รางวัลพระราชนิพนธ์ รางวัลการเรียนวิทยาศาสตร์ รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์ Shrewsbury School รางวัลท่านผู้หญิง
ดุษฎีมาลา  มาลากุล ณ อยุธยา
 ทุน Vajiravudh College ‐ Cranbrook Schools ทุน Vajiravudh College -
King’s College Scholarship
   
 

  รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์

 

          รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์ เป็นรางวัลที่สำคัญที่สุดของวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งบุตรชายทั้งห้าของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ ประกอบด้วย พ.ต.รักษ์ ปันยารชุน นายกุศะ ปันยารชุน พ.ต.อ.ประสัตถ์ ปันยารชุน นายชัช ปันยารชุน และนายอานันท์ ปันยารชุน รวมทั้งบุตรีและหลานๆ ได้ก่อตั้งกองทุนพระยาปรีชานุสาสน์ขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ และนำดอกผลของกองทุนมอบให้แก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี ปีละ ๑ ทุน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ใช้ชื่อว่า รางวัลพระยาปรีชานุสาสน์ โดยปรารถนาจะให้เป็นรางวัลสำหรับผู้นำ (Leadership Prize) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาปรีชานุสาสน์ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย (พ.ศ. ๒๔๖๙ ‐ ๒๔๗๖) ในช่วงแรกรางวัลดังกล่าวมอบให้นักเรียนซึ่งสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ และกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ต่อมามอบให้แก่นักเรียนที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ผู้มีคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ
               ๑. ดีเด่นในการศึกษา
               ๒. ดีเด่นในการกีฬา โดยแสดงคุณลักษณะพิเศษในน้ำใจนักกีฬา
               ๓. ดีเด่นในลักษณะของผู้นำและของสุภาพบุรุษ
               ๔. ดีเด่นในอุปนิสัย (Character) โดยมีค่านิยมที่ถูกต้องและเหมาะสม

          ในช่วง ๒ ปีแรก นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับพระราชทานรางวัลเป็นนาฬิกาโรเล็กซ์ จารึกชื่อผู้รับรางวัล และได้รับทุนของโรงเรียนไปศึกษาที่โรงเรียน Shrewsbury ประเทศอังกฤษ ซึ่งพระยาปรีชานุสาสน์เป็นศิษย์เก่า เป็นเวลา ๑ ปีการศึกษา ต่อมากำหนดให้ผู้ได้รับคัดเลือกได้รับทุนบางส่วนไปศึกษาที่โรงเรียน Shrewsbury  

 
 

  ประวัติพระยาปรีชานุสาสน์

 

          พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นบุตรพระยาเทพประชุน (ปั้น) ปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหม และองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงจัน เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๓๓ สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบโดยสอบผ่านทั้งหลักสูตรไทย และหลักสูตรโรงเรียนอังกฤษ

          ต่อมาท่านได้รับทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงศึกษาธิการไปเรียนที่โรงเรียน Shrewsbury ซึ่งเป็น Public School เก่าแก่ของประเทศอังกฤษ พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้มีความปราดเปรื่อง ใฝ่รู้และขยันหมั่นเพียรท่านได้รับรางวัลเรียนดีในวิชาคณิตศาสตร์ และสอบผ่านชั้นมัธยมสูงสุดเมื่ออายุ ๑๘ ปี โดยใช้เวลาเรียนเพียง ๕ เทอม หลังจากนั้นท่านได้เข้าศึกษาต่อวิชาครูวิทยาศาสตร์ที่ Manchester University โดยมี Professor ChaimWelzmann เป็นผู้สอนและผู้ดูแล ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้นำขบวนการกู้ชาติยิว และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอล ระหว่างปิดภาคเรียนท่านได้ไปเรียนวิชาหัตถกรรมที่ประเทศสวีเดน ซึ่งมีวิธีการฝึกเด็กให้ใช้ทั้งสมอง และสองมืออย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมทีมฟุตบอลของมหาวิทยาลัยไปแข่งขันที่ประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศเบลเยี่ยม เยอรมันนี ออสเตรีย เป็นต้น

          พระยาปรีชานุสาสน์ เริ่มรับราชการในกระทรวงธรรมการ โดยเป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (๒๔๕๓ - ๒๔๕๔) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและหัตถกรรมที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๕๔ และในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเปิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๒๖ ปี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบดีกรมโทรเลข และเป็นอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลำดับ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกับโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกันพระราชทานชื่อว่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มาเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๙ จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๔๗๖ หลังจากนั้นมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ

          ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย พระยาปรีชานุสาสน์ หรือที่นักเรียนเรียกว่า “ครูเจ้าคุณ” ได้สร้างอาคารเรียนใหม่คือ ตึกวชิรมงกุฎ ตึกพยาบาล หอนาฬิกา และได้วางรากฐานระบบการเรียนการสอนอย่างเป็นองค์รวมให้แก่วชิราวุธวิทยาลัยยึดถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

          ภายหลังท่านได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ และก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทและเป็นบรรณาธิการ และพิมพ์จำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยและภาษาจีนอีกหลายฉบับในระยะต่อมา ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมคนแรก ต่อมาได้กลับเข้ารับราชการโดยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการวัฒนธรรมประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนและเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศอังกฤษ

          นอกจากท่านจะเป็นผู้มีคุณูปการด้านการศึกษา การหนังสือพิมพ์และการธุรกิจของไทยแล้ว ท่านยังได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายก อุปนายก ประธานกรรมการ และกรรมการของมูลนิธิ สมาคม สโมสร และองค์กรการกุศลต่างๆ เป็นจำนวนมาก

          พระยาปรีชานุสาสน์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๗

 
 

  รายนามนักเรียนรางวัลพระยาปรีชานุสาสน์

 
พ.ศ. ๒๕๔๑ นายอาทิตย์  ประสาทกุล คณะผู้บังคับการ
พ.ศ. ๒๕๔๒ นายชาคริต  เกิดศุข คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๔๓ นายพัชร์  นิยมศิลป คณะจงรัก
พ.ศ. ๒๕๔๔ นายสงบกาญจน์  มุ้งทอง คณะผู้บังคับการ
พ.ศ. ๒๕๔๕ นายเพชร  ศรฤทธิ์ชิงชัย คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๔๖ นายณัฐพงศ์  พงศ์เสาวภาคย์ คณะมงคล
พ.ศ. ๒๕๔๗ ไม่มีการคัดเลือก  
พ.ศ. ๒๕๔๘ นายศุภอรรถ  ตปนียากร คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๔๙ นายพิพัฒน์จิต  ตัณฑิกุล คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๕๐ นายชนมภูมิ  งามภูพันธ์ คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๕๑ นายอานนท์  รักชาติ คณะจิตรลดา
  นายปณพงศ์  ส่งสุขถวัลย์ คณะศักดิ์ศรีมงคล
พ.ศ. ๒๕๕๒ นายพศิน  เวชพาณิชย์ คณะจงรักภักดี
พ.ศ. ๒๕๕๓ นายจิรัฎฐ์  ปัฐพีรังสี คณะจิตรลดา
พ.ศ. ๒๕๕๔ นายปัญญ์  ชัยกุล คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๕๕ นายจิรวัฒน์  วงษ์ศรีสุข คณะผู้บังคับการ
พ.ศ. ๒๕๕๖ นายพรรษ  ภูรีพรรษวงศ์ คณะผู้บังคับการ
พ.ศ. ๒๕๕๗ นายรฐนนท์  พัฒนโกวิท คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๕๘ นายปรัชญา  โชตยาธิวัฒน์ คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๕๙ นายเมธาสิทธิ์  โหราเรือง คณะจิตรลดา
พ.ศ. ๒๕๖๐ นายสรวิศ  หนูแก้ว คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๖๑ นายนครินทร์  วิเศษพานิชกิจ คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๖๒ นายชนุตร์  อะคิม ชมิท คณะพญาไท
พ.ศ. ๒๕๖๓ นายฑิมภ์  สุนทรพจน์ คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๖๔ นายฤ.กษมคามิน ภูมิธาดาเดช คณะผู้บังคับการ
พ.ศ. ๒๕๖๕ นาพชร  พุ่มพวง คณะดุสิต
พ.ศ. ๒๕๖๖ นายกันต์สรรค์  ชุตินธราทิพย์ คณะจงรักภักดี
     
     
          หมายเหตุ : ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจงรัก และคณะภักดี รวมพื้นที่เป็นคณะเดียว ชื่อ คณะจงรักภักดี
  คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล รวมพื้นที่เป็นคณะเดียว ชื่อ คณะศักดิ์ศรีมงคล