โดย อ.วรชาติ มีชูบท

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

 

๑๑๓. พระราชบันทึกเรื่องการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. ๒๔๕๓ แล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราโชบาย ๓ ประการ ให้โรงเรียนใช้เป็นหลักสำคัญในการอบรมสั่งสอนนักเรียน ดังนี้

 

          “๑. สอนให้เป็นคนมีศาสนา จะได้มีศีลธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ

          ๒. สอนให้เป็นผู้ดี จะได้รู้จักการตรากตรำ ไม่สำรวยหยิบโหย่ง จะได้ทำตัวให้เหมาะที่จะเป็นผู้รับใช้และใช้คน ไม่ทำตนเป็นคนถือยศศักดิ์เหยียดหยามผู้อื่น ต้องเป็นผู้กล้าหาญมีระเบียบ และมีความกตัญญูกตเวที รักเกียรติชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลของตัว รู้จักรักหมู่รักคณะกล้าเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

          ๓. อบรมให้มีสติปัญญาความรู้ จะได้ใช้ในการครองชีพต่อไป”  []

 

 

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)

อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง

 

 

          เนื่องจากมีพระบรมราโชบายในการอบรมนักเรียนนี้ แตกต่างไปจากแนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ ฉะนั้นเพื่อความกระจ่างชัดในพระบรมราโชบายที่พระราชทานไว้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชบันทึกทรงชี้แจงพระราชประสงค์ในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงพระราชทานไปยังเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ พระราชบันทึกนั้นทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษรวม ๔ หน้า มีเนื้อความดังนี้

 

NOTE

 

          I recommend this article to the notice of the Minister of Education and the UnderSecretary. I have marked certain passage in red, because some of them impress me, and others state very clearly what I have felt all along.

 

          All systems and rules and syllabus are really so much waste paper, and worse still _ waste of time, if they do not succeed in producing the sort of citizens we want for our country. I do not say that what applies to England will equally apply to Siam. On the contrary it would be a very grave mistake to adopt English methods in tots without alteration, but the article may give one some few ideas.

 

          In the Royal Pages Colleges, what I want is not so much to turn out model boys, all of the same Standard, all brilliant “Madhayom” Scholars with thousands of marks each, as to turn out efficient young men, _ young men who will be physically and morally clean, and who will be looking forward keenly to take up whatever burden the future may lay upon them. _I do not want monument of learning who have passed all your exams with flying colours. I do not want a walking school books. What I want are just manly young men, honest, truthful, clean in habit and thoughts; and I would not break my heart about it if you told me that such or such a fellow writes with difficulty, can’t do compound fraction, or does not know any geometry, if I only knew that he has learnt enough at my school to know the difference between true manliness and effeminacy. I never want again to hear “clever” people complaining that “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”. At the Mahadlek College, what I want is that Education should mean the turning of a boy into a fine young man and a good citizen, not to crush out all individuality under the weight of Syllabus and System!_ and I want Education to be interesting to the boys, so that they would in later days be able to look back upon School life as something peculiarly pleasant to have passed through. My College is not to be compared to other schools, where the aim is different. If I had wanted just the ordinary kind of school, I would have founded a day school, not a boarding one.

 

          All this may all or may not be in accord with your scheme of Education _if it is, then I am glad; but if not, then please let me have a fair trial with my idea. Don’t try and make my Teachers “toe your line”; let them “toe” mine, because they are running in my “sports”, in which I am giving the “Cups”.

 

 

V.R.

 

 

พระราชบันทึกภาษาอังกฤษที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

พบในโต๊ะทำงานของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)

 

 

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย

 

 

          พระราชบันทึกข้างต้นนั้นนักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย เล่าไว้ว่า เมื่อบิดาของท่าน คือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการถึงอสัญกรรมไปแล้ว วันหนึ่งท่านผู้เล่าได้ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของท่านอดีตเสนาบดีผู้เป็นบิดา ได้พบพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์เป็นภาษาอังกฤษรวม ๔ หน้า เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงได้เก็บรักษาพระราชบันทึกนั้นไว้ในโต๊ะทำงานของท่านเจ้าคุณบิดาตามเดิม จนท่านผู้เล่าได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาและกลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ได้มีโอกาสกลับมาสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งกรรมการและนายกกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัยโดยตำแหน่ง จึงได้คัดลอกและแปลเนื้อความในพระราชบันทึกนั้นเป็นภาษาไทยมอบให้พระยาภะรตราชา (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยเพื่อจัดอบรมนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายที่พระบาท-สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้

 

          คำแปลพระราชบันทึกที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล แปลไว้เป็นภาษาไทย มีดังนี้

 

บันทึก

 

          ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือ ตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา

 

          ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่าๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง

 

          สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน “ชั้นมัธยม” ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่างๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไมรู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน “คนฉลาด” บ่นอีกว่า “ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

 

          ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล

 

  พระบรมนามาภิไธย

 

          ความในตอนท้ายของพระราชบันทึกดังกล่าวทรงระบุไว้ชัดว่า “ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่ง สร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือ จะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม” ย่อมชี้ชัดว่า พระราชบันทึกนี้ทรงมุ่งหมายให้เสนาบดี และปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการได้ทราบถึงพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นแทนพระอารามหลวง และมีพระราชประสงค์ที่จะใช้โรงเรียนนี้เป็นสถานที่ทดลองจัดการศึกษาตามแนวพระราชดำริที่ไม่เหมือนกับแนวทางจัดการศึกษาของกระทรวงธรรมการ

 

          อนึ่ง เนื่องจากกระแสพระบรมราชโองการในสมัยราชาธิปไตยนั้นเป็นกฎหมาย ฉะนั้นพระราชบันทึกแสดงพระราชประสงค์นี้จึงมีศักดิ์เป็นกฎหมายที่กระทรวงศึกษาธิการและวชิราวุธวิทยาลัยจำต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายโดยเคร่งครัด

 

 
 
 

 

[ ]  “คำกราบบังคมทูลกิจการของโรงเรียน ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕”, วชิราวุธานุสาส์น เล่ม ๕ ฉบับที่ ๓ (ภาคมาฆบูชา ปีการศึกษา ๒๔๙๔), หน้า ๔๔.

 

 

ก่อนหน้า  |  ๑๑๑  |  ๑๑๒  |  ๑๑๓  |  ๑๑๔  |  ๑๑๕  |  ๑๑๖  |  ๑๑๗  |  ๑๑๘  |  ๑๑๙  |  ๑๒๐  |  ถัดไป  |

บทความปัจจุบัน | บทความย้อนหลัง : ตอนที่ ๑ - ๒๐ | ๒๑ - ๔๐ | ๔๑ - ๖๐ | ๑ - | ๑ - ๑๐ | ๐๑ - ๑๒ | ๒๑ - ๑๔ |

| ๑๔๑ - ๑๕๙ |