โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๑. การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (๑)

 

 

          เนื่องมาจากจากอังกฤษนำฝิ่นเข้าไปขายในแผ่นดินจีน จนเกิดเป็นสงครามฝิ่นระหว่างจีนและอังกฤษขึ้น และเมื่อจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนั้น อังกฤษก็ใช้อำนาจบังคับให้จีนลงนามในสัญญานานกิงกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ อันเป็นจุดกำเนิดของการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตและการจำกัดสิทธิที่จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรแก่อังกฤษซึ่งเป็นชาติคู่สัญญา

 

 

เซอร์จอห์น บาวริง (Sir John Bowring)

 

 

          ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๗ เมื่อสหรัฐอเมริกาส่งกองเรือไปปิดล้อมและบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ จนญี่ปุ่นต้องลงนามในสนธิสัญญาคะนะงะวะ อันมีต้นแบบมาจากสนธิสัญญานานกิงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ แล้ว ถัดมาใน พ.ศ. ๒๓๙๘ เซอร์จอห์น บาวริง ก็ได้เป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษเข้ามาทำ "สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศอังกฤษแลกรุงสยาม" (Treaty of Friendship and Commerce between the British Empire and the Kingdom of Siam) หรือบนปกสมุดไทยเขียนว่า "หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริง" หรือที่รู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า "สัญญาเบาริง" (Bowring Treaty) เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘ โดยมีข้อตกลงสำคัญในสนธิสัญญาฉบับนี้ ดังนี้

 

          ๑) อนุญาตให้คนในบังคับหรือสัปเยกอังกฤษอยู่ภายใต้การควบคุมของกงสุลอังกฤษ

          ๒) คนในบังคับอังกฤษได้รับสิทธิในการค้าขายอย่างเสรีในเมืองท่าทุกแห่งของสยาม และสามารถพำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นการถาวรได้ ภายในอาณาเขตสี่ไมล์ (สองร้อยเส้น) แต่ไม่เกินกำลังเรือแจวเดินทางในยี่สิบสี่ชั่วโมงจากกำแพงพระนคร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวได้ คนในบังคับอังกฤษยังได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในสยามโดยมีหนังสือที่ได้รับการรับรองจากกงสุล

          ๓) ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือและกำหนดอัตราภาษีขาเข้าและขาออก เป็นดังนี้

                    ๓.๑ อัตราภาษีขาเข้าของสินค้าทุกชนิดกำหนดไว้ที่ร้อยละ ๓ ยกเว้นฝิ่นที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่ต้องขายให้กับเจ้าภาษี ส่วนเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ของพ่อค้าไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

                    ๓.๒ สินค้าส่งออกให้มีการเก็บภาษีชั้นเดียว โดยเลือกว่าจะเก็บภาษีชั้นใน (จังกอบ ภาษีป่า ภาษีปากเรือ) หรือภาษีส่งออก

          ๔) พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสินค้าโดยตรงได้กับเอกชนสยามโดยไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งขัดขวาง

          ๕) รัฐบาลสยามสงวนสิทธิ์ในการห้ามส่งออกข้าว เกลือและปลา เมื่อสินค้าดังกล่าวมีทีท่าว่าจะขาดแคลนในประเทศ

 

 

สนธิสัญญาเบาริง ฉบับภาษาไทยที่เขียนลงสมุดไทย ก่อนส่งไปให้รัฐบาลอังกฤษตรวจลงตราให้สัตยาบัน

 

 

          ต่อจากนั้นรัฐบาลสยามยังได้ลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศ กับอีก ๑๒ ประเทศ คือ

 

สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๙
ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๙
เดนมาร์ก เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๑
โปรตุเกส เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๑
สวีเดน - นอร์เวย์ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๑
เบลเยียม เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๑
อิตาลี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๑
โปรตุเกส เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๑
เนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๓
ปรัสเซีย (เยอรมนี) เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๔

 

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการตกลงทำสนธิสัญญาเพิ่มเติมกับ จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการี, เสปน, รัสเซีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ

 

          เนื่องจากสนธิสัญญาเบาริงนี้เป็นสนธิสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ทั้งไม่เปิดช่องให้มีการแก้ไขข้อสัญญาใดๆ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากชาติคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะขอแก้ไขสนธิสัญญาแต่ละคราว จึงมักจะถูกชาติคู่สัญญาเรียกร้องเอาประโยชน์นานาเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาเพียงบางข้อ นอกจากนั้นการที่สนธิสัญญาดังกล่าวเปิดช่องให้คนในบังคับหรือที่เรียกกันว่า "สัปเยก" อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกงสุลของชาติที่สังกัด ก็ยิ่งเปิดช่องให้คนในบังคับเหล่านั้นกระทำการอันเป็นการละเมิดกฎหมายไทยอยู่เนืองๆ และเมื่อกระทำผิดแล้วก็มักจะอาศัยร่มธงของชาติที่ตนอยู่ในบังคับเป็นเกราะคุ้มกัน อีกทั้งกงสุลก็มักจะปกป้องผู้กระทำผิดซึ่งเป็นคนในบังคับให้หลุดพ้นจากอาญาของศาลไทย ทำให้เกิดความยุ่งยากในการปกครองบ้านเมืองมาตลอด ในส่วนของภาษีขาเข้านั้น สยามก็เรียกเก็บภาษีจากสินค้าเข้าได้เพียงร้อยละ ๓ ซึ่งเรียกกันว่า "ภาษีร้อยชัก ๓" อันส่งผลให้รายได้แผ่นดินต้องถูกจำกัด นับเป็นอุปสรรคขวากหนามสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงได้เรียกสัญญาเบาริงนี้ว่า "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" หรือ "สนธิสัญญาที่เสียเปรียบ"

 

 

ศาลสนามสถิตยุติธรรม ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นที่ริมถนนราชดำเนินในฝั่งตะวันออก

เมื่อคราวฉลองพระนคร ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอาคารศาลฎีกาที่ริมท้องสนามหลวง

 

 

          แม้กระนั้นรัฐบาลสยามก็ยังคงพยายามหาช่องทางที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้นมาโดยลำดับ เริ่มจากการปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้ลงระเบียบเดียวกับนานาประเทศ ปรับปรุงพระราชกำหนดกฎหมายต่างๆ รวมทั้งตรากฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ปรับปรุงระบบงานราชทัณฑ์และระบบเรือนจำทั่วประเทศ กับเริ่มจัดระเบียบราชการศาลยุติธรรมให้ลงระเบียบสากลมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและต่อเนื่องมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

          ครั้นเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดตามสถานการณ์มาโดยลำดับ เมื่อทรงตระหนักแน่ด้วยพระปรีชาญาณทางการทหารแล้วว่า กลุ่มมหาอำนาจกลางซึ่งนำโดยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีคงจะหมดหนทางที่จะเอาชนะในมหาสงครามครั้งนี้แล้ว และหากสยามจะยังคงเป็นกลางต่อไป ก็คงจะมีแต่เสมอตัว แต่ถ้าสยามเลือกเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรเสีย ก็จะมีแต่ทางได้หรืออย่างน้อยก็เพียงเสมอตัว เพราะหากฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้มีชัยชนะแล้ว เมื่อสงครามสงบลงสยามก็จะได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้ชนะสงครามยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเยอรมนี ทั้งยังสามารถเจรจากับนานาชาติเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและแก้พิกัดภาษีศุลกากรต่อไปได้

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงกระทำนมัสการบูชาพระรัตนตรัยและบวงสรวงอดีตบุรพมหากษัตริยาราชเจ้าแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

เฉพาะหน้าผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศผู้ร่วมงานพระราชสงคราม เนื่องในการที่สัมพันธมิตรได้มีชัยต่ออริราชศัตรู

ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

 

 

          แต่การที่สยามจะหวังประโยชน์จากการเป็นผู้ชนะสงครามนั้น "ทรงพระราชดำริห์ว่า การที่จะทำสงครามนั้น ควรจะกระทำโดยไม่เรียกร้องเอาประโยชน์ทันควันหรือล่วงน่าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย, ทั้งควรจะกระทำการช่วยเหลือโดยเต็มกำลังตามแต่จะทำได้ เพื่อจะแสดงให้รัฐบาลและชนชาติสัมพันธมิตร์แลเห็นน้ำใจรัฐบาลและชนชาวสยาม. จึ่งได้มีพระราชประกาศิตประกาศสงคราม ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐"  []

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทหารอาสาสมัครไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แล้ว ก็ทรงหวังว่า "เมื่อเราได้แสดงน้ำใจและทำการช่วยเหลือโดยเต็มกำลังแล้ว, เมื่อเสร็จสงครามชาติสัมพันธมิตร์ก็คงจะต้องทำคุณตอบแทนให้บ้าง." [] โดยประโยชน์ที่ทรงคาดหวังว่าจะได้รับจากการเป็นผู้ชนะสงครามนั้น คือ

 

          "อิศระภาพเต็มอันเปนสิทธิที่ชาติเอกราชจะพึงมีด้วยกันทุกชาติ. อิศระภาพนี้กรุงสยามได้ยอมสละไปบ้างโดยสัญญาทางพระราชไมตรี ในสมัยที่ถือกันว่าเหมาะแก่ลักษณการเวลานั้น, มีอิศระภาพในทางบังคับคดีในโรงศาล, ในทางกำหนดพิกัดภาษีอากร, และในทางควบคุมผลประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นในบ้านเมืองเปนต้น. แต่บัดนี้ลักษณการเปลี่ยนแปลงไปเปนอันมากไม่เหมือนในสมัยที่ทำสัญญากันเลย. สัญญาเหล่านี้, ซึ่งไม่มีกำหนดที่จะบอกกล่าวเลิกได้, แทนที่จะเปนเครื่องที่จะกระทำให้ความวิสาสะระหว่างเจ้าพนักงานของบ้านเมืองและชาวต่างประเทศเปนไปโดยสะดวกเรียบร้อยดังความตั้งใจของผู้ทำสัญญา, กลับเปนสิ่งซึ่งกีดกันไม่ให้กรุงสยามดำเนินไปสู่ความเจริญ ตามที่ควรแก่กาลสมัย, เพราะเหตุที่ตัดอิศระภาพในการปกครองบ้านเมืองโดยไม่มีกำหนดเลิกดังว่ามาแล้ว. บ้านเมืองของเราตกอยู่ในความเสียเปรียบแต่เดิมมาดังนี้."  []

 

 

 


[ ]  หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล. "กรุงสยามในที่ชุมนุมสันติสมาคม", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับที่ ๖๕ (๒๐ มีนาคม ๒๔๖๒),หน้า ๑๗๐ - ๑๗๑.

[ ]  หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล. "กรุงสยามในที่ชุมนุมสันติสมาคม (ต่อ)", ดุสิตสมิต เล่ม ๖ ฉบับที่ ๖๖ (๒๗ มีนาคม ๒๔๖๒),หน้า ๑๘๔.

[ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘๔ - ๑๘๕.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |