รางวัลพระราชนิพนธ์ รางวัลการเรียนวิทยาศาสตร์ รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์ Shrewsbury School รางวัลท่านผู้หญิง
ดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา
 ทุน Vajiravudh College ‐ Cranbrook Schools ทุน Vajiravudh College -
King’s College Scholarship
   
 

  รางวัลท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา

 

          รางวัลท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา กำเนิดขึ้นโดย ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย เลขประจำตัว ๔๒๙ ในนาม “คณะจัดการกองมรดกท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา” ได้มอบเงินจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่วชิราวุธวิทยาลัย พร้อมกับหนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่านผู้หญิงฯ ได้รวบรวมไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยเป็นอเนกประการ และโรงเรียนนำดอกผลมอบเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ปีละ ๑ ทุน โดยใช้ชื่อว่า “รางวัลท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา” ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๑

          ผู้ที่ได้รับรางวัลนั้นถือว่าเป็นนักเรียนตัวอย่างของโรงเรียน ซึ่งมีคุณสมบัติโดนเด่นคือ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ มีผลการเรียนดี มีความขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบ สนใจแสวงหาความรู้ มีความสามารถด้านภาษา อ่อนน้อมถ่อมตน มีกิริยามารยาทเหมาะสมตามธรรมเนียมไทย มีความเสียสละอุทิศตนและอุทิศเวลาทำประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นโดยถือหลักการดำเนินชีวิตและคุณลักษณะของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นแม่แบบ

 
 

  ประวัติท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา

 

          ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นธิดาของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) และท่านผู้หญิงกลีบ ท่านบิดาตั้งชื่อให้ว่า “ดุษฎีมาลา” เพื่อเป็นการระลึกถึงเมื่อครั้งที่ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เพราะสอบได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นที่ ๑ คนแรกของประเทศไทย ก่อนท่านผู้หญิงฯ ถือกำเนิด ๗ ปี

          ท่านผู้หญิงฯ เริ่มการศึกษาเบื้องต้นตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม ๔ ขวบที่โรงเรียนราชินีและเป็นลูกศิษย์ของ “ครูจร” (คุณหญิงขจรภะรตราชา) ท่านศึกษาจนจบชั้นมัธยม ๘ วิชาที่ท่านเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือ ภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นในวันเสาร์หลังกลับจากโรงเรียน ท่านบิดาได้ให้ไปศึกษาขนบประเพณีกับ “คุณป้าท้าว” (คุณท้าวนารีวรคณารักษ์ : แจ่ม ไกรฤกษ์) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่ในวังเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา

          ท่านผู้หญิงฯ มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันทั้งสิ้น ๑๒ คน ในจำนวนพี่น้องที่เป็นชายนั้นมีคุณปาณี ไกรฤกษ์ เป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกเป็นมหาดเล็กรับใช้รุ่นแรก ท่านสนิทชิดชอบกับ ม.ล.ปิ่น มาลากุล บุตรเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ซึ่งเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงและมหาดเล็กรับใช้รุ่นเดียวกัน คุณปาณีได้ชักนำให้ม.ล.ปิ่นรู้จักกับท่านผู้หญิงฯ เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนราชินี ขณะที่ท่านผู้หญิงฯ เรียนอยู่ชั้นมัธยม ๓ และได้เข้าพิธีวิวาห์ในภายหลัง (๗ มีนาคม ๒๔๗๔) คุณปาณีได้เล่าเรื่องราวของนักเรียนมหาดเล็กหลวงให้ท่านผู้หญิงฯ ฟังตั้งแต่เด็กจนท่านรู้สึกคุ้นเคยกับโรงเรียน

          ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านเริ่มชีวิตการทำงานโดยเป็นเลขานุการของท่านบิดา มีหน้าที่แปลข่าวและบทความจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ และสยามออบเซอร์เวอร์ เป็นภาษาไทยให้ท่านบิดาอ่าน ในเวลานั้นได้ขออนุญาตท่านบิดาเรียนดนตรีไทย คือ ซอด้วง และจะเข้ด้วย

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งท่านผู้หญิงฯ เป็นนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

          ท่านผู้หญิงฯ มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมีเป็นจำนวนมาก เช่น คำไหว้ครูสำหรับนักเรียนที่ขึ้นต้นว่า “ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา” ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ จนถึงปัจจุบัน การที่ท่านได้รับการอบรมบ่มนิสัยในเรื่องกิริยามารยาทเป็นพิเศษมาแต่เยาว์ ท่านจึงได้สร้างผลงานประพันธ์ด้านการสอนมารยาทไว้หลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ เรื่อง มารยาทอันเป็นวัฒนธรรมทางประเพณีของไทย มีนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยสวมชุดราชปะแตนแสดงอิริยาบถต่างๆ ประกอบเรื่อง

          ท่านได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์ด้านงานประพันธ์ สร้างคุณประโยชน์แก่วชิราวุธวิทยาลัยอย่างใหญ่หลวง กล่าวคือ พระยาภะรตราชา ซึ่งเป็นผู้บังคับการในขณะนั้นได้ไปพบที่บ้านและขอให้ท่านช่วยแต่งเนื้อเพลงสำหรับให้นักเรียนวชิราวุธฯ ใช้ร้องในโอกาสต่างๆ ได้แก่ เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี เพลงตื่นขึ้นเถอะ เพลงจรรยานักกีฬา เพลงกีฬา เพลงไชโยเถอะพี่น้องเรา เพลงเห็นแต่หน้า เพลงอีกสี่สิบปี เพลงปฏิญญา เพลงสถานที่ศึกษา เพลงโรงเรียนนี้ เพลงเริงใจเริง เพลงสี่สิบปี เพลงที่ท่านภูมิใจที่สุด คือ มหาวชิราวุธราชสดุดี ซึ่งเป็นเพลงประจำโรงเรียน ใช้ร้องในงานพิธีและโอกาสสำคัญๆ พระยาภะรตราชาได้ให้นักดนตรีใส่ทำนองสากลและให้นักเรียนร้องตอนเปิดพระวิสูตรเป็นครั้งแรกในงานวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ในปีนั้น กรมพระชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการเสด็จแทนพระองค์ เพลงนี้ใช้ร้องในงานพิธีบนหอประชุม และกิจกรรมสำคัญอื่นๆ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเพลงสำคัญที่สุดที่นักเรียนวชิราวุธฯ ทุกคนต้องยืนถวายความเคารพทุกครั้งเมื่อได้ยิน ถ้อยคำที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งท่านได้ร้อยกรองมาจากน้ำใจจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง เป็นที่จับใจของนักเรียนวชิราวุธทุกรุ่น คือ

          “สำนักนี้จึงมีคติธรรม กตัญญูประจำฝังจิตให้
          รู้รักชาติศาสน์กษัตริย์เป็นฉัตรไชย อีกรู้เสียสละได้ด้วยใจงาม”

          ท่านผู้หญิงฯ เป็นผู้ใฝ่ใจปฏิบัติงานอันเป็นประโยชน์แก่สังคม โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับเด็ก สตรี และวัฒนธรรมไทย ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง เป็นที่ปรึกษา เป็นประธาน และกรรมการในองค์กรต่างๆมากมาย นอกเหนือจากภาระหน้าที่โดยตรงแล้วท่านยังได้ติดตามม.ล.ปิ่น มาลากุลซึ่งเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานกรรมการอำนวยการโรงเรียนมาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อร่วมในพิธีการต่างๆ เป็นประจำทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลานาน

          ท่านผู้หญิงฯ เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร เปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรมเป็นอย่างยิ่ง แม้จะผ่านวัยเกษียณไปแล้ว ท่านก็ยังได้อุทิศตนปฏิบัติภารกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่สาธารณชนจวบจนบั้นปลายของชีวิต

          ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๐

 
 

  รายนามผู้ได้รับรางวัลท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา

 
ปีการศึกษา ๒๕๔๑ นายชัชวาลย์  วัฒนะคีรี คณะจงรัก
ปีการศึกษา ๒๕๔๒ นายศมานันท์  ภูวกาญจนะ คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๔๓ นายพจนะ พันธุ์เพ็ง
(เปลี่ยนชื่อสกุลเป็น นายธัชกร  พัทธวิภาส)
คณะภักดี
ปีการศึกษา ๒๕๔๔ นายฉัตรชัย  เทพอภิชัยกุล คณะผู้บังคับการ
ปีการศึกษา ๒๕๔๕ นายปริญญา  ยุวเทพากร คณะมงคล
ปีการศึกษา ๒๕๔๖ นายชวลิต  โควีระวงศ์ คณะจงรัก
ปีการศึกษา ๒๕๔๗ นายอุกฤษณ์  วนโกสุม คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๔๘ นายชชานนท์  ลิ่มทอง คณะดุสิต
ปีการศึกษา ๒๕๔๙ นายอภิวัฒน์  แก้วกาญจน์วิเศษ คณะดุสิต
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ นายวัสพล  ธนะศรีสืบวงศ์ คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๕๑ นายศรัน  ชัยวัฒนาโรจน์ คณะผู้บังคับการ
ปีการศึกษา ๒๕๕๒ นายณัฐชนน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คณะศักดิ์ศรีมงคล
ปีการศึกษา ๒๕๕๓ นายอัครวิทย์  ภิงคารวัฒน์ คณะดุสิต
ปีการศึกษา ๒๕๕๔ นายภัทรนันท์  เศรษฐพันธ์ คณะดุสิต
ปีการศึกษา ๒๕๕๕ นายวิภู  ชลานุเคราะห์ คณะผู้บังคับการ
ปีการศึกษา ๒๕๕๖ นายวีระเกียรติ  เจริญสถาพงศ์ คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๕ นายนาวิน  งามภูพันธ์ คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ นายธนภัทร  ปัญญาธีระ คณะจงรักภักดี
ปีการศึกษา ๒๕๕๙ นายโมกข์  เลิศศรีมงคล คณะจงรักภักดี
ปีการศึกษา ๒๕๖๐ นายชยุตม์พงศ์  ลีลาพงศ์อน้นต์ คณะจิตรลดา
ปีการศึกษา ๒๕๖๑ นายรชานนท์  อินทร์แหยม คณะจงรักภักดี
ปีการศึกษา ๒๕๖๒ นายณัฐพัชร์  วัชระสวัสดิ์ คณะพญาไท
ปีการศึกษา ๒๕๖๓ นายอัครวินทร์  ปราณประดิษฐ์ คณะดุสิต
ปีการศึกษา ๒๕๖๔ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล  
ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ไม่มีผู้ได้รับรางวัล  
     
     
          หมายเหตุ : ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจงรัก และคณะภักดี รวมพื้นที่เป็นคณะเดียว ชื่อ คณะจงรักภักดี
  คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล รวมพื้นที่เป็นคณะเดียว ชื่อ คณะศักดิ์ศรีมงคล