โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๐๑  |  ๑๐๒  |  ๑๐๓  |  ๑๐๔  |  ๑๐๕  |  ๑๐๖  |  ๑๐๗  |  ๑๐๘  |  ๑๐๙  |  ๑๑๐  |  ถัดไป  |

 

๑๐๑. ครุยวชิราวุธวิทยาลัย (๔)

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ถัดมาในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ๑ มกราคม ปีเดียวกัน ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่าโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “ระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขึ้นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กำหนดไว้ในระเบียบการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. นั้นว่า นิสสิตผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ

 

          “เมื่อสอบไล่ได้เปนบัณฑิตแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เสื้อครุยสำหรับเกียรติยศบัณฑิตได้ และจะมีเข็มตราโรงเรียนสำหรับประดับอกเสื้อข้างซ้ายเปนเกียรติยศด้วย ข้างหลังเข็มจารึกนามและปีที่ได้เปนบัณฑิต ส่วนศิษย์ที่สอบไล่ได้แต่เพียงประกาศนียบัตร์ของโรงเรียนนั้น จะมีแต่เข็มตราโรงเรียนสำหรับประดับอกเสื้อข้างขวาเมื่อได้ออกรับราชการแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี และทั้งเจ้ากระทรวงที่นักเรียนผู้นั้นรับราชการอยู่มีความเห็นชอบด้วยว่ารับราชการเรียบร้อยดี””  []

 

          แต่เนื่องจากในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น กระทรวงธรรมการเพิ่งจะจัดให้มีการสอบไล่วิชาวิชาสามัญเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๖ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ จึงคงมีแต่นักเรียนชั้นศิษย์ซึ่งเป็นผู้สอบไล่ได้วิชาชั้นต้นของโรงเรียนและเข้าเรียนตามหลักสูตรชั้นต่ำ เพื่อสอบไล่และรับแต่ประกาศนียบัตรของสำนัก

 

          ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. ๒๔๕๖ และกระทรวงธรรมการได้ขยายการเล่าเรียนจนมีผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ซึ่งเป็นวิทยฐานะขั้นต้นสำหรับการศึกษาต่อในชั้นบัณฑิตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรหลักสูตรเวชชศาสตร์บัณฑิตเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๗ และแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ในระเบียบของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ “ให้นิสสิตที่สอบไล่ได้เป็นบัณฑิตแล้วใช้เสื้อครุยสำหรับเกียรติยศบัณฑิตได้” หากแต่ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะได้ทรงกำหนดแบบเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้ ดังนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงยังมิทันได้ทรงพระราชดำริเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.หรือที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

 

          ครั้นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นแรกได้เล่าเรียนมาจนใกล้จะจบหลักสูตรเป็นเวชชบัณฑิตใน พ.ศ. ๒๔๗๒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยที่พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) เป็นผู้บัญชาการ []ได้นำแบบเสื้ออาจารย์และครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเป็นต้นแบบในการกำหนดแบบเสื้อครุยสำหรับเวชชบัณฑิตขึ้นรวม ๖ แบบ โดยกำหนดให้เป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว คล้ายกับเสื้ออาจารย์และเสื้อครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ปรับแก้สีพื้นสำรดเป็นสีเขียวอันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแถบไหมเงินเป็นแถบไหมทอง เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงธรรมการซึ่งเป็นส่วนราชการแผ่นดิน มิใช่ส่วนราชการในพระองค์เช่นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วได้นำแบบเสื้อครุยพร้อมแบบสำรดทั้ง ๖ แบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย

 

          เนื่องจากเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นของที่คิดขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างแบบสำรดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดร่างขึ้นไปให้อภิรัฐมนตรีสภา ราว ๑ ปีถัดมาอภิรัฐมนตรีสภาจึงได้พิจารณาแก้ไขแบบเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วเสร็จ แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๗๓ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดชนิดและรูปลักษณ์ของเสื้อครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ดังนี้

 

          “เสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มี ๓ ชั้น กับชั้นพิเศษอีกชั้นหนึ่ง

 

          ชั้นเอก (ตรงกับ Doctor) เสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบ และต้นแขนปลายแขน สำรดใช้สักหลาดสีแดงชาดกว้าง ๑๐ เซ็นติเมตร มีแถบทองกว้าง ๑ เซ็นติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง ๒ ข้าง ห่างจากริมแถบทองด้านที่กล่าวแล้วมา ๗ ๑/๒ มิลลิเมตร ติดแถบทองขนาดเล็กกว้าง ๕ มิลลิเมตรทั้ง ๒ ข้าง และห่างจากแถบทองเล็กนี้มาอีก ๗ ๑/๒ มิลลิเมตร ติดแถบทองขนาด ๑ เซ็นติเมตรลงไปอีกทั้ง ๒ ข้าง ตอนกลางติดแถบสักหลาดกว้าง ๑ เซนติเมตร สีตามแผนกวิชชาและมีตราของมหาวิทยาลัยรูปพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง

 

          ชั้นโท (ตรงกับ Magister หรือ Master) แบบเดียวกับชั้นเอก แต่สำรดใช้สักหลาดสีดำแทนสีแดงชาด
ชั้นตรี (ตรงกับ Baccalaureus หรือ Bachelor) แบบเดียวกับชั้นโท แต่ตอนกลางสำรดใช้ลวดสักหลาดโต ๒ มิลลิเมตร สีตามแผนกวิชชา แทนแถบสักหลาด

 

          ชั้นพิเศษ เสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบ ต้นแขนและปลายแขน สำรดใช้สักหลาดสีเหลือง กว้าง ๑๐ เซ็นติเมตร มีแถบทองกว้าง ๑ เซ็นติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง ๒ ข้าง ตอนกลางติดแถบทองกว้าง ๕ เซ็นติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยรูปพระเกี้ยวเงิน ติดทับบนสำรดตอนหน้าอกทั้ง ๒ ข้าง”  []

 

 

ฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษ ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชูปภัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

          เสื้อครุยบัณฑิตพิเศษนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเหยียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในรัชกาล คราวพระราชทานประกาศนียบัตรแก่เวชชบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓

 

          การที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เข้าทำนองเดียวกับที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงและเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์อาจารย์และฉลองพระองค์เนติบัณฑิตแด่พระบาทสมเด็จ

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เนติบัณฑิตพิเศษ

เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลารากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘

(ประทับยืนแถวหน้าจากซ้าย)

๑. นายร้อยเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๒. นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนคสวรรค์วรพินิต)

๓. จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (สภากรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.

(ประทับยืนและยืนหน้าที่ประทับ จากซ้าย)

๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ทรงครุยอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง สภานายกฯ อ่านคำกราบบังคมทูล

๒. นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) เลขาธิการ

๓. มหาเสวกตรี พระยาศรีวรวงศ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) สวมครุยอาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ผู้อำนวยการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.

๔. จางวางเอก เจ้าพระยาอภัยราชา มหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต กรรมการจัดการฯ

๕. จ่า พระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา - จางวางเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) กรรมการจัดการ

 

 

          พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก่อน และเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเหยียบโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.เป็นครั้งแรกและเพียงครั้งเดียวในรัชกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงฉลองพระองค์ครุยเนติบัณฑิต ส่วนสภากรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.ที่พร้อมกันไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันดังกล่าวต่างก็สวมเสื้ออาจารย์โรงเรียนมหาดเล็กหลวงและเสื้อครุยเนติบัณฑิตที่ได้รับพระราชทานเป็นเกียรติยศ

 

          อนึ่ง ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.นั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ สภานายกสภาจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามีความตอนหนึ่งว่า

 

          “ด้วยเข็มบัณฑิตสำหรับโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งสร้างขึ้นตามพระราชบัญญัตินั้น บัดนี้สร้างสำเร็จทันที่จะพระราชทานในวันเสด็จพระราชดำเนิรก่อพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในวันนี้ได้ กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนปฤกษาเห็นด้วยเกล้าฯ พร้อมกันว่า ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงรับเข็มนั้นเปนเครื่องบูชาพระคุณธรรมที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฉเภาะพระองค์ก่อน จะเปนเกียรติยศแก่โรงเรียนเปนอันมาก เข็มบัณฑิตในเวลานี้มีกำหนดเปน ๓ อย่าง คือเข็มรัฏฐประศาสน์บัณฑิตอย่างหนึ่ง เข็มธรรมศาสตร์บัณฑิตอย่างหนึ่ง และเข็มคุรุบัณฑิตอย่างหนึ่ง เมื่อกรรมการปฤกษากันว่าจะควรถวายเข็มบัณฑิตอย่างไร กรรมการมีความเห็นพร้อมกันว่า ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาททรงพระคุณธรรมบริบูรณ์ทั้ง ๓ อย่าง ทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยรัฏฐาภิปาลโนบายอันสุขุมคัมภีรภาพ ยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่มหาชนยิ่งกว่าผู้อื่นๆ ส่วนธรรมศาสตร์นั้นเล่า ก็ทรงรอบรู้ชำนิชำนาญ เนติบัณฑิตทั้งหลายได้พร้อมกันยกย่องพระเกียรติยศเปนเนติบัณฑิตเปนพยานอยู่ ส่วนคุรุศาสตร์นั้นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระคุณธรรมในพระปรีชาญาณที่รอบรู้ปรากฏทั่วไปแม้ในนาๆ ประเทศ นอกจากนี้ยังได้ทรงบำเพญอาจาริยวัตร์ให้บังเกิดประโยชน์ แก่มหาชนอีกเปนอันมาก แม้จะยกตัวอย่างแต่เรื่องเดียว เพียงเทศนาปลุกใจเสือป่าที่พระราชทาน ก็ประกอบด้วยคุณธรรมอย่างลึกซึ้ง อันใช่วิสัยผู้อื่นอันมิได้ทรงอาจาริยคุณเปนอย่างสูงจะนิพนธ์ได้ อาศรัยเหตุทั้งปวงนี้กรรมการเห็นพร้อมกันว่าควรจะทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตทั้ง ๓ อย่าง จึงจะสมกับพระคุณธรรม จึงพร้อมกันให้ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายเข็มบัณฑิตทั้ง ๓ อย่าง ในวันเสด็จก่อพระฤกษ์โรงเรียน ก่อนที่ผู้อื่นจะได้รับพระราชทาน”  []

 

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พระบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษ

 

 

          ในชั้นนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ครุยบัณฑิตพิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ และทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็คือฉลองพระองค์ครุยบรมราชูปถัมภกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร. ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตพิเศษ เป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งสถาบันการศึกษานี้

 

 
 
 

 

[ ]  “ระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๖ ธันวาคม ๒๔๕๗), หน้า ๒๐๑๑ - ๒๐๑๙.

[ ]  ปัจจุบันเรียกชื่อตำแหน่งนี้ว่า อธิการบดี

[ ]  “พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๗๓”, ราชกิจจานุเบกษา ๔๗ (๖ กรกฎาคม ๒๔๗๓), หน้า ๙๒ - ๙๕.

[ ]  “คำกราบบังคมทูลของสภากรรมการทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘”, ราชกิจจานุเบกษา ๓๒ (๒๓ มกราคม ๒๔๕๘), หน้า ๒๕๗๕ - ๒๕๗๖.