โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑. ระเบียบการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์พิเศษส่วนพระองค์
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕)

 

          นอกจากระเบียบการและข้อบังคับเครื่องแต่งกายนักเรียนมหาดเล็กหลวง กับข้อบังคับเครื่องแต่งกายมหาดเล็กสำหรับนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวงซึ่งได้กล่าวไปแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกข้อบังคับสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงไว้อีกหลายฉบับ อาทิ ระเบียบปฏิบัติภายในโรงเรียน ที่กำหนดให้อาจารย์ใหญ่หรือต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้บังคับการ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานทั้งหมดของโรงเรียน มีผู้ช่วยคือ

                    ๑) ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา [] รับผิดชอบงานวิชาการและปกครองบังคับบัญชาครูทั้งโรงเรียน

                    ๒) ผู้ช่วยฝ่ายปกครองนักเรียน [] รับผิดชอบเรื่องการปกครองนักเรียนทั้งโรงเรียน โดยมีครูกำกับเรือนนักเรียน หรือปัจจุบันคือ ผู้กำกับคณะเป็นผู้ช่วย

                    ๓) ผู้ดูการสถานที่และปกครองพนักงาน รับผิดชอบดูแลสถานที่ ไฟฟ้า น้ำประปา และระบบสุขาภิบาลทั้งปวง กับทำหน้าที่ปกครองคนสวนและคนงานทั้งโรงเรียน

                    ๔) สมุห์บัญชี [] มีหน้าที่รับผิดชอบงานการเงินและธุรการของโรงเรียนทั้งปวง

 

          ตำแหน่งอาจารย์ใหญ่และผู้ช่วยทั้ง ๔ ตำแหน่งนี้ ต่อมาได้มีการนำไปปรับใช้เป็นตำแหน่งบริหารในโรงเรียนของรัฐบาลสืบมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นในระเบียบบริหารงานภายในของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงยังได้กำหนดตำแหน่งระดับรองลงไปอีกหลายตำแหน่ง เช่น หัวหน้าแผนกกรีฑา มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของนักเรียน ผู้กำกับลูกเสือ มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการฝึกหัดวิชาทหารและการฝึกหัดวิชาลูกเสือของนักเรียน

 

          เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเปิดการเล่าเรียนมาได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง นักเรียนมหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงอุรา คเนจร เลขประจำตัว ๓ และหัวหน้าโรงเรียนคนแรก ก็เข้าสอบไล่และสำเร็จการศึกษาชั้นประโยคมัธยมพิเศษตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการในเวลานั้น จึงเป็นอันว่า น.ร.ม. ม.ล.อุรา คเนจร ได้ออกจากโรงเรียนเป็นคนแรก

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องปกติ (ฤดูหนาว) จอมพลเรือ จอมทัพเรือสยาม
ทรงประดับเข็มเครื่องหมายนายทหารพิเศษกรมทหารราบเบาเดอรัม
และเข็มสมาชิกราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

          อนึ่ง ในระเบียบปฏิบัติภายในของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กำหนดระเบียบการลงโทษนักเรียนไว้ด้วยดังนี้

 

"ว่าด้วยประโยชน์
ของการลงโทษ
และวิธีลงโทษ

          การลงโทษนักเรียนที่ทำผิดนั้น เพื่อประโยชน์ ๒ อย่างคือ (๑)  เพื่อจะให้นักเรียนผู้ผิดเข็ดหลาบ ไม่ทำผิดเช่นนั้นอีก กับ (๒) เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น เปนการป้องกันและให้ได้ประโยชน์ทั่วกัน ผู้มีหน้าที่ลงโทษจะต้องระวังให้การลงโทษเปนไปตามความประสงค์
ทั้ง ๒ ข้อนี้

          การลงโทษต้องไม่ให้พร่ำเพรื่อจึงจะได้ประโยชน์จริง และต้องให้เปนธรรม ปราศจากอคติทั้ง ๔ ผู้ผิดจึงจะนับถือและยำเกรง ก่อนที่จะลงโทษควรชี้แจงให้ผู้ผิดเข้าใจและทราบความผิดของตน โดยชัดเจนด้วย การลงโทษเช่นทรมานหรือขัง จะต้องระวังอย่าให้เกินสมควร ซึ่งจะเปนเหตุให้เกิดป่วยไข้หรือให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็ก ตัวอย่างเช่น กักไม่ให้พักจนนานเกินไป หรือให้ยืนให้นั่งอยู่ท่าเดียวนานๆ จนเปนการยากที่เด็กจะทนได้ หรือกักไว้ให้ล่วงเวลากินและให้อดอาหาร หรือประจานเด็กจนเด็กนั้นหน้าด้าน เหล่านี้ย่อมให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็กไม่มากก็น้อย ไม่ควรทำเปนอันขาด

          อนึ่งการลงโทษบางอย่างเปนที่รังเกียจของหมู่คณะ เช่นกล่าวคำหยาบมีด่าเปนต้น หรือทำด้วยกิริยาหยาบคายมีตบหน้า ทุบ เปนต้น เหล่านี้นับว่าเปนการลงโทษที่ไม่สมควรจะกระทำแก่นักเรียน ห้ามไม่ให้ใช้เปนอันขาด

 

 

ระเบียบการลงโทษของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

-------------------------

 

ว่าด้วยโทษ

          โทษแบ่งออกเปน ๒ อย่าง คือ โทษเบาอย่าง ๑ โทษหนักอย่าง  

          โทษเบาแบ่งออกเปน ๓ สถาน สถานที่ ๑ ภาคทัณฑ์ สถานที่ ๒ ทรมานซึ่งไม่ให้ร้ายแก่ร่างกายและจิตรใจของเด็ก สถานที่ ๓ หักคะแนน

          โทษหนักแบ่งออกเปน ๓ สถาน สถานที่ ๑ ให้ตีต้นขาด้วยไม้เรียว กำหนดการตีเปน ๒ ภาค ๑ ตีครั้งหนึ่งไม่เกินกว่า ๘ ที ภาค ๒ ตีครั้งหนึ่งไม่เกินกว่า ๑๕ ที สถานที่ ๒ ให้ขัง การขังแบ่งออกเปน ๒ ภาค ภาค ๑ ขังไม่เกินกว่า ๓ วัน ภาค ๒ ขังไม่เกินกว่าวิก  [] ๑ สถานที่ ๓ ให้ประกาศไล่ออกจากโรงเรียน ถ้าเปนความผิดร้ายแรงเพิ่มการตีต้นขาอีกโสดหนึ่งก็ได้

 

ว่าด้วยอำนาจ

          อำนาจที่จะลงโทษนักเรียนได้ตามอัตราโทษที่ว่ามาแล้วนั้น โทษเบา สถานที่ ๑ และที่ ๒ หัวหน้านักเรียนลงโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน ครูประจำชั้น ครูปกครองนักเรียนประจำห้องลงโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน และโทษหนักสถานที่ ๑ ภาค ๑ สถานที่ ๒ ภาค ๑ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาและฝ่ายปกครองทำโทษได้ โทษเบาทั้ง ๓ สถาน โทษหนักสถานที่ ๑ และที่ ๒ อาจารย์ใหญ่ทำโทษได้ โทษหนักสถานที่ ๓ ต้องได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้อำนวยการ
โรงเรียนก่อนจึงจะทำโทษได้
          การลงโทษที่จะให้เปนแบบเดียวกันไปหมดไม่ได้ เพราะเหตุว่า เด็กย่อมมีนิสัยต่างๆ กัน บางคนถูกทำโทษแต่เล็กน้อยก็หลาบจำ บางคนลงโทษต่อหน้าคนมากๆ ไม่ได้ มีความละอายจนถึงเกิดโทสะ อาจทำอะไรที่ผิดๆ ได้อีกในเวลาต่อหน้าคน เหตุฮนั้นผู้มีหน้าที่ลงโทษจะต้องใช้สติปัญญาตรึกตรองแสวงหาอุบายและวิธีทำโทษให้ชอบและให้เหมาะแก่นิสัยของเด็กผู้กระทำผิด"
  []

 

 

มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล)
เสนาบดีกระทรวงวัง

 

 

          อนึ่ง เนื่องจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดกรมมหาดเล็ก และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นักเรียนได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงตั้งแต่ยังเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียน ครูและนักเรียนมหาดเล็กหลวงทุกคนจึงมีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนในพระราชสำนักสังกัดกรมมหาดเล็กตลอดเวลาที่ยังรับราชการหรือศึกาอยู่ในโรงเรียน ฉะนั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ประกาศ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก" เพื่อเป็นแนวทางประพฤติและปฏิบัติตนของข้าราชการในพระราชสำนักให้เป็นไปโดยชอบด้วยพระราชนิยม โดยให้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงปรากฏความในมาตรา ๕ แห่งกฎมณเฑียรบาลนั้นว่า "ผู้ที่นับว่าอยู่ในกฎนี้ แลจำเปนต้องปฏิบัติตามกฎนี้อยู่คือ... ๘ ข้าราชการแลนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง"  [] และในหมวดที่ ๘ อธิบายว่าด้วยชั้นความผิดแลการลงทัณฑ์ ได้กำหนดอำนาจการลงทีณฑ์ของสภากรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ครูอาจารย์ พนักงาน และนักเรียนในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็น ๒ สถาน คือ

          ๑) กัก ไม่เกิน ๑๕ วัน โทษกักนี้คือ "ให้ผู้ต้องโทษอยู่ภายในจังหวัดใดจังหวัด ๑ อันเปนจังหวัดสถานที่ราชการ แลต้องรายงานตนต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงทุกวัน" []

          ๒) ทัณฑกรรม ไม่เกิน ๓ วัน โทษทัณฑกรรมนี้คือ "ให้ทำการงานอันต้องออกกำลังกายผิดกว่าปรกติ แต่ทัณฑกรรมต้องเลือกให้กระทำการอันเปนประโยชน์ ไม่ใช่เปลืองแรงเปล่า ทัณฑกรรมในวัน ๑ ห้ามมิให้กระทำเกินกว่า ๓ ชั่วโมง แลห้ามมิให้กระทำติดๆ กันเกินกว่า ๗ วัน" []

 

          ถึงแม้นว่า ระเบียบการของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนักจะได้ประกาศใชมาเป็นเวลาร่วม ๑๐๐ ปีแล้วก็ตาม แต่โดยที่ระเบียบและกฎมณเฑียรบาลนี้เป็นพระบรมราชโองการในสมัยราชาธิปไตย และมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวงมาเป็นวชิราวุธวิทยาลัย ฉะนั้นระเบียบและกฎหมายที่ใช้บังคับกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงจึงคงมีผลผูกพันที่วชิราวุธวิทยาลัยจะต้องถือปฏิบัติสืบต่อไป เว้นแต่จะมีการตราพระราชบัญญัติหรือมีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกระเบียบและกฎมณเฑียรบาลนั้นแล้ว

 

 

 

 

[ ]  เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นผู้บังคับการเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชา

[ ]  เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นผู้บังคับการเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น อาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองนักเรียน

[ ]  เมื่อเปลี่ยนตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นผู้บังคับการเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ แล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งนี้เป็น ปลัดกรม

[ หมายถึงสัปดาห์

[ ]  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๖ ศ.๔/๕๙ เรื่อง โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (๑ มกราคม ๒๔๕๓ – ๒๐ ธันวาคม ๒๔๖๗)

[ ]  "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก", ราชกิจจานุเบกษา ๓๑ (๑ สิงหาคม ๒๔๕๗), หน้า ๒๗๗ - ๓๐๘.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

[ ]  เรื่องเดียวกัน.

 

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑  |  ๑๒  |  ๑๓  |  ๑๔  |  ๑๕  |  ๑๖  |  ๑๗  |  ๑๘  |  ๑๙  |  ๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |