนแห่

 

          การแข่งขันฟุตบอลในครั้งกระโน้นและในปัจจุบันแตกต่างกันมาก สมัยโน้นเล่นด้วยการพร้อมเพรียงถูกขากันดี รู้จักหน้าที่ของตัวที่ได้กำหนดไว้ สนามเล่นยาว ๑๐๐ เมตร เวลาแข่งขันครึ่งละ ๓๐ นาที ครึ่งแรก ๓๐ นาที ครึ่งหลัง ๓๐ นาที รวมครึ่งแรกและครึ่งหลัง ๖๐ นาที หยุดพัก ๑๐ นาที การแข่งขันฟุตบอลในปัจจุบัน มีวิธีเล่น ๔ - ๒ - ๔, ๔ - ๓ - ๓ สนามยาว ๑๒๐ เมตร เวลาแข่งขันครึ่งแรก ๔๕ นาที ครึ่งหลัง ๔๕ นาที รวมครึ่งแรกและครึ่งหลัง ๙๐ นาที หยุดพัก ๑๐ นาทีเหมือนกัน”  []

 

 

 

ชุดฟุตบอลกรมนักเรียนเสือป่าหลวง (บน) และนักเรียนนายเรือ (ล่าง)
ที่เข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยทองรักรบ ใน พ.ศ. ๒๔๕๙

 

 

          จบการแข่งขันฟุตบอลของคณะฟุตบอลแห่งสยาม ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยราชการระดับกระทรวง กรม และบริษัทห้างร้านส่งชุดฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน “ถ้วยใหญ่” และ “ถ้วยน้อย” ในเดือนกันยายนของทุกปีแล้ว จึงเริ่มฤดูการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองหลวง หรือเรียกกันติดปากว่า “ถ้วยทองนักรบ” ที่สนามสโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต เพราะเป็นการแข่งขันกันในระหว่างนักรบ คือ ชุดฟุตบอลกรมทหารบก ทหารเรือ และเสือป่า เริ่มการแข่งขันในเดือนกันยายนต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดการแข่งขันในตอนต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี การแข่งขันรายการสุดท้ายในรอบปีก่อนที่จะยกกำลังไปซ้อมรบเสือป่าประจำปี คือ การแข่งขันประเพณีชิงถ้วยพระราชทานในระหว่างชุดฟุตบอลชาติสยามกับชุดราชกรีฑาสโมสร (ชาติอังกฤษ) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม

 

 

 


[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ

[ เรื่องเดียวกัน.

[ ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง กระทรวงศึกษาธิการ

[ ฉัตร สุนทรายน. บทประพันธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระทักษะ , สุภาษิตคำฉันท์ และปกิณกะ, หน้า ๙๐ - ๙๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๘๑  |  ๘๒  |  ๘๓  |  ๘๔  |  ๘๕  |  ๘๖  |  ๘๗  |  ๘๘  |  ๘๙  |  ๙๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |