โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

 

๙๓. การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ()

 

 

          อนึ่ง แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะตกลงทำสัญญาฉบับใหม่กับสยามเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยสนธิสัญญาฉบับนี้สหรัฐอเมริกาได้ให้คำรับรองว่า "สหปาลีรัฐอเมริกายอมให้กรุงสยามเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นกว่าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซึ่งมีอยู่ในประจุบันนี้ มีลักษณเปนข้อสำคัญอีกต่อไปว่า ประเทศอื่นๆที่มีสิทธิจะรับผลพิเศษตามพิกัดภาษีที่มีอยู่นั้น ยอมให้เพิ่มอัตราภาษีเช่นนี้โดยเต็มใจ และไม่ขอประโยชน์แลกเปลี่ยนอย่างใดด้วย"  [] แต่ในส่วนของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะยินยอมให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวอเมริกันในประเทศสยาม "ต้องเปนอันเลิกขาดและสิ้นสุดลง ณ วันที่ได้แลกเปลี่ยนสัตยาบันของสัญญา"  [] โดยให้ "บรรดาคนชาวเมืองสหปาลีรัฐอเมริกาก็ดี บริษัทฤาพวกหุ้นส่วนฤาสมาคมทั้งหลายก็ดี ซึ่งสมควรอยู่ในความป้องกันของอเมริกันในกรุงสยามนั้น ต้องอยู่ในอำนาจฝ่ายสยาม"  [] มาตั้งแต่วันที่ให้สัตยาบันกันคือ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้วก็ตาม แต่ในข้อ ๒ แห่ง "ข้อความต่อท้ายสัญญา โปรโตคล [] ว่าด้วยอำนาจศาลสำหรับใช้แก่คนอเมริกันแลคนอื่นๆ ที่สมควรอยู่ในป้องกันอเมริกันในกรุงสยาม" นั้น สหรัฐอเมริกายังคงขอสงวนสิทธิที่จะถอนคดี "ที่คนชาวเมืองอเมริกัน ฤาบริษัท ฤาพวกหุ้นส่วน ฤาสมาคม ที่สมควรอยู่ในป้องกันของอเมริกันเปนจำเลยฤาผู้ต้องหา"  [] ที่ยังมิได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาไปให้ "พนักงานทูตฤากงสุลพิจารณาตัดสิน... ให้สำเร็จไปตามกฎหมายอเมริกันที่สมควรจะใช้ได้ ยกไว้แต่คดีความนั้นจะมีข้อบังคับไว้อยู่ในประมวลกฎหมาย ฤากฎหมายทั้งหลายของกรุงสยามซึ่งได้ประกาศใช้แล้ว และเนื้อความในบทกฎหมายนั้นได้แจ้งความให้สถานทูตอเมริกัน ณ กรุงเทพฯ ทราบแล้ว"  [] ทั้งนี้เมื่อสยามได้ประกาศใช้ "ประมวลกฎหมายฝ่ายสยามทั้งหลาย กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งกับการค้าขาย ประมวลกฎหมายกระบวนพิจารณากับพระธรรมนูญศาลทั้งหลายนี้ กับมีกำหนดไม่เกินกว่าห้าปีภายหลังประกาศนั้น"  [] แล้ว จึงให้ข้อที่สงวนไว้นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

 

 

พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)

 

 

 

          ภายหลังจากที่รัฐบาลสยามได้ลงนามและแลกเปลี่ยนสัตยาบันกับสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลสยามก็ได้ตกลงว่าจ้าง ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ศาสตราจารย์วิชากฎหมายชาวสหรัฐอเมริกาซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลสยามในการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศคู่สัญญาที่เหลือ โดยอาศัยสนธิสัญญาที่สยามทำไว้กับสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นแบบ ในขณะเดียวกันนายโรเบิร์ต แลนซิง ก็ได้ใช้สัญญาฉบับใหม่ระหว่างสยามกับสหรัฐอเมริกาไปเป็นต้นแบบในการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนและญี่ปุ่นในเวลาต่อมา แล้วทั้งสองชาตินั้นก็ได้ใช้สัญญาที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับชาติคู่สัญญาอื่นๆ เช่นเดียวกับประเทศสยามด้วย

 

 

พระที่นั่งอัมพรสถาน

 

 

          การดำเนินการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเก่าคงดำเนินต่อเนื่องมาจนแล้วเสร็จครบทุกประเทศในตอนต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี การค้าขาย และการเดิรเรือ สองฉบับสุดท้ายระหว่างสยามกับอิตาลี ฉบับหนึ่ง และสยามกับสหปาลีเศรษฐกิจ เบลเยียมและลักเซมเบิร์ก อีกฉบับหนึ่ง เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ และในเวลาค่ำวันเดียวกันนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไปรับพระราชทานพระกระยาหารและอาหารในการฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และในวโรกาสนี้ได้มีพระราชดำรัสในที่ชุมนุมนั้น มีความตอนหนึ่งว่า

 

          "ในปลายปีนี้ต้องนับว่าประเทศสยามเราได้เปลี่ยนฐานะใหม่ตอนหนึ่งแล้ว คือเราได้พยายามที่จะตั้งบ้านเมืองของเราให้มั่นคงขึ้นไปเปนเวลาช้านาน ถ้าจะพูดถึงแต่เพียงเมื่อครั้งตั้งเปนกรุงศรีรัตนโกสินทร์แล้วนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลต้นๆ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ๓ พระองค์นั้น ได้ทรงพยายามที่จะรวบรวมบ้านเมืองไทยให้เปนปึกแผ่นต่อสู้กับสัตรูข้างเคียงของเราตามคติแผนโบราณ และก็ได้เป็นผลสำเร็จตลอดมา

 

          ครั้นต่อมามีภัยอื่นเปนของใหม่ใกล้เข้ามา คือภัยอันอาจจะเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์กับพวกฝรั่งหากเรากลับตัวไม่ทัน ภัยอันนั้นประเทศที่ใกล้เคียงของเราไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้ต้องพ่ายแพ้ไป กลับกลายไปเปนเมืองขึ้นของประเทศทางฝ่ายยุโรปต่างๆ โดยรอบข้าง มีเฉภาะแต่ประเทศสยามเราแห่งเดียวที่สามารถรักษาตนมาได้ ทั้งนี้ต้องนับว่าเปนไปด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในอดีตกาล ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปนต้นมา ในสมัยนั้นเปนเวลาที่ฝรั่งเข้ามาในเมืองไทยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นสิ่งสำคัญว่า ในการที่เราจะรักษาอิศรภาพของเรานั้น จำจะต้องเรียนให้รู้วิชาของพวกฝรั่งเหล่านั้น แล้วและแก้ไขการปกครองของบ้านเมืองให้ทันเขา นั่นเปนวิธีเดียวที่จะรักษาอิศรภาพไว้ได้ ด้วยเหตุนั้นจึ่งได้ทรงพระราชอุสาหะเล่าเรียนภาษาฝรั่งขึ้น ต่อมาเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสของพระองค์ท่านทุกพระองค์ได้ทรงเล่าเรียนภาษาต่างประเทศ พระบรมราโชบายอันนี้มีผลใหญ่หลวงที่สุดอันหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเปนสิ่งเล็กน้อย แต่นั่นเองทำให้เราทรงฐานะอยู่ได้จนบัดนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ท่านความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชาวยุโรปได้ทวีมากขึ้นตามลำดับ และได้ทรงเปิดโอกาศให้ชาวยุโรปได้เข้ามาทำมาค้าขายในประเทศสยามโดยสดวก

 

          ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัวได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายอันนั้นต่อมาด้วยพระปรีชาญาณอันยอดเยี่ยมหาที่เปรียบมิได้ นับว่าเปนเคราะห์ดีที่สุดของประเทศสยาม ที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีพระปรีชาญาณ และน้ำพระราชหฤทัยอันสุจริตต่อบ้านเมืองเปนอย่างเอกจะหาเทียมมิได้ ข้าพเจ้าไม่จำเปนต้องกล่าวว่า ในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองได้เจริญขึ้นเพียงใด เพราะย่อมทราบอยู่ด้วยกันแล้ว

 

          ครั้นภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงดำเนินราโชบายนั้นต่อมา ได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดกฎหมายให้เหมาะกับกาลสมัยเปนลำดับมา

 

          ครั้นเมื่อประสบโอกาศเหมาะ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเจรจากับต่างประเทศเพื่อแก้ไขสัญญาใหม่ให้ประเทศสยามได้อิศรภาพบริบูรณ์ในทางศุลกากรและให้เลิกศาลกงสุลทุกประเทศ พระบรมราโชบายนั้นเปนผลสำเร็จอย่างงดงามที่สุด เพราะเราสามารถทำสัญญากับต่างประเทศเหล่านั้นได้ใหม่หมด ด้วยความปรองดองอย่างดีและโดยมิต้องมีสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การเจรจาแก้สัญญานั้นหาได้สำเร็จหมดทุกประเทศในรัชสมัยของพระองค์ไม่ แต่ก็ได้จัดทำไปเปนส่วนมากแล้ว ถึงสัญญาที่ทำต่อมาภายหลังก็ดำเนินไปตามพระบรมราโชบายของพระองค์ท่านนั้นเอง แต่หากเสด็จสวรรคตเสียก่อนมิได้ลงพระบรมนามาภิธัยทุกฉบับ ผลสำเร็จที่สุดจึ่งมาตกในรัชสมัยของข้าพเจ้า นี่เปนแต่เพียงบุญกุศลของข้าพเจ้าที่ได้สร้างสมมาแต่ปางก่อนเท่านั้น แท้จริงข้าพเจ้ามีส่วนน้อยในการที่ประเทศสยามได้สู่อิศรภาพถึงเพียงนี้ แต่หากเปนเพราะบุญกุศลการจึ่งได้เปนผลสำเร็จในรัชสมัยของข้าพเจ้า

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

          ข้าพเจ้าเว้นเสียมิได้ที่จะรู้สึกถึงพระเดชพระคุณของพระอดีตมหากษัตรอย่างเต็มตื้นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึ่งนึกว่า จำเปนที่จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อเปนเครื่องแสดงความรู้สึกปลื้มใจ วันนี้จึ่งได้ชวนท่านทั้งหลายทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้มีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องในการที่ได้บำรุงเปลี่ยนแปลงฐานะของประเทศสยามตลอดมา จนเราสามารถกระทำการปกครองให้เปนที่นิยมของต่างประเทศทั้งหลายและได้ยอมให้เรามีฐานะเสมอเหมือนกับเขา ยอมทำสัญญาเสมอภาคกับเราแล้วทุกประเทศ ซึ่งเปนของควรยินดีอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้จึ่งให้เชิญท่านทั้งหลายมาในที่นี้ และเชิญพระบรมอัฐิของพระมหากษัตรที่กล่าวพระนามแล้วทั้ง ๓ พระองค์นั้นมาด้วย เพื่อจะได้พร้อมกันสักการบูชา เปรียบเหมือนหนึ่งกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า พระบรมราโชบายของพระองค์ท่านนั้นได้เปนผลสำเร็จแล้วถึงเพียงนี้ และเพื่อแสดงความจงรักภักดีอย่างยิ่งของเราทั้งหลายทั้งปวง และขอพระราชทานพรให้พวกเราทั้งหลายมีกำลังกายกำลังสติปัญญาเพื่อบำรุงฐานะของประเทศสยามให้รุ่งเรืองสืบไป ข้าพเจ้าเชื่อว่างานนี้จะเปนที่พอใจของท่านทั้งหลายทั่วกัน

 

          นอกจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ออกพระนามมาแล้ว เราจำจะต้องระลึกถึงท่านที่ล่วงลับไปแล้วทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ เช่นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ กรมหลวงราชบุรีฯ กรมหลวงนครชัยศรีฯ เหล่านี้เปนต้น ทุกพระองค์ล้วนมีส่วนใหญ่ยิ่งที่ได้ช่วยให้ฐานะของประเทศสยามเราสู่ความเจริญได้ถึงเพียงนี้"  []

 

 

 


[ ]  "ประกาศให้ใช้สัญญากรุงสยามกับอเมริกา ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓", ราชกิจจานุเบกษา ๓๘ (๑๔ กันยายน ๒๔๖๔), หน้า ๒๑๗ - ๒๓๙.

[ เรื่องเดียวกัน.

[ เรื่องเดียวกัน.

[ ]  Protocol

[ "ประกาศให้ใช้สัญญากรุงสยามกับอเมริกา ลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๓", ราชกิจจานุเบกษา ๓๘ (๑๔ กันยายน ๒๔๖๔), หน้า ๒๑๗ - ๒๓๙.

[ เรื่องเดียวกัน.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ "พระราชดำรัสในการพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๙", ราชกิจจานุเบกษา ๔๔ (๑๐ เมษายน ๒๔๗๐), หน้า ๘๖ - ๙๑.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๙๑  |  ๙๒  |  ๙๓  |  ๙๔  |  ๙๕  |  ๙๖  |  ๙๗  |  ๙๘  |  ๙๙  |  ๑๐๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๖๑ - ๘๐ | ๘๑ - ๑๐๐ | ๑๐๑ - ๑๒๐ | ๑๒๑ - ๑๔๐ |

| ๑๔๐ - ๑๖๐ | ๑๖๑ - ๑๖๖ |